วัฒนธรรมถุงผ้า : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ชุติมา ชุมพงศ์

ปัญหาขยะมูลฝอย (หมายถึงขยะทั่วไปที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค กิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ชุมชน ตลาด ร้านค้า และโรงงาน) ในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภค การแยกขยะจากต้นทาง การจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดมลพิษและไม่เกิดการนำกลับมาใช้ซ้ำ ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม เช่น ปฏิกิริยาเรือนกระจก ปัญหาขยะในทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ในทะเล ขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.82 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 1.64) ถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ 9.58 ล้านตัน (ร้อยละ 34) ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 10.88 ล้านตัน (ร้อยละ 39) กำจัดไม่ถูกต้อง 7.36 ล้านตัน (ร้อยละ 27) รวมทั้งขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจะเป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์แค่ 0.5 ล้านตัน เพียงเท่านั้นเอง

ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เรามักจะสร้างขยะโดยไม่รู้ตัว นับตั้งแต่ยาสีฟัน แปรงสีฟัน โฟมล้างหน้า ครีมอาบน้ำ ยาสระผม เครื่องสำอาง สเปรย์ฉีดตัว
สเปรย์ฉีดตัวผม ซึ่งทุกอย่างรอบตัวล้วนแล้วแต่กลายเป็นขยะในอนาคตได้ แม้กระทั่งจอสมาร์ทโฟนหรือจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการบริโภคกาแฟของคนไทยก็ตามทีที่มักจะสร้างขยะโดยไม่รู้

อีกทั้งในเรื่องการทิ้งขยะลงในทะเล พบว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก มากถึง 1 ล้านตันต่อปี พบขยะทะเลในเต่าทะเลแทบทุกตัว และพบในวาฬร้อยละ 59 ในแมวน้ำร้อยละ 36 และในนกทะเลร้อยละ 40

ขยะที่พบส่วนใหญ่เป็นขวดแก้ว ขวดพลาสติก เศษโฟม โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากและเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ขาดแรงจูงใจในการจัดการขยะ เนื่องจากคนไทยไม่ได้เห็นประโยชน์ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากพอ เช่น เรื่องการแยกขยะ หรือจะเป็นเรื่องการนำของกลับมาใช้ใหม่ ไม่ให้ความสำคัญลดการใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก

Advertisement

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มนโยบาย “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ดำเนินโครง
การและกิจกรรมต่างๆ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงานภายในมหาวิทยาลัย ยกระดับการดำเนินงานจากมหาวิทยาลัยสีเขียวสู่มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน และได้จัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกสั้นๆ ว่า “Chula Zero Waste” ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการ 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ถึง 2564

Chula Zero Waste เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ และเครือข่ายคณาจารย์และนิสิตที่สนใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยในเมือง พัฒนาและบูรณาการความรู้เรื่องการลด คัดแยกและการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมภาคปฏิบัติทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย

และเพื่อสร้างค่านิยม “จุฬาฯปลอดขยะ” หรือ จุฬาฯ Zero Waste และความตระหนักของนิสิต บุคลากรในจุฬาฯ ให้เห็นความสำคัญของการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรและเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนและสังคม ด้วยหลักการ 3Rs Reduce Reuse Recycle โดยมุ่งเน้นมาตรการลดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขยะตั้งแต่ต้นผ่านโครงการต่างๆ

Advertisement

เริ่มจากโครงการลดใช้ถุงพลาสติกภายในร้านค้าของมหาวิทยาลัย เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากทางธรรมชาติ ลด ละ เลิกใช้โฟมบรรจุอาหารและถุงพลาสติก ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกหากซื้อของน้อยชิ้นและหมั่นพกถุงผ้าหรือถุงใช้ซ้ำ ดังจะเห็นได้จากมีการขอความร่วมมือการไม่รับถุงพลาสติกในตลาดนัดวันอังคารและวันศุกร์ การซื้อของในร้านรอบมหาวิทยาลัยรวมทั้งร้านสหกรณ์จุฬาฯ ร้านสะดวกซื้อ และร้านอื่นๆ มีตัวบ่งชี้ KPI ลงไปถึงคณะต่างๆ ภาควิชา และโรงอาหาร อีกทั้งยังไปสอดคล้องกับการงดแจกถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตและมหาวิทยาลัยมหิดลได้งดแจกถุงพลาสติก เปลี่ยนเป็นคิดเงินค่าถุง 1-2 บาท สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัยได้อย่างมาก

