เก่งและดีตามนิยามของชาติและทุน

มีดำริของผู้บริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการว่า ควรตัดโควต้าของนักเรียนซึ่งมีสำมะโนครัวในท้องที่ออกเลย ใน “โรงเรียนดัง” หรือที่เรียกว่าโรงเรียนที่มีการแข่งขัน (สอบเข้าเรียน) สูง แล้วหันมารับเฉพาะนักเรียนที่ผ่านการสอบแข่งขันเพียงอย่างเดียว

เหตุผลก็เพื่อทำให้โรงเรียน “ดัง” เหล่านี้ เป็นที่สำหรับฝึกคนเก่งให้แก่ประเทศชาติ

คติผลิตคนเก่งนั้นเป็นคติการศึกษาที่เก่ามากในเมืองไทย แต่ที่เปลี่ยนแปลงมาตลอดคือ สิ่งที่ถูกถือว่าเป็นความ “เก่ง” ในระยะแรกที่เปิดการศึกษาแผนใหม่ขึ้นในประเทศ คนที่ควรจะ “เก่ง” เลือกมาจากกำเนิด แต่ในเวลาต่อมาต้องขยายจากกำเนิดไปสู่คนที่มีเงินสำหรับเสียค่าเล่าเรียน ซึ่งตั้งใจจะเพิ่มราคาขึ้น เพื่อกีดกันลูกชาวบ้านสามัญซึ่งไม่มีเงินออกไป (ตามที่อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เล่าไว้ใน The Rise and Decline of Thai Absolutism)

แต่ในกรณีของมหาวิทยาลัยซึ่งมีที่เรียนจำกัดมากๆ อยู่นาน เลือกคัดคน “เก่ง” ด้วยการสอบแข่งขัน (ขอให้สังเกตว่าไม่ใช่สอบคัดเลือก) เพราะผู้ประสงค์จะเข้าเรียนมีมากกว่าจำนวนที่นั่ง กลายเป็นหลักการศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทยไปว่า การสอบแข่งขันคือการคัดคนเข้าเรียน (หรืออื่นๆ) ที่เป็นธรรมที่สุด คนที่แข่งชนะคือคน “เก่ง” ที่ควรเสริมสร้างให้ “เก่ง” ยิ่งขึ้น เพื่อจะได้สังกัดอยู่ในกลุ่มผู้นำซึ่งจะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง

Advertisement

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จึงเท่ากับช่วยตอกย้ำคุณค่าของการศึกษาให้เหลืออยู่เพียงบันไดสำหรับยกสถานะทางสังคม, การเมือง, และเศรษฐกิจของบุคคล

แต่ความ “เก่ง” ในการสอบแข่งขันนั้น เป็นความ “เก่ง” ที่แคบมาก คือ “เก่ง” ตามหลักสูตรการศึกษา ซึ่งการบริหารการศึกษาแบบรวมศูนย์เช่นไทย คือมาตรฐานความรู้ที่ระบบราชการวางไว้ตามภูมิปัญญาและอคติของตน และส่วนสำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งของอคติดังกล่าวอาจเรียกกว้างๆ ได้ว่าคืออคติทางชนชั้น

ดังนั้น การสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษา จึงคัดเลือกได้เฉพาะนักเรียนที่อยู่ในหรือใกล้ชนชั้นนั้น เช่น มักอยู่เขตเมือง, มาจากครอบครัวที่หาเลี้ยงชีพด้วย “วิชาชีพ” มากบ้างน้อยบ้าง, และด้วยเหตุดังนั้นจึงมีฐานะทางเศรษฐกิจระดับคนชั้นกลาง, และมีวิถีชีวิตและการเลี้ยงดูบุตรหลานแบบนั้นๆ

Advertisement

เมื่อสมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย นักศึกษาทั้งประเทศประกอบด้วยครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมยังไม่ถึง 4% ทั้งๆ ที่เกิน 50% ของคนไทยล้วนทำเกษตรทั้งสิ้น ตัวเลขที่เบี้ยวอย่างนี้อาจไล่ลงไปถึงระดับมัธยมได้เช่นกัน (จำนวนของนักเรียนที่ไม่ต่อชั้นมัธยมในสมัยนั้นมีสูงมาก)

เหตุฉะนั้น การเน้นการสอบแข่งขันถึงระดับโรงเรียนจะยิ่งตรึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้ฝังแน่นขึ้นไปอีก จึงเป็นจริงอย่างที่เขาวิจารณ์กันอยู่ในเวลานี้

แต่ยังมีการตรึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากอคติอันซ้อนทับอคติลงไปอีกชั้นหนึ่งด้วย นั่นก็คือ การวางแผนและบริหารการศึกษาไทยเวลานี้ โน้มเอียงไปในทางมุ่งรับใช้ธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะนักธุรกิจอุตสาหกรรมมีเสียงดังทางการเมืองเสมอ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร พวกเขาจึงเรียกร้องและกดดันให้รัฐใช้ทรัพยากรส่วนรวมเพื่อผลิตบุคลากรให้พวกเขาได้ใช้ในราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก ดังนั้น ทั้งหลักสูตรและการจัดการ จึงมีอคติที่ซ้อนทับอคติทางชนชั้นลงไปอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือ อคติของผลประโยชน์ด้านทุนธุรกิจอุตสาหกรรม

