ทบทวนเขตพื้นที่บริการ ร.ร.แข่งขันสูงสอบเข้า100% : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติการรับสมัครนักเรียนสังกัด สพฐ. ปี 2563 ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่พิจารณาตัดสินใจ แจ้งให้สถานศึกษาเตรียมปฏิบัติ นักเรียน พ่อ แม่ ผู้ปกครองได้ทราบล่วงหน้าก่อนถึงวันเปิดรับสมัคร

แนวทางการรับนักเรียนที่ผ่านมา ตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 1 ประถมศึกษาปีที่ 5 มัธยมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 4 กำหนดให้โรงเรียนมีเขตพื้นที่บริการการศึกษา แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ ในเขตกับนอกเขต

ในเขต หมายถึงผู้สมัครที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ส่วนนอกเขต หมายพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป ผู้สมัครมีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหนสามารถมาสมัครเข้าเรียนได้ โดยผ่านการสอบแข่งขันหรือจับสลาก

วัตถุประสงค์ของการกำหนดเขตพื้นที่บริการก็เพื่อให้นักเรียนได้เรียนใกล้บ้าน มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี ไม่ต้องเดินทางไกล เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย มีโอกาสได้เข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพ นักเรียนคละเคล้ากันไปทั้งเก่งและไม่เก่ง ตามหลักจัดการศึกษาท่ามกลางความหลากหลาย

Advertisement

หลักการดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์นักเรียนเก่งกับไม่เก่งได้เรียนร่วมกัน จะได้ผลอย่างยิ่ง หากโรงเรียนส่วนใหญ่มีคุณภาพมาตรฐานในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคุณภาพของสถานศึกษาทั่วประเทศมีความต่างระดับกันอย่างน่ากังวล

ตัวเลขปี 2561 โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง นักเรียนแย่งกันเข้ามีเพียง 358 โรง แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา 76 โรง ระดับมัธยมศึกษา 282 โรง ขณะที่มีโรงเรียนนอกกลุ่มนี้ซึ่งอัตราการแข่งขันไม่สูง มีมากกว่าสองหมื่นโรง

นักเรียนที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียนกลุ่มหลัง ทั่วประเทศมีจำนวนมากกว่าย่อมเสียเปรียบ หากต้องการเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพต้องไปอยู่ในบัญชีเด็กนอกเขต ผ่านการสอบคัดเลือกซึ่งสัดส่วนการรับน้อยกว่าเด็กในเขต

การกำหนดให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับนักเรียนในเขตพื้นที่ 60% นอกเขตพื้นที่บริการ 40% ทำให้เกิดความลักลั่น เสียเปรียบ ได้เปรียบ ระหว่างนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ อยู่ใกล้โรงเรียน กับที่อยู่ห่างไกลหรือนอกพื้นที่บริการ

เด็กสองคนมีผลการเรียนดีเหมือนกัน คนหนึ่งอยู่ใกล้โรงเรียนมีสิทธิเข้าเรียนเลยโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน ยกเว้นนักเรียนมีมากกว่าจำนวนที่นั่ง อีกคนหนึ่งอยู่ห่างไกลนอกเขตพื้นที่บริการไม่ได้สิทธิดังกล่าว ต้องสมัครในกลุ่มนอกเขต ซึ่งต้องสอบแข่งขันหรือจับสลาก

แนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมืองกับชนบท เด็กกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด ยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นอีกหรือไม่ เป็นโจทย์ที่น่าวิเคราะห์ วิจัยเพื่อหาคำตอบอย่างยิ่ง

หลักเกณฑ์ในเขต นอกเขตดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิทธิเข้าโรงเรียนมีคุณภาพ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเอาชื่อบุตรหลานมาฝากไว้ในทะเบียนบ้านของผู้ที่อยู่ใกล้โรงเรียน หรือลงทุนมาซื้อที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่บริการ ทำให้ สพฐ.ต้องวางมาตรการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์สิทธิว่าเด็กเป็นลูกหลานญาติพี่น้องจริง หรือเพียงแค่เอาชื่อมาใส่โดยจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้าน จนเกิดอาชีพใหม่รับจ้างใส่ชื่อนักเรียนลงในทะเบียนบ้าน

