สิทธิเอดส์… : โดย เฉลิมพล พลมุข

ชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้สิ่งหนึ่งที่เป็นปกติธรรมดา ธรรมชาติหรือสัจธรรมหนึ่งของชีวิตที่ควบคู่มากับการเกิดก็คือความเสื่อมของสังขารร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บ ความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากโรคประเภทต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน โรคหรือความเจ็บป่วยบางประเภทนอกจากความไม่สมดุลของธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ไฟและลม แล้วยังมีโรคที่เกิดจากการกระทำที่ผิดพลาดของคนหรือมนุษย์ที่ก่อให้เกิดโรคนั้นๆ

ข้อมูลหรือข่าวหนึ่งที่ถูกนำเสนอในสื่อประเภทต่างๆ ของเมืองไทยเราก็คือ กรณีผู้ป่วยชายหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น อายุ 24 ปี ได้ไปรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งได้ติดเชื้อเอชไอวีจากการรับเลือดของผู้ที่บริจาคที่ผ่านศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย…(มติชนรายวัน 12 พฤษภาคม 2562 หน้า 9)

เรื่องราวดังกล่าวได้สร้างความตระหนกตกใจให้แก่บรรดาญาติและผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่รับเลือดเพื่อต้องการต่อชีวิตจากความเจ็บป่วย และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นที่วิตกกังวลของสังคมถึงระบบการคัดกรองระบบเลือดเพื่อไปสู่ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัยในชีวิต ถึงแม้ว่าระดับบริหารของสภากาชาดไทยได้ออกมาชี้แจงและแนะนำถึงวิธีการดังกล่าวอย่างปลอดภัย อาทิ ผู้บริจาคเลือดต้องคัดกรองตัวเองว่ามีความเสี่ยงของเลือดของตนเองต่อการบริจาคว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ หรือว่าเลือดที่มีความปลอดภัยมาตรฐานระดับสากล ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยง…

กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเราหรือสังคมโลก มิใช่เป็นการเกิดขึ้นเป็นกรณีแรกแต่ในข้อเท็จจริงในวันเวลาที่ผ่านมาของโลกเราที่ได้มีการค้นพบการติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยเอดส์ที่ผ่านกาลเวลาที่ยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ และโรคเอดส์ได้อยู่คู่กับเมืองไทยเรามามากกว่า 35 ปีที่ผ่านมาแล้ว มิติและบริบทของเอดส์ถูกกล่าวขานทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกอยู่บ่อยครั้ง ทั้งระบบการดูแลรักษา ระบบยาต้านไวรัส การป้องกัน การตีตรา การสร้างความตระหนักในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการดูแลผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย

Advertisement

จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลกจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ.2016 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้วพบว่ามีอยู่ในตัวเลข 36.7 ล้านคน และมีการเสียชีวิตไปแล้วกว่าหนึ่งล้านคน การค้นพบของโรคดังกล่าวที่มีการระบาดจากแอฟริกา ไปยังเฮติแล้วเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี พ.ศ.2512 สำหรับเมืองไทยเราได้มีการค้นพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายแรกในปี พ.ศ.2527 จากผู้ชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ…

เมืองไทยเราคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่วันละ 15 คน หรือปีละกว่า 5,500 คน โดยพบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์มีชีวิตอยู่ในสังคมไทยเรากว่า 440,000 คน และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยในร้อยละ 75 ที่เข้าถึงระบบและได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส มาตรการหรือยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ของรัฐบาล (พ.ศ.2560-2573) โดยมีนโยบายที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีปีละไม่เกิน 1,000 ราย ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ปีละไม่เกิน 4,000 คน และลดการรังเกียจ เลือกปฏิบัติ เพศสภาพ รวมถึงการรณรงค์ให้มีการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้งทุกสิทธิของการรักษา

กระทรวงสาธารณสุขของเมืองไทยเราถึงแม้ว่าทุกๆ ปีจะการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว สำหรับวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม พ.ศ.2561 (World AIDS Day) ปีที่แล้วจะมีคำของการรณรงค์ที่ว่า “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” เสมือนคำที่มีความหมายที่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการเอดส์ชาติโดยตำแหน่งโดยเฉพาะรัฐบาลของ (คสช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ได้ทำการปฏิวัติรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557

