มงคลเมือง 10 : โดย ทวี ผลสมภพ

ในมงคลเมือง 9 ได้กล่าวถึงฤๅษีวาลมิกินำเอาชาดกในพระพุทธศาสนา ไปแต่งเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อทำลายพุทธศาสนา ส่วนในมงคลเมือง 10 นี้ จะกล่าวถึงเรื่องมหาภารตยุทธ ซึ่งเรื่องนี้พราหมณ์ก็นำเอาชาดกในพระพุทธศาสนาไปแต่งเช่นกัน แต่ดูเหมือนจุดประสงค์การแต่งเรื่องมหาภารตยุทธของพวกพราหมณ์ครั้งนี้ มุ่งทำลายตัวบุคคลในพระพุทธศาสนามากกว่า

ชาดกที่พวกพราหมณ์นำไปแต่งเรื่องมหาภารตยุทธ มี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง กุณาลชาดก สอง วิธุรชาดก เพื่อความแน่ใจ ขอให้ผู้อ่านไปหาความรู้ในชาดกทั้ง 2 ก่อน

กุณาลชาดกอยู่ใน พระไตรปิฎก ชื่อพระสูตรและอรรถกถา เล่ม 62 หน้า 536-559 ตรงหน้า 559 พวกพราหมณ์ได้นำเรื่อง เจ้าชายพี่น้องท้องเดียวกัน 5 คน มีเมียคนเดียวกัน ไปแต่งเรื่องมหาภารตยุทธ ส่วนเรื่องวิธุรชาดกอยู่ในพระไตรปิฎกชื่อ พระสูตรและอรรถกถาเล่ม 64 หน้า 351-483 การที่พวกพราหมณ์นำเรื่องทั้ง 2 มาแต่งเป็นเรื่องเดียวกัน จึงทำให้เหมือน คนไทยนำเรื่องพระอภัยมณี และเรื่องสังข์ทองมาแต่งเป็นเรื่องเดียวกันแล้วให้พระสังข์กับพระอภัยมณีแย่งผู้หญิงกันฉะนั้น มันจึงเป็นเรื่องขำ แล้วเมื่อถึงจุดนั้น จะได้กล่าวอีกครั้งหนึ่ง

จากนี้ขอสรุปเรื่องย่อกุณาลชาดกก่อน เจ้าชาย 5 องค์ ชื่อ อรชุน นกุล ภีมเสน ยุธิษฐิละ และสหเทพ เป็นโอรสของราชาปัณฑุ (จำชื่อนี้ไว้ให้ดี) ในคัมภีร์ไม่พบว่าครองอยู่เมืองไหน เรียนสำเร็จแล้ว ก็เดินทางกลับเมืองโดยผ่านเมืองต่างๆ เพื่อชมบ้านเมืองข้างทางที่ผ่าน ขณะเดียวกันที่เมืองพาราณสี พระราชธิดาสาวของพระเจ้าพรหมทัต นามว่านางกันหา นางได้ขอพรจากพระราชบิดา มารดา ว่าขอเลือกสามีเอง พระราชาทรงอนุญาตอย่างไม่พอพระทัยนัก เมื่อมีการประกาศให้ชายหนุ่มทั้งหลายมาชุมนุมกันที่หน้าพระลานในวันเลือกพระสวามี เผอิญวันนั้น เจ้าชายทั้งห้าเดินผ่านมาได้ยินเสียงอื้ออึง จึงแวะเข้าไป เมื่อทราบเรื่องราว เจ้าชายทั้งห้าจึงเสนอตัวให้เจ้าหญิงเลือกด้วย เจ้าหญิงเห็นเจ้าชายทั้งห้ารูปร่างหน้าตามีสง่าราศี จึงโยนพวงมาลัยให้เจ้าชายทั้งห้าคน เจ้าชายทั้งห้าคนจึงมีเมียเป็นหญิงคนเดียวกัน

