ทุเรียนเมืองนนท์ถึง ทุเรียนภูเขาไฟ : โดย สมหมาย จันทร์เรือง

ทุเรียนไทย ได้รับความนิยม มีราคาสูง ทำรายได้มาก และเป็นผลไม้เด่นที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทุเรียนจะได้รับการยกย่องให้เป็นราชาแห่งผลไม้ (King of Fruits) ของไทย ในปัจจุบัน โดยเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน เป็นฤดูกาลของทุเรียนที่กำลังทยอยออกมาเป็นจำนวนมาก

ประวัติและความเป็นมาของทุเรียน

ทุเรียนเป็นพืชซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Durio zibethinus Murray โดย Durio เป็นชื่อสกุล zibethinus เป็นชื่อวงศ์ และ Murray เป็นชื่อของบุคคลผู้ค้นพบหรือกล่าวพรรณนาถึงพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก ทุเรียนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีการปลูกเชิงการค้ากันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม และฟิลิปปินส์ รวมทั้งบางส่วนของประเทศออสเตรเลียที่มีภูมิอากาศร้อน

ทุเรียนมีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ชื่อที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ ทุเรียน ในภาษาไทย และดูเรียน (Durian) ในภาษามลายู อินโดนีเซีย และภาษาอังกฤษ ชื่อของทุเรียนในภาษาไทยมีรากศัพท์มาจากคำในภาษามลายูและอินโดนีเซียว่า “ดูเรียน” ซึ่งมาจากคำว่า “ดูริ (Duri)” ที่แปลว่า “หนาม” และแปลงสำเนียงเป็น “ทูลเรียน” และ “ทุเรียน” ในที่สุด

Advertisement

ประวัติของทุเรียนปรากฏขึ้นในสมัยอยุธยา พ.ศ.2228 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสทรงส่งคณะราชทูตอันเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา มีเมอร์ซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (Monsieur de la Loubere) นักบวชนิกายเยซูอิตเป็นหัวหน้าคณะราชทูต ได้บันทึกสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นรวมทั้งเกษตรกรรมของเมืองไทยตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2336 แปลเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

“ดูเรียน (Durion) ชาวสยามเรียกว่า ‘ทูลเรียน’ เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไปก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมาก แต่เมล็ดใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่ายิ่งมีเมล็ดในน้อยยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า 3 เมล็ดเลย”

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ (บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช) ของประเทศไทยนั่นเอง และมีการปรับปรุงพันธุ์อย่างสม่ำเสมอตลอดมา โดยระบบของสังคมไทย นิยมเอาผลไม้ดีที่สุดถวายพระหรือเป็นของกำนัลเจ้านาย รวมทั้งระบบของรัฐ เช่น การเก็บอากรเกี่ยวกับต้นไม้ผลไม้ เป็นการส่งเสริมแกมบังคับให้ทุกคนต้องปรับปรุงพืชผลของตนเอง ส่งผลให้เมืองไทยมีพันธุ์ไม้ผลดีๆ หลากหลายชนิดมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

Advertisement

แสดงให้เห็นว่า งานปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลของประเทศไทยโดยชาวบ้าน ได้เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2314 และมีการทำสวนทุเรียนที่ตำบลบางกร่าง ในคลองบางกอกน้อยตอนใน มาตั้งแต่ พ.ศ.2397

การจำแนกกลุ่มพันธุ์ทุเรียน

ทุเรียนพันธุ์ปลูกของประเทศไทยจำแนกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มกบ กลุ่มลวง กลุ่มก้านยาว กลุ่มกำปั่น กลุ่มทองย้อย และกลุ่มเบ็ดเตล็ด โดยใช้ลักษณะรูปร่างใบ ลักษณะปลายใบ ลักษณะทรงผล และรูปร่างของหนามผล ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างคงที่ไม่แปรปรวนไปตามสภาพแวดล้อม เป็นเกณฑ์กำหนดแนวทางในการจำแนกทุเรียนไทยอย่างเป็นระบบ สามารถใช้อ้างอิงในเชิงวิทยาศาสตร์ให้เป็นแนวทางเดียวกันได้

1.กลุ่มกบ มีลักษณะรูปทรงใบเป็นรูปไข่ขอบขนาน (oval-oblong) ลักษณะปลายใบเป็นแบบแหลมโค้ง (acuminate curve) ลักษณะฐานใบเป็นแบบกลมมน (rounded-obtuse) และลักษณะทรงผลของกลุ่มกบนี้จะกระจายอยู่ใน 3 ลักษณะ คือ กลุ่ม (rounded) กลมรี (oval) กลมแป้น (oblate) รูปร่างของหนามผลมีลักษณะโค้งงอ (hooked)

