สถานีคิด : เป็นขั้นเป็นตอน : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีชื่อไปเป็นรองนายกฯ ใน ครม.ใหม่ด้วย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารว่า รายชื่อ ครม.ไปถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว

ถือว่าปิดบัญชี อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติ และรายละเอียดต่างๆ ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในเดือนนี้

รองนายกฯ วิษณุยังเล่าถึงการประชุม คสช.ที่เป็นเหมือนลากันกลายๆ ขณะที่แม่น้ำ 5 สายแห้งเหือดหมดแล้ว

สะท้อนการ “เปลี่ยนผ่าน” ของการเมือง จากยุคอำนาจพิเศษไปสู่อีกระบบหนึ่ง

Advertisement

เป็นระบบที่เกือบปกติ เพราะ 5 ปีนี้ การเมืองไทยจะอยู่ภายใต้บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 กว่าจะเต็มใบยังมีอีกหลายขั้นตอน

ถึงกระนั้น หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป

อาทิ เมื่อ ครม.ใหม่เข้ารับหน้าที่ อาญาสิทธิ์มาตรา 44 จะสิ้นไป ต้องจับตาดูว่า จะมีรายการใช้ ม.44 สั่งลาในเรื่องไหนหรือไม่ ในเวลายังเหลืออยู่

Advertisement

ครม.ใหม่ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

จากชุดที่ คสช.จิ้มเอามา กลายเป็นชุดที่ผ่านการเจรจาต่อรองด้วยปัจจัยสารพัด

ก็ต้องเกร็งตัวเตรียมรับหมัดกันไป เพราะรายชื่อที่แพร่กระจายไปก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์พอสมควร

หนทางข้างหน้าวิบากด้วยหลุมบ่อสารพัด ทีมเวิร์กลูกผสม ตัวช่วยน้อยลง จำนวน ส.ส.ของรัฐบาลมีจำนวนปริ่มๆ น้ำ ไหนยัง “คนอกหัก” เดินกันขวักไขว่

ขณะที่สภาพปัญหารอการแก้ไขอยู่ในระดับหนักหน่วง

รัฐบาลอาจมั่นใจว่า ใน 5 ปีแรกนี้ ในสภาอาจเกิดอุบัติเหตุแหกโค้ง ตกท่อ ฯลฯ แต่รัฐธรรมนูญดีไซน์ไว้แก้เกมหมดแล้ว

ยังไงๆ นายกฯเป็นคนอื่นไม่ได้ นอกจากคนที่ 250 ส.ว.ตัดสิน

แต่ไม่แน่เหมือนกัน เพราะการเมืองประเภทที่ดีไซน์ไว้ กำหนดขั้นตอนต่างๆ เอาไว้อย่างดิบดี อาจดูดีน่ามั่นใจในระยะหนึ่ง แต่อยู่ๆ ไปอาจพลิกกลับกลายเป็นตัวเรียกแขกก็ได้

ตัวอย่างหนึ่งของการเมืองที่ออกแบบไว้ แต่ไปเร็วกว่าที่คิด คือการเมืองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2519 ที่ใช้หลังเหตุการณ์นองเลือด และรัฐประหาร 6 ตุลาฯ 2519

รัฐธรรมนูญที่ว่ามี 29 มาตรา บัญญัติให้มีการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นขั้นเป็นตอน 3 ระยะ ระยะละ 4 ปี รวม 12 ปี

4 ปีแรกให้สภามาจากแต่งตั้งทั้งหมด 4 ปีต่อมาให้มีสภาผู้แทนฯจากเลือกตั้ง วุฒิสภามาจากแต่งตั้ง อำนาจเท่าเทียมกัน

4 ปีที่สาม ขยายอำนาจสภาผู้แทนฯ ลดอำนาจวุฒิสภาเท่าที่จะทำได้

หลัง 12 ปีผ่านไป หากราษฎรตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนในระบอบประชาธิปไตยดีแล้ว อาจยกเลิกวุฒิสภา ให้เหลือแต่สภาผู้แทนฯ

รัฐธรรมนูญฉบับที่ว่านี้ ประกาศใช้เมื่อ 22 ต.ค.2519 ต่อมา 21 ต.ค.2520 ถูกยกเลิกด้วยการรัฐประหารชุดเดียวกับที่ก่อการเมื่อ 6 ต.ค. 2519

รวมใช้อยู่ 1 ปี ก่อนแทนที่ด้วย “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2520” ซึ่งไม่กล่าวถึงประชาธิปไตยแบบเป็นขั้นเป็นตอนอีกเลย

นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 40 กว่าปีก่อน

เล่าสู่กันฟังสนุกๆ ประสาผู้อยู่ภายใต้การเมืองแบบเป็นขั้นเป็นตอน

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image