เด็กเกิดลดลง… : โดย เฉลิมพล พลมุข

เด็กเกิดลดลง…

ประชากรเด็กเกิดใหม่และคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนในประเทศเป็นดัชนีชี้วัดถึงคุณภาพของประเทศในภาพรวมถึงระบบการศึกษา การมีอาชีพหน้าที่การงาน ครอบครัว ส่งผลไปถึงการพัฒนาชาติบ้านเมืองทั้งระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคมและการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญการปกครองประเทศทุกฉบับได้ระบุถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในบริบทต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน

จำนวนพลเมืองของประเทศไทยทั้งประเทศจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่มีตัวเลขเกือบ 67 ล้านคน เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยร้อยละ 95.1 และผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยประมาณร้อยละ 4.9 ประชากรเป็นลำดับ 4 ในอาเซียนที่รองจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ข้อมูลหนึ่งของสหประชาชาติที่ระบุถึงเมืองไทยเราพบผู้สูงอายุ คนแก่ชราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วรองจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ประชากรในวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) จะถึงจุดสูงสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้วมาในร้อยละ 72 และจะมีการลดต่ำลงกว่าร้อยละ 60 ก่อนปี ค.ศ.2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า และจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มเป็นร้อยละ 19.5 ในปี ค.ศ.2530 หรืออีก 11 ปีข้างหน้าหากแผนของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้ของรัฐบาลจักต้องเดินไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ก็อาจจะมีทั้งบริบทของเด็กที่เกิดใหม่และจำนวนของคนแก่ชราที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับของสภาพปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดีแล้วหรือไม่

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ป.ส.กช.) ได้มีข้อมูลหนึ่งที่ว่า การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนสังคม สช. มีข้อมูลในการรับนักเรียนอนุบาลลดลงกว่า 20,000 คน เนื่องด้วยนโยบายการรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 (3 ขวบ) ของโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บางแห่งยังคงมีการรับอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คำสั่งของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ จะมีนโยบายให้ สพฐ. ห้ามรับแต่อนุญาตให้โรงเรียนที่สังกัด สช. และโรงเรียนในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้รับ และมีเงื่อนไขว่า หากพื้นที่ใดไม่มีโรงเรียนของ สช.และ อปท. ก็อนุญาตให้ สพฐ. รับเด็กอนุบาล 3 ขวบได้…(มติชนรายวัน 25 มิถุนายน 2562 หน้า 21)

Advertisement

ข้อเท็จจริงหนึ่งนโยบายของเจ้ากระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการของเมืองไทยเราเป็นกระทรวงที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐมนตรีบ่อยครั้งที่สุด ระบบการทำงานในภาพรวมมีความสลับซับซ้อน การตีความในนโยบายและการปฏิบัติ ขั้นตอนวิธีการปฏิบัติที่ใช้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมยังคงอยู่ในสภาพของปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ทศวรรษ มิอาจจะรวมถึงการแก่งแย่ง แย่งชิงกระทรวงในระดับเกรดเอที่อาจจะเอื้อทั้งอำนาจและผลประโยชน์ของเหล่าบรรดานักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การศึกษาชาติในภาพรวมยังถูกยกทั้งวาระแห่งชาติและบริบทในแต่ละปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลหนึ่งของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีตัวเลขคาดประมาณถึงกลางปี พ.ศ.2562 (1 กรกฎาคม) จำนวนสตรีวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49 ปี) ประมาณ 16 ล้านคนเศษ ประชากรเด็กก่อนวัยเรียน (0-5 ปี) มากกว่า 4.3 ล้านคน อัตราการเกิดต่อประชากรพันคนอยู่ที่ตัวเลข 10.5 และอัตราของการตายในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีต่อการเกิดมีชีพพันรายอยู่ที่ 11.0 ขณะที่มีจำนวนผู้สูงอายุที่ 60 ปีขึ้นไปในจำนวนที่
มากกว่า 11.5 ล้านคน และคนในวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) เพื่อขับเคลื่อนประเทศอยู่ในตัวเลขที่ 43.4 ล้านคน รวมถึงอัตราการตายต่อประชากรพันคนอยู่ที่ 8.1 (ipsr.mahidol.ac.th)

