ป๋านักบริหารจัดการ และนักการทหารที่ยิ่งใหญ่ : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

สมัยที่ป๋าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2523 นั้น ปัญหาความมั่นคงจากภัยสงครามประชาชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมี พ.ท.โพยม จุลานนท์ ชื่อจัดตั้ง “ลุงคำตัน” เป็นแม่ทัพใหญ่ของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้ที่คัดค้านไม่ให้กองทัพเวียดนามเข้ามาช่วยปลดแอกและตั้งเขตปกครองอิสระและรัฐบาลเฉพาะกาลโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับว่าท่านเป็นผู้รักชาติอย่างสุดซึ้งของประเทศคนหนึ่ง ไม่ยอมแบ่งประเทศเป็นไทยตะวันออกและไทยตะวันตก จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลต่อสู้กับรัฐบาลตามรูปแบบของเวียดนามที่แบ่งประเทศเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ หรือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

อันเป็นที่มาของนโยบาย 66/23 อันลือลั่นของป๋า นโยบาย 66/23 นี้ของป๋าใช้การเมืองนำการทหาร ต้อนรับทหารป่า ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หยุดการเสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกัน ซึ่งไม่มีประเทศใดทำได้ ป๋าจึงเป็นผู้ยุติไฟแห่งสงครามประชาชนอย่างงดงาม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลายในที่สุด

นอกจากเป็นนักการทหารที่ยิ่งใหญ่แล้ว ป๋ายังเป็นนักการเมืองอย่างจับตัวได้ยาก ป๋ามักจะออกตัวเสมอว่าไม่ได้เป็นนักการเมือง พูดเท็จหรือพูดไม่จริงไม่ได้ ป๋าจึงไม่พูด เพราะถ้าพูดก็ต้องพูดความจริง ถ้าความจริงนั้นพูดไม่ได้ก็จะไม่พูด แต่จะตอบนักข่าวว่า “กลับบ้านเถอะลูก” จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของท่าน อาจารย์ ม.ร.ว.
คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเหน็บป๋าว่าท่านเป็น “พระเตมีย์ใบ้” ถ้าจะให้สัมภาษณ์อะไรในส่วนการเมืองท่านดูเอง แต่ในส่วนเศรษฐกิจท่านจะให้ที่ปรึกษาเขียนให้และห้ามใช้ทับศัพท์ภาษาฝรั่งและเลขฝรั่งให้ใช้เลขไทย

ท่านสอนว่าเราเป็นคนไทยต้องพูดไทยให้ถูกไวยากรณ์ ไม่พูดฝรั่งคำไทยคำ การเขียนรายงานให้ใช้เลขไทยไม่ใช้เลขอารบิกหรือเลขฝรั่ง ที่ปรึกษาต้องมานั่งหัดเขียนเลขไทยอยู่เป็นอาทิตย์และให้ใช้ภาษาง่ายๆ ศัพท์เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ ก็ให้แปลเป็นคำไทยง่ายๆ การใช้ภาษายากๆ คนไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์ ต้องเขียนให้นายทหารชั้นประทวนเข้าใจ ป๋าจึงจะเข้าใจ

Advertisement

ถ้าป๋าไม่เข้าใจป๋าก็ตัดสินใจไม่ได้ อย่าคิดว่าตัวเองเข้าใจแล้วป๋าจะเข้าใจ ถ้าป๋าไม่เข้าใจก็เป็นความบกพร่องของที่ปรึกษา

ป๋าบอกว่างานของรัฐบาล 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานทางเศรษฐกิจ เป็นงานทางการเงินการคลัง เป็นงานของราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ ปัญหาเรื่องความยากจนและอื่นๆ

งานทางการเมืองและการทหารป๋าทำเอง มีเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานที่อาจจะเห็นว่ายาก แต่ป๋าจัดการได้เอง ด้วยการยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดีและประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

Advertisement

เนื่องจากงานกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานทางด้านเศรษฐกิจที่ซับซ้อนหลายมิติ ป๋าจึงเลือกนักวิชาการที่ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์มาเป็นคณะที่ปรึกษา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเป็นผู้รับผิดชอบในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้พิจารณาข้อมูลและเป็นกลาง ท่านจึงแยกรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจมาตั้งเป็นคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นอนุกรรมการของคณะรัฐมนตรี มีเลขาธิการสภาพัฒน์เป็นเลขานุการ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำนักงานเลขาธิการ เพราะเกินความสามารถของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเข้าเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ มีประชุมทุกเช้าวันจันทร์ งานทางเศรษฐกิจจึงรวดเร็วไม่ต้องรอคิวเข้า ครม.ใหญ่ มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเมื่อวันจันทร์ ก็เข้าที่ประชุม ครม. ในวาระทักท้วงหรือวาระเพื่อทราบในวันอังคาร ไม่ต้องอภิปรายกันอีก ประหยัดเวลาและทันกาลกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ถ้าเรื่องใดท่านเห็นว่าเหตุผลไม่น่าจะเพียงพอ หรือมีแนวโน้มไปทางทุจริต ท่านจะไม่ค้านเอง แต่จะชี้ให้ที่ปรึกษาพูดแทน เพราะท่านรู้จากการทำการบ้านของที่ปรึกษาแล้วว่าที่ปรึกษาจะพูดอย่างไร สำหรับ “วาระจร” ท่านห้ามเด็ดขาด วาระลับที่สุดท่านก็ส่งให้ที่ปรึกษาเป็นคนดูให้ความเห็นก่อน วาระลับ ลับเฉพาะและลับที่สุด ท่านก็ให้ที่ปรึกษาดูและให้ความเห็นก่อน แม้แต่คำกล่าวอวยพรประชาชนปีใหม่ในส่วนเศรษฐกิจ ท่านก็ให้ที่ปรึกษาดูก่อนว่ามีอะไรผิดพลาดหรือไม่จริงบ้าง

