ช่องว่างทางกฎหมาย ที่หลุดออกมาเมื่อพนักงานขนส่งเอกชนเปิดกล่อง Sextoy : โดย กล้า สมุทวณิช

จริงๆ ก็เหมือนเป็นข่าวดราม่าที่มาแล้วก็จางหายไป เมื่อหญิงสาวดวงซวยสั่งเครื่องเล่นทางเพศทางออนไลน์ด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ โดยส่งมาทางบริษัทรับส่งพัสดุเอกชนเจ้าใหญ่ที่ได้รับความนิยมที่สุด

แต่บังเอิญที่บริษัทรับขนส่งนั้นก็โชคร้ายพอๆ กัน ที่กล่องพัสดุดันไปตกอยู่ในมือพนักงานที่ขาดความรับผิดชอบและจิตสำนึก นำกล่องนั้นมาเปิดเล่นโดยพลการ และเอาเรื่องนี้มาล้อเล่นลงในโซเชียลส่วนตัว ด้วยการกระทำหลายอย่างที่เป็นการคุกคามทางเพศและละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

และอาจจะเป็นโชคดีของสังคม (หากเป็นโชคร้ายของพนักงานคนนั้น) ที่เขาตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเป็นแบบสาธารณะ ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ทั้งหมด เรื่องนี้จึงแตกแดงออกมาให้เราได้เห็นปัญหาหลายๆ อย่างในมิติแง่มุมทางกฎหมาย

กิจการรับขนส่งเอกชนเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงห้าปีหลัง เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตและการจับจ่ายซื้อของที่เปลี่ยนไป โดยผู้คนซื้อของผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ร้านค้าเชิงกายภาพค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป โดยเฉพาะในต่างประเทศ

Advertisement

หากกิจการ “ทางกายภาพ” ที่ไม่อาจทดแทนได้ คือการรับขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ หรือ ร.ส.พ. ที่เจ๊งร่วมสิบปีมาแล้ว ดังนั้นกิจการรับส่งสินค้าที่ว่าจึงเหมือนถูกผูกขาดโดยการไปรษณีย์ไทยอยู่นาน ซึ่งในภายหลังได้แปรรูปเป็นบริษัทไปรษณีย์ไทยซึ่งในทางกฎหมายถือเป็นกิจการเอกชน แต่เป็นกิจการเอกชนที่ได้รับอำนาจรัฐบาลประการเพราะการแปรรูปมาจากรัฐวิสาหกิจ

ปัญหาของไปรษณีย์ก่อนหน้านี้ที่เป็นที่กล่าวขวัญกันในทางร้าย ก็ได้แก่เรื่องการจัดส่งล่าช้า สินค้าหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาพัสดุแตกหักเสียหายเป็นที่เลื่องลือและล้อเลียนกันจนเป็นเรื่องขบขัน

Advertisement

ไปรษณีย์อยู่ในฐานะไร้คู่แข่งอยู่นานจนกระทั่งเกิดกิจการรับขนส่งเอกชนเกิดขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ที่สุดที่ได้รับความนิยมที่สุดก็รายที่มีปัญหาไปนั่นเอง รวมถึงผู้เล่นรายใหม่อีกมากที่เข้ามาในวงการ ที่เป็นกิจการจากต่างประเทศหรือที่บริษัทของไทยไปขอซื้อแฟรนไชส์มา

แต่เพราะความเติบโตนี้เอง ทำให้ในที่สุดเราก็เริ่มได้เห็นปัญหาของกิจการรับขนส่งเอกชนดังที่เป็นข่าวไป และเมื่อมีข่าวออกมาแล้วก็มีการรายงาน “ประสบการณ์” ไม่น่าพึงประสงค์จากผู้ให้บริการรายนั้นผุดขึ้นมาเยอะมาก ซึ่งอันนี้ก็น่าเห็นใจ

ไม่ใช่เพราะเขาเริ่มจะมีปัญหาหรือคุณภาพการบริการลดลง แต่น่าจะเป็นเพราะการขยายตัวและปริมาณการให้บริการที่มากขึ้น ทำให้ปัญหาหรือข้อผิดพลาดนั้นก็เติบโตตามไปด้วย คิดง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนส่งของสัก 1,000 ชิ้น มีปัญหาสัก 0.5% ก็แค่ 5 ชิ้น แต่เมื่อมันขยายเป็นหลักแสนชิ้น ก็เท่ากับจะมีปัญหาขึ้นมาเป็นหลักร้อยหลักพัน

และเพราะโลกโซเชียลก็ทำให้กรณีที่เป็นปัญหาหนักๆ จากหลายร้อยถึงพันชิ้นนั้นได้รับการเผยแพร่และกระจายออกไปกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งถ้ากล่าวอย่างยุติธรรม มันคือปัญหาเดียวกับที่ไปรษณีย์ไทยเคยโดนมาก่อนนั่นแหละ