Advertisement

ในเจ้าชายทั้งห้าองค์นั้น เจ้าชายอรชุนเป็นพี่ใหญ่

ส่วนเรื่องสรุปของวิธุรชาดก มีดังต่อไปนี้ พระราชาพระนามว่าโกรัพยะ (จำชื่อนี้ไว้ให้ดี) ครองเมืองอินทปัตตะ ในแค้วนกุรุ (เมืองเดลลีปัจจุบัน) พระองค์มีวิธุรบัณฑิต เป็นปุโรหิต วิธุรบัณฑิตนั้นกล่าวธรรมได้ไพเราะ มีเหตุผลชวนฟัง จนพระราชา 101 พระองค์ติดตามฟังอยู่ที่เมืองอินทปัตตะ กาลต่อมาพญาวรุณนาคราชได้แปลงกายเป็นมนุษย์ รักษาศีลอุโบสถบนเมืองมมนุษย์ ได้ฟังธรรมของวิธุรบัณฑิต ในท้องพระโรงของพระเจ้าโกรัพยะ เมื่อพระองค์กลับไปยังเมืองบาดาล ได้สรรเสริญคุณของวิธุรบัณฑิต ให้พระนางวิมลา พระมเหสีฟัง พระนางเกิดอยากฟังธรรมจากวิธุรบัณฑิตบ้าง จึงแกล้งบอกพระสามีว่าอยากกินหัวใจของวิธุรบัณฑิต วรุณนาคราชจึงให้ปุณณยักษ์ ผู้ซึ่งเป็นเทพเสนาบดีของท้าวกุเวรไปนำหัวใจของวิธุรบัณฑิตในเมืองมนุษย์มา

ปุณณยักษ์รู้ว่าเจ้านายของวิธุรบัณฑิตคือพระเจ้าโกรัพยะ ติดการเล่นสกาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จึงแปลงกายไปเป็นมนุษย์ท้าพระเจ้าโกรัพยะเล่นสกา โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าพระเจ้าโกรัพยะแพ้ ต้องยกท่านวิธุรบัณฑิตให้ ผลที่สุดพระเจ้าโกรัพยะแพ้พนัน ปุณณยักษ์จึงได้วิธุรบัณฑิตไป แล้วก็พยายามจะฆ่าเพื่อเอาหัวใจไปให้พระนางวิมลา แต่ทำอย่างไรก็ฆ่าไม่ตาย จึงนั่งหอบอยู่ วิธุรบัณฑิตก็สงสัยว่า คนผู้นี้น่าจะเป็นมนุษย์ปลอม จึงถามสาเหตุที่ต้องฆ่าเขา พอรู้เรื่องกันแล้ว ปุณณยักษ์จึงพาวิธุระไปสู่บาดาล เพื่อแสดงธรรมโปรดพระนางวิมาลา

Advertisement

นี่คือเรื่องย่อของวิธุรชาดก ผู้ปรารถนาความพิสดาร โปรดไปอ่านในหนังสือที่บอกไว้ข้างบนเถอะ

การแต่งเรื่องมหาภารตยุทธของฤๅษีกฤษณะไทวปายนะ ต้องการเขียนฉากสงครามระหว่างกษัตริย์ลูกพี่ลูกผู้น้อง เขาจึงนำสถานที่และตัวละครในชาดกทั้งสองมาจัดดังต่อไปนี้ สถานที่เพราะในชาดกกล่าวถึงเมืองไว้เฉพาะ เมืองอินทปัตตะ ดังนั้นเขาจึงจัดให้เมืองอินทปัตตะเป็นเมืองของผู้ร้าย ส่วนเมืองของพระเอก ก็คือเมืองที่ญาติผู้มีอำนาจแบ่งจากแคว้นกุรุรัฐให้ แล้วจัดให้ตัวละครจากเจ้าชายทั้งห้า เป็นฝ่ายปานฑพ จัดให้ฝ่ายตัวละครฝ่ายวิธุรชาดก เป็นฝ่ายเการพ ถามว่า เขาเอาปานฑพ กับ เการพมาจากไหน ในตอนต้น ได้บอกให้จำศัพท์ว่าปัณฑุ กับคำว่า โกรัพยะ ไว้ ปัณฑุราชเป็นพระราชบิดาของเจ้าชายทั้งห้า

