บทนำ ประจำวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2562 : ‘มาร์ค’ ลาออก

พรรคประชาธิปัตย์ ลงมติเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 5 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ด้วยเหตุผลว่า ได้ประกาศไว้ตอนหาเสียงว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ ปชป.มีมติร่วมรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตนเองได้พยายามคัดค้านในที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. แล้ว แต่เมื่อพรรคมีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ ก็ต้องเคารพมติแม้จะไม่เห็นด้วย

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ขอโทษทุกคนที่ลงคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยเข้าใจว่าพรรคจะรักษาจุดยืนและอุดมการณ์ แต่จะให้ตนเดินออกไปขานว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ได้ ต่อมาคือ ในการประชุมรัฐสภาที่มีวาระเลือกนายกฯ ตนไม่สามารถเข้าไปในห้องประชุมและลงคะแนนฝ่าฝืนมติของพรรค ขณะเดียวกัน จะให้ออกเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามติของพรรคคือสัญญาประชาคม ที่ตนได้เคยให้ไว้กับประชาชนทั้งประเทศ

การลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อของนายอภิสิทธิ์ เป็นการแสดงมารยาท และความรับผิดชอบต่อท่าทีทางการเมืองของตนเอง แต่เชื่อว่า ประชาชนที่ลงคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ยังคาใจและสงสัย เพราะเข้าใจว่า เมื่อหัวหน้าพรรคประกาศท่าทีทางการเมือง น่าจะผูกพันกับพรรคด้วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิคาดหวังว่า พรรคนี้จะดำเนินการไปตามที่หัวหน้าพรรคเคยแสดงจุดยืนไว้ มิใช่มีท่าทีไปในอีกทิศทางหนึ่ง

กรณีพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นอีกหนึ่งหรือสองพรรค ถือเป็นบทเรียนสำคัญอีกบทสำหรับประชาชน และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่จะต้องเรียกร้องให้พรรคการเมืองแสดงจุดยืนและท่าทีทางการเมืองอย่างชัดเจนและหนักแน่นจริงจังมากขึ้น ที่สำคัญที่สุด เมื่อสัญญาแล้วต้องปฏิบัติตามจุดยืนและท่าทีที่ประกาศไว้ โดยถือเป็นสัญญาประชาคมที่บิดพลิ้วไม่ได้ และการที่พรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประชาคม ก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะไม่ให้ความเชื่อถืออีกต่อไป พรรคการเมืองดังกล่าว ต้องชี้แจงความจำเป็น ทำความเข้าใจต่อประชาชน โดยคำนึงด้วยว่า การที่พรรคการเมืองไม่รักษาคำพูด ย่อมส่งผลต่อการเมืองทั้งระบบได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image