นิทานอีสปแบบคึกฤทธิ์ : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แนะนำหนังสือให้ประชาชนอ่านเรื่อง อิศปปกรณัม ซึ่งเป็นหนังสือแปลจากภาษาอังกฤษยุคแรกของไทย สำหรับหนังสือเรื่องอิศปปกรณัมนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในชื่อ “นิทานอีสป” เป็นนิทานเล่าของนักเล่าเรื่องชาวกรีกโบราณชื่ออีสป เมื่อ 77 ปีก่อนพุทธศักราช (จัดว่าอีสปคนเล่านิทานอีสปนี้เป็นคนร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว) ใช้ตัวละครเป็นสัตว์ ชาวนาและเทพเจ้า เพื่อเล่าเรื่องเป็นสุภาษิตสอนใจ แพร่หลายในประเทศไทยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแปลและทรงแต่งโคลงสุภาษิตร่วมกับนักแปลในสมัยนั้น 4 เรื่อง เช่น เรื่องราชสีห์กับหนู, เรื่องสุนัขป่ากับลูกแกะ เป็นต้น

ผู้เขียนเคยเรียนเรื่องนิทานอีสปในโรงเรียนอนุบาลดอกบัวที่โคราชเมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว สมัยนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการจัดให้เป็นแบบเรียนสำหรับชั้นประถมศึกษาเลยทีเดียว ผู้เขียนยังจำได้ติดหัวจนถึงปัจจุบันนี้สำหรับหนังสือนิทานอีสปก็คือนิทานทุกเรื่องจะจบด้วยประโยคว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า….”

แต่ผู้เขียนออกจะประทับใจกับนิทานอีสปแบบคึกฤทธิ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทยที่เคยเขียนนิทานอีสปดัดแปลงหลายเรื่องให้เป็นคติเตือนใจที่ยังเหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันอยู่มาก จึงอยากจะขออนุญาตตีเสมอท่านนายกรัฐมนตรีโดยขอแนะนำ “นิทานอีสปดัดแปลงแบบคึกฤทธิ์” ให้ประชาชนลองอ่านดูบ้างเพียงเรื่องเดียวคือเรื่อง “อีสปสามมิติ” เนื่องจากประชาชนต้องทำมาหากินคงไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ อีกเล่มนอกเหนือไปจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กรุณาแนะนำหนังสือดีๆ ให้อ่านหลายเล่มแล้ว แบบว่าท่านนายกรัฐมนตรีกับผู้เขียนต่างก็นิยมการอ่านหนังสือเหมือนกัน

ครับ ! เรื่องอีสปสามมิตินี้เริ่มขึ้นที่สระแห่งหนึ่งไม่สู้จะกว้างใหญ่นัก เวลาลมพัดน้ำในสระเป็นระลอกคลื่นน้อยๆ ทยอยเข้ากระทบฝั่ง ต้นหญ้าที่ขอบสระโอนเอนไปมาจนใบเสียดสีกัน ในสระมีไข่เม็ดเล็กสีดำๆ ลอยอยู่แพหนึ่ง คือไข่กบที่แม่กบไข่ทิ้งไว้ก่อนที่จะไปอเมริกาด้วยทุนฟุลไบรท์ (คือทุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ให้กับคนไทยไปเรียนหนังสือสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในช่วงสงครามเย็นเป็นช่วงแรกของการแผ่อิทธิพลของอเมริกันมาในประเทศไทย ปัจจุบันทุนนี้ก็ยังคงมีอยู่) จึงคงเหลือแต่พ่อกบที่ยังอาศัยอยู่ในบริเวณสระน้ำแห่งนี้อยู่ ซึ่งตอนต่อไปนี้ผู้เขียนขอลอกเรื่องอีสปสามมิติที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนเอาไว้เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่เคารพได้รสชาติของวรรณศิลป์ระดับปรมาจารย์นะครับ

Advertisement

“พ่อกบจึงเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด แข็งแรงที่สุด และมีอายุยืนนานที่สุดในสายตาของลูกกบ เมื่อลูกกบยังมีหางและว่ายน้ำอย่างปลา ลูกกบก็นับถือพ่อกบว่าเป็นพระเจ้า แต่พอหางหลุดและขางอกขึ้นจากน้ำได้ และได้รู้จักได้เห็นอะไรๆ มากขึ้น ลูกกบก็ยิ่งเพิ่มความนับถือพ่อกบมากขึ้น ความเห็นแต่เดิมที่ว่าพ่อกบเป็นพระเจ้า ดูจะไม่คู่ควรกับความนับถือที่เพิ่มขึ้น ลูกกบจึงเปลี่ยนใจเสียใหม่ เลิกเห็นว่าพ่อกบเป็นพระเจ้า แต่เห็นว่าเป็น ‘ท่านผู้นำ’

