ป๋า นายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ : วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นข่าวที่ยังความเศร้าสลดใจกับคนไทยทั้งชาติ มิใช่เฉพาะชาวสงขลาและชาวนครราชสีมาเท่านั้น ความเศร้าสลดใจที่ยิ่งกว่าก็คือความเศร้าสลดใจสำหรับคนที่เคยทำงานใกล้ชิดกับท่าน

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเคยทำงานกับท่านเป็นเวลานาน ตลอดเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันยาวนานถึง 8 ปี 5 เดือน ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่ท่านให้ความไว้วางใจ อนุญาตในเข้านั่งในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ยกมือพูดในที่ประชุมได้เช่นเดียวกับรัฐมนตรีท่านอื่นๆ บางครั้งไม่ได้ยกมือขอพูดท่านก็เรียกให้พูด เพราะท่านทราบมาล่วงหน้าแล้วว่าจะพูดอะไร

ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่แยกคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในฐานะอนุกรรมการของคณะรัฐมนตรีออกมาต่างหาก เพื่อจะได้ให้มีเวลาถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวาง และให้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสอภิปราย แสดงความเห็นได้ในเรื่องที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เสนอได้ทุกกระทรวง เพราะตามปกติแล้วรัฐมนตรีด้วยกันมักจะรักษามารยาท

ไม่ค้านข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีซึ่งกันและกัน หรือที่สื่อมวลชนใช้คำว่า “ผลัดกันเกาหลัง” เพราะพรรคการเมืองมีความจำเป็นต้อง “หาเงิน” เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง รัฐมนตรีก็ต้องหาเงินเพื่อจ่ายให้กับ ส.ส.ที่สนับสนุนตนในพรรคให้เป็นรัฐมนตรี การตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ทำให้ที่ปรึกษาและรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเอง ที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองสังกัดพรรค จึงไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคเพื่อประโยชน์ของพรรคเป็นหลัก การตั้งคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจจึงเป็นนวัตกรรมแรก

Advertisement

นวัตกรรมที่สองของการบริหารเศรษฐกิจคือ การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน โดยเป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ อันประกอบด้วยกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และมีตัวแทนจากหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ภาคเอกชนที่เข้าร่วมเป็นกรรมการ จึงไม่ใช่บุคคลเฉพาะเจาะจง แต่เป็นตัวแทนของสถาบันธุรกิจเอกชน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งไม่ใช่ตัวบุคคล

ภาวะเศรษฐกิจในช่วงป๋าเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นช่วงหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันครั้งที่ 2 เพราะประเทศสมาชิกผู้ส่งออกปิโตรเลียมหรือโอเปค OPEC ซึ่งผลิตน้ำมันดิบถึงร้อยละ 75 รวมตัวกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง เป็นเหตุให้ราคาน้ำมันดิบถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากบาร์เรลละ 2 เหรียญสหรัฐขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึง 60 เหรียญสหรัฐ ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาและชะลอตัวในที่สุด

เป็นเหตุให้ราคาสินค้าเกษตรทุกตัวไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง พากันราคาตกหมด ข้าวเปลือกราคาเหลือเพียงเกวียนละ 2,000 บาท มันสำปะหลังกิโลกรัมละ 60 สตางค์ ข้าวโพดเกวียนละ 800 บาท อุตสาหกรรมก็ซบเซา มีการปลดแรงงานออก ขบวนการกรรมกรถูกแทรกแซงโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างตลอดเวลา การบริหารเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะรายได้จากภาษีอากรเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่รายจ่ายสูงกว่างบประมาณ ต้องขึ้นภาษีและตัดงบประมาณกลางปีทุกปี ซึ่งสร้างภาระแก่พ่อค้าประชาชนทุกปี

Advertisement

เมื่อราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นและต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุกปี จนดอกเบี้ยมาตรฐานสูงถึง 19 เปอร์เซ็นต์ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ของธนาคารพาณิชย์สูงถึงร้อยละ 15 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึงร้อยละ 25 การลงทุนของภาคเอกชนจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น บริษัทเงินทุนทุกแห่งล้มหมด เสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์เริ่มมีปัญหา

