ความไม่มั่นคงของความมั่นคงทางการเมือง : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ความมั่นคงทางการเมือง หรือเสถียรภาพทางการเมืองนั้นเป็นทั้งแนวคิด และวาทกรรมที่สำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะทั้งในบ้านเราและในโลก
ที่ว่าเป็นทั้งแนวคิดและวาทกรรมก็หมายถึงว่า ในแง่แนวคิดนั้น ความมั่นคงทางการเมือง (political stability แปลง่ายๆ เป็นที่เข้าใจในวงการวิชาการมากกว่าจะแปลตรงตัวว่า (political security) นั้นเป็นคำที่มีการคิดค้น ศึกษา วิจัยมากมายจนเป็นอุตสาหกรรม ทั้งในระดับวงการวิชาการโดยเฉพาะในวงการรัฐศาสตร์สาขาการเมืองเปรียบเทียบ

ส่วนความหมายในเชิงวาทกรรมขอแปลความง่ายๆ ว่า เป็นเรื่องของการนำเอาคำนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือมีอิทธิพลต่อความคิดของคน

รวมไปทั้งที่ว่าคำเหล่านั้นมีพลังอำนาจในตัวเองที่จะส่งผลต่อรูปการณ์ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมรวมทั้งต่อผู้ที่เชื่อว่าตนเองได้ประดิษฐ์คำและแนวคิดนี้ขึ้นมาด้วย

ประการแรก คำว่าความมั่นคงทางการเมืองหรือเสถียรภาพทางการเมืองมักจะถูกทำให้เข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของการที่ระบบการเมืองมีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ไม่มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง ทั้งการจราจล และการประท้วง หรือเป็นการไม่เคารพกติกาในบ้านเมืองจนมีการละเมิดกฎกติกาทางการเมืองกันอยู่บ่อยครั้ง อาทิ การลอบสังหารทางการเมือง รวมไปถึงการทำรัฐประหาร

Advertisement

ปรากฏการณ์ทางการเมืองเช่นนี้นักวิชาการทางการเมืองเปรียบเทียบในอดีตโดยเฉพาะรุ่นครูบาอาจารย์ผมมักจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา และเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงการด้อยพัฒนาทางการเมือง

แต่ใช่ว่าครูบาอาจารย์ผมจะเห็นดีเห็นงามกับรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในแง่ที่อยู่ในอำนาจนาน ซึ่งในบ้านเราในอดีตนั้นมักจะเท่ากับการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหาร (คำกว้างๆ) ให้อยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย อย่างกรณีของ ศาสตราจารย์ กระมล ทองธรรมชาติ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายก สมัย พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ) ในช่วงทศวรรษที่ 2520 ซึ่งเป็นผู้บรรยายหลักในวิชาการเมืองการปกครองไทยสมัยนั้น ท่านได้เคยกล่าวไว้ในงานเขียนของท่านชิ้นหนึ่ง

โดยท่านกล่าวว่า “เสถียรภาพและความมั่นคงหมายถึง การมีรัฐบาลที่มั่นคงและมีความสามารถที่จะบริหารประเทศชาติ ตามนโยบายที่วางไว้ภายในกำหนดระยะเวลาที่นานพอสมควรประมาณ 4 ถึง 5 ปี โดยฝ่ายค้านสามารถที่จะควบคุมและเร่งรัดให้รัฐบาลปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ รวมทั้งคอยทักท้วงและป้องกันมิให้รัฐบาลดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นผลร้ายต่อประชาชนและประเทศชาติ”

Advertisement

สิ่งที่สำคัญในความรู้และทรรศนะในสมัยนั้นก็คือ การต้องเผชิญปัญหาทั้งสองด้าน แน่นอนว่าในด้านแรก การมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางนั้นก็เปลี่ยนบ่อยเสียจนทำงานอะไรก็ไม่ได้

แต่อีกด้านที่น่าสนใจคือ นักวิชาการสมัยนั้นก็ไม่ได้หน้ามืดตามัวเชียร์เผด็จการเสียจนไม่วิจารณ์ว่าการครองอำนาจนานของนายพลและจอมพลสมัยก่อนนั้นไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา เพราะไม่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนปรากฏหลักฐานของการโกงมากมายเต็มไปหมด รวมไปถึงการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเผด็จการในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พูดไปแล้วเหมือนการกลับตาลปัตร เพราะสมัยก่อนนั้นคนที่ถูกวิจารณ์ว่าโกง (ก่อนปี 2531) นั้นคือเผด็จการทหาร มากกว่านักการเมือง

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าข้อเสนอในยุคสมัยทศวรรษที่ 2520 คือยุค พล.อ.เปรมนั้นจะลงตัวที่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่กระนั้นความสำคัญก็คือการเปิดให้มีเสรีภาพทางการเมือง และการทำงานของฝ่ายค้าน เพราะอย่างน้อยการเปลี่ยนรัฐบาลเปรมถึงห้าครั้งก็น่าจะสะท้อนถึงการพยายามปรับตัวของฝ่ายผู้มีอำนาจ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่อุดมคติทั้งหมดของประชาธิปไตยเต็มใบ

