ภาพเก่า…เล่าตำนาน : ใครและทำไม ต้องสังหาร นายพลออง ซาน?

บุรุษผู้มีชื่อเสียงระดับโลกผู้นี้ มิได้สำเร็จจากโรงเรียนทหารที่ไหน แต่ในสายเลือดเปี่ยมไปด้วยความสำนึก รักพม่าแผ่นดินเกิด รักพี่น้องชาวพม่า เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ชาวพม่าเคารพบูชาในฐานะบิดาผู้ให้กำเนิดประเทศพม่า ปัจจุบันคือ เมียนมา

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ด้วยอายุเพียง 32 ท่านถูกสังหารโหดในห้องทำงาน รัฐสภา ขณะร่างรัฐธรรมนูญ

เด็กชายออง ซาน เกิดวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2458 ที่เมืองนัตเม่าก์ รัฐมะกวย (Natmauk, Magwe) บิดาคือ อูเผ่า เป็นทนายความ มารดาชื่อ ดอ ซู ผู้เป็นปู่ คือ โบมีงยอง เป็นนักต่อสู้ที่รักแผ่นดินเกิดยิ่งชีพ

ออง ซาน ได้มรดกสืบทอดทางความคิดและเป็นนักต่อสู้มาจากปู่ที่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ซึ่งในช่วงนั้นพม่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียที่เป็นอาณานิคมอังกฤษ

Advertisement

ความโดดเด่นของ ออง ซาน ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม คือ เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี รักความเสมอภาค ชาวพม่ายกย่อง ออง ซาน เพราะบุรุษผู้นี้มั่นคง ตรงไปตรงมา เคารพในความถูกต้อง ไม่กล่าวคำเท็จและยึดมั่นในคุณธรรม เป็นคนที่ไม่หลงใหลในลาภยศหรือเงินทอง

ขอย้อนอดีตที่อังกฤษบุกอินเดียและรุกคืบไปในพม่าครับ…

Advertisement

อังกฤษเริ่มทำสงครามเพื่อยึดอินเดียในปี พ.ศ.2300 (ก่อนกรุงศรีฯ แตกครั้งที่ 2) ด้วยการเอาชนะศึกที่เบงกอล และบากบั่นพากเพียรอีก 100 ปี จึงยึดครองดินแดนอินเดียได้ทั้งหมด

ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่า อังกฤษขนทหารลงเรือมาจากเกาะอังกฤษเป็นหมื่น เป็นแสนคนเพื่อทำสงคราม…ไม่ใช่นะครับ…กลยุทธ์ที่ฝรั่งตะวันตกยึดดินแดนได้เกือบทั่วโลก คือ การเสี้ยมให้คนพื้นเมืองรบกันเอง

อินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่มโหฬาร มีประชากรมากกว่าอังกฤษมหาศาล อินเดียมิได้เป็นเอกภาพทั้งแผ่นดิน มีเจ้าปกครองเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย เจ้าทั้งหลายมีเรื่องขัดแย้ง ทำสงครามติดพันกันตลอดเวลา อังกฤษจึงเข้าเสี้ยม สนับสนุนให้ฆ่าฟันกันเอง ประหยัดชีวิตทหารอังกฤษได้มากโข

อังกฤษซื้อแม่ทัพนายกองของชนเผ่าในอินเดียให้ทำหน้าที่ไส้ศึก ติดสินบนให้ทรยศหักหลังกันเอง.. เพื่ออังกฤษยึดและปกครองอินเดียได้หมด

อังกฤษรุกคืบต่อมาทางตะวันออกเพื่อจะกินรวบดินแดนพม่า

อังกฤษทำสงครามกับพม่า 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ยึดได้ดินแดนพม่าตอนล่าง ครั้งที่ 2 สถาปนาดินแดนตอนใต้เป็นมณฑลขนาดเล็กเรียกว่า บริติชพม่า รบครั้งที่ 3 ได้พม่าตอนบน และพม่าทั้งหมดกลายเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชอินเดียใน พ.ศ.2380

หลังพม่าแพ้พ่ายต่ออังกฤษ.. อังกฤษล้มราชวงศ์ของพม่า พระเจ้าธีบอเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของแผ่นดินพม่า…

เมื่อพม่าถูกอังกฤษยึดเป็นอาณานิคมโดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2398 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.4) อังกฤษเข้าปกครองพม่าโดยตรงและได้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ที่รุ่งเรืองมาในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพม่า

แผ่นดินพม่า มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด รางวัลและโชคลาภสุดขอบฟ้ามหาศาล คือ อังกฤษเข้าทำอุตสาหกรรมไม้สักในพม่าตอนล่าง อัญมณี แร่ธาตุในพม่าทำกำไรอู้ฟู่ให้บริษัทของอังกฤษ

