ภาพเก่าเล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน.. ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา(2)

ความเรียงต่อเนื่องจากตอนที่แล้วครับ… ท่านผู้อ่านสอบถามมาว่า ทำไมเรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน”?

กบฏหรือขบถ (Rebellion) นั้น หมายถึงการที่กลุ่มคนพยายามทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร แต่กระทำไปไม่สำเร็จ จึงได้ชื่อว่าเป็น กบฏ

….ย้อนเวลากลับไปในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 เวลาประมาณ 15.30 น. ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นรม. ของไทยไปเป็นประธานในพิธีรับมอบ เรือขุดแมนฮัตตัน (Manhattan) ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้แก่ไทย เพื่อให้รัฐบาลไทยนำเรือลำดังกล่าวไปใช้ในการขุดสันดอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า “คณะกู้ชาติ” จับตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นตัวประกัน ในขณะที่จอมพล ป. ขึ้นไปเยี่ยมเรือขุดแมนฮัตตัน ณ ท่าราชวรดิฐ

Advertisement

ทหารเรือฝ่ายผู้ก่อการยื่นคำขาดให้เปลี่ยนคณะรัฐมนตรี.. ฝ่ายรัฐบาลฮึดสู้ สั่งทหารบก ทหารอากาศและตำรวจเข้าปราบกลุ่มทหารเรือที่ใช้กำลังยึดสถานที่สำคัญหลายแห่ง

เกิดการยิงต่อสู้กันบนฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ใช้สถานีวิทยุตอบโต้กันไป-มา ประชาชนคนไทยงงเป็นไก่ตาแตก เกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง ทำไมทหาร-ตำรวจลากรถถัง ปืนกลออกมายิงใส่กันเอง

นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกกาภา และ นาวาตรี มนัส จารุภา 2 แกนนำฝ่ายก่อการ ยื่นคำขาดให้แต่งตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. ที่ถูกครหาว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไร้ฝีมือ แสนจะขี้โกง คอร์รัปชั่นสนั่นแผ่นดิน

Advertisement

ในขณะนั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ เป็น ผบ.ทบ. พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 กำลังตำรวจโดย พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ ต้องการชิงตัวจอมพล ป. จึงไปจับมือกับ พล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผบ.ทอ. ทุกฝ่ายเห็นชอบจะใช้กำลังปราบกบฏทหารเรือให้เรียบเฉียบขาด

วันต่อมา …30 มิถุนายน 2494 เวลา 04.30 น. ขณะจอมพล ป. ยังคงถูกควบคุมตัวบนเรือหลวงศรีอยุธยา ทหาร-ตำรวจไทยเริ่มการสู้รบกับทหารเรือบนบกอย่างดุเดือด

ฝ่ายกบฏชะล่าใจ คิดว่าฝ่ายรัฐบาลน่าจะไม่ใช้กำลังเข้าปราบ ด้วยเกรงว่า จอมพล ป.ที่เป็นตัวประกันเสียชีวิต

ผิดถนัด…ราวบ่าย 3 โมง เครื่องบินแบบ Spitfire และ T6 ของกองทัพอากาศไทยแหวกอากาศดำดิ่งลงมาทิ้งระเบิดใส่ที่ตั้งกรมอู่ทหารเรือระเบิดเป็นจุณ ไฟไหม้ เครื่องบินของ ทอ. ยังไปทิ้งระเบิดใส่กรมเชื้อเพลิง คลังน้ำมันของทหารเรือที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

มันคือ สงครามกลางเมือง

นาทีประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ คือ เครื่องบินของ ทอ. มาทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงศรีอยุธยาที่จอมพล ป. ถูกควบคุมตัวอยู่ ลูกระเบิดขนาด 50 กก. ตกลงบนเรือรบราชนาวีไทยระเบิดดังสนั่นปานฟ้าผ่ากลางวัน ไฟไหม้ควันสีดำพุ่งขึ้นท้องฟ้าเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารเรือกระโดดน้ำหนีตายว่ายขึ้นฝั่ง