คำอวยพรปีใหม่ ปี 2529 มีถ้อยคำว่า ปีใหม่นี้เศรษฐกิจจะดีขึ้น ที่ปรึกษาไม่เห็นด้วยกับคำนี้เพราะอาจจะไม่จริง ท่านต่อรองเป็นว่า “ถ้าเราประหยัด ใช้ของไทย ร่วมใจกันส่งออก” เศรษฐกิจของเราก็จะดีขึ้น ที่ปรึกษาจึงยอม ท่านให้ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ทส.ของท่านมาเป็นผู้ต่อรอง ปรากฏว่าที่ปรึกษาผิดเพราะครึ่งหลังของปี 2529 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการลดค่าเงินบาท

ท่านไม่ห่วงเสถียรภาพของตำแหน่งท่าน แต่ห่วงบ้านเมืองมากกว่า

ครั้งนั้น ผบ.ทบ.ซึ่งไปเชื่อพ่อค้าที่นำเงินดอลลาร์เข้ามาขาดทุนจากการลดค่าเงินบาท จะทำรัฐประหารโดยยื่นคำขาดให้รัฐบาลกลับไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดิม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ระบบเงินทุนสำรองจะยิ่งเสียหายจนอยู่ไม่ได้ แต่ท่านเงียบสงบและสัญญากับ ผบ.ทบ.ผู้นั้นว่าขอเวลา 6 เดือน ถ้าไม่สำเร็จท่านจะลาออกเอง เรื่องจึงสงบลง หลังจาก 2 พ.ย.2528 ไม่นานเศรษฐกิจจากการส่งออกก็ฟื้นตัว เป็นอานิสงส์ส่งถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในเวลาต่อมา จนมีสมญาว่าบุพเฟต์คาบิเนตและเกิดปฏิวัติรัฐประหารในเวลาต่อมา

ป๋าท่านเป็นคนเด็ดขาด ถ้ารัฐมนตรีหรือข้าราชการชั้นสูงคนใดมีข่าวว่าทุจริตคอร์รัปชั่น หรือเตรียมการเพื่อทุจริตคอร์รัปชั่น ท่านมีหน่วยงานข่าวกรองทำงานให้ ท่านจะปลดรัฐมนตรีกลุ่มนั้นออกทันที หรือออกมาชี้แจงประชาชนทันที เช่นกรณีเทเล็กซ์อัปยศในการซื้อน้ำมันแบบรัฐต่อรัฐผ่านคนกลาง ท่านออกโทรทัศน์ว่า “ทุจริตคอร์รัปชั่นยังไม่เกิดเพราะยังไม่ได้ทำ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม จับได้เสียก่อน หรือกรณีซุงพม่า รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นเศรษฐีใหญ่ก็จะถูกปลด หมดอนาคตทางการเมืองไปเลย

ด้วยความสามารถในการบริหารจัดการคณะรัฐมนตรีของท่าน ท่านจึงเป็นที่เกรงกลัวของรัฐมนตรีทุกคน ก่อนป๋าจะเข้ามารับตำแหน่ง ข้าราชการประจำมีอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การนำเข้า การลงทุน การอนุญาตเปิดโรงงาน

การควบคุมการส่งออกโดยจัดเก็บภาษีขาออกในอัตราที่สูง ไม่ว่าจะเป็นกรณีข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยกเว้นยางพาราที่มีการเก็บเซสส์หรือ cess กก.ละ 50 สตางค์ เข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางเปลี่ยนเป็นยางพันธุ์ดี ให้น้ำยางมาก ราคาข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ราคาที่ท้องนาท้องไร่มีราคาเพียงครึ่งเดียวของราคาตลาดโลก ข้าราชการและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยอมยกเลิกภาษีขาออกในรูปของพรีเมียมข้าว อากรขาออกเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการจัดโควต้าการส่งออกให้ผู้ส่งออกแต่ละรายโดยอาศัยประวัติการส่งออก พ่อค้าจึงไม่แข่งขันกันซื้อ เพราะรู้ว่าตัวมีโควต้าการส่งออกมากน้อยเท่าไร ใครมีโควต้าส่งออกก็เป็นเสือนอนกิน