อังกฤษเข้ามาบริหารจัดการในพม่าแบบ “เต็มพิกัด” ส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดี เพื่อส่งข้าวไปขายยุโรป และมีการอพยพผู้คนจากที่สูงภาคเหนือลงมายังที่ลุ่มเพื่อมาปลูกข้าว

อังกฤษนำแรงงานชาวอินเดียเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตเนื่องจากค่าแรงต่ำ มีการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างทางรถไฟผ่านที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดี และมีเรือเครื่องจักรไอน้ำแล่นขึ้นล่องระหว่างแม่น้ำ เศรษฐกิจของพม่าเติบโตขึ้น แต่เงินทอง ความร่ำรวยกระจุกอยู่ในมือชาวอังกฤษและนายทุนจากอินเดีย

อังกฤษใช้ทรัพยากรของพม่าแบบหนำใจ อังกฤษไปสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงให้มาเป็นทหาร ตำรวจ เพื่อปกครองชาวพม่า โดยทหารส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ส่งเสริมการศึกษาให้กับชนกลุ่มน้อยที่ไม่ค่อยลงรอยกับพม่า

ขอตัดตอนเข้ามาสู่เรื่องราวของ ออง ซาน บิดา ของชาวพม่าครับ

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขบวนการชาตินิยมในพม่าต่อต้านอังกฤษ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง พระสงฆ์ เป็นแกนหลักก่อตัว สร้างสำนึกให้คนทั้งชาติขับไล่อังกฤษเพื่อให้พม่าเป็นเอกราช

เช้ามืด 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกฝั่งอ่าวไทยรบกันดุเดือดไทยยอมให้กองทัพลูกพระอาทิตย์ใช้ดินแดนเป็นทางผ่าน ญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟ จากชุมทางหนองปลาดุก ราชบุรี ข้ามแม่น้ำแคว ทะลุป่าเขาแสนทุรกันดาร ข้ามพรมแดนเข้าไปในพม่าเพื่อเข้าไปขับไล่กองกำลังอังกฤษในพม่า

ญี่ปุ่นเข้าปกครองพม่า และจัดตั้งกองกำลังชาวพม่ารักชาติเพื่อขับไล่อังกฤษ ชายหนุ่มชื่อ ออง ซาน รวมอยู่ในกองกำลังนั้นด้วย

พ.ศ.2484 หน่วยข่าวกรองญี่ปุ่นลักลอบส่งเด็กหนุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งไปฝึกบนเกาะไหหลำ (ญี่ปุ่นยึดครองในขณะนั้น) ต่อมานักรบหนุ่มเลือดพม่าถูกย้ายไปฝึกบนเกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) เมื่อฝึกเสร็จ เด็กหนุ่มพม่าเลือดรักชาติทั้ง 30 คน เดินทางกลับด้วยเรือ มาแวะที่เวียดนาม เลี้ยวเข้ามาพักที่กรุงเทพฯ

26 ธันวาคม พ.ศ.2485 ณ ที่บ้านของแพทย์ชาวพม่าในกรุงเทพฯ เด็กหนุ่มเลือดรักชาติที่ผ่านการฝึก กรีดเลือดตัวเองใส่ภาชนะรวมกันแล้วดื่มเลือด ร่วมสาบานจะไม่ทรยศต่อกัน เรียกตัวเองว่า “กลุ่มสหายสามสิบคน” (Thirty Comrades) นำโดย ออง ซาน ภารกิจคือ พม่าต้องเป็นเอกราช

1 ใน 30 สหายที่มาแวะกรีดเลือดร่วมสาบานนั้น ต่อมาคือ นายพลเนวิน ผู้นำกองทัพพม่าก่อรัฐประหารปิดประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2505

ตามข้อมูลระบุว่าบ้านนายแพทย์ชาวพม่าที่มาแวะกรีดเลือดอยู่แถวซอยสวนพลู และนี่คือ ประวัติศาสตร์การก่อตั้งกองทัพพม่ากู้ชาติ (BIA : Burma Independence Army) ในกรุงเทพฯ

ผู้เขียนเคยสืบค้นประวัติศาสตร์ช่วงนี้ แล้วในวันหนึ่งก็มีโอกาสได้ไปเห็น “เก้าอี้นั่ง” (ส่วนหนึ่ง) ที่ 30 สหายใช้ประชุมตั้งโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ทหารกรุงย่างกุ้ง ที่นำมาตั้งแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะ ออง ซาน