มีข่าวลือว่าธนาคารกรุงเทพจะล้ม ประชาชนแห่กันออกมาขอถอนเงิน ที่ปรึกษารีบเข้าไปพบท่านแล้วขอให้ท่านออกมายืนยันว่าท่านได้ตรวจสอบแล้ว ธนาคารกรุงเทพยังมีสภาพคล่องเพียงพอ ให้สำนักงานสาขาของธนาคารกรุงเทพเบิกเงินสดเอามาตั้งกองไว้ให้เห็น แต่เมื่อป๋าออกมายืนยันทางโทรทัศน์ประชาชนก็เชื่อ หยุดแห่กันออกมาถอนเงิน สถานการณ์จึงสงบลง

ป๋าถามที่ปรึกษาว่า “แล้วป๋าจะรู้ได้ยังไงว่าเขามีเงินให้ถอน” ที่ปรึกษาเรียนว่ารู้ไม่รู้ท่านก็ต้องออกมายืนยัน การพูดอย่างนี้ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “white lie” เขาอนุญาตให้พูดปดได้ ท่านลังเลอยู่พักใหญ่ ในที่สุดท่านก็ยอม ท่านจึงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่ธนาคารกรุงเทพและระบบธนาคารทั้งหมด เพราะถ้าธนาคารกรุงเทพล้ม ธนาคารทุกแห่งก็จะพลอยล้มตามกันเป็นโดมิโน่ ขณะนั้นประชาชนไม่ฟังธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์แล้ว ฟังป๋าเท่านั้น

ความยากลำบากในการบริหารเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อพ่อค้า ประชาชน นายทุน นักธุรกิจ เป็นจำนวนมาก เมื่อการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดจนดุลการชำระเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลง เนื่องจากเราตรึงค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐก็ตรึงค่าเงินของตนไว้กับทองคำ เมื่อสหรัฐทำสงครามเวียดนาม ยืดเยื้อ สหรัฐต้องตั้งงบประมาณขาดดุลมหาศาลอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ทำสงคราม ธนาคารกลางทั่วโลกไม่ไว้ใจเงินดอลลาร์สหรัฐจึงแห่เอาเงินทุนสำรองของตนที่เป็นดอลลาร์มาซื้อทองคำเก็บเป็นทุนสำรองแทน ทองคำจึงไหลออกจากอเมริกาทุกวัน เพราะอเมริกาตรึงค่าเงินของตนไว้ที่ 36 ดอลลาร์ต่อทองคำ 1 ทรอยออนซ์ แต่ตลาดโลกให้ราคาสูงกว่า 40 ดอลลาร์ต่อ 1 ทรอยออนซ์ไปแล้ว ค่าเงินดอลลาร์จึงตกลงทุกวันเมื่อเทียบกับทองคำ

ค่าเงินบาทก็เช่นเดียวกัน คือมีค่า 20-23 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ซึ่งสูงเกินไป เงินดอลลาร์จึงไหลออกทุกวัน ในที่สุดป๋าต้องอนุญาตให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง คุณสมหมาย ฮุนตระกูล และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศลดค่าเงินบาทจาก 23 บาท เป็น 27 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ และเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการตรึงค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สกุลเดียวมาเป็นตรึงไว้กับตะกร้าเงินสกุลหลักของโลก 10 สกุล basket of currencies

การลดค่าเงินบาทเพื่อความอยู่รอดของประเทศและการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน สร้างความไม่พอใจให้กับนักธุรกิจที่กู้เงินดอลลาร์เข้ามาหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยเงินบาทสูงถึงร้อยละ 15 แต่ดอกเบี้ยเงินดอลลาร์เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ มีนักธุรกิจคนหนึ่งเพิ่งนำเงินดอลลาร์เข้ามา 400 ล้านดอลลาร์ เกิดความไม่พอใจ ไปยุยงให้ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นออกโทรทัศน์ ต้องการให้ป๋าไปบังคับรัฐมนตรีคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดิม ซึ่งป๋าก็ตอบไปว่าทำไม่ได้ และในที่สุด ผบ.ทบ.ท่านนั้นก็ถูกปลดจากตำแหน่ง

