ฤๅ ‘มีดโกนไร้คม น้ำผึ้งขม’ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

แน่นอนว่า “ผลย่อมเกิดแต่เหตุ” หากไม่มีเหตุ ผลย่อมไม่เกิด ขณะที่คำว่า “เหตุผล” คือการเสาะหาเหตุมาเพื่อให้รองรับผลที่จะเกิดขึ้นจากนั้น

“เหตุ” คือ “ธรรมชาติ” และ “ผล” คือเหตุที่เกิดจาก “ธรรมชาติ”

เหตุอันเกิดขึ้นของ “การเมือง” มาจากความต้องการเข้าไปจัดการกับผลประโยชน์ในสังคมของกลุ่มบุคคลที่หวังให้ผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นของบุคคลแผ่กระจายไปยังบุคคลทั้งหลายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันด้วยเหตุที่เห็นว่า ผลประโยชน์ในบ้านเมือง โดยเฉพาะประโยชน์อันเกิดจากทรัพยากรสาธารณะในสังคมซึ่งมักจะมีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มมาฉกฉวยนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง

“ธรรมชาติ” ของมนุษย์ประการสำคัญคือ “ความโลภ” อยากได้ใคร่มีทั้งที่ตนมีแล้ว อยากจะเพิ่มพูนขึ้นมาอีก และทั้งที่ตนยังไม่มีอยากที่จะมีกับเขาบ้าง

Advertisement

“ความโลภ” ที่สำคัญซึ่งมนุษย์อยากมีอยากได้คือ “อำนาจ”

การเข้ามาสู่ “การเมือง” คือต้องการเข้ามามี “อำนาจ” อันเป็นผลให้ได้อย่างอื่นตามมาอีกมากเท่าที่ “อำนาจ” จะจัดสรรให้ได้

ระบบการเมืองเกิดมานานนับหลายร้อยปี จากการเรียนรู้ต่อเนื่องมาในแต่ละช่วงอายุคน ไหลเลื่อนไปตามภูมิภาค ถ่ายทอดซึ่งกันและกันจากการศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

Advertisement

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อีกหลายปี กว่าจะมีกลุ่มบุคคลรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ทั้งเป็นพรรคการเมืองที่ทอดตัวยาวมาถึงทุกวันนี้ แม้บุคคลในยุคก่อตั้งจะยังมีชีวิตอยู่ แต่แทบจะไม่มีบทบาทต่อเนื่อง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นอุดมคติทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ไม่ทอดทิ้งเสียงและความต้องการของประชาชนส่วนน้อย ทั้งยังต่อเนื่องให้กลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกที่ครั้งหนึ่งเรียกว่า “ยุวประชาธิปัตย์” ซึ่งภายหลังเติบโตเป็นผู้มีชื่อเสียงของพรรค แม้ภายหลังจะแยกตัวออกไปอาจจะเนื่องจาก “อุดมการณ์” ไม่ต้องตรงกัน

พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการยกย่องและยอมรับจากชนชั้นกลางและผู้ใหญ่ในมหานครกรุงเทพฯ ถึงขนาดว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ทั้งในพระนครและธนบุรี สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์แทบว่าจะได้รับการเลือกตั้งยกทีม เว้นแต่ในบางพื้นที่ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นเหนียวแน่น

ดูจะมีเพียง 2 ครั้งที่ชื่อเสียงของพรรคตกต่ำ คือหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับเปลี่ยนหัวหน้าพรรค และหัวหน้าพรรคได้รับเลือกเพียงคนเดียว กับการเลือกตั้งครั้งหลังสุดที่พรรคประชา ธิปัตย์ไม่ได้รับเลือกตั้งในเขตนครหลวงแม้เพียงคนเดียว

พรรคประชาธิปัตย์มีบุคลากรชนิดตัวชูโรงมาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่หัวหน้าพรรคคนแรก นายควง อภัยวงศ์ ที่ต่อกรกับเผด็จการทหารมาอย่างปวดแสบปวดร้อน ต่อสู้กระทั่งผู้ออกเสียงเลือกตั้งตัดสินใจได้ว่าจะเลือกประชาธิปไตย-ประชาธิปัตย์ หรือเลือกเผด็จการทหาร

แม้ดาวประชาธิปัตย์ที่เหนียวแน่นกับพรรคที่ได้ชื่อว่ามี “คำพูด” เหมือน “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ถึงขนาดอดีตประธานสภา นามว่า “โค้วตงหมง” ยังต้องเท้าคางฟังไปพยักหน้าไป แล้วขอให้คนอื่นอย่าเพิ่งอภิปรายขัดจังหวะมาแล้ว

ทั้งตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังทุกสมัยนับแต่การเลือกตั้งครั้งแรก มาเป็นดาวสภา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนว่า เจ้าของสมญานาม “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ระยะหลัง ใบมีดโกนเริ่มไร้คม ทั้งน้ำผึ้งเริ่มขม

จริงไม่จริงดูจากการเป็นประธานรัฐสภาคราวนี้ จะรู้ว่าเป็นอย่างที่กระผมวิจารณ์ไว้หรือไม่

(วันนี้ต้องยกนิ้วให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ทิ้งตำแหน่ง แล้วค่อยว่าเหตุผลครับ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image