ด้วยเหตุดังนั้น ยิ่งเรียนหนังสือมาก ก็ยิ่งมีโอกาสใช้ “ทุน” ที่ตนมีอยู่น้อยลงไปยิ่งๆ ขึ้น ไม่ว่าทุนดังกล่าวนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมา, ประสบการณ์, หรือพรสวรรค์ความถนัดความใส่ใจใดๆ เป็นส่วนตัวของตนเอง ยิ่งเรียนมากก็ยิ่งพร้อมจะเป็นลูกจ้างของนายทุนมากขึ้น เลิกพูดกันถึงสตาร์ตอัพได้เลย เพราะเหม็นขี้ฟันเปล่าๆ

เพราะความเก่งในการศึกษาไทยมีความหมายแคบเพื่อรับใช้รัฐหรือทุนอยู่เพียงเท่านี้ การศึกษาจึงทำให้ “ทุน” อีกจำนวนมากในสังคมไทยสูญเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย

แนวคิดทางการศึกษาที่มีเป้าหมายแคบอย่างนี้แหละที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยโดยรวมซึ่งเลวกว่าเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ กลับสามารถผลิตแชมป์ได้หลายคนในโอลิมปิกวิชาการ หรือท่ามกลางความยากจนซึ่งเห็นได้กลาดเกลื่อนในประเทศ เรากลับมีเศรษฐีติดอันดับโลกได้ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่ได้สิทธิพิเศษเหนือรถยนต์ส่วนบุคคลในเมืองใหญ่ จนทำให้รถติดกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ

แม้แต่ยังไม่ได้คัดเอาเด็ก “เก่ง” เข้าโรงเรียนดังซึ่งมีอยู่จำนวนเพียงหยิบมือเดียว สิ่งที่ผู้บริหารการศึกษาควรคิดถึงให้มากคือเด็กในโรงเรียนไม่ดังต่างหาก ที่นั่นคือที่เรียนของผู้ใหญ่ไทยในอนาคตส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด จะจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของเขา ตามเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละคน คือมีความเก่งที่หลากหลายไม่ตรงกัน และมี “โอกาส” ที่จะนำความเก่งของตนไปใช้แตกต่างกัน ได้อย่างไร

จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือรับใช้ผู้เรียน ไม่ใช่รับใช้ชาติหรือรับใช้ทุน และเพราะผู้เรียนประกอบด้วยปัจเจกบุคคลอันหลากหลาย จะจัดการศึกษาอย่างไรให้มีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมกับการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคน เป็นเรื่องที่ต้องคิดมากกว่าสนามแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการ

อันที่จริงก็น่าจะเห็นอยู่แล้วว่า ทั้งชาติและทุนต่างมีสมรรถนะในการให้การศึกษาทางอ้อมแก่สังคมอย่างสูงทั้งสิ้น อย่าลืมว่าพลังทั้งสองคือผู้กุมเงิน, เกียรติยศ, และอำนาจไว้ในมือ จะผลิตกำลังแรงงานที่ตนต้องการนอกการศึกษาที่รัฐกำกับควบคุมย่อมทำได้อย่างกว้างขวาง ในขณะที่การศึกษาของรัฐต้องกลับมารับใช้ผู้เรียน

ดังนั้น จึงเป็นตรงกันข้ามกับคัดเด็ก “เก่ง” ตามหลักสูตรตายตัวของกระทรวงเข้าโรงเรียนดัง ควรเพิ่มโควต้าของนักเรียนในพื้นที่ให้มากขึ้น จนในที่สุดโรงเรียนดังทั้งหลายคือโรงเรียนของครอบครัวในพื้นที่ใกล้เคียง เกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิดขึ้นระหว่างบ้านกับโรงเรียน และโรงเรียนดังไม่ใช่ดังเพราะผลิตผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มาก แต่เป็นโรงเรียนที่สามารถสร้างความสามารถที่หลากหลายและเหมาะแก่ผู้เรียนแต่ละคนได้มาก

เช่น สวนกุหลาบอาจผลิตสตาร์ตอัพทางธุรกิจได้มาก ซึ่งก็เหมาะแล้วกับสถานที่ตั้งของโรงเรียนซึ่งอยู่ท่ามกลางละแวกธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะพัฒนาศักยภาพด้านกวีนิพนธ์ของนักเรียนบางคนที่ใฝ่ใจกับด้านนี้

ที่ตั้งของโรงเรียน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ใด ก็ล้วนมีเงื่อนไขให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีเยี่ยมได้ทั้งนั้น หากโรงเรียนตั้งเป้าการศึกษาไว้ที่ผู้เรียน โรงเรียนในชนบทมีเงื่อนไขให้ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่สวนกุหลาบไม่มี โรงเรียนเหล่านั้นก็อาจ “ดัง” ขึ้นมาได้ไม่แพ้สวนกุหลาบ แต่ “ดัง” กันไปคนละทาง

อันที่จริงทั้งชาติและทุนต่างต้องการความ “เก่ง” ที่หลากหลายกว่าที่หลักสูตรแคบๆ ของกระทรวงวางเอาไว้ การผูกขาดหรือจำกัดความรู้ให้เหลือแคบๆ เสียอีก ที่ทำให้ประเทศไทยไม่อาจพัฒนาไปได้เต็มศักยภาพของตนเอง ปลดปล่อยการศึกษาจากการรับใช้เพียงชาติและทุน มารับใช้ผู้เรียนแต่ละคนโดยตรงได้เมื่อไร ประเทศไทยจะก้าวพ้นหล่มของการพัฒนาที่จำกัดสมรรถนะของคนดังที่เป็นอยู่ได้เมื่อนั้น

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image