ภาพเก่าเล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน..ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

1 เหตุการณ์สำคัญ ที่ทหาร ตำรวจ นำอาวุธออกมาทำลายล้างกัน เคว้งคว้างหมุนอยู่ในกงล้อประวัติศาสตร์ที่คนไทยรุ่นหลังควรรับทราบ…คำว่า “กบฏแมนฮัตตัน” เกิดขึ้นในเมืองไทย ชื่อเหตุการณ์เป็นภาษาฝรั่ง แต่ตัวละครเป็นคนไทยทั้งนั้นครับ…

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ขอนำเบื้องหลัง เหตุการณ์ ย้อนเวลา กบฏแมนฮัตตัน ตามเสียงเรียกร้องของแฟนคอลัมน์ครับ มีอะไรเก่า – ใหม่ แค่ไหน ใครทำอะไร และอย่างไร ?

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 เวลาประมาณ 15.30 น. ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของไทยไปเป็นประธานในพิธีรับมอบ เรือขุดแมนฮัตตัน (Manhattan) ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้แก่ไทย ตามโครงการร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลไทยนำเรือลำดังกล่าวไปใช้ในการขุดสันดอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ

นายทหารเรือกลุ่มหนึ่ง ชิงลงมือปฏิบัติการจับตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในพิธีส่งมอบเรือขุด ณ ท่าราชวรดิฐ

Advertisement

เมื่อผู้แทนฝ่ายสหรัฐกล่าวมอบเรือเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กล่าวตอบ…ทหารเรือลดธงชาติอเมริกันลงจากเสา และชักธงชาติไทยขึ้นตามพิธีการ จากนั้นได้มีการเชิญ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีขึ้นไปชมเรือ ทุกขั้นตอน ลื่นไหลเป็นไปตามจังหวะของฝ่ายก่อการ

คณะของไทยและสหรัฐ เดินขึ้นไปชมเรือขุดแมนฮัตตัน

โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน…น.ต.มนัส จารุภา ร.น. นายทหารเรือหนุ่ม ที่อยู่ในบริเวณพิธีบนบก ตะโกนขึ้นด้วยเสียงเด็ดขาด “หมู่รบตามข้าพเจ้า” และแล้ว นายทหารเรือหนุ่มใจเพชร นำทหารเรือจำนวนหนึ่งถืออาวุธไปปิดสะพานบันไดขึ้นเรือ

Advertisement

น.ต.มนัส จารุภา ร.น. เข้าประชิด จี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมประกาศว่า “เราต้องการแต่ตัวท่านจอมพล คนอื่นไม่เกี่ยวข้องถอยออกไป ขอเชิญท่านจอมพลทางนี้”

แขกเหรื่อที่มาร่วมงานทั้งไทย ทั้งต่างประเทศ ตกตะลึง แตกฮือ

นี่คือการจี้ จับตัวนายกรัฐมนตรีขณะอยู่บนเรือ

น.ต.มนัสพาตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลงเรือเปิดหัวที่จอดเตรียมไว้ที่ท่า แล้วแล่นตรงไปยัง ร.ล.ศรีอยุธยา ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าน้ำหน้าวัดราชาธิวาส

เมื่อขึ้นไปยัง ร.ล.ศรีอยุธยาแล้ว คณะผู้ก่อการฯ ได้จัดให้ จอมพล ป. พักผ่อนที่ห้องโถงนายทหารบนเรือ ส่วนผู้ติดตาม 2 นาย ให้แยกไปพักบริเวณป้อมปืนหัวเรือ

สถานะของ ร.ล.ศรีอยุธยาในขณะนั้น จอดและอยู่ในระหว่างการซ่อมเครื่องจักรใหญ่ ใช้เครื่องยนต์ขวาได้เครื่องเดียว

พอจำได้มั้ยครับ…รูปแบบการควบคุมตัว VIP ที่ลอกเลียนกันมา เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 เวลา 11.30 น. เมื่อนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน ถูกกลุ่มผู้ก่อการที่เป็นทหารอากาศจับตัวขณะอยู่ในเครื่องบินลำเลียง C-130 ที่กำลังจะบินขึ้นจากท่าอากาศยานดอนเมือง โดยคณะ รสช. ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ

หลักการจับตัว VIP ต้องลงมือ ใช้จังหวะที่ “สถานที่” มีพื้นที่จำกัด การต่อสู้ขัดขืน หรือการใช้กำลังเข้าแย่งชิงจะกระทำได้ยาก ในเรือ หรือ อากาศยาน มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง….