พ่อกบนั้นเองก็ออกจะปลื้มๆ ที่ลูกกบนับถือตนเองอย่างยิ่งยวดนึกรักและเอ็นดูอยู่ในใจมากกว่าที่เคยนึกรักและเอ็นดูลูกกบตัวอื่นๆ ความจริงถ้าพ่อกบจะกระเสือกกระสนหาทางไป ‘ดูงาน’ ที่อเมริกาแล้วไปให้จิตแพทย์ที่นั่นเขาตรวจจิตใจดูสักพัก พ่อกบก็จะรู้ว่าความรักและเอ็นดูที่ตนมีต่อลูกกบนั้นหาใช่ความรักและเอ็นดูที่แท้จริงไม่ แต่เป็นความรักและนับถือตัวเองโดยแท้ ที่นึกไปว่ารักและเอ็นดูลูกกบนั้น ก็เป็นเพราะลูกกบนับถือตนมากเท่านั้นเอง แต่ถ้าคนในโลกนี้ทุกคนไปหาจิตแพทย์เพื่อรู้จักตัวเองเสียจนหมดแล้ว บางทีรัฐบุรุษก็จะไม่มี ผู้นำก็จะไม่มี นายกรัฐมนตรีก็จะไม่มี จนในที่สุดพระอรหันต์ก็คงจะไม่มีและนิทานเรื่องนี้ก็คงจะไม่มีเช่นกัน”

อยู่มาวันหนึ่งก็มีวัวเดินมากินหญ้าใกล้ๆ กับสระแห่งนั้น บรรดาลูกกบไม่เคยเห็นวัวก็ตกใจกลัวโดดลงสระกันหมดพร้อมร้องเสียงหลงกันว่า “ยักษ์ๆๆ !”

Advertisement

ส่วนพ่อกบรู้ว่าวัวไม่เป็นอันตรายแก่ตนก็ตะโกนบอกลูกกบทั้งหลายว่า “เฮ้ย ! มันก็แค่วัวตัวเดียว ไม่ต้องกลัวอะไรไป ข้าอยู่ทั้งคน มันไม่กล้าทำอันตรายใครหรอก”

ลูกกบค่อยหายกลัวแต่พากันฉงนว่าวัวตัวใหญ่จริง ใหญ่กว่าพ่อกบตั้งเยอะแยะ ทำให้เริ่มไม่แน่ใจในความเป็น “ท่านผู้นำ” ในตัวพ่อกบเริ่มฉายในแววตาของลูกกบทุกตัว

พ่อกบก็รู้สึกเช่นนั้นจึงกลบเกลื่อนว่า “ข้าเบ่งพองตัวเข้าหน่อย ขี้คร้านจะใหญ่กว่าเจ้ายักษ์นี่เป็นกอง” ทั้งๆ ที่ในใจของพ่อกบก็นึกถึงนิทานอีสปเรื่องพ่อกบกับลูกกบที่พ่อกบพยายามเบ่งพองตัวให้ตัวใหญ่เท่าวัวจนท้องแตกตายไปอย่างเสียวๆ เหมือนกัน

บรรดาลูกกบพากันร้องเซ็งแซ่ขอให้พ่อกบแสดงให้ดูอย่างที่คุยในบัดเดี๋ยวนั้น แต่พ่อกบขอเวลาอีก 5 ชั่วโมง (ชั่วโมงหนึ่งของกบเท่ากับปีหนึ่งของมนุษย์) เพื่อเตรียมความพร้อมจนกระทั่งวัวเดินไปกินหญ้าเสียไกลลิบ พ่อกบจึงเริ่มเบ่งพองตัวซึ่งแน่นอนตามทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (special relativity) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งลูกกบไม่มีทางเข้าใจได้จึงเห็นพ่อกบใหญ่กว่าวัวจริงๆ ลูกกบจึงพร้อมใจยกพ่อกบขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าเบ่งพองตัวถูกเวลาตามทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษแล้วก็จะเป็นผลดีต่อผู้เบ่ง

หมายเหตุ มีการดัดแปลงขยายความจากต้นฉบับของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไปบ้าง อาจหาต้นฉบับเดิมอ่านได้จากเรื่องสั้นคึกฤทธิ์ฉบับสมบูรณ์ชุด “เพื่อนนอน” ของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image