ในตัวเลขดังกล่าวผู้เขียนอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านหลายท่านได้ตั้งสมมุติฐานว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐจากหลายกระทรวงน่าจะมีตัวเลขที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อธิบดีหรือผู้บริหารในระดับต่างๆ ที่ต้องทำงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติมีตัวเลขดังกล่าวอยู่ในมือ สภาพปัญหาทั้งจำนวนเด็กเกิดที่ลดน้อยลงไปอย่างต่อเนื่องได้กระทบถึงระบบโครงสร้างประชากรในเมืองไทยโดยภาพรวม การมีนโยบายให้เงินแก่เด็กเกิดใหม่ คุณแม่มือใหม่ที่เรียกว่ารัฐสวัสดิการแบบประชานิยมดูเสมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ดีงามน่าชื่นชม แต่อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่มิได้ตรงจุดและยั่งยืนยาวนานในอนาคต
สภาพปัญหาหนึ่งในข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์หนึ่งก็คือ โรงเรียนในระดับ สพฐ.ของรัฐบาลและโรงเรียนที่สังกัดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในต่างจังหวัดทั่วประเทศต่างก็ประสบสภาพปัญหาที่คล้ายๆ กันนั่นก็คือการแก่งแย่งจำนวนเด็กนักเรียนเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนของผู้บริหารในแต่ละระดับ สภาพปัญหาการยุบควบรวมของโรงเรียนในทั่วประเทศยังอยู่ในข้อเท็จจริง จำนวนตัวเลขของผู้เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศก็ยังคงมีจำนวนคณะ สาขา เอกวิชาที่ไม่มีนักศึกษาสมัครเข้าเรียน การศึกษาเล่าเรียนแบบทวิภาคี หรือการเรียนปริญญาที่มีทางเลือกด้วยการทำงานไปด้วยและจบปริญญาไปด้วยดูเสมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของเด็กเยาวชนในยุคปัจจุบัน

Advertisement

เมืองไทยเราได้รับเป็นเจ้าภาพของการประชุมอาเซียนครั้งที่ 34 (34th ASEAN Summit) 10 ประเทศและประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในกรุงเทพมหานคร นอกจากจะมีปฏิญญากรุงเทพฯที่ว่าด้วยการต่อสู้กับปัญหาขยะทางทะเลแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวในที่ประชุมที่มีผู้นำของอินโดนีเซีย มาเลเซีย เลขาธิการอาเซียน ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ในการประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 12 (Indonisia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาปรับปรุงด้านการผลิตและบริการ เพื่อสนองรูปแบบการบริโภคสินค้าใหม่ พัฒนารูปแบบทางการค้า และเร่งรัดพัฒนาเครือข่ายเมืองสีเขียว ตลอดจนระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสีเขียวให้เป็นรูปธรรม รวมถึงบริบทของวัฒนธรรมอาเซียน การดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาและวิจัยอย่างยั่งยืน…

การบริหารการศึกษาโดยเฉพาะในพระราชกำหนดการศึกษาแห่งชาติ (พ.ร.ก.) พ.ศ.2562 ที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช.มาแล้วมีทั้งหมด 103 มาตรา ฉบับที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่จะใกล้คลอดนี้ได้มีทั้งเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้วิกฤตคุณภาพของการศึกษาไทยเราทั้งปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา หลักสูตรไม่ทันสมัย เด็กบางคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้วิเคราะห์ไม่เป็น การวัดผลการประเมินการศึกษารวมไปถึงปัญหาเงินปรับเพิ่ม 8 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกดองไว้เกือบทศวรรษของข้าราชการในอุดมศึกษายังคงอยู่ในขวัญและกำลังใจในคนของ
พระราชาข้าของแผ่นดิน…

ในมาตรา 6 ได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาโดยเน้นถึงความเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ 7 ด้าน อาทิ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม วินัยและความภูมิใจในชาติ แต่มิได้เน้นถึงเป้าหมายและทิศทางของผู้เรียนให้ไปเป็นผู้ประกอบการเสมือนประเทศในภูมิภาคอาเซียนแบบจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และในมาตรา 8 ที่ได้กล่าวถึงการฝึกฝนคนตามช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงหนึ่งปี วัยเด็กเล็ก (1-3 ปี) วัยอนุบาล (3-6 ปี) วัยประถมต้น และปลาย (7-12 ปี) วัย ม.ต้น (12-15 ปี) วัย ม.ปลาย (16-18 ปี) และวัยอุดมศึกษา อาชีวศึกษา อายุ 18 ปีเป็นต้นไป

ปัญหาของเด็กเกิดลดลงทั้งในเมืองไทยเราและเมืองต่างๆ ทั่วโลก ในบางประเทศประสบสภาพปัญหาที่คล้ายๆ กับสังคมไทย สภาพของปัญหาดังกล่าวเสมือนหลักการของปฏิจจสมุปบาทหลักคำสอนหนึ่งในศาสนาพุทธก็คือ ในทุกสรรพสิ่งมีเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน อาทิ อวิชชา (ความไม่รู้ที่เป็นจริง) เป็นไปสู่ (สังขาร) การปรุงแต่งดี-ชั่ว, ถูก-ผิด, ควร-มิควร นำไปสู่วิญญาณ-นามรูป-สฬายตนะ-ผัสสะ-เวทนา-ตัณหา-อุปาทาน-ภพ-ชาติ-ชรา-มรณะ-ทุกข์-โทมนัส…
เด็กเกิดในอัตราจำนวนที่ลดลงไปอันเนื