ด้วยเหตุผลที่คนไทยมีความคิดที่แตกแยกแบ่งเป็นสี ขั้ว ฝ่าย มีการประท้วงปิดถนน สถานที่ราชการ ทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบิน เผาบ้านเผาเมือง ผู้คนประชาชน ข้าราชการล้มตายด้วยอาวุธสงคราม หรืออาจจะก่อให้มีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นจึงได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ หลังจากนั้นก็บริหารบ้านเมืองด้วยกฎหมายลักษณะพิเศษเพื่อให้ประเทศกลับสู่ความเป็นปกติ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วไปได้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม

ที่ผ่านมาดูเสมือนว่าภาวะดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับซึมลึกอย่างแยบยล มิอาจจักรวมถึงสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือว่านักการเมืองบางคน หรือผู้ที่ต้องการอำนาจผลประโยชน์จากการเข้าไปบริหารประเทศบางคนมีภาวะของผู้ที่มีความบกพร่องในชีวิตอย่างยั่งยืน…

หนุ่มลูกครึ่งชาวญี่ปุ่น เป็นกรณีหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลกที่ว่า การรับเชื้อเอชไอวีจากการรับบริจาคเลือดเพื่อรักษาความเจ็บป่วยของตนเอง หลากหลายคำถามที่มีคำถามไปถึงหน่วยงานของรัฐทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศที่ว่า ในข้อเท็จจริงทั้งของสังคมไทยเราที่ว่า ญาติพี่น้อง ครอบครัว สังคมมีความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อฯ อย่างมิได้รังเกียจหรือปฏิเสธมีอยู่จริงหรือไม่ หรือว่าการเข้าถึงข้อมูลและหลักในการปฏิบัติที่ถูกละเมิดในสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือการชดเชยตามกฎหมายถึงความผิดพลาดของหน่วยงานที่กระทำต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีจักได้รับความชดเชยทั้งร่างกาย จิตใจรวมถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

องค์การความร่วมมือเกี่ยวกับเอดส์ (UNAIDS) ได้กำหนดให้ 61 ประเทศที่การแพร่เชื้อเอชไอวีเป็นอาชญากรรม (HIV criminalization) มีโทษทางอาญาโดยเล็งเห็นว่าการก่ออาชญากรรมโดยการแพร่เชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาร้ายแรงของสังคมโลก โดยในช่วงเดือนเมษายน 2556-ตุลาคม 2558 ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวีอย่างน้อย 313 คดีใน 28 ประเทศ ในสังคมไทยเราที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ทั้งกฎหมายพิเศษและการปรับใช้ประมวลกฎหมายอาญา (tci-thaijo.org)

สังคมไทยที่ผ่านมามีงานวิจัยที่เกี่ยวกับความรับผิดอาญาในการแพร่เชื้อเอชไอวีโดยเจตนา ที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ในมาตรา 237 ทวิ ให้การแพร่เชื้อโรคที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงไปยังผู้อื่น (เอชไอวี/เอดส์) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรับแจ้งความและดำเนินคดีอาญาตามกระบวนการเพื่อให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้พิจารณาคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำการแพร่เชื้อเอชไอวีโดยเจตนา ผู้กระทำจักต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองพันถึงสามหมื่นบาท

ช่วงวันเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยเราได้ข้อกฎหมายผ่านกระทรวงการคลังให้ออกระเบียบว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ.2540 สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในสถานบริการของรัฐทุกระดับที่ได้รับความเสี่ยงจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง จากอุบัติเหตุที่เกิดจากเข็มหรือของมีคม การกำจัดโรค ชันสูตร ค้นคว้า ทดลองวิจัย วิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาทิ กรณีที่เป็นผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หรือนิสิตนักศึกษาที่ติดเชื้อ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ให้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท…

เหตุผลหนึ่งต่อกรณีดังกล่าวของ ผศ.พญ.จารุพร พรหมวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติก็คือ ผู้ที่มีความเสี่ยง อาทิ ฉีดยาเสพติดเข้าเส้นเลือด การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายในระยะเริ่มต้นที่มีเชื้ออยู่ในเลือดที่เรียกว่า วินโดว์พีเรียด (Window Period) ระบบการตรวจในห้องปฏิบัติการจะยังไม่พบเชื้อดังกล่าว ที่เป็นข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีที่ไหนสามารถตรวจได้ ซึ่งเชื้อดังกล่าวจะอยู่ในเนื้อเยื่อหรืออยู่ในเลือดในปริมาณที่น้อยมาก