กลับมาที่เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ครับ….

จุดมุ่งหมายของการจับตัวจอมพล ป. ในครั้งนั้นก็เพื่อใช้ในการต่อรองทางการเมือง

เมื่อจอมพล ป. ซึ่งอยู่บน ร.ล.ศรีอยุธยา ในฐานะตัวประกัน กลุ่มทหารเรือผู้ก่อการได้ออกประกาศ บังคับรัฐบาลให้ลาออกโดยใช้การบันทึกเสียงจอมพล ป. แล้วนำไปออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองสัญญาณทหารเรือ

น.อ.อานนท์ ปุณฑริกกาภา ร.น. หัวหน้าคณะผู้ก่อการฯ ยังได้ให้จอมพล ป. กล่าวในวิทยุกระจายเสียงในฐานะนายกรัฐมนตรี ประกาศตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ทางฝ่ายรัฐบาลเมื่อตั้งหลักได้….รับทราบสถานการณ์ ประกาศไม่ยอมทำตาม และประกาศตั้งนายวรการ บัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นรักษาการนายกฯ

เนื้อความที่บันทึกเสียง จอมพล ป. ได้กล่าวว่า …”ให้ทหารหน่วยต่างๆ ในกองทัพบก และตำรวจ อย่าเคลื่อนกำลัง และงดเว้นปฏิบัติการใช้อาวุธ โดยทางผู้ใหญ่จะได้เจรจากันเองอย่างสันติ..”

ในขณะนั้น พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ เป็น ผบ.ทบ. พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ต้องการชิงตัวจอมพล ป. และปราบกบฏ

พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น. ผบ.ทร. ได้เข้ามาขอพบฝ่ายรัฐบาลเพื่อยืนยันว่า กองทัพเรือมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และผู้ก่อการเป็นเพียงทหารเรือส่วนน้อยเท่านั้น

กองทัพเรือเอง ก็มีแนวคิดจะให้ทหารเรือชิงตัวให้ได้ก่อนเวลา 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น แต่แผนนี้ถูกระงับเสียก่อน

เคยมีข่าวกรองระแคะระคายมาก่อนหน้านี้ว่า จะมีการก่อรัฐประหารแต่ก็นึกไม่ถึงว่า จะเป็นวันนี้ บนเรือรบของกองทัพเรือ

ครม.เรียกประชุม พิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐบาลจะไม่อนุโลมตามด้วยประการทั้งปวง นอกจากนี้ ครม.ยังได้มีมติให้ปราบปรามพวกกบฏอย่างเด็ดขาด

…ช่วงเวลาต่อมา รัฐบาลประกาศให้พวกกบฏปล่อยตัวจอมพล ป. ให้เป็นอิสรภาพโดยเร็วที่สุด หาไม่ รัฐบาลจะจัดการโดยเด็ดขาด

กลุ่มผู้ก่อการไม่ยอมปล่อยตัวจอมพล ป. เพราะมีความมั่นใจอยู่อย่างหนึ่งว่า การควบคุมตัวจอมพล ป. ไว้เป็นตัวประกันนั้น จะสามารถเรียกร้องต่อรองทางการเมืองได้และจะไม่มีหน้าไหนหาญกล้ามาชิงตัว

30 มิถุนายน พ.ศ.2494 รัฐบาลสั่งการให้กำลัง เกิดการสู้รบบนฝั่งระหว่างทหารไทยด้วยกันอย่างดุเดือด น.อ.อานนท์วางกำลังตั้งรับ ณ พื้นที่ท่าราชวรดิฐ และบริเวณท่าช้างวังหลวง

