วัวหายล้อมคอก : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

หลังจากที่รัฐบาลฮ่องกงตัดสินใจชะลอร่างกฎหมาย “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” ให้กับประเทศจีน ต่อมาวันที่ 16-17 มิถุนายน ยังมีประชาชนเกินกว่า 1 ล้านคนเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมาย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สังคมฮ่องกงยังไม่พอใจกับประเด็นดังกล่าว
(บทความเขียนวันที่ 18 มิถุนายน)

จึงทำการกดดันรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง

การประท้วงเป็นเหตุให้สังคมฮ่องกงเกิดความปั่นป่วนและการแตกแยก

รัฐบาลจะถอนร่างหรือไม่ จึงเป็นประเด็นสำคัญ สำคัญที่ว่า ถ้ารัฐบาลยังอาลัยอาวรณ์กับ “ร่าง” ดังกล่าว อุปมาไม่ต่างไปจากการนำเอา “ศพ” หวังมาทำให้พลิกฟื้นคืนชีพ เหมือนนิทานพื้นบ้านของชาวเฮติ ซึ่งเป็นสื่อบันเทิงแนวสยองขวัญและจินตนิมิต

Advertisement

กรณีจึงเสมือนรัฐบาลฮ่องกง นำเอาศพมาวางไว้ข้างกาย เป็นการหาทุกข์ใส่ตัว

การนำร่างกฎหมาย “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” เข้ารัฐสภาในวาระ 2 เพื่อทำการแปรญัตตินั้น ไม่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังทุรังดิ้นรนฝืนกระแส ความเสื่อมจึงมาเยือน

ฉะนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรลังเล การตัดสินใจถอนร่าง เป็นทางออกที่ดีที่สุด

เหตุการณ์ปั่นป่วนวุ่นวาย ก็จะยุติโดยดุษฎี

นอกจากนี้ ต้องทำการสำรวจตรวจสอบว่า “เหตุการณ์ admiralty” เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นั้น เหตุใดจึงบานปลายจากการชุมนุมประท้วง จนในที่สุดกลายเป็น “จลาจล”

เป็นเหตุผลที่ชาวฮ่องกงและประชาคมโลกต้องการคำตอบ

ล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 16 มิถุนายน “แคร์รี่ หล่ำ” ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงออกมาประกาศยอมรับว่า การทำงานของรัฐบาลไม่รัดกุม เป็นเหตุให้สังคมฮ่องกงเกิดความขัดแย้งและแตกแยก มีประชาชนจำนวนมากผิดหวังกับการทำงานของรัฐบาล

“แคร์รี่ หล่ำ” กล่าวขอโทษต่อประชาชน และยินดีรับฟังคำติเตียนและคำแนะนำของประชาชน เพื่อนำไปทำการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้บริการแก่ชาวฮ่องกงต่อไป

เป็นการสร้างสรรค์ ในการแสวงหาแนวทางเพื่อประนีประนอมด้วยมิตรไมตรี

แต่ปฏิเสธมิได้ เหตุการณ์ “12 มิถุนา” ทำลายภาพลักษณ์รัฐบาลไปมาก ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนถึงขั้นเลวร้ายที่สุด ร้ายถึงขั้นที่คนฮ่องกงเจ็บใจรัฐบาล

อันพื้นฐานทางการเมืองของรัฐบาลมีขีดความจำกัด หลังเหตุการณ์ “จลาจล” กำลังยิ่งแผ่วลง ความศรัทธาของประชาชนเสื่อมถอย ไม่ต่างกับคนที่ใกล้หมดลมหายใจ

คนฮ่องกงจึงมีความกังวลว่า ภาวะถดถอยเช่นนี้ รัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายอันเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้ต่อไปหรือไม่

ล้วนเป็นคำถาม และภายใต้คำถาม ถ้ารัฐบาลยังด้นดั้นทุรังดันเอาร่างกฎหมาย “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” เข้าสภาให้ได้ นั่นก็คือ
ไปรนหาที่ตาย

“แคร์รี่ หล่ำ” กล่าวว่า ในเมื่อไม่สามารถผลักดันให้ร่างกฎหมายเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา ก็น่าจะให้ “ร่างกฎหมาย” ค้างไว้อย่างไม่มีกำหนด เสมือนกับการ “ถอนร่าง” แต่เป็น “พิธีการ” มิใช่ “ของแท้” ผลก็คือ “ถอนร่าง” เช่นกัน เธอให้เหตุผลว่า

ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม ปัญหาของ “ร่างกฎหมาย” ก็ยังดำรงอยู่ ปัญหานั้นคือ “ช่องโหว่” แต่ถ้าถอนร่างด้วย “วิธีการ” อย่างน้อยก็แสดงว่า เป็นผลงานของเธอในการประนีประนอม