นาวาตรี มนัส และ นาวาเอก อานนท์ สุภาพบุรุษแห่งราชนาวีไทย ผู้ก่อการกบฏ สั่งให้นายทหาร 2 นาย พาจอมพล ป. กระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา หนีตายว่ายไปขึ้นฝั่ง

ราว 17.00 น. เรือหลวงศรีอยุธยาจมลงสู่ก้นแม่น้ำสงบนิ่ง และในเวลาใกล้เคียงกัน เรือหลวงคำรณสินธุ์ ซึ่งทำหน้าที่ รปภ. คลังน้ำมันอยู่ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรือก็อับปางลงอีกด้วยอานุภาพระเบิดจากเครื่องบิน

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีกระดูกเหล็กของไทยยังกล่าวในตอนหลังเหตุการณ์ว่า…“เมื่อเรือจมก็ต้องโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาท่ามกลางเสียงกระสุนปืนจากริมฝั่งพระนครซึ่งดังอยู่ไม่ขาดระยะไปขึ้นฝั่งที่พระราชวังเดิมซึ่งเป็นกองบัญชาการกองทัพเรือ…..”

นายทหารเรือ 2 นายที่พาจอมพล ป. หนีตาย คือ เรือโท ชอบ ศิริวัฒน์ และ เรือตรี มาโนช ทุมมานนท์ ว่ายน้ำนำพานายกรัฐมนตรีของไทยขึ้นฝั่ง แต่ยังควบคุมตัวเอาไว้เพื่อการต่อรองให้เปลี่ยน ครม.

กำลังของทหารบกบนฝั่ง ยังคงระดมยิงใส่คณะของ จอมพล ป. อย่างบ้าคลั่ง รอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ สถานการณ์สับสน ไม่รู้ใครเป็นใคร นายกรัฐมนตรีของไทยปลอดภัย มีผู้มาดูแลท่านแล้วนำตัวไปที่ทำการกองทัพเรือ

กำลังของทหารบกและตำรวจ จับมือกัน ปิดล้อม บุกโจมตีเพื่อยึดโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่ทหารเรือไปยึดไว้ การเจรจายังดำเนินต่อไป

ราว 23.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน 2494 หลังการเจรจาลับ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายของกลุ่มผู้ก่อการ ปรากฏผล คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ

เหตุการณ์ผ่านมาหลายทศวรรษ เราลองมาย้อนศึกษาหา “สาเหตุที่แท้จริง” ที่เป็นประกายไฟ เกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งผมขออ้างอิงงานวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าฯ ครับ

การก่อกบฏแมนฮัตตัน เกิดจากสาเหตุ 3 ประการ คือ

1.กลุ่มทหารเรือ ไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาล จอมพล ป. ในสมัยที่ 2 ซึ่งรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร มิได้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

2.ความตึงเครียดระหว่างทหารบกและตำรวจกับทหารเรือ ซึ่งมีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสนับสนุนผู้นำต่างกัน ทหารบกสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่วนทหารเรือเคยสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์

3.รัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนกองทัพเรือนับตั้งแต่ครั้งกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 มีการยุบหน่วยนาวิกโยธินลง เพราะเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพเรือ

เป็นข้อมูลที่น่าสนใจนะครับ หากมองเพื่อการศึกษา ตัวตน ลักษณะความขัดแย้งของสังคมไทย เราจะเห็นกระจ่างชัดใน “วิธีคิด” และ “วิธีแก้ปัญหา” ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

การสอบสวนพบว่าผู้นำก่อกบฏ คือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีต ผบ. กรมนาวิกโยธิน นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผบ. กองสำรองเรือรบ นาวาตรี มนัส จารุภา ผบ. เรือหลวงรัตนโกสินทร์ นาวาตรี ประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และนาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน

กำลังพลของทหารเรือที่ร่วมก่อการที่เหลือ เป็นทหารชั้นผู้น้อย ที่เข้าร่วมภารกิจแบบผิวเผิน หละหลวม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การยึดอำนาจต้องล้มเหลว