ออง ซาน และทีมงานออกจากกรุงเทพฯ กลับไปย่างกุ้งเพื่อกู้ชาติทำงานได้ผลทั้งในเมืองและชนบท สนับสนุนกองกำลังลูกพระอาทิตย์ขับไล่ทหารอังกฤษออกจากพม่าให้ถอยกลับไปในอินเดียสำเร็จ

ใน พ.ศ.2488 หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษได้หวนกลับเข้าไปในพม่าเป็นรอบที่ 2 เพื่อสถาปนาการปกครองระบอบอาณานิคมอีกครั้ง

ตามที่ได้เรียนให้ทราบตั้งแต่ต้น ดินแดนพม่ามี 135 ชนเผ่า 8 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ พม่า (Bamar) ฉิ่น (Chin) กะฉิ่น (Kachin) คะยิ่น (Kayin) คะยา (Kayah) มอญ (Mon) ยะไข่ (Rakhine) ฉาน (Shan) ปัญหาโลกแตก คือ ชนเผ่าในดินแดนพม่าต่างก็จ้องตาเป็นมันที่จะ “เป็นใหญ่” ในรูปแบบ “การปกครองตนเอง” เพราะก็ไม่ได้เคารพนบนอบ “ชนเผ่าพม่า”

สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ออง ซาน กลายเป็นผู้นำอันชอบธรรมของพม่า ในเดือนมกราคม 2490 นายแอต ลี นายกรัฐมนตรีอังกฤษเชิญ ออง ซาน ไปเจรจาการคืนเอกราชให้พม่า ณ กรุงลอนดอน

27 มกราคม พ.ศ.2490 มีการลงนาม ข้อตกลงอองซาน-แอตลี (Aung San-Atlee Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับกลุ่มการเมืองของอองซาน โดยตัดกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ออกไป

ออง ซาน กลับมาย่างกุ้ง ยกการร่างรัฐธรรมนูญของพม่าโดยเชิญผู้นำชนกลุ่มน้อยมาร่วมลงนามในข้อตกลงปางโหลง (Panglong Agreement) เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 ที่มีสาระสำคัญคือให้ชนเผ่าต่างๆ รวมอยู่กับพม่า 10 ปีก่อน เพื่อสร้างชาติให้เข้มแข็ง มีผู้แทนจากรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และรัฐชิน จำนวน 23 คน ที่ตกลงจะร่วมมือกัน จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

หลังจาก 10 ปีแล้ว ชนเผ่าใดจะแยกตัวเป็นอิสระหรือตั้งชาติของตนขึ้นมาใหม่ก็มีเสรีภาพ ในขณะที่ตัวเขารับบทบาท นายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลเฉพาะกาล

ถือได้ว่า ออง ซาน ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ ในการรวมชนกลุ่มน้อยต่างเข้ากับพม่าในการประชุมที่ปางโหลง

หากแต่…ข้อเสนอที่โน้มน้าวผู้นำชนกลุ่มน้อยให้ยอมลงนามในข้อตกลง สร้างความไม่พอใจ ก่อเกิดความแค้นสำหรับบางคนในกลุ่ม 30 สหาย ด้วยเหตุผลว่า ออง ซาน เอาใจชนกลุ่มน้อยจนเกินไป หลังจาก 10 ปีถ้าหากชนกลุ่มน้อยแยกตัวออกไปตั้งประเทศใหม่ พม่าก็จะไม่มีอะไรเหลือ ทรัพยากรป่าไม้ แร่ธาตุ อัญมณี ล้วนอยู่ในอาณาเขต ดินแดนชนกลุ่มน้อย

ออง ซาน ทำงานการเมืองต่อไปเพื่อเตรียมเป็นเอกราช โดยลงรับสมัครเลือกตั้ง.. กลุ่มสันนิบาตเสรีชนของออง ซาน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2490

เช้าวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ก่อนพม่าได้รับเอกราช 6 เดือน มีรถบรรทุกทหารมาจอดหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงย่างกุ้ง ไม่มีทหารยาม ทหาร 3 คนถือปืนกลวิ่งขึ้นบันได จากนั้นก็วิ่งเข้าไปในห้องประชุม

ออง ซาน ได้ยินเสียงปืน ทันใดนั้นมือสังหารจากนรก ผลักบานประตูเปิดออก กลุ่มมือปืนกระหน่ำยิงวีรบุรุษออง ซาน เข้าที่หน้าอก ล้มคว่ำจมกองเลือดขาดใจตาย มือปืนยมทูตยิงกราดทั่วห้องตายไปรวม 7 คน

เกิดอะไรขึ้นหลังการตายของ “มหาบุรุษ-บิดาแผ่นดินพม่า” การสอบสวนได้ตัวผู้บงการตัวจริงหรือไม่ มีทฤษฎีสมคบคิดหักหลังอย่างไร เชิญติดตามตอนต่อไปนะครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image