หัวหน้าใหม่ ปชป. เพิ่มโจทย์ พปชร. โจทย์ตั้งรัฐบาล

การประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เช้าวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นไปอย่างคึกคัก

ส.ส.ทั้ง 52 คน และองค์ประชุมอื่นๆ ที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง 239 คนเข้าประชุมกันอย่างพร้อมหน้า

หลังการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคทั้ง 4 คน อันได้แก่

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ นายกรณ์ จาติกวณิช

Advertisement

ก็ถึงเวลาของการลงคะแนน

ความน่าสนใจของการลงคะแนนเลือกตั้งหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ ก็คือการให้น้ำหนักกับเสียงของ ส.ส.เอาไว้ร้อยละ 70 ของน้ำหนักผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

ฉะนั้น ใครกุมเสียงของ ส.ส.เอาไว้ ย่อมเป็นต่อในการเลือกตั้ง

Advertisement

ผลของการลงคะแนนก็คือ

ในกลุ่ม ส.ส.จำนวน 52 คน

นายจุรินทร์ได้รับเลือก 25 คะแนน หรือร้อยละ 33.36538

อันดับ 2 คือ นายพีระพันธุ์ได้ 20 คะแนน หรือร้อยละ 26.9231

อันดับ 3 คือ นายกรณ์ได้ 5 คะแนน หรือร้อยละ 6.7308

และอันดับที่ 4 คือ นายอภิรักษ์ได้ 2 คะแนน หรือร้อยละ 2.6923

ในขณะที่การลงคะแนนในสัดส่วนของกลุ่มอื่นๆ 239 คน

นายจุรินทร์ ได้คะแนน 135 คะแนน หรือร้อยละ 16.9456

นายพีระพันธุ์ได้ 82 คะแนน หรือร้อยละ 10.2929

นายกรณ์ได้ 14 คะแนน หรือร้อยละ 1.7573

และนายอภิรักษ์ ได้ 8 คะแนน หรือร้อยละ 1.0042

เมื่อรวมคะแนนทั้งสองส่วน

นายจุรินทร์มีคะแนนรวมเป็นที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 50.5995

นายพีระพันธุ์ได้คะแนนร้อยละ 37.2160

นายกรณ์ได้คะแนนร้อยละ 8.4881

และนายอภิรักษ์ได้คะแนนร้อยละ 3.6965

การได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคของนายจุรินทร์มีนัยยะอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก ในพรรคประชาธิปัตย์

แสดงว่าบารมีของ นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ให้การสนับสนุนนายจุรินทร์ ชนิดออกหน้า

ยังเปี่ยมล้น

อย่างน้อยก็เท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงในพรรค

เหนือล้ำกว่าบารมีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ผู้แยกตัวออกไปภายหลังการตั้งกลุ่ม กปปส.

ผู้ให้การสนับสนุนนายกรณ์ แล้วเปลี่ยนมาให้การสนับสนุนนายพีระพันธุ์ในภายหลัง

ดูได้จากการส่ง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ บุตรเลี้ยง มาเป็นเลขาธิการพรรคในทีมของนายพีระพันธุ์

และการปรากฏกายของ นายถาวร เสนเนียม ในฐานะ “หัวเบี้ยใหญ่” ซึ่งเคยเรียงเคียงข้างกับนายกรณ์มาก่อน ในช่วงต้นของการแข่งขัน

ก่อนจะย้ายมายืนเบื้องหลังให้นายพีระพันธุ์

แต่ถึงจะพ่ายแพ้ไป จำนวนเสียงสนับสนุน 1 ใน 3 ของพรรค

ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม

แต่ที่คนทั่วไปดูจะให้ความสนใจมากกว่า

ก็คือปัจจัยภายนอก การเปลี่ยนแปลงของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีต่อการจัดตั้งรัฐบาล

เพราะเป็นเรื่องที่มิได้ปิดบังว่า หากนายพีระพันธุ์ นายกรณ์ หรือนายอภิรักษ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคก็ดี

โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะเดินเข้าสู่อ้อมกอดของพลังประชารัฐนั้นเปิดเผย-โป้งโล้งยิ่ง

แต่เมื่อหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่คือ นายจุรินทร์ ซึ่งมีเงาของนายชวนและนายบัญญัติทาบทับอยู่เบื้องหลัง

เรื่องนี้ก็กลายไม่ชัดเจน

กับเพื่อไทย ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาร่วม 20 ปีนั้นชัดเจนอยู่

แต่กับพลังประชารัฐ ก็มีประเด็นที่ต้องให้ขบคิดไม่น้อยกว่ากัน

ไม่ว่าด้วยข้อหาสืบทอดอำนาจของคณะปฏิวัติ

หรือกับการที่ฝ่ายหลังมีนายสุเทพที่ยืนอยู่คนละฝั่ง กระโดดเต้นเหย็งๆ เป็นหัวหน้ากองเชียร์

การจะเข้าร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

จึงมิได้ “อ้าซ่า” เหมือนกลุ่มหรือพรรคอื่น

การต่อรองหากจะเข้าร่วมรัฐบาล ย่อมมีน้ำหนักและถึงพริกถึงขิงมากขึ้น

ส่งผลให้ “ราคา” ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคภูมิใจไทยขยับสูงขึ้นไปด้วย

และความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล

สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง 12 จุดทันทีในบ่ายเดียวกัน

นี่คือผลกระทบจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image