กล่าวโดยสรุป เวลาที่เราพูดถึงเสถียรภาพทางการเมืองในอดีตนั้นเขาไม่ได้หมายถึงให้ทหารสืบทอดอำนาจและกดนักการเมืองเอาไว้นะครับ แต่เขาพยายามหาทางออกไปจากสองระบบนี้โดยการประนีประนอมผ่านการสร้างกำหนดทางรัฐธรรมนูญ เช่น บทเฉพาะกาลที่ข้าราชการประจำจะดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ภายหลังจากการครองอำนาจในช่วงแรก หรือการสร้างวินัยพรรค เพื่อให้พรรคมีความเป็นพรรคขนาดใหญ่ จะได้ไม่ปล่อยให้พรรคขนาดเล็ก และ ขนาดกลางต่อรองอำนาจเพื่อประโยชน์ทางเก้าอี้ผ่านคณิตศาสตร์ทางการเมืองเหมือนดังที่แล้วๆ มา

แต่ความพยายามดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประการที่สอง ผมยังจำได้เสมอว่า ครูอีกท่านหนึ่งของผมคือ รองศาสตราจารย์ สุชาย ตรีรัตน์ ท่านมักย้ำเสมอในทั้งวิชาการเมืองประเทศกำลังพัฒนา และการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจว่า เราต้องแยกแยะให้ชัดเจน ระหว่างความมั่นคง/เสถียรภาพของรัฐบาล และความมั่นคง/เสถียรภาพทางการเมือง

เพราะบ่อยครั้งรัฐบาลนั้นมาและไปเร็ว แต่ไม่ได้หมายถึงว่าประเทศชาติจะพังทลายไปพร้อมกับรัฐบาล

ตัวอย่างสำคัญก็คือ กรณีของรัฐบาลในประเทศประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐบาลนั้นสามารถยุบสภาได้โดยไม่ต้องครบวาระ ซึ่งในทางหนึ่งก็หมายความว่า รัฐบาลนั้นก็ต้องยุบไปด้วย และปล่อยให้ประชาชนนั้นตัดสินใจใหม่ ซึ่งในความจริงที่เกิดบ่อยๆ ก็คือ ถ้ารัฐบาลได้เปรียบทางการเมือง รัฐบาลจะรีบชิงยุบสภาเพื่อให้กลับมามีที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น ขณะที่หากรัฐบาลนั้นไม่มีความแข็งแกร่งพอแล้วถูกบีบให้ยุบสภา รัฐบาลก็จะยิ่งมีอำนาจน้อยลง

ประการที่สาม ผมยังจำได้อีกว่า ในยุคสมัยเมื่อสามสิบปีก่อนนั้น ท่านศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร สมัยที่ท่านยังศึกษาปริญญาเอกด้านปรัชญาการเมืองอยู่ที่ประเทศอังกฤษก่อนที่จะกลับมาเป็นอาจารย์ที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั้น ท่านเคยเขียนบทความถกเถียงกับศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน แห่งรัฐศาสตร์ มธ. โดยมองว่าแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยครึ่งใบนั้นเป็นแนวคิดที่อาจจะส่งผลทางอุดมการณ์ให้เราเชื่อว่านี่คือความจริงที่เราต้องยอมรับ และในทางปฏิบัตินั้น เราจะก้าวข้ามจากประชาธิปไตยครึ่งใบไปได้อย่างไร ด้วยว่าฝ่ายที่พึงใจในสภาวะครึ่งใบก็ย่อมจะพยายามรักษาอำนาจเอาไว้ และบ่อยครั้งอาจจะอ้างอิงความคิดความสมดุลทางการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายจากการตื่นตัวทางการเมืองมากเกินไปที่ถูกอ้างว่าเป็นความเป็นจริงทางการเมืองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นความจริงที่นำไปสู่ความเสื่อมถอยทางการเมืองหากสถาบันทางการเมืองยังไม่พร้อม (ตามข้อเสนอของ ฮันติงตัน)

ขณะที่ฝ่ายที่ต้องการผลักดันให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เกิดขึ้น (สมัยนั้นไม่ใช่พวก กปปส.) ก็ย่อมไม่พอใจ แม้ว่าทุกฝ่ายจะอ้างว่าได้มีความเข้าใจตรงกันเป็นเบื้องต้นถึงความหมาย ความสำคัญของประชาธิปไตยแล้วก็ตาม

ในประการสุดท้าย อยากจะกล่าวถึงข้อถกเถียงจากนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ของโลกผู้เชี่ยวชาญการเมืองเปรียบเทียบ โดยเฉพาะทวีปแอฟริกาที่ชื่อว่า Claude Ake ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจผิดของนักวิชาการด้านการเมืองเปรียบเทียบเมื่อหลายทศวรรษก่อนในเรื่องความมั่นคงหรือเสถียรภาพทางการเมือง

Ake เสนอว่านักวิชาการมักจะเข้าใจกันว่าเสถียรภาพทางการเมืองหมายถึงการไม่เปลี่ยนแปลง หรือการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน

ทั้งที่จริงแล้ว ความมั่นคงทางการเมืองหรือเสถียรภาพทางการเมืองนั้นหมายถึงความสม่ำเสมอในการแลกเปลี่ยนทางการเมือง (regularity of the flow of political exchange) ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ทางการเมืองบางอย่าง หรือสถาบันทางการเมืองบางสถาบัน

ขยายความได้ว่า เราไม่ควรมองว่ารัฐบาลที่ครองอำนาจยาวนานนั้นหมายถึงเป็นรัฐบาลที่รักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองไว้ได้ เพราะในแง่นี้อาจจะสับสนไปหนุนเอาเผด็จการได้ว่า รัฐบาลเผด็จการเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

ทั้งที่รัฐบาลเผด็จการเหล่านั้นเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ

และในประเด็นนี้เองที่เราก็สามารถตีความได้ว่า การสืบทอดอำนาจและไม่คืนอำนาจให้กับประชาชนตามเวลาที่สม่ำเสมอนั้นต่างหากที่ถือเป็นความไม่ปกติสม่ำเสมอในการแลกเปลี่ยนทางการเมือง หรือเป็นการละเมิดความสม่ำเสมอในการแลกเปลี่ยนทางการเมือง

ซึ่งสิ่งนี้แหละครับที่ชี้ให้เห็นว่า การไม่คืนอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริงต่างหากคือการทำให้การเมืองไม่มีความมั่นคง และขาดเสถียรภาพ เพราะเป็นการละเมิดกฎและสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของบ้านของเมือง

ตรงนี้แหละครับ ที่เรากำลังจะต้องมาตีความกันใหม่ว่า ตกลงการปฏิวัติรัฐประหารนั้นเป็นสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย คือรับได้ เพราะเกิดบ่อยอย่างสม่ำเสมอ หรือการปฏิวัติรัฐประหารนั้นผิดหมด หรือแต่ละครั้งการปฏิวัติรัฐประหารก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างออกไป บางครั้งแม้จะสำเร็จก็อาจจะสร้างความคับข้องใจให้กับสังคม เพราะมันไปละเมิดความสม่ำเสมอของการแลกเปลี่ยนทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่

ดังนั้นแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ นอกเหนือจากจะมองเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองว่าเป็นเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่แล้ว อาจยังจะต้องพิจารณาว่าเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองที่พูดถึงนั้นเป็นเรื่องของมิติของชนชั้นนำหรือไม่ เพราะสำหรับคนที่ไม่ใช่คนชั้นนำ การระบุว่าการทำรัฐประหารเป็นทางออกจากการไร้เสถียรภาพทางการเมือง หรือเป็นต้นเหตุของการไร้เสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง อาจจะไม่ได้กระทบอะไรกับประชาชนโดยตรงเท่ากับเรื่องปากท้องและการช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่กระทบกับคนมีอำนาจที่ไม่ได้ประโยชน์จากระบบประชาธิปไตยก่อนหน้านั้นเสียมากกว่า

หรือในทางกลับกัน การทำรัฐประหารในประเทศหนึ่งอาจทำให้สังคมมีเสถียรภาพขึ้น แต่ในบางประเทศอาจไม่ได้ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ ดังนั้นก็ไม่ควรหยิบยืมข้ออ้างประเทศอื่นมาใช้ว่ารัฐประหารคือทางออกเสมอไป แต่ยิ่งรัฐประหารแล้ว ชนชั้นนำบางกลุ่มอาจมีเสถียรภาพมากขึ้นมากกว่า

อย่างเราจะเห็นว่า บ่อยครั้งชุมชนทางธุรกิจมักจะอ้างว่าความวุ่นวายจากการชุมนุม และการคอร์รัปชั่นนั้นทำให้ไม่เกิดเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยินดีโอบรับกับการทำรัฐประหารถ้าจะทำให้บ้านเมืองสงบ มั่นคงและรัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่ในอีกช่วงหนึ่งชุมชนธุรกิจเหล่านั้นก็อ้างว่ายิ่งรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารอยู่นาน ไม่เลือกตั้ง ก็อาจทำให้การเมืองสงบและมั่นคงนั้นไม่พึงปรารถนาบ้างก็เป็นได้

ดังนั้นความคิดเรื่องความมั่นคงหรือเสถียรภาพทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก บ่อยครั้งลื่นไหล มีพลวัต ไม่เป็นที่ตกลงตรงกัน และเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงในตัวของมันเอง และอาจไม่ได้ให้ประโยชน์กับทุกคนในสังคมอย่างเสมอกัน

ใครอยากจะอ้างไปใช้ก็เอาที่สบายใจเถิดครับ

(หมายเหตุ – พัฒนาจาก กระมล ทองธรรมชาติ. 2526. การสร้างความมั่นคงทางการเมือง. รัฐศาสตร์รำลึก. สมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ไชยันต์ ไชยพร. 2531. จิตสำนึกร่วมของวิชารัฐศาสตร์-การเมืองและประชาธิปไตย” ความสับสน-ฮันติงตันกับประชาธิปไตยครึ่งใบ. จดหมายข่าวสังคมศาสตร์. และ Claude Ake. 1975. A Definition of Political Stability. Comparative Politics. 7:2 (Jan): 271-283.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image