ป๋าโดยมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แม้จะได้รับคำคัดค้านจากรัฐมนตรีพาณิชย์ในขณะนั้น ยกเลิกเก็บภาษีขาออกทุกรูปแบบและทุกสินค้า เป็นเหตุให้ข้าวที่เคยส่งออกเพียงปีละ 1 ล้านตันข้าวสาร บัดนี้กลายเป็น 10 ล้านตันข้าวสาร ข้าวคุณภาพต่ำปลูกน้อยลง ข้าวคุณภาพสูงเช่นข้าวหอมมะลิปลูกมากขึ้น ทำให้ชาวไร่ชาวนาลืมหน้าอ้าปากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาว
อีสาน นโยบายการส่งออกเสรีของป๋าทำให้เกษตรกรในชนบทลืมตาอ้าปากได้จนถึงบัดนี้

สมัยนั้นการขออนุญาตตั้งโรงงานเป็นที่ลำบากอย่างยิ่ง เพราะข้าราชการหวงอำนาจ โรงงานแห่งหนึ่งต้องขออนุญาตกว่า 80 หน่วยงาน ป๋าสั่งให้ลดขั้นตอนของการขออนุญาตตั้งโรงงานที่ซ้ำซ้อนลงมากกว่าครึ่งหนึ่งและกำหนดระยะเวลาที่กรมโรงงานต้องให้คำตอบ ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตพร้อมกับเหตุผลให้ไปแก้ไข พร้อมๆ กับการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่มาบตาพุด และแหลมฉบัง การลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศหลั่งไหลเข้าเมืองไทย จนนิตยสารต่างประเทศให้ฉายาว่าประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ต่อจากฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน

แต่โชคไม่ดีรัฐบาลป๋าไม่ได้อยู่ต่อจนประเทศไทยเป็นเสือตัวที่ 5 เพราะเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเสียก่อน เพราะรัฐบาลไม่มีความกล้าหาญพอที่จะประกาศลดค่าเงินบาท เมื่อถูกโซรอสโจมตีค่าเงินบาท กลับเอาทุนสำรองระหว่างประเทศไทยไปสู้ จนต้องกลับเข้าขบวนการฟื้นฟูของกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีกครั้ง เพราะผู้นำประเทศ รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหวงตำแหน่งตัวเอง และไม่มีนักวิชาการที่ปรึกษาให้ความเห็นถ่วงดุล แทนที่จะเป็นเสือตัวที่ 5 ก็เลยกลายเป็นแมวตัวที่ 1 ของเอเชีย ค่าเงินบาทถ้าต้องลดก็ควรเป็น 29-30 บาทต่อดอลลาร์ กลายเป็น 50-55 บาทต่อดอลลาร์

สร้างความหายนะให้กับธุรกิจทั้งประเทศที่ไปกู้ยืมเงินดอลลาร์มาลงทุน แต่ในทางกลับกันสินค้าเกษตรทุกตัวมีราคาขึ้นไปเท่าตัวโดยไม่ได้เจตนา

ถ้าป๋ายังคงเป็นนายกรัฐมนตรีเหตุการณ์ต้มยำกุ้งคงไม่เกิด เพราะป๋าคงอนุญาตให้ลดค่าเงินบาท อย่างที่ท่านเคยทำ เพราะท่านเรียกนายกรัฐมนตรีมาที่บ้านสี่เสา ให้อดีตที่ปรึกษาของท่านอธิบายชี้แจงนายกรัฐมนตรีขณะนั้น แต่นายกรัฐมนตรีตอบป๋าว่าไม่มีใครในพรรคเห็นด้วย ท่านบอกว่าให้ฟังอดีตที่ปรึกษาท่านบ้างเพราะเขาไม่เคยผิด ท่านกำชับอยู่เสมอว่าต้องอธิบายให้ท่านเข้าใจ ที่ปรึกษาจึงต้องฝึกอธิบายเศรษฐศาสตร์การเงินการคลังด้วยภาษาง่ายๆ จนติดมาเป็นนิสัยว่าต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายจนบัดนี้ เท่ากับป๋าเป็นครูของเราในการทำงาน นอกจากจะแม่นในหลักวิชาแล้วยังต้องฝึกพูดให้คนเข้าใจ ถ้าตัวเข้าใจแต่ไม่สามารถพูดให้คนเข้าใจก็ไม่มีประโยชน์

ป๋าเป็นคนเจ้าระเบียบ พูดจาสุภาพเรียบร้อย ใช้ภาษาและคำที่เหมาะสม วางตัวอย่างสง่างาม สมัยก่อนต้องไปพบท่านทุกวันอาทิตย์เพื่อส่งการบ้านวาระการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ทุกวันจันทร์ต้องส่งการบ้านย่อเรื่องและความเห็นในวาระที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ งานของคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานทางเศรษฐกิจ การทำงานทางเศรษฐกิจกับป๋าหนักกว่าการทำปริญญาเอกหลายเท่า แต่ก็ทำให้ความรู้ความเข้าใจทางเศรษฐกิจหนักแน่นขึ้นหลายเท่าเช่นกัน

เรื่องของท่านเล่าเท่าไหร่ก็ไม่จบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image