ดังนั้นเขาจึงเอาศัพท์ว่าปัณฑุ มาผวนเป็นปัณฑวะ โดยแผลงสระอุที่ฑุเป็นอะวะ ตามหลักไวยากรณ์บาลี จึงได้ศัพท์ ปัณฑวะ แล้วแผลงอักษร ว เป็น พ จึงได้ศัพท์ เป็น ฝ่าย ปัณฑพ ฝ่ายเการพ มาจากคำว่า โกรัพยะ โดยวิธีการดังนี้ นำสระโอที่โกมาแผลง อะวะ เมื่อรวมกับอักษร ก จึงได้ศัพท์ กวะ ตามหลักไวยากรณ์บาลี จากศัพท์กวะนำมาแผลงเป็น เกา ยังมีอักษรที่เหลือ คือ รัพยะ จึงได้ศัพท์ว่า เการัพยะ น่าจะเพื่อสะดวกในภาษาไทย จึงเรียกฝ่ายนี้ว่า ฝ่ายเการพ โดยตัดยะออกเสีย

จึงขอสรุปว่า ฝ่ายปานฑพ มาจากชื่อปัณฑุราช ฝ่ายเการพมาจากนามพระเจ้าโกรัพยะ แล้วจัดผู้ร้ายดังนี้ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวคือประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นไป พวกพราหมณ์พยายามทำลายพระพุทธศาสนา แต่งเรื่อง รามายนะ คือรามเกียรติ์ เพื่อทำลายพระพุทธศาสนา แล้วก็แต่งมหาภารตยุทธ เพื่อทำลายวิธูรบัณฑิต เพราะท่านวิธุรบัณฑิต เป็นพระโพธิสัตว์ คือเป็นพระชาติที่ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี พวกพราหมณ์จึงนำชื่อของท่านมาดัดแปลง ให้เป็นผู้ร้าย คือ จาก วิธูระ มาเป็น ธุระโยชน์ โดยตัด คำว่า วิ ออก แล้วเพิ่มคำว่า โยชน์เข้า ด้านหลังจึงเป็น ธุรโยชน์ แล้วจัดให้ อรชุน ในกุณาลชาดก เป็นพระเอก

ส่วนชนวนของสงคราม น่าจะมาจากนางเอกชื่อ เทราปตี นางเทราปตี คือใคร? เธอ คือนางกันหา ราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัต ที่ขอพ่อว่า นางขอหาผัวเอง ในเรื่อง กุณาลชาดก คนที่ติดการเล่นสกา คือพระเจ้าโกรัพยะ ผู้ครองเมือง อินทปัตตะ แต่เพราะพวกพราหมณ์ ได้นำเอาคำว่าโกรัพยะ มาเป็นนามราชวงศ์แล้ว เขาจึงนำยุธิษฐิละ ผู้เป็นน้องของ อรชุน มาเป็นกษัตริย์ผู้ติดการเล่นสกาแทน ผู้นำทัพฝ่ายปานฑพ คือ อรชุน ผู้นำทัพฝ่ายเการพคือ ภีษมะ สาเหตุของสงสงคราม มาจากฝ่ายธุรโยชน์ ริษยาความเจริญรุ่งเรืองของเมืองหัสดินปุระ อันเป็นเมืองใหม่ จึงส่งคนไปท้าเล่นสกากับกษัตริย์ยุธิษฐิละ โดยมีเดิมพันว่า ถ้าฝ่ายปานฑพแพ้ สมบัติทุกชิ้นจะต้องถูกยึด ยุธิษฐิละแพ้ ฝ่ายเการพจึงยึดทั้งหมด แม้กระทั่งเมีย คือเทราปตี ธุรโยชน์ต้องการสงคราม จึงหาเรื่องรังแกเมียของญาติ คือจิกหัว เปิดกระโปงเทราปตี เพราะตัวถือว่าตัวได้มาแล้วจากการชนะการเล่นสกา

การรบเริ่มขึ้น ที่ทุ่งกุรุเกษตร อรชุนแม่ทัพฝ่ายปานฑพ ขณะเผชิญหน้ากับฝ่ายเการพ มองเห็นทหารทั้งสองฝ่ายมีแต่ญาติทั้งนั้น จึงไม่อาจสั่งรบได้ คนแต่งเรื่องจึงแต่งให้พระกฤษณะมาขับรถให้อรชุนเมื่อเห็นอรชุนท้อถอยในสงคราม จึงแจ้งแก่อรชุนว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ตายแล้วก็เกิดใหม่ เหมือนเปลี่ยนกางเกง

