กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (3) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ตะขิ่น เตง เพในวัยหนุ่ม ต่อมากลายเป็นนักเขียนฝ่ายซ้ายที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในพม่า

เมื่อออง ซานและพวกตั้งกองทัพเพื่อเอกราชพม่า (Burma Independence Army หรือ BIA) ขึ้นที่กรุงเทพฯในปลายปี 1941 เพื่อเรียกร้องเอกราชและเพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ต่อมาจะขัดแย้งกับญี่ปุ่น และจะเกิดขบวนการเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น) ทั้งออง ซานและแกนนำนักชาตินิยมอีกหลายคนที่เคยมีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเริ่มถอยห่างจากพรรคด้วยความเห็นต่างจากผู้นำพรรคอื่นๆ สำหรับออง ซานและเพื่อน ที่เป็น “ราดิคัลหนุ่ม” และจัดว่าเป็นมาร์กซิสต์/คอมมิวนิสต์สายกลางๆ เป้าหมายคือการปลดแอกพม่าจากการปกครองของอังกฤษ และในฐานะผู้นิยมลัทธิมาร์กซ์ ฝ่ายซ้ายหนุ่มกลุ่มนี้ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมให้กับชาวพม่า มากกว่าการปฏิวัติตามแนวทางของเลนิน หรือเหมาเจ๋อตุง

ในบรรดาสมาชิกพรรคที่ยังเลือกเคลื่อนไหวในนามพรรคคอมมิวนิสต์พม่า มีชื่อของตะขิ่น โซ (Thakin Soe) นักชาตินิยมที่เคยเข้าร่วม “การปฏิวัติ 1300” กับออง ซานในปี 1938, ตะขิ่น ถั่น ทุน (Thakin Than Tun) ครูสอนหนังสือผู้มีศักดิ์เป็นน้องเขยของออง ซาน ตะขิ่น เตง เพ (Thakin Thein Pe) นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดังที่เคยเข้าร่วมขบวนการนักศึกษาและโด้ะบะหม่ามากับออง ซาน และตะขิ่น เตง ติน (Thakin Thein Tin) หนุ่มพม่าเชื้อสายจีนจากเมืองทวาย รวมอยู่ด้วย ความน่าสนใจของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในช่วงแรกคือพรรคสามารถดึงดูดราดิคัลหนุ่มที่เป็นชาวพม่าเชื้อสายอินเดียได้จำนวนหนึ่ง เช่น ตะขิ่น บา ติน (Thakin Ba Thin) หรือชื่อเดิมว่า เอส.เอ็น. โกชาล (H.N. Goshal) และทุน หม่อง (Tun Maung) หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ดร.นัค (Dr.Nag) ที่ต่างเป็นชาวพม่าเชื้อสายเบงกอล แหล่งบ่มเพาะนักปฏิวัติที่มีชื่อเสียงในอินเดีย

ในขวบปีแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า สมาชิกพรรคยังเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมหลักอย่างโด้ะ บะหม่า อะซีอะโยน (สมาคมเราชาวพม่า) และกลุ่มชาตินิยมอื่นๆ ออง ซานตั้ง PRP (People’s Revolutionary Party) หรือพรรคประชาชนปฏิวัติขึ้นมาดำเนินงานคู่ขนานกับพรรคคอมมิวนิสต์ และดึงดูดนักศึกษาและนักปฏิวัติหนุ่มชั้นดีได้ทั่วพม่า PRP มีบทบาทโดดเด่นในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อผู้นำชาตินิยมพม่าแตกกับญี่ปุ่นแล้ว คนหนุ่มกลุ่มเดียวกันนี้จึงได้ตั้งอีกองค์กรหนึ่งเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ในนามสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist People’s Freedom League หรือ AFPFL อันโด่งดัง) และจับอาวุธขึ้นสู้กับญี่ปุ่น ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์บางคน เช่น ตะขิ่น ถั่น ทุน และตะขิ่น โซ ถูกญี่ปุ่นจับกุม และเขียนบันทึกฉบับหนึ่งระหว่างที่ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำอินเส่ง เรียกว่า “แถลงการณ์อินเส่ง” (Insein Manifesto) ประนามญี่ปุ่น และเสนอให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ หาวิธีติดต่อกับอังกฤษ ที่ในเวลานั้นไปตั้งรัฐบาลรักษาการที่เมืองสิมลา อินเดีย เพราะมองว่าญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมากกว่าอังกฤษ ตะขิ่นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนหนึ่งลักลอบเดินทางไปกัลกัตตา เพื่อติดต่อกับกองกำลัง 136 (Force 136) แห่งหน่วยบริหารงานพิเศษ (Special Operations Executive หรือ SOE) ของอังกฤษ

สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าติดต่อกับ SOE อย่างลับๆ และด้วยกองทัพขนาดหมื่นเศษๆ กองทัพแห่งชาติพม่า (Burma National Army หรือ BNA) ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น และสามารถยึดย่างกุ้งคืนมาจากญี่ปุ่นได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 1945 ในเวลานี้ พรรคคอมมิวนิสต์กำลังได้รับการสนับสนุนที่ดี หลายคนมองว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนเป็นมันสมองให้กับ AFPFL และพรรคคอมมิวนิสต์ยังมีกองกำลังอีกราว 3 หมื่นนายที่ตนควบคุมอยู่ นับแต่นี้ พรรคคอมมิวนิสต์พม่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมาย และมีความเข้มแข็งพรรคหนึ่ง ลัทธิคอมมิวนิสต์เผยแพร่ออกไปอย่างรวมเร็วผ่านกลุ่มศึกษาคอมมิวนิสต์ และการทำงานมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

Advertisement

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมการกลับมาของอังกฤษ กิจกรรมหลักของพรรคคอมมิวนิสต์คือการนำมวลชนต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ผ่านการนัดหยุดงานและนัดหยุดเรียน ตลอดจนเป็นแกนนำจัดตั้งสหภาพแรงงานและชาวนาทั่วประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์สามารถกดดันรัฐบาลอาณานิคมได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงปี 1946 พรรคคอมมิวนิสต์พม่ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 คน มติของพรรคเห็นชอบให้ตะขิ่น ถั่น ทุนขึ้นเป็นประธานของโปลิตบูโร และตะขิ่น เตง เพ เป็นเลขาธิการพรรค

ในเวลานั้น ปัญหาที่เห็นได้ชัดที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกคือความเห็นที่แตกต่างกันของผู้บริหารพรรค บ้างเป็นคอมมิวนิสต์สายกลาง และมีบางส่วนที่เป็นคอมมิวนิสต์สายแข็ง (hardliner) ที่ต้องการขุดรากถอนโคนระบอบเก่า กรุยทางไปสู่การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่ทิศทางของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในยุคหลังสงครามจะอ่อนลง หันมาสนับสนุนแนวทางสังคมนิยมเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีมากขึ้น เกิดการ “รัฐประหารเงียบ” ภายในพรรคขึ้น แต่ทั้งตะขิ่น ถั่น ทุน และตะขิ่น เตง เพ ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในเวลาไม่กี่วัน ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สายกลางและสายแข็ง นำไปสู่การแตกกันของแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ฝ่ายหลังแยกออกมาตั้ง “มุ้ง” ของตนเองในนามพรรคคอมมิวนิสต์สายธงแดง (Red Flag) เพื่อต่อสู้ทางอุดมการณ์กับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อีกฝั่ง หรือฝั่ง “ธงขาว” (White Flag)

พรรคคอมมิวนิสต์สายธงแดง ภายใต้การนำของตะขิ่น โซเคลื่อนไหวในแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดีในพม่าตอนล่าง เคลื่อนไหวในแบบกองโจร และใช้กำลังทหารโจมตีฐานที่มั่นของรัฐบาลอาณานิคม แนวทางของตะขิ่น ถั่น ทุน และผู้นำคอมมิวนิสต์สายกลางอื่นๆ ต่างออกไปจากฝ่ายธงแดง หลังสงคราม ผู้นำชาตินิยมพม่า ได้แก่ ออง ซาน และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ ประเมินแล้วว่าอังกฤษต้องการมอบเอกราชให้กับพม่าอย่างแน่นอน ออง ซานมีกองกำลังติดอาวุธที่รวบรวมขึ้นมาจากอดีตทหารในกองทัพ BIA และเมื่อสหประชาชาติถือกำเนิดขึ้น ทั้งโลกพุ่งไปที่การยุติความรุนแรง และการแก้ปัญหาผ่านการเจรจามากกว่าการทำสงคราม แกนนำฝั่งธงขาวจึงมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องเปิดฉากโจมตีอังกฤษ

Advertisement

เมื่อรัฐบาลอาณานิคมให้ธงเขียวพม่าตั้งรัฐบาลขึ้น ออง ซานก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำ AFPFL คนอื่นๆ ขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ รวมทั้งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อย่างตะขิ่น เตง เพ ที่ออง ซานแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร แต่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ยังโจมตีออง ซานอย่างต่อเนื่อง กล่าวหาว่าออง ซานทรยศต่อจิตวิญญาณของพม่า และเข้าร่วมกับรัฐบาลหุ่นเชิดที่อังกฤษสนับสนุนให้ตั้งขึ้น ความขัดแย้งนี้บาดลึกลงเรื่อยๆ จนกระทั่ง AFPFL ขับพรรคคอมมิวนิสต์พ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของตนในปลายปี 1946 และตะขิ่น เตง เพถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร หลังจากรับตำแหน่งมาได้เพียง 3 สัปดาห์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image