ท่ามกลางการเติบโตและปัญหาต่างๆ ทั้งหลายนั้น สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ คือในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดเป็นการเฉพาะในการกำกับดูแลหรือควบคุมกิจการขนส่งเอกชนเหล่านี้เลย

ในขณะที่กิจการเดิมคือไปรษณีย์ไทยนั้นยังมีพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ที่ยังมีผลบังคับอยู่ และยังใช้ได้แม้ว่าบริษัทไปรษณีย์ไทยจะถือเป็นบริษัทเอกชน อันเป็นผลมาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ

การไม่มีกฎหมายดูแลหรือควบคุมกิจการขนส่งเอกชนนี้ ทำให้ถ้าหากมีปัญหาอะไรก็จะต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทางอาญา หรือกฎหมายเฉพาะอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อรองรับในการควบคุมหรือกำกับดูแลกิจการขนส่งระดับนี้

สมมุติว่าเรื่องที่เป็นดราม่านี้เกิดขึ้นกับไปรษณีย์ไทย พนักงานผู้กระทำการเปิดกล่องพัสดุของลูกค้าก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดหน้าที่ของตน เปิดหรือยอมให้ผู้อื่นเปิดถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ หรือตั้งใจกัก หรือหน่วงเหนี่ยว หรือยอมให้ผู้อื่นกักหรือหน่วงเหนี่ยวถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินพันบาท”

แต่กรณีพนักงานรับส่งสินค้าเอกชนเปิดสินค้าและพัสดุนั้นไม่ได้มีกฎหมายอาญากำหนดโทษไว้ แม้ว่าจะมีผู้สงสัยว่าจะเข้าข่ายความผิดในกลุ่มเปิดเผยความลับตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เมื่อวิเคราะห์แล้วก็เห็นว่า ความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 322 ถึงมาตรา 324

มาตรา 322 บัญญัติว่า “ผู้ใดเปิดผนึกหรือเอาจดหมาย โทรเลข หรือเอกสารใดๆ ซึ่งปิดผนึกของผู้อื่นไป เพื่อล่วงรู้ข้อความก็ดี เพื่อนำข้อความในจดหมายโทรเลขหรือเอกสารเช่นว่านั้นออกเปิดเผยก็ดี ถ้าการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

จะเห็นได้ว่ามาตรานี้เอาผิดการกระทำเฉพาะการเปิด “จดหมาย” และวัตถุแห่งความผิดคือ “ข้อความ” ซึ่งไม่รวมถึงสินค้าและพัสดุภัณฑ์ และเราตีความให้หมายรวมเช่นนั้นไม่ได้ เพราะหลักการสำคัญของกฎหมายอาญานั้นต้องไม่ตีความขยายความให้เป็นความผิดหรือเป็นโทษแก่บุคคล

ส่วนมาตรา 323 เอาผิดกับการเปิดเผยความลับของผู้อื่นโดยผู้มีวิชาชีพ ซึ่งในตัวบทระบุ “อาชีพ” ไว้หมดแล้ว คือ แพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นๆ จึงไม่รวมพนักงานไปรษณีย์และพนักงานขนส่งเอกชน เพราะที่จริงๆ มันควรอยู่ในบังคับของมาตรา 322

แต่เพราะกฎหมายในสมัยที่ร่างนั้นยังมองไปไม่ถึงว่า การเปิดเผย หรือแกะ “พัสดุ” ของผู้อื่นมันจะก่อความเสียหายได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่การลักหรือยักยอกไปซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ส่วนมาตรา 324 ก็คุ้มครองเฉพาะความลับในทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์

ข้อกฎหมายที่ผู้เสียหายอาจจะต่อสู้ให้มีการรับผิดทางแพ่งและทางอาญาได้นั้น ก็ได้แก่ความผิดฐานหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่ก็จะพบปัญหาคือการจะพิสูจน์เพื่อลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท จะต้องเป็นการ “ใส่ความ” ในลักษณะของการยืนยันข้อเท็จจริงที่จะให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และเป็นภาระตกหนักแก่ฝ่ายผู้เสียหาย ที่จะต้องบรรยายฟ้องและพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า การที่ตนเองถูกเปิดเผยต่อสาธารณะว่าสั่งเครื่องเล่นทางเพศมานั้นทำให้เสียชื่อเสียงหรือถูกเกลียดชังอย่างไร กับอีกปัญหาในทางวิธีพิจารณาความอาญาด้วยว่า สินค้าที่ผู้เสียหายสั่งซื้อมานั้นยังถือเป็นสิ่งลามกอนาจารซึ่งผิดกฎหมายไทยก็จะมีปัญหาว่าผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายทางนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่