ที่ผ่านมาเกิดเรื่องอื้อฉาว จนกระทั่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอให้รัฐบาลจัดการแก้ปัญหาซึ่งเข้าข่ายเป็นการทุจริตประเภทหนึ่ง

เพื่อแก้ปัญหาความลักลั่นได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเด็กในเขตพื้นที่กับนอกเขตพื้นที่และการหลอกลวง สวมสิทธิ หากปรับให้เขตพื้นที่บริการของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงเป็นเขตบริการทั่วประเทศ นักเรียนอยู่ที่ไหน ผลการเรียนเป็นอย่างไร ให้ใช้การสอบแข่งขัน 100% ยกเว้นระดับอนุบาลและประถมศึกษา ใครสอบผ่านเกณฑ์ก็เข้าเรียนได้ แฟร์กับทุกฝ่าย ความลักลั่น ไม่เป็นธรรมก็จะลดลง

การเปิดทางเลือกให้โรงเรียนแข่งขันสูงกำหนดเขตพื้นที่บริการเป็นทั่วประเทศเท่ากับเพิ่มโอกาส ลดความเสียเปรียบที่เด็กส่วนใหญ่มีต่อเด็กส่วนน้อยที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียน ในเขตชุมชนเมืองซึ่งได้เปรียบอยู่แล้วในเชิงกายภาพ

ทั้งนี้ การจัดสอบแข่งขันต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม มีแนวทางป้องกัน ปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมา โรงเรียนที่รับสมัครโดยจัดสอบ 100% ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดสอบก่อนโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง
อื่นๆ ซึ่งยังใช้แนวทางรับเด็กในเขต 60% นอกเขต 40%

ถามว่าทำไมเตรียมอุดมถึงเป็นข้อยกเว้น ไม่เข้าเกณฑ์รับสมัครนักเรียนในเขต-นอกเขต แต่เป็นเขตพื้นที่บริการทั่วประเทศ เด็กที่ไหน จังหวัดใดมาสอบแข่งขันอย่างเสมอภาค

หากขยายแนวทางสอบแข่งขัน 100% โดยให้โอกาสกับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เป็นทางเลือกในการตัดสินใจ จะใช้แนวทางนี้ หรือคงแนวทางเดิมต่อไป ซึ่งระยะแรกไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวพร้อมกันทั้งหมด 358 โรง

ขณะเดียวกันจะต้องดำเนินมาตรการคู่ขนาน ให้โรงเรียนปฏิบัติอย่างเข้มงวด คือจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 40 คน จำนวนนักเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ต้องไม่เกิน 3,000 คน ทำให้การบริหารจัดการดูแลได้ทั่วถึงมากขึ้น

พร้อมกับการเลิกเด็กฝากหรือฝากเด็กอย่างเด็ดขาด ปรับเปลี่ยนทัศนคติสังคม พ่อแม่ผู้ปกครอง การฝากเด็ก การรับฝากเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ขยะแขยง ถือเป็นความผิด เพราะใช้อภิสิทธิ์เอารัดเอาเปรียบคนอื่น

ส่วนโรงเรียนคุณภาพระดับรองอีกจำนวนมากต้องเร่งรัดพัฒนา เป็นโรงเรียนคู่พัฒนากับโรงเรียนแข่งขันสูง เมื่อคุณภาพขึ้นถึงระดับหนึ่งประสงค์จะเปิดสอบแข่งขัน 100% สามารถเลือกได้

โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องมุ่งทุ่มเททรัพยากรทุกด้านลงไปยังโรงเรียนระดับรองกลุ่มหลังนี้เป็นหลัก จนกระทั่งยกระดับคุณภาพมาตรฐานได้ทัดเทียมกัน แนวทางพื้นที่บริการซึ่งทำให้เกิดความลักลั่นก็ยกเลิกไปโดยปริยาย

ถึงเวลานั้นการสอบแข่งขันอาจไม่มีความหมาย เพราะเด็กจะเลือกเรียนโรงเรียนใกล้บ้านด้วยความมั่นใจ ไม่ว่าโรงเรียนไหนก็คุณภาพดี มีมาตรฐานไม่ต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image