หลังเหตุนองเลือด…รัฐบาลไม่ลังเลใจที่จะปรับโครงสร้างกองทัพเรือไทย โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลเอก ผิน ชุณหะวัณ พลอากาศเอกฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ กองทัพเรือถูกลดขนาดลงจนเกือบไม่มีตัวตน

….ยุบกรมนาวิกโยธินทั้งหมด คงเหลือไว้เพียง 1 กองพัน และให้ปลดนายทหารที่เกินอัตราออกให้หมดเพื่อมิให้ ทร. มีทหารนาวิกโยธิน

ให้ย้าย บก.ทร. จากพระราชวังเดิมไปอยู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ เพื่อไม่ให้ทหารเรืออยู่ในเขตพระนครและธนบุรี ให้ย้ายหน่วยเรือรบ ไปอยู่สัตหีบ

กบฏแมนฮัตตัน ทำให้รัฐบาลทหารในขณะนั้นสั่งย้ายกองสัญญาณทหารเรือ ออกจากพื้นที่ตรงข้ามสวนลุมพินีออกไป และต่อมาที่ดินบริเวณนั้นกลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร (แทรกด้วยสนามมวยลุมพินี) ตั้งแต่ พ.ศ.2501 ถึง พ.ศ.2541

ต่อมาย้ายโรงเรียนเตรียมทหารไปอยู่ จ.นครนายก อาคารทั้งหมดถูกรื้อทิ้งแล้วนำที่ดินไปให้เช่าทำสวนลุมไนท์บาซาร์ และต่อมาในปี พ.ศ.2560 ที่ดินขนาด 104 ไร่ตรงนี้ ถูกขายต่อเพื่อสร้างโครงการชื่อว่า One Bangkok มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 120,000 ล้านบาท โดยคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี

ผู้เขียนเองก็เพิ่งทราบที่มาที่ไปตำนานของที่ดิน และพื้นที่หลายแห่งของกองทัพเรือที่ถูกยึด ยุบหน่วย อันเป็นผลจากกบฏแมนฮัตตัน

อดีตนักเรียนเตรียมทหาร ติดใจสงสัยกันมานานว่า ทำไมจึงปรากฏศาลของกรมหลวงชุมพรฯ ในพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหาร…คำตอบ คือ พื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นหน่วย กองสัญญาณ กองทัพเรือ และถูกยึดมาหลังกบฏแมนฮัตตัน

รัฐบาล จอมพล ป. ยังสั่งให้โอนกองบินทหารเรือที่จุดเสม็ด สัตหีบ ไปเป็นหน่วยในกองทัพอากาศ เพราะเห็นว่าหน่วยบินไม่จำเป็นสำหรับทหารเรือ เพราะกองทัพอากาศปฏิบัติการแทนได้

ประเด็นนี้จึงตอบคำถามว่า ทำไมจึงมีนายทหารที่จบจากโรงเรียนนายเรือ เป็นนักบินทหารเรือแล้วไปรับราชการเป็นทหารอากาศ

ก่อนจบบทความตอนนี้ …จอมพลกระดูกเหล็กชาวนนทบุรี หลังจากหนีตาย ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง แล้วเข้าไปหลบภัยอยู่ในท้องพระโรงพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าธนบุรีตั้งประดิษฐานอยู่…

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถวายบังคมพระบรมรูปของพระมหาราชเจ้าพระองค์นี้ ท่านอธิษฐานอะไร…? และหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น ?

ลึกๆ ในเงามืดของกบฏแมนฮัตตัน ยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์ ลึกลับซับซ้อน มีเล่ห์เพทุบาย หักหลังกันอีกหลายตลบ ที่ชนรุ่นหลังควรได้เรียนรู้….

อย่าพลาดตอนต่อไปนะครับ

ข้อมูลบางส่วนจากนิตยสาร สารคดี : จอมพล ป. พิบูลสงคราม “จอมพลตราไก่” เล่าใหม่หลังครึ่งศตวรรษกุมภาพันธ์ 11, 2015 และ คอลัมน์ “จดหมาย” ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image