ส่วนในทางแพ่งอาจจะเรียกร้องความรับผิดได้ง่าย เพราะปรากฏชัดว่าการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายในทางใดทางหนึ่งแน่นอน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ยังกำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดต่อผู้เสียหายแทนก่อนลูกจ้างด้วย แต่ในการฟ้องคดีแพ่งก็มีปัญหาเรื่องการพิสูจน์ความเสียหายและตีออกมาเป็นค่าสินไหมทดแทนที่กรณีนี้คงคำนวณเป็นตัวเงินได้ยาก และเมื่อคำนวณออกมาได้ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ ซึ่งแม้จะขอยกเว้นได้แต่ก็เป็นงานอีกชิ้นที่งอกออกมาของทนายความ

ด้วยความยุ่งยากเช่นนี้ กลายเป็นว่าฝ่ายผู้เสียหายนอกจากจะถูกละเมิดในสิทธิความเป็นส่วนตัวและชื่อเสียงแล้ว ยังต้องมายุ่งยากลำบากในการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตัวเองอีก

ดังนั้นก็ไม่แปลกอะไรที่ฝ่ายผู้เสียหายจะยอมไกล่เกลี่ย รับคำขอขมา และค่าชดเชยเยียวยาจากบริษัทขนส่ง จบเรื่องกันไปแบบเงียบๆ ไทยๆ

ที่กล่าวไปนี้คือ “ปัญหา” ที่กฎหมายยังครอบคลุมไปไม่ถึง ในขณะที่กิจการขนส่งเอกชนกำลังเติบโตขึ้น มีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ และบริษัทขนส่งเอกชนเหล่านี้ได้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญที่สุดของผู้คนที่เป็นลูกค้าไม่ว่าจะเป็นฝ่ายส่งหรือฝ่ายรับ ได้แก่ชื่อที่อยู่พร้อมหมายเลขบัตรประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งปัจจุบันถูกนำไปผูกกับบริการหรือการยืนยันตัวตน อย่างน้อยก็ระบบพร้อมเพย์ที่ธนาคารและรัฐสนับสนุน

หรือไม่ต้องอะไรอื่นไกล การที่เราจำเป็นต้องให้ “หมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัว” ไปเพียงเพื่อการรับหรือส่งสินค้าและพัสดุนั้น ก็ออกจะเป็นราคาที่จำต้องจ่ายไปอย่างเสี่ยงๆ แลกกับความเป็นส่วนตัว มิตรสหายท่านหนึ่งของผมเป็นนักแสดงชื่อดัง และมีผู้ส่งพัสดุมาให้เธอ เมื่อพนักงานมาส่งและรู้ว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวของเธอ ก็ตื่นเต้นดีใจขอเมมไว้ แม้จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น แต่เราก็ได้เห็น “ราคา” ที่ต้องจ่ายสำหรับเรื่องนี้ซึ่งออกจะไม่ได้สัดส่วนเท่าไร โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะ

ไม่รวมถึงความไม่สะดวกต่างๆ เช่น ถูกโทรตามให้ยืนยันหรือมารับสินค้าในเวลาที่เราอาจจะเข้าส้วม ติดประชุมสำคัญ ขับรถ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่อาจรับโทรศัพท์ได้ขณะนั้น และถ้าเราไม่รับโทรศัพท์ ก็อาจจะทำให้ไม่ได้รับการส่งสินค้าในรอบนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องยุ่งยากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเผยประสบการณ์ที่ไม่น่าพึงใจจากบริการขนส่งเอกชนเจ้าดังนั้น “เจ้าเก่า” อย่างไปรษณีย์ไทยก็ได้รับการกล่าวถึงในแง่ชื่นชม ว่ามีการพัฒนาการให้บริการแบบเงียบๆ อยู่นานแล้ว โดยเฉพาะความเร็วในการส่งจดหมายและพัสดุ ซึ่งถ้าเป็นการส่ง EMS ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้รับสามารถได้รับจดหมายหรือพัสดุภายในวันเดียวกันเลย ประสบการณ์ส่วนตัวคือสั่งสินค้าออนไลน์ในตอนเช้า ผู้ขายเอาไปส่งให้ที่ไปรษณีย์ตอนประมาณสิบโมงเช้า ประมาณบ่ายสามสินค้าที่สั่งไปก็มาถึงบ้านแล้ว

และที่ส่วนตัวรู้สึกสะดวกที่สุดคือ หากมีผู้รับอยู่ที่บ้านแล้ว ไปรษณีย์ก็ไม่ต้องโทรตามเพื่อยืนยันการส่งพัสดุให้ต้องกังวลใจในการรับโทรศัพท์ด้วย อีกประการหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะถูกบังคับด้วยวินัยกับกระบวนงานขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายไปรษณีย์ที่มีการกำหนดโทษทางอาญา ซึ่งจะเหนี่ยวรั้งไม่ให้ใครคึกคะนองกระทำนอกลู่นอกทาง เพราะว่าโทษของการนั้นคือคุกตะราง

เช่นนี้ กลายเป็นเมื่อฝุ่นจาก “ดราม่า” เรื่องนี้หายตลบ ก็เป็นบริษัทไปรษณีย์ไทยที่ยืนยิ้มอยู่กลางวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image