กรณีไม่ถือเป็นการแก้ปัญหา หากเป็นการหนีปัญหา หรือนั่งทับปัญหา

เป็นพฤติกรรมที่เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่เขา พูดจาเพื่อความสะดวกไปเฉพาะคราวหนึ่งๆ เท่านั้น เป็นนักการเมืองที่ปราศจากหลักการ ไร้ความรับผิดชอบ

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลต้องตัดสินใจเด็ดขาดโดย “ถอนร่าง” อย่างแท้จริง “แคร์รี่ หล่ำ” ต้องหันหน้าให้กับความจริง ไม่ต้องเกรงใจ “สี จิ้นผิง” โดยให้ยึดถือชีวิตความเป็นอยู่ของคนฮ่องกงเป็นหลัก หากมิฉะนั้น รัฐบาลฮ่องกงก็อาจเสมือน

ปลาตายน้ำตื้น

เหตุการณ์ “12 มิถุนา” เป็นบทเรียนราคาแพง นับตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่ประเทศจีน ถือเป็นเหตุการณ์ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์

เหตุการณ์ครั้งนี้มี “พิรุธ” เพราะช่วงบ่ายมี “ชายชุดดำ” พร้อมอาวุธปรากฏตัวที่ admiralty สถานที่เกิดเหตุซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและศูนย์ราชการของฮ่องกง

พลันที่ “ชายชุดดำ” ปรากฏตัวพร้อมกับชาวต่างประเทศส่วนหนึ่ง ก็เข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความสงบ และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ที่ปฏิบัติหน้าที่

ดูประหนึ่งว่า เป็นพฤติการณ์ที่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า อันทำงานอย่างมี “ระบบ”

เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงของคนฮ่องกงที่เริ่มขึ้นด้วยความสงบ ได้กลายเป็น “จลาจล” ใน
ปริโยสาน มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 70 คน ซึ่งมีทั้งตำรวจที่รักษาความสงบ นักข่าวที่รายงานข่าว

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้ว่าเคยมีการชุมนุมประท้วงบ้างตามสมควรแก่เหตุ แต่ก็ไม่เคยมีปรากฏการณ์ “จลาจล” เกิดขึ้นอย่างเช่นครั้งนี้

พลันที่จลาจลเกิดขึ้น “แนนซี่ เพโลซี่” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า หากรัฐสภาฮ่องกงผ่านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน รัฐสภาสหรัฐไม่มีทางเลือกอื่นที่จะต้องทำการประเมินว่า คนฮ่องกงยังมีสิทธิที่จะทำการปกครองฮ่องกงหรือไม่

เธอสรุปว่า “สหรัฐและฮ่องกงอยู่บนจุดยืนเดียวกัน”

ไม่ว่าคำพูดของ “แนนซี่ เพโลซี่” ไม่ว่า “ชายชุดดำ” พร้อมอาวุธ ไม่ว่าคนต่างชาติในหน้างาน ล้วนส่อพิรุธ พิรุธตรงที่ ชายชุดดำ คนต่างชาติล้วนมิใช่คนจีนฮ่องกง เหตุใดจึงต้องร่วมชุมนุมประท้วง โดยใช้ท่อนเหล็กและก้อนอิฐทำร้าย
เจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าว

ส่วนการวิพากษ์ของ “แนนซี่ เพโลซี่” พิรุธที่เธออยู่สภาสหรัฐ หากมิใช่สภาฮ่องกง
พฤติการณ์ของเธอจึงเสมอ “กินปูนร้อนท้อง”

การแก้ปัญหาร่างกฎหมาย “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน” จึงเป็นประเด็นอ่อนไหว รัฐบาลต้องใช้ความ
ระมัดระวังพินิจพิเคราะห็ในการกระทำการใดหรือไม่กระทำการใด
ประเด็นสำคัญคืออย่าตกเป็นเครื่องมือของประเทศที่ 3 โดยถูกใช้เป็น “หมาก” ตัวหนึ่ง

จึงไม่แปลกที่ “เล่อ อี้เฉิน” รองรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีนได้เรียก Robert Forden อัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีนเข้าพบเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เพื่อประท้วง “พฤติกรรม” ของสหรัฐอันเกี่ยวกับการแทรกแซงจีนและฮ่องกง ซึ่งหมายถึง “คำพูดและการกระทำ”

อีกประการ 1 จากภาพที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ จะเห็นภาพชาวต่างชาติส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทำการประท้วง ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่

เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นคำถามที่สังคมต้องการคำตอบ

หากประเด็นปัญหาร่างกฎหมายไม่ลุกลามต่อไป รัฐบาลควรต้องรีบดำเนินการ

1 ถอนร่างกฎหมาย “ส่งผู้ร้ายข้ามแดน”

1 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ทำการตรวจสอบ “ต้นสายปลายเหตุ” อันเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ “admiralty” เพื่อนำมาเป็นบทเรียน และหาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก ดังตัวอย่าง

วัวหายล้อมคอก

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image