ภาพเก่าเล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน.. ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา(3) โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขอบคุณท่านผู้อ่านที่กรุณาติดตามบทความ ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ทางมติชน และทาง fb ของผู้เขียนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ขอยืนยันว่า ผมเรียบเรียงประวัติศาสตร์ เพื่อการศึกษา เรียนรู้ สำหรับชนรุ่นหลังที่เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองไทย..เป็นเหตุการณ์อันเกิดขึ้นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้…

…..ขอย้อนเสี้ยววินาทีประวัติศาสตร์ของ 30 มิถุนายน 2494 เวลาประมาณบ่าย 3 โมง ในเรือหลวงศรีอยุธยาของราชนาวีไทย มีจอมพล ป. ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ในเรือที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา

ทหารบกบนฝั่ง ยังสาดห่ากระสุนใส่กองกำลังของทหารเรือแบบไม่ยั้ง มีการสู้รบแถวราชเทวี สะพานเฉลิมโลก รถหุ้มเกราะของตำรวจตระเวนชายแดนทำหน้าที่อย่างดุดัน ในยุคนั้น ตำรวจไทยภายใต้อำนาจของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มีรถหุ้มเกราะใช้

เป็นสงครามที่ทหารบกไทย ทหารอากาศ จับมือกับตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รบกับกลุ่มของทหารเรือในเขตพระนครและธนบุรี

Advertisement

30 มิถุนายน 2494 ราวบ่าย 3 โมง เรือหลวงศรีอยุธยา โดนทิ้งระเบิดใส่ดังสนั่นแม่น้ำเจ้าพระยา ไฟลุกไหม้ทั้งลำและค่อยๆ จมลงสู่ก้นแม่น้ำเจ้าพระยา

นาวาตรี มนัส จารุภา และ นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา 2 นายทหารแห่งราชนาวีไทยแกนนำก่อกบฏ แสดงความเป็นสุภาพบุรุษ ให้ความเคารพต่อนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ไม่ปล่อยให้จอมพล ป. เสียชีวิต จึงสั่งให้นายทหารเรือ 2 นาย นำจอมพลกระดูกเหล็กโดดออกจากเรือ ว่ายน้ำขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย

จอมพลชาวนนทบุรี ว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้ แล้วถูกนำตัวเข้าไปหลบในท้องพระโรง อันเป็นอาคารที่ทำการของกองทัพเรือ

Advertisement

เกร็ดประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครทราบมาก่อน บันทึกว่า …

…..“จอมพล ป. ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง หนีเข้าไปหลบภัยอยู่ในท้องพระโรงพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าธนบุรีตั้งประดิษฐานอยู่ ณ ท้องพระโรงแห่งนั้น

…. ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ก้มกราบถวายบังคมพระบรมรูปของพระมหาราชเจ้าพระองค์นี้ ขอพระบารมีของท่านเป็นที่พึ่งให้ช่วยคุ้มครองความปลอดภัย….”

เป็นความจริง….ท่านจอมพลรอดตาย พ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในคราวนั้นมาได้ราวปาฏิหาริย์

ขอแถมเรื่องของการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินฯ ครับ

ในยุคนั้น…. การก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ค้างคา ชะงักลงเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเมืองภายในประเทศไทยปั่นป่วนด้วยการรัฐประหารตลบอบอวล

เมื่อปี พ.ศ.2491 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ และนายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกเทศบาลธนบุรี ยื่นเรืองติดตามการก่อสร้างต่อรัฐบาลแต่ก็เงียบหายไป อนุสารีย์ถูกทิ้งร้างไร้อนาคต…

หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน พ.ศ.2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่รอดตายมา อนุมัติเงินงบประมาณในการสร้างตามที่ก้มกราบอธิษฐานพระเจ้าตากไว้เมื่อ 30 มิถุนายน 2494 โดยคนที่ออกแบบคือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ด้วยแรงศรัทธา… จอมพลกระดูกเหล็ก สั่งการให้เร่งรีบดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นจนสำเร็จเรียบร้อยในปีถัดมา….