ข้อความเหล่านี้คนแต่งเรื่อง เรียกว่าภควัตคีตา แปลว่าเพลงขับของพระเจ้า น่าจะเป็นเพราะฤๅษีที่แต่งเรื่องนี้ แกชื่อกฤษณะ แกจึงสร้างให้พระกฤษณะ มาช่วยอรชุนทำสงครามในหมู่ญาติ แกหวังฝากชื่อของแกไว้ รบกัน 14 วัน ทางฝ่ายธุรโยชน์แพ้ ธุรโยชน์ตาย ฝ่ายเการพเหลือทหาร 3 คน ฝ่ายปานฑพเหลือทหาร 7 คน ในตอนต้นได้พูดไว้ว่า กฤษณะเอาชาดกสองเรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ที่น่าขำกว่านั้น คือเอาตัวละครตัวเดียวกัน มาฆ่ากัน คือ อรชุน เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า วิธุระก็เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่เกิดคนละภพ กล่าวคือ อรชุนมาในปัญญาสนิบาต แสดงว่าเกิดก่อน ส่วนวิธุระ ที่กฤษณะแปลงให้เป็นตัวโกงคือธุรโยชน์นั้น มาในมหานิบาตชาดก แสดงว่าเกิดช่วงหลัง แล้วกฤษณะก็แต่งให้คนคนเดียวกันมาฆ่ากัน ในเรื่องมหาภารตยุทธ

แต่เรื่องนี้จะเห็นชัดก็ต่อเมื่อ ไปอ่านในชาดกทั้งสองเรื่องที่ผู้เขียนบอกหนังสือให้ไปค้นแล้ว อย่างพิสดารเท่านั้น

จุดหมายของผู้แต่ง คือฤๅษีกฤษณะต้องการทำลายพระพุทธศาสนา เหมือนที่เขาแต่งเรื่องรามเกียรติ์ จึงให้ฝ่ายเการพ คือพระเจ้าโกรัพยะที่เขาเปลี่ยนไปเป็นราชวงศ์เการพ ราชาแห่งเมืองอินทปัตตะ ผู้ซึ่งเป็นเจ้านายของวิธุรบัณฑิต เป็นฝ่ายแพ้สงคราม เพราะเหตุผลคือ เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ความจริงมหาภารตยุทธมิได้เกี่ยวกับเมืองลพบุรีเลย แต่เนื่องจากในตอนที่ 9 ได้พูดถึงการแต่งรามเกียรติ์ เพื่อจุดประสงค์เหมือนกัน อีกทั้งเรื่องมมหาภารตยุทธพวกพราหมณ์ ก็นำเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนาไปแต่งเช่นกัน จึงเพิ่มเรื่องนี้ให้ชาวพุทธได้รู้โดยทั่วกัน

เรื่องมหาภารตยุทธมีการแต่งเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 แต่ที่น่าขำก็คือ มีอีกแหล่งหนึ่งกล่าวอย่างหน้าตาเฉยว่า แต่งก่อนพุทธกาล 1000 ปี การแจ้งอายุการแต่งผิดเป็นพันปี แถมบอกว่าก่อนพุทธกาลอีกต่างหาก เพื่ออะไร? ตอบ ก็เพื่อหลบในการที่อาจถูกจับได้ว่า นำเรื่องในพระพุทธศาสนามาเขียน เพื่อยืนยันเรื่องนี้ จึงขอยกอายุของอรรถกถาชาดกว่า เริ่มมาตั้งแต่ครั้งทำปฐมสังคายนา หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ 3 เดือน จนถึงขณะนี้ อรรถกถาชาดกน่าจะมีอายุ 2600 กว่าปีมาแล้ว แต่เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องมหาภารตยุทธ เป็นเรื่องที่พวกพราหมณ์ สร้างนารายณ์ 10 ปางขึ้นมาในยุคหลังประมาณ พุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อหลอกคนอินเดียว่าพระพุทธเจ้า เป็นพระนารายณ์ ปางหนึ่งเหมือนกัน

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะพูดว่าเรื่องมหาภารตยุทธแต่งก่อนพุทธกาล 1000 ปี จึงขอให้ชาวพุทธช่วยกันพิจารณา

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image