ขณะที่มีวิกฤตทางการเมืองกับ ผบ.ทบ. ที่ปรึกษาถูกเรียกเข้าประจำการที่บ้านสี่เสาฯเพื่อคอยตอบคำถาม ผบ.ทบ.และเสนาธิการกองทัพบก ซึ่งท่านเป็นคนสุภาพเรียบร้อย ไม่แข็งกร้าวเหมือน ผบ.ทบ.

ป๋าเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่รักษาสภาผู้แทนราษฎรไว้ได้เป็นเวลานานถึงกว่า 8 ปี แม้ว่าท่านจะมีวุฒิสภาเป็นผู้ค้ำเสถียรภาพของนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีมาตรา 17 หรือมาตรา 44 ไว้ใช้บังคับ รัฐบาลท่านจึงได้รับสมญาว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการครึ่งใบอย่างปัจจุบัน มีความพยายามจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ก็ไม่สำเร็จ ผู้ลงชื่อกลับมาถอนรายชื่อทุกครั้ง คนสุดท้ายที่ถอนชื่อจากการลงชื่อเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ยังเป็น ส.ส.อยู่ในปัจจุบัน

ป๋าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกปฏิวัติรัฐประหารบ่อยที่สุด เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวถึง 3 ครั้ง 3 หน ครั้งแรกโดยกลุ่มนายทหารหนุ่มผู้บังคับการกรม บังคับบัญชาถึง 42 กองพัน แต่ไม่สำเร็จกลายเป็นเมษาฮาวายไป ครั้งที่ 2 ก็ไม่สำเร็จ เพราะไม่มาตามนัด

ผู้กระทำกลายเป็น “บิ๊กโม่ง” ไป เพราะรัฐประหารโดยไอ้โม่ง ตัวการไม่มาตามนัดและถูกปลดในภายหลัง เป็นการปราบการปฏิวัติรัฐประหารโดยไม่เสียเลือดเนื้อ มีคนถูกกระสุนลูกหลงเพียงคนเดียว

ป๋าเคยถูกลอบสังหารแต่พระคุ้มครอง กระสุนอาร์พีจีวิถีโค้งไปชนกิ่งไม้ก่อน ระเบิดที่ผูกไว้กับเสาสะพานไม่ทำงานขณะที่ขบวนรถป๋าวิ่งผ่านที่จังหวัดลพบุรี

ป๋าเป็นทหารที่สามารถเข้าไปในเขตสีแดงเขตคอมมิวนิสต์ได้และเข้าใจประชาชนที่อยู่ในเขตคอมมิวนิสต์ หลายกรณีถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรังแกเพื่อเอาความดีความชอบ เมื่อท่านขึ้นมาดำรงตำแหน่งจึงเลิกนโยบายปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ใช้นโยบาย 66/23 ให้สมาชิกแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยอย่างมีเกียรติ ซึ่งไม่มีใครทำได้นอกจากป๋า เป็นการปิดฉากสงครามประชาชนที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาอันยาวนานกว่า 25 ปี

ป๋าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยมีใครสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดีและความตรงต่อเวลา ตลอดเวลา 8 ปี 5 เดือน ที่ทำงานในฐานะที่ปรึกษา ไม่เคยต้องระแวงว่าท่านตัดสินใจไปตามผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของท่าน เพราะท่านไม่มีผลประโยชน์และวาระ พวกเราจึงสบายใจ สามารถถกเถียงกับท่านได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องเกรงใจท่านในเรื่องงาน เราเคารพแต่ไม่ต้องเกรงใจท่าน และท่านก็ชอบให้ถกเถียงกับท่าน

การจากไปของท่าน ยอมเป็นที่เศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะหาผู้นำอย่างท่านไม่ได้อีกแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image