กลับมาที่ประเด็นการ “รื้อโครงสร้างกองทัพเรือ” ที่ถือว่าเป็นฝ่ายก่อการกบฏ…

ผู้เขียนขอยืนยันว่า เป็นเพียงกลุ่มทหารเรือ และอดีตทหารเรือกลุ่มหนึ่งเท่านั้นนะครับ

คณะกรรมการฯ ปรับโครงสร้าง ต้องการลดบทบาท อานุภาพของกองทัพเรือ จึงมีมติให้ยุบหน่วยสารวัตรทหารเรือ ที่ตั้งในกรุงเทพฯ

ย้ายหน่วยของกองทัพเรือ ที่ท่าราชวรดิฐออกไป สถานที่ของกองพันนาวิกโยธิน 4-5 สวนอนันต์ ถนนอิสรภาพ ต้องย้ายออกและโอนที่ดินให้เป็นของทหารบก

ให้ยุบมณฑลทหารเรือที่ 1 ที่ครอบคลุมเขตจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม และมณฑลทหารเรือที่ 2 ครอบคลุมเขตจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด และยึดอาวุธส่วนใหญ่ของทหารเรือ

ยังไม่จบแค่นี้ครับ…วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2494 ครม.และกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ปลดนายทหารออกจากราชการคือ พลเรือเอก สินธ์ กมลนาวิน ผบ.ทร. พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์) รอง ผบ.ทร. พลเรือโท ผัน นาวาวิจิต ผบ.กองเรือรบ พลเรือตรี ชลิต กุลม์กำธร รอง ผบ.กองเรือรบ พลเรือตรี กนก นพคุณ ผบ.มณฑลทหารเรือที่ 1 พลเรือตรี ประวิศ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พลเรือตรี ดัด บุนนาค เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ พลเรือตรี ชลี สินธุโสภณ ผบ.กองสัญญาณทหารเรือ และพลเรือตรี สงวน รุจิราภา นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา และนาวาตรี มนัส จารุภา ถูกปลดออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญและยังปลดนายทหารเรืออีกประมาณ 70 นาย

“สงครามกลางเมือง” ที่เรียกว่า กบฏแมนฮัตตัน ประชาชนเสียชีวิต 118 คน บาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัส 191 คน พิการ 9 คน ทหารเรือเสียชีวิต 43 นาย บาดเจ็บ 87 นาย ทหารบกเสียชีวิต 43 นาย บาดเจ็บ 87 นาย ทหารบกเสียชีวิต 17 นาย บาดเจ็บ 115 นาย และตำรวจเสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 38 นาย

รัฐบาลเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตคนละ 1,500 บาท ผู้ทุพพลภาพคนละ 1,200 บาท และผู้บาดเจ็บสาหัสคนละ 400 บาท กองทัพบกเสียหายประมาณ 6 ล้านบาท กองทัพเรือเสียหายเป็นทรัพย์สินประมาณ 5 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่นับรวมมูลค่าเสียหายของเรือหลวงศรีอยุธยาและเรือหลวงคำรณสินธุ์ ที่อับปางลง

งบประมาณที่ใช้ปราบกบฏมีมูลค่าเป็นเงินทั้งหมด 15 ล้านบาท

การปราบกบฏในเมือง เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก สับสน เพราะไม่รู้ใครเป็นใคร กบฏแมนฮัตตัน มันคือการรบกันระหว่างทหารไทยด้วยกัน

ทหารบก ทหารอากาศ และตำรวจ เป็นฝ่ายชนะ เข้าจับกุมทหารเรือเป็นฝ่ายแพ้ จึงต้อง “จับหมด-เหมาเข่ง” นับพันนาย

คุกตะรางขนาดใหญ่ที่จะควบคุมคนราว 1,000 คน ก็ไม่มี เลยต้องเอาทหารเหล่าเรือไปรวมพลกันไว้ที่สนามกีฬาแห่งชาติ (ตามภาพ) ไม่รู้จะเริ่มสอบใคร ใครจะเป็นคนสอบสวน ใครจะบันทึก ไม่มีข้าว ไม่มีน้ำให้กิน…ในที่สุดก็ต้องปล่อยตัวกำลังพลของทหารเรือนับพันนาย เพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอ เหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน

พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผบ.ทร. และนายทหารเรือระดับสูงหลายคน ต้องโทษจำคุกนานถึง 3 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และถือว่าเป็นความพยายามก่อรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันของทหารเรือ ต่อจากกบฏวังหลวง เมื่อปี พ.ศ.2492 ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปี โดยนำนักโทษมาขังคุก ที่เรียกว่า เรือนจำกลาง…อยู่ตรงหน้าวัดสุทัศนฯ

ค้นไป-ค้นมา เลยพบข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับคุกที่ขังกลุ่มผู้บังคับบัญชาของกลุ่มกบฏแมนฮัตตัน..

ท่านผู้อ่านลองเดานะครับว่า คุกกลางเมืองอยู่ตรงไหน ?

คุกตรงนี้ เป็นคุกตั้งแต่สมัยในหลวง ร.5 สร้างเมื่อ พ.ศ.2432 เพื่อขังนักโทษการเมือง

ปัจจุบันคุกกลางเมืองแห่งนี้ได้กลายเป็นสวนสาธารณะรมณีนาถ มีเนื้อที่ทั้งหมด 29 ไร่ 3 งาน 72 ตร.ว. ซึ่งยังมีร่องรอยห้องขัง

อยู่ตรงข้ามวัดสุทัศนเทพวราราม ใกล้กับเสาชิงช้า ข้างๆ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

แล้วแกนนำกบฏแมนฮัตตัน หายไปไหน….?

หลังจากดูแล จอมพล ป. ให้รอดตายปลอดภัยแล้ว นาวาตรี มนัส และกลุ่มก่อการรวม 5 คน ปลอมตัวหลบหนีขึ้นรถไฟ มุ่งขึ้นไปทางเหนือ แล้วเดินทางไปทาง อ.แม่สอด ข้ามแม่น้ำไปขึ้นบกที่ฝั่งตลาดท่าขี้เหล็กดินแดนของสหภาพพม่า

มีชาวพม่าที่คุ้นเคยให้ความช่วยเหลือ ชีวิตระหกระเหิน ตกระกำลำบากเดินทางไปหลบซ่อนแถวเมืองเชียงตุง เดินทางต่อไปเมืองตองยี เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าดูแลอย่างใกล้ชิดแล้วรีบแจ้งไปยังนายพลเนวิน ที่เป็นผู้นำของพม่าที่ย่างกุ้ง

เหลือเชื่อ !….นายพลเนวิน ส่งคนมารับคณะของนาวาเอก อานนท์ และนาวาตรี มนัส ขึ้นเครื่องบินเดินทางเข้าย่างกุ้งเพื่อพบกับนายพลเนวิน ที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งผู้นำพม่าให้คณะก่อการฯ พักอาศัยในพม่าได้ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง

ผู้นำสูงสุดของพม่าชื่อ นายพลเนวิน อายุ 42 ปี หัวหน้าคณะปฏิวัติ จัดบ้านพักในค่ายทหารในย่างกุ้งให้คณะของนาวาเอก อานนท์ และ นาวาตรี มนัส พักอาศัย จัดข้าวปลาอาหาร จัดคนดูแล ให้เงินใช้สอยรายเดือน

ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น หอมหวานไปหมดสำหรับชีวิตของผู้ก่อกบฏ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การตกเป็นเป้าสายตาของผู้คน และความเหงา ขาดการติดต่อกับครอบครัว และครอบครัวของนาวาตรี มนัส นายทหารเรือใจเพชร ที่ยังไม่เคยเห็นหน้าลูกที่เพิ่งคลอดในเมืองไทย

นานวัน คณะก่อการฯ เริ่มมีความเห็นที่ไม่ตรงกันหลายเรื่อง เพราะบางคนทนไม่ไหว ขอแยกตัว ลักลอบกลับเข้าเมืองไทย

นาวาตรี มนัส และนาวาเอก อานนท์ คิดจะหลบไปจากย่างกุ้ง เพื่อหาทางลักลอบกลับเข้าประเทศไทย….

การเดินทางของนายทหารเรือ 2 นาย เพื่อจะกลับเข้าประเทศไทย จะเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร …โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image