2.กลุ่มลวง มีลักษณะรูปทรงใบป้อมกลางใบ (elliptical) ลักษณะปลายใบเรียวแหลม (acuminateacute) ลักษณะฐานใบแหลม (acute) และมน (obtuse) ลักษณะทรงผมกระจายอยู่ใน 2 ลักษณะ คือทรงกระบอก (cylindrical) และรูปรี (elliptic) รูปร่างของหนามผลมีลักษณะเว้า (concave) เช่น ลวง และชะนี เป็นต้น

3.กลุ่มก้านยาว มีลักษณะรูปทรงใบแบบป้อมปลายใบ (obovate-lanceolate) ลักษณะปลายใบเรียวแหลม (acuminate) ลักษณะฐานใบเรียว (caunate acute) ลักษณะทรงผลเป็นรูปไข่กลับ (obovate) และกลม (rounded) รูปร่างของหนามผลมีลักษณะนูน (convex)

4.กลุ่มกำปั่น มีลักษณะรูปทรงใบยาวเรียว (linear-oblong) ลักษณะปลายใบเรียวแหลม (Caudate-acuminate) ลักษณะฐานใบแหลม (acute) ลักษณะทรงผลเป็นทรงขอบขนาน (oblong) รูปร่างของหนามผลมีลักษณะแหลมตรง (pointed)

5.กลุ่มทองย้อย มีลักษณะรูปทรงใบแบบป้อมปลายใบ (obovate lanceolate) ลักษณะปลายใบเรียวแหลม (acuminate) ลักษณะฐานใบมน (obtuse) ลักษณะทรงผลเป็นรูปไข่ (ovate) รูปร่างของหนามผลมีลักษณะปลายแหลม (pointed-convex)

6.กลุ่มเบ็ดเตล็ด ทุเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีลักษณะไม่แน่ชัด บางลักษณะอาจเหมือนกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 5 กลุ่มแรก

ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่ผันแปรออกไป เช่น ลักษณะทรงผลกระจายกันอยู่ใน 3 ลักษณะ คือ กลมแป้น (oblate) กลมรี (oval) และทรงกระบอก (cylindrical) เป็นต้น

สาระน่ารู้เกี่ยวกับทุเรียน

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่คนไทยและคนต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งมีสาระน่ารู้หลายประการ ดังนี้

1.หลักเกณฑ์การสังเกตความแก่ของผลทุเรียน

1.1 สังเกตก้านผล ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบจะรู้สึกสากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียนจะรู้สึกว่าก้านผลทุเรียนมีสปริงมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน

1.2 สังเกตหนาม ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ดังนั้น เมื่อมองจากด้านบนของผลจะเห็นหนามเป็นสีเข้ม หนามมีลักษณะกว้างออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบปลายหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ามีสปริง

1.3 สังเกตรอยแยกระหว่างพู ผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้อย่างชัดเจนยกเว้นบางพันธุ์ที่ปรากฏไม่เด่นชัด เช่น พันธุ์ก้านยาว

1.4 การชิมปลิง ผลทุเรียนที่แก่จัด เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออก จะพบน้ำใสซึ่งไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อใช้ลิ้นแตะชิมดูจะมีรสหวาน

1.5 การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม เมื่อเคาะเปลือก ผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวมๆ เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างเปลือกและเนื้อภายในผล เสียงหนักหรือเบาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน

1.6 การปล่อยให้ทุเรียนร่วง ปกติดอกทุเรียนแต่ละรุ่นในแต่ละต้นจะบานไม่พร้อมกัน และมีช่วงต่างกันไม่เกิน 10 วัน ดังนั้น เมื่อมีผลทุเรียนในต้นเริ่มแก่ สุก และร่วงก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ผลทุเรียนที่เหลือในรุ่นนั้นแก่แล้ว สามารถเก็บเกี่ยวได้

1.7 การนับอายุ โดยนับอายุผลเป็นจำนวนวันหลังดอกบาน เช่น พันธุ์ชะนีใช้เวลา 100-105 วัน พันธุ์หมอนทองใช้ เวลา 125-130 วัน การนับวันหรืออายุของผลจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละปี และในแต่ละท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ เช่น ถ้าปีใดมีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง ผลทุเรียนจะแก่เร็วกว่าปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า

2.ช่วงฤดูการผลิตของทุเรียน ในอดีตประเทศไทยสามารถผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ 4 เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นผลผลิตที่ผลิตได้ในภาคตะวันออก แล้วต่อช่วงฤดูการผลิตโดยผลผลิตจากภาคใต้ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ 9 เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม โดยแบ่งเป็นผลผลิตจากพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

2.1 ทุเรียนก่อนฤดูในพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี เกษตรกรประสบความสำเร็จในการผลิตทุเรียนก่อนฤดูในเชิงการค้า โดยใช้สารแพกโคลบิวทราโซลเร่งให้ทุเรียนออกดอกได้ในเดือนสิงหาคม และสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ก่อนที่ผลผลิตตามฤดูกาลปกติจะออกสู่ตลาดในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

2.2 ทุเรียนล่าในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและชุมพร เกษตรกรเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ประสบความสำเร็จในการผลิตทุเรียนล่า และมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมได้ เช่นกันกับเกษตรกรในจังหวัดชุมพรสามารถผลิตทุเรียนล่าออกสู่ตลาดได้ในเดือนกันยายน-ตุลาคม

2.3 ทุเรียนทวาย เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนทวายสามารถทยอยตัดผลผลิตสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปีโดยพิจารณาจากภาวการณ์ตลาด เช่น เทศกาลต่างๆ และพยายามหลีกเลี่ยงการผลิตมิให้ผลผลิตออกมาในช่วงที่เป็นฤดูการผลิตปกติระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาผลิตผลทุเรียนตกต่ำ

ทุเรียนภูเขาไฟ

จุดเริ่มความนิยมของทุเรียน ณ จังหวัดนนทบุรี ทุเรียนได้ขยายพันธุ์และการปลูกอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันเมื่อต้นปี 2562 “ทุเรียนภูเขาไฟ” ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

ทุเรียนภูเขาไฟมีต้นกำเนิดที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ 30 ปีก่อน โดยนำพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูกบนเทือกเขาพนมดงรักที่เป็นพื้นที่ดินภูเขาไฟ จึงเรียกว่าทุเรียนภูเขาไฟ ศรีสะเกษ (Lava Durian Srisaket) ซึ่งมีพื้นที่ปลูกกว่า 2,500 ไร่ และขยายพื้นที่ปลูกไปถึงอำเภอขุนหาญ ทุเรียนพันธุ์นี้มีรสกรอบนอกนุ่มใน และมีกลิ่นฉุนน้อย

ภาพรวมการปลูกทุเรียนในประเทศไทย

จากทุเรียนเมืองนนท์ถึงทุเรียนภูเขาไฟ พื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศไทยมีได้ดังนี้

1.ทุเรียนเมืองนนท์ เป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงยาวนาน เป็นทุเรียนพันธุ์ที่เพาะปลูกบนที่ดินตะกอนสะสมจากแม่น้ำในจังหวัดนนทบุรี เมื่อเมืองขยายตัว สวนทุเรียนถูกเปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรร ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง โดยเฉพาะปี 2538 สวนทุเรียนต้องแช่อยู่ในน้ำนานหลายเดือนและทยอยตายไปจนเกือบหมดสวน ปัจจุบันทุเรียนนนท์จึงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งและน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้สวนทุเรียนนนท์ที่มีน้อยอยู่แล้วเหลือน้อยลงไปอีก

2.ทุเรียนปราจีน เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่หลายคนบอกว่าทุเรียนหมอนทองของที่นี่รสชาติดี เนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกมีสภาพภูมิอากาศแตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก ทำให้ทุเรียนรสชาติอร่อย เนื้อแน่น มีเอกลักษณ์ของตนเอง

3.ทุเรียนนครนายก มีหลายสวนที่ปลูกทุเรียน รวมถึงผลไม้อีกหลากหลายชนิด เช่น สวนละอองฟ้า ซึ่งเป็นสวนอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนที่รวบรวมทุเรียนกว่า 50 สายพันธุ์มาปลูกไว้ มีทุเรียนพันธุ์แปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินชื่ออยู่หลายพันธุ์

4.ทุเรียนทองผาภูมิ เนื่องจากถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาที่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีสวนผลไม้ที่ปลูกทุเรียนอร่อยๆ ความอร่อยของทุเรียนทองผาภูมินั้น จากการจัดงานวันผลไม้ของดีอำเภอทองผาภูมิที่จะมีทุเรียนและบรรดาผลไม้อีกหลากหลายชนิดมาให้ลิ้มลองกัน

5.ทุเรียนราชบุรี สวนผลไม้อยู่หลายสวน เช่น อำเภอปากท่อ มีสวนผลไม้ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาลองชิมผลไม้สดๆ จากไร่ทุกปี ทุเรียนหมอนทองราชบุรีมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์เมื่อสุกแล้วกลิ่นจะไม่แรงมาก เม็ดลีบ เนื้อมาก