ทหารเรืออีกส่วนหนึ่งเข้ายึดโรงไฟฟ้า และศูนย์โทรศัพท์กลางวัดเลียบ… ในเวลาต่อมา ทหารบก และตำรวจรถถัง เข้ายึดโรงไฟฟ้าคืนมาได้ มีการยิงกันสนั่นเมือง ทหารบกเข้ายึดสถานที่สำคัญๆ ของทหารเรือคืนมาได้ ทหารเรือแตกพ่าย ถอดเครื่องแบบปลอมตัว หลบหนี

นี่เป็นเหตุการณ์ที่สร้างรอยร้าวสาหัสในแผ่นดินไทย

แม้ว่าทหารบก ตำรวจจะปราบปรามกลุ่มทหารเรือแตกพ่ายไปแล้วก็ตาม จอมพล ป. ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะยังมั่นใจว่าฝ่ายรัฐบาลคงจะไม่กล้าทำการรุนแรง

ฝ่ายก่อการ เข้าใจผิดมหันต์ …ประชาชนทั้งประเทศตกใจกับสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ที่ทหารไทยรบกันเอง ฝ่ายรัฐบาลตั้ง บก. ปราบกบฏ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

30 มิถุนายน 2494 เวลา 15.00 น. จอมพล ฟื้น ฤทธาคนี ผบ.ทอ. สั่งการเฉียบขาดให้เครื่องบินของกองทัพอากาศ ทิ้งระเบิดใส่ ร.ล.ศรีอยุธยา ระเบิดจากนกเหล็กพุ่งเข้าที่ดาดฟ้าเรืออย่างแม่นยำยิ่งนัก เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวทั่วพื้นน้ำเจ้าพระยา

เรือถูกไฟไหม้ ทหารบนเรือกระโดดหนีตายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ….นาทีวิกฤตแห่งความเป็นความตาย มีทหารเรือคนหนึ่งเข้าช่วยใส่เสื้อชูชีพให้จอมพล ป. พาท่านกระโดดน้ำหนี แล้วพาขึ้นฝั่งรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์

ระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินของ ทอ.ไทย ทำความพินาศให้ ร.ล.ศรีอยุธยา เกิดควันไฟสีดำพวยพุ่งขึ้นท้องฟ้า น่าสลดหดหู่

ตามแผนขั้นที่ 2 ที่วางไว้ ฝ่ายกบฏมีแผนล้ำลึกถึงขนาดจะพาตัวจอมพล ป. หนีออกทะเล แต่ต้องชะงักเพราะเรือรบหลวงอยุธยาไม่สามารถแล่นผ่านสะพานพุทธได้ เนื่องจากสะพานไม่เปิดตามแผน และนึกไม่ถึงว่ากองทัพอากาศจะมาทิ้งระเบิดใส่เรือ ทำให้เรือเสียหายอย่างหนักเกินกว่าจะแล่นได้

ในที่สุด ร.ล.ศรีอยุธยา ของราชนาวีไทย ก็จมลง ณ ปากคลองบางหลวง กลางลำน้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2494

ท้ายที่สุดฝ่ายผู้ก่อการและรัฐบาลเปิดการเจรจากัน ฝ่ายกบฏยอมปล่อยตัวจอมพล ป. ในเวลา 23.00 น. เป็นอันยุติกบฏแมนฮัตตันที่รบกันเอง เสียหาย พังพินาศไปไม่น้อย

หลังจากนั้น เกิดอะไรขึ้น หลังจากเหตุระทึกในแผ่นดินถึงขนาดจับตัวนายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกันสำเร็จและทหารไทยรบกันเอง…และอะไรคือสาเหตุของความต้องการล้มล้างรัฐบาลจอมพล ป.

โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ…

ที่มานาวาตรี มนัส จารุภา (2517) เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ป. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image