การเมืองเรื่องหุ้นสื่อ สองมาตรฐาน (2) : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

การเมืองเรื่องห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ยังไม่จบง่ายๆ
เพราะมีประเด็นข้อถกเถียงอีกหลายเรื่อง รอการตัดสินชี้ขาดจากองค์กรอำนาจตามกฎหมาย เพื่อวางบรรทัดฐานการปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ตั้งแต่ นิยามของคำว่าสื่อมวลชน กินความครอบคลุมถึงใคร ระหว่างสื่อมวลชนที่เป็นคน กับสื่อที่เป็นช่องทางในการสื่อสารซึ่งพัฒนาไปมากตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

พิจารณาจากคุณลักษณะของสื่อมวลชนซึ่งแยกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ได้แก่ สื่อดั้งเดิม หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ จัดอยู่ในกลุ่ม Broadcsat กับอีกกลุ่มหนึ่ง สื่อเพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ป้ายโฆษณาต่างๆ กลุ่มหลังนี้ เข้าข่ายเป็นสื่อมวลชนหรือไม่

ทำนองเดียวกับสื่ออีกกลุ่ม ได้แก่ โทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือ จัดเป็นกลุ่ม Telecom กลุ่มนี้เน้นที่ตัวเครื่องมือเพื่อการสื่อสารที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคหลอมรวมสื่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน ผู้เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นสื่อกลุ่มนี้สามารถมีอิทธิพลใช้สื่อเหล่านี้เป็นเครื่องมือได้ เข้าข่ายเป็นสื่อมวลชนตามนิยามของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือไม่

กลุ่มที่สาม สื่อใหม่ Social Media เว็บไซต์ต่างๆ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ ซึ่งมีอินเตอร์เน็ตเป็นแกนกลางในการสื่อสาร เป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นต่างๆ มากมาย

Advertisement

ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่ถือหุ้นบริษัทโทรคมนาคมต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ และช่องทางสื่อใหม่ต่างๆ เข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่อมวลชน ด้วยหรือไม่

ผู้เป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นสื่อทั้งสามกลุ่มข้างต้น เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง

ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าพิจารณาเช่นกันว่าอยู่ในข่ายเป็นเจ้าของสื่อด้วยหรือไม่ คือ ถือหุ้นทางอ้อม เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทที่ไปลงทุนในบริษัทประกอบกิจการสื่ออีกทอดหนึ่ง

Advertisement

กรณีหลังนี้มีเป็นจำนวนไม่น้อย หากไปตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทธุรกิจที่ไปลงทุนในบริษัทสื่อจะพบว่า มีทั้งธนาคาร กิจการสินค้าอุปโภคบริโภคระดับยักษ์ใหญ่ ผู้ถือหุ้นในบริษัทธุรกิจต่างๆ เหล่านี้เข้าข่ายมีคุณลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส. ด้วยหรือไม่

ที่ผ่านมาเรามักจะถกเถียงกันในส่วนของสื่อมวลชนที่เป็นกิจการภาคเอกชน กับภาคประชาชน แต่ยังมีสื่ออีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง คือ สื่อภาครัฐ

ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถึงไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสื่อนั้นๆ แต่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ใช้สื่อของรัฐ เป็นเครื่องมือทางการเมือง เล่นงานฝ่ายตรงข้าม หรือ โฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเอง ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า สื่อของรัฐต้องรับใช้รัฐ ทั้งๆ ที่ความจริงรับใช้ฝ่ายบริหารที่กุมอำนาจรัฐในขณะนั้นมากกว่า กรณีเช่นนี้ จะมีกระบวนการทางกฎหมาย ทางสังคม ควบคุม กำกับ ตรวจสอบ อย่างไร
คำถามสุดท้ายในเรื่องนี้ กฎหมายห้ามผู้สมัคร ส.ส. กรรมการองค์กรอิสระต่างๆ เป็นเจ้าของสื่อ ข้อห้ามดังกล่าวครอบคลุมถึง วุฒิสมาชิก ทั้งที่มาจากการสมัครและการสรรหา ด้วยหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาโดยกรรมการสรรหาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดบทบัญญัติห้ามวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน

การกำหนดคุณลักษณะต้องห้ามนี้จึงบังคับเฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.จากการสมัคร และกรรมการองค์กรอิสระเท่านั้น ขณะที่วุฒิสมาชิกการสรรหาไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกัน จึงสะท้อนการปฏิบัติสองมาตรฐานอย่างชัดเจน
ถึงแม้ผู้ได้รับการสรรหาเป็นวุฒิสมาชิก พยายามจะเคลียร์ตัวเองและสามี ภริยา บุตร โดยไปโอนหุ้นให้ผู้อื่นครอบครอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่อและบริษัทที่ได้รับสัมปทานรัฐก็ตาม

ประเด็นอยู่ที่ว่าโอนวันไหน โอนก่อนหรือภายหลัง แจ้งความจำนงตอบรับการสรรหาของ คสช. รอบ 400 คน เพื่อคัดเหลือ 194 คน

หากโอนภายหลังตอบรับการพิจารณาของ คสช.ย่อมเข้าข่ายเป็นผู้สมัครจึงควรปฏิบัติเช่นเดียวกับ ส.ส.คือ ไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นสื่อมวลชน

ถ้า ส.ส.ถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นเจ้าของสื่อ ส.ว.สรรหาที่เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อกลุ่มนี้ ก็สมควรได้รับการปฏิบัติด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image