ปิดสวิตช์ ส.ว. : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เชิญชวน ส.ส.ทุกพรรคการเมืองปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อให้การเลือกนายกรัฐมนตรีจบลงโดยเสียงของ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (ส.ส. 500 ส.ว. 250) คือ 376 เสียง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพามือของ ส.ว.

ปรากฏว่า ถูก ส.ว.ตลอดกาล ส่งเสียงถากถางว่า ไม่จำเป็นต้องปิดสวิตช์ ส.ว.อะไรทั้งสิ้น เพียงแค่หาเสียง ส.ส.ให้ได้ครบ 376 เสียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรีก็จะเป็นคนที่ ส.ส.ต้องการ

เหตุที่มีเสียงสะท้อนทำนองนี้ เพราะฝ่าย ส.ว.ตลอดกาลเชื่อว่า ธรรมชาติของ ส.ส. นักการเมือง พรรคการเมืองมีแต่การต่อรองผลประโยชน์ ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ จนมีเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีถึง 376 เสียงอย่างแน่นอน

มุมมองของ ส.ว.ตลอดกาลทำนองนี้จึงไม่มีอะไรใหม่ ลึกซึ้ง เป็นเหตุผลซึ่งสังคมการเมืองไทยรับรู้กันมาตลอดอยู่แล้ว

Advertisement

แต่อีกเหตุหนึ่งทำให้การปิดสวิตช์ ส.ว.โดยต้องรวบรวมเสียง ส.ส.มากถึง 376 เสียง จาก 500 เสียง เป็นไปได้ยาก เป็นเหตุจากเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การโหวตตัวนายกรัฐมนตรีกระทำในที่ประชุมรัฐสภา ให้วุฒิสมาชิกมีสิทธิอำนาจลงคะแนนเสียงด้วยและต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา

เจตนารมณ์เริ่มแรกของการบัญญัติเงื่อนไขที่ให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกฯและต้องใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็เพื่อเป็นทางเลือก หรือทางออกหากพรรคการเมืองไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ทำให้การเมืองถึงทางตันเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดูดี

แต่ในทางกลับกัน ความเป็นจริงทางปฏิบัติ เงื่อนไขทั้งสอง กลายเป็นช่องทางให้เกิดการสืบทอดระบอบ คสช.ซึ่งมีอำนาจเสนอแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 เสียง สามารถเป็นฐานรองรับผู้เสนอแต่งตั้งทันที ที่เปลี่ยนสถานะจากคนกลางมาเป็นผู้แข่งขันในสนามเสียเอง

แนวคิดข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว.จึงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เมื่อคู่แข่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจเสนอแต่งตั้งวุฒิสมาชิก

เว้นแต่ว่า วุฒิสมาชิก มีความอิสระ เป็นตัวของตัวเอง กล้าที่จะโหวตเลือกผู้อื่น ไม่ใช่ผู้เสนอแต่งตั้งตัวเอง ซึ่งเป็นไปได้ยากเช่นเดียวกัน

ครับ การปิดสวิตช์ ส.ว.จะเกิดขึ้น สำเร็จหรือไม่ ความเป็นไปทางการเมืองปลายสัปดาห์นี้จะปรากฏคำตอบให้ทุกฝ่ายได้เห็น สะท้อนจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดเลือกประธานสภา ก็พอจะเห็นแนวโน้มที่ชัดเจน

กระนั้นก็ตาม การประชุมนัดเลือกนายกรัฐมนตรีก็ยังน่าสนใจอยู่ดีว่า ส.ว.และ ส.ส.แต่ละคนจะตัดสินใจอย่างไร

ในส่วนของ ส.ว.มีใครหรือที่จะไม่ยกมือให้กับผู้เสนอแต่งตั้ง ในส่วนของ ส.ส.ต่างหากที่น่าติดตามว่า ผู้ที่เคยประกาศไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของระบอบ คสช.จะตัดสินใจ แสดงออกด้วยวิธีการใด งดออกเสียง ไม่เข้าประชุม ลาออก

และจะส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์การเมือง กับเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้อย่างไร

การตัดสินใจยอมรับทำตามมติพรรค เพื่อรักษาหลักการ กติกามารยาท กับ หลักการ เคารพความคิด ความอิสระ จุดยืนทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยของตัว คนกลุ่มนี้จะเลือกแนวทางใด ระหว่าง ผ้าเช็ดท็อปบู๊ตกับพานรองประชาธิปไตย ตามสำนวนของอดีต ส.ส.ปากตะไกร

การที่สถานการณ์การเมืองไทย เดินทางย้อนกลับมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจระหว่าง กติกามารยาท กับ หลักการประชาธิปไตย ครั้งแล้วครั้งเล่า แทนที่จะเดินไปข้างหน้าโดยไม่มีประเด็นเผด็จการ ประชาธิปไตยมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง จึงเป็นภาพสะท้อนถึงพัฒนาการการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

เวลา 5 ปีที่ผ่านมากับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ เป็นคำตอบว่าสังคมการเมืองไทยเดินหน้าหรือถอยหลัง

คำตอบสะท้อนจากที่มาและบทบาท อำนาจของวุฒิสมาชิก ที่กลายเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดข้อเรียกร้องการปิดสวิตช์ ส.ว.ขึ้น แม้กระนั้นก็ยังเป็นไปได้ยากยิ่ง

กฎ กติกาที่ออกแบบมาใหม่ภายใต้ยุคปฏิรูป กลับกลายเป็นปัญหาต่างๆ มากมาย อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งที่ป่าวประกาศกันทั่วบ้านทั่วเมืองท่ามกลางมวลมหาประชาชนอันไพศาล จึงเป็นเพียงแค่วาทกรรมเพื่อโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยโดยรวมอย่างน่าเศร้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image