เช่นเดียวกับทิศทางของประเทศต่างๆ ที่ได้นำมาตรการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกมาใช้เพื่อแก้ปัญหาขยะจากถุงพลาสติก เช่น ไอร์แลนด์ เวลส์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

ผลจากการรณรงค์ให้นิสิต บุคลากรในจุฬาฯ ลดรับถุงพลาสติก ทำให้เกิดการลดใช้ถุงพลาสติกไปได้เฉลี่ยร้อยละ 89 รวมถึงการลดปริมาณการใช้แก้วพลาสติกเกือบ 4 แสนใบ 5.7 ตัน มีการใช้แก้วกระดาษ Zero-Waste Cup ย่อยสลายได้ ใน 11 โรงอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 95 อีกทั้งยังมีการขยายโครงการต่อในปีที่ 3 ลดปริมาณการเกิดขยะ การคัดแยกขยะ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกและวินัยให้กับนิสิตและบุคลากร โดยจะเป็นโครงการต้นแบบของสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยในการบริหารจัดขยะแบบครบวงจร

ทางเลือกหรือทางออกหนึ่งที่สามารถทำได้ในการลดการใช้พลาสติก ปฏิเสธการรับกล่องโฟม แก้วพลาสติก คือ การรณรงค์การใช้ถุงผ้าหรือกระเป๋าผ้าใส่ของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน ของกิน ของใช้

จิปาถะอื่นๆ สามารถใส่สิ่งของได้มากมายและนำไปได้ทุกที่ “ถุงผ้า” นอกจากจะเป็นตัวช่วยในการใส่ของที่แสนจะมากมายแล้วนั้น ยังเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์หรือบุคลิกให้แก่ผู้ใช้เองได้อีกด้วย นอกจากนี้ การพกถุงผ้าติดตัวเสมอนั้นก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง เมื่อซื้อของอะไรก็ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก สามารถนำใส่ในถุงผ้าที่เตรียมไว้เป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยลดโลกร้อนและลดมลพิษทางอากาศให้แก่โลก

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ไม่ใช่เฉพาะชาวจุฬาฯ แต่เป็นเราทุกคนที่ต้องตระหนักถึงพฤติกรรมการทิ้งขยะ การแยกขยะ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ความมักง่าย ความสะดวกสบาย อะไรๆ ก็ใช้พลาสติก ถุงหิ้ว หลอด บรรจุภัณฑ์ ทั้งในตลาดเเละร้านสะดวกซื้อล้วนใช้แต่พลาสติก เราควรรณรงค์หันกลับมาใช้ถุงผ้า กระเป๋าผ้า เพื่อประโยชน์ต่อตัวเองและลูกหลาน ผู้เขียนเชื่อว่าจะช่วยลดภาวะโลกร้อน ขยะล้นเมืองได้อย่างแน่นอน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นเสาหลักของการริเริ่ม Zero Waste ซึ่งต่อไปจะเป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ชุมชนสีเขียว แม้นจะเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องทวนกระแสความสะดวกสบาย ความมักง่าย ไม่เข้าใจ และการบ่นที่ต้องเสียเงินเพิ่ม 1-2 บาท ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นิสิตนักศึกษา บุคลากรเริ่มปรับวิถีชีวิต คุ้นชิน “วัฒนธรรมถุงผ้า” จนเป็นเรื่องปกติและร่วมมือกันอย่างเต็มที่

ขอเชิญชวนองค์กร สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเกิดมิติ แนวคิด และร่วมประสานสร้างการขับเคลื่อนการดูแลโลกให้สะอาด เขียวขจี ทรัพยากรอย่างรู้เท่าทัน ทำประเทศไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป

 

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ชุติมา ชุมพงศ์

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการ
ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image