6.ทุเรียนปากช่อง ทุเรียนปากช่องของจังหวัดนครราชสีมา มีทั้งหมอนทอง ชะนี ก้านยาว อันเป็นทุเรียนพันธุ์ยอดนิยม โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองนั้นเนื้อแห้ง กรอบนอกนุ่มใน ส่วนทุเรียนชะนีเนื้อเหนียว กลิ่นไม่แรง

7.ทุเรียนลับแล ขึ้นชื่อว่าเป็นทุเรียนอร่อยของ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ คือทุเรียนพันธุ์ “หลง” และ “หลิน” ทุเรียนสองชนิดนี้ปลูกอยู่บนภูเขา เพราะพื้นที่ในอำเภอลับแลเป็นภูเขา การดูแลรักษาจึงมีความลำบากไม่น้อย ซึ่งไม่สามารถนำน้ำขึ้นไปรดได้ทุกต้น ผลผลิตจึงต้องขึ้นอยู่กับฟ้าฝน และการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสียบกิ่งกับต้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเวลานานกว่า 6-8 ปี จึงจะได้ผลผลิตและเมื่อได้ผลผลิตแล้วก็ต้องใช้ความชำนาญในการเก็บ เพราะทุเรียนแต่ละต้นนั้นสูงใหญ่และตั้งอยู่ตามเนินเขา อีกทั้งการลำเลียงผลทุเรียนออกจากสวนที่อยู่ในภูเขาก็ต้องใส่ลูกทุเรียนไว้ในตะแกรงที่ติดไว้กับรถจักรยานยนต์ เพื่อขนทุเรียนลงมาจากบนเขา ซึ่งแต่ละเที่ยวก็บรรทุกได้น้อยอีกทั้งเส้นทางในการ ขนลงมาก็คดเคี้ยวลาดชัน ทำให้ทุเรียนทั้งสองสายพันธุ์มีราคาค่อนข้างสูง

8.ทุเรียนพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกมีทุเรียนอร่อยจากสวนชื่อดัง “สวนหลงรักไทย” ซึ่งมีทุเรียนพันธุ์เด่นคือ หลง-หลิน จาก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งนำมาปลูกที่จังหวัดพิษณุโลก และให้รสชาติความอร่อยที่ไม่แตกต่างไปจากทุเรียนหลง-หลินต้นตำรับ นอกจากนี้ยังมีทุเรียนพันธุ์โบราณหายากอื่นๆ อีกรวมแล้วกว่า 30 สายพันธุ์

9.ทุเรียนสุราษฎร์ธานี คำขวัญเดิมของจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้กล่าวถึง “ทุเรียนหวานมันคลองพระแสง” หมายถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะต้องมีทุเรียน อร่อยๆ ให้ลองชิม ซึ่งทุเรียนคลองพระแสงนั้นเป็นทุเรียนที่อร่อยขึ้นชื่อ จนมีการเปิดสวนผลไม้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปลองชิมความอร่อยแบบสดๆ

10.ทุเรียนชุมพร ด้วยพื้นที่เพาะปลูกที่มีดิน น้ำ อากาศ ขนาบด้วยลมมรสุมทะเล ทำให้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ เช่น หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี หลงลับแล และพันธุ์จากอินโดนีเซีย เป็นต้น

11.ทุเรียนท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับการส่งเสริมให้ปลูกทุเรียนเพื่อส่งออก รวมถึงการปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆ แทนการปลูกยางพาราที่ราคาตกต่ำ นอกจากจะปลูกทุเรียนตามฤดูกาลแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนให้ปลูกทุเรียนนอกฤดูกาลอีกด้วย

12.ทุเรียนพังงา จังหวัดพังงามีทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่นชื่อว่า “สาลิกา” นิยมปลูกกันที่อำเภอปะกง เป็นทุเรียนที่มีรสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เนื้อหนา ละเอียด แน่น ไม่เละ นอกจากนี้ก็ยังมีการปลูกทุเรียนหลงลับแลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อทุเรียนเป็นผลไม้ยอดนิยม จึงมีการขยายพื้นที่ออกไปอีกหลายจังหวัด ซึ่งจะมีทุเรียนใหม่ปรากฏขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

ความส่งท้าย

ทุเรียนนับเป็นพืชเศรษฐกิจในลักษณะไม้ผลที่สำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชย่อมเป็นปัจจัยส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนในเกิดทุเรียนพันธุ์ดีมากกว่าปัจจุบัน อนาคตของทุเรียนคงมีอีกยาวไกล

และเป็นไม้ผลที่สร้างชื่อเสียงได้อย่างโดดเด่นทัดเทียมกับไม้ผลของนานาประเทศ

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image