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ได้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2547 สภากาชาดไทยยังไม่มีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส (Nucleic Acid Testing : NAT) การตรวจดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเออย่างสมบูรณ์ และได้นำวิทยาการดังกล่าวมาใช้หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2549 การตรวจเชื้อเอชไอวีในระดับวินโดว์พีเรียดจะใช้เวลากว่า 22 วัน หากผู้ที่มีความเสี่ยงไปรับเชื้อมา อยู่ในช่วงที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย น้ำยาในห้องปฏิบัติการอาจยังตรวจไม่พบ ไวรัสตับอักเสบบี ใช้เวลาประมาณ 24-27 วัน ไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 3-5 วัน สำหรับความเสี่ยงของผู้บริจาคเลือดอยู่ที่ 1 ต่อ 1.7 ล้านยูนิต

คำยืนยันหนึ่งของรองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ “เรายืนยันว่าเลือดทุกยูนิต 100% ได้รับการตรวจคัดรองการติดเชื้อที่ติดต่อางเลือด แต่ไม่ 100% ที่จะตรวจเจอด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี เพราะต้องใช้เวลาในการเพิ่มจำนวนของเชื้อก่อนถึงจะสามารถตรวจเจอเชื้อ และเมืองไทยเราเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีธนาคารเลือดที่ทันสมัยที่สุดในโลกและเป็นผู้นำเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย นำการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเป็นเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ต้องใช้น้ำยาที่มีราคาแพงมากๆ…”

ชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทยเราในวันเวลาที่ผ่านมาและวันเวลานี้ข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ มีผู้ติดเชื้อนอกจากจะเป็นคนไทย สัญชาติไทย เชื้อชาติไทยแล้วยังมีผู้คนต่างชาติ ต่างแผ่นดินที่เข้ามาอาศัยทำงานเพื่อช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองไปด้วย คุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นอาจจะถูกตั้งคำถามจากภาครัฐ หรือรัฐบาลที่ว่า รัฐได้ให้การคุ้มครองดูแลรักษาความเจ็บป่วยเป็นอย่างดีหรือไม่ ชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ร่างกายแข็งแรงสามารถทำงานในหน่วยงาน องค์กร บริษัทอย่างไม่ถูกการรังเกียจ ปฏิเสธยังคงมีอยู่มากน้อยเพียงใด การละเมิดสิทธิในการตรวจเอดส์ก่อนเข้าทำงาน ก่อนการเข้าบรรพชา อุปสมบทจะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่

มีหลากหลายคำถามที่ว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์อยู่ในสังคมไทยเรากว่าสามทศวรรษ เหตุใดภาครัฐหรือความร่วมมือจากประชาชนจึงมิอาจจักทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวีลดลงไปได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านมิอาจจะปฏิเสธได้ก็คือ พฤติกรรมความเสี่ยงยังคงมีอยู่ในวัยรุ่น วัยเรียน เด็กเยาวชนที่ข้อมูลหนึ่งของรัฐได้รายงานว่า เด็กวัยรุ่นยุคปัจจุบันติดเชื้อซิฟิลิส หรือเชื้อกามโรคที่อันเป็นเหตุหนึ่งต่อการติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ในอนาคตยังคงมีอยู่ในตัวเลขระดับสูง…

การพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั้งจากผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศในกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย มิอาจจักนับรวมถึงความผิดพลาดที่ผู้ป่วยคนหนึ่งต้องรับเลือดจากผู้บริจาคแล้วตนเองก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์รายใหม่อย่างมิได้ตั้งใจ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ากรมราชทัณฑ์ที่ได้จำหน่ายนักโทษ หรือผู้ต้องขังในจำนวนหลายหมื่นคนในครั้งที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ ได้บอกกล่าวต่อสังคมหรือไม่ว่า มีผู้ต้องขังหรือนักโทษที่ถูกปล่อยตัวไปอยู่ในสังคมเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์จำนวนมากน้อยเพียงไร

เชื้อเอชไอวี ได้รับนามว่าเป็นโรคที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องในร่างกายแล้วพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาแผนปัจจุบันขนาดใดที่มารักษาให้หายขาด คนบางคนโดยเฉพาะว่าที่นักการเมืองไทยเราที่ผ่านการเลือกตั้งบางคน แสวงหาไขว่คว้าอำนาจ ผลประโยชน์ พวกพ้องมากกว่าคุณภาพชีวิตและประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าสิ่งอื่นใด เขาเหล่านั้นขาดภูมิคุ้มกันบกพร่องในชีวิตจนกระทั่งวันหนึ่งประเทศชาติจะป่วยเป็นเอดส์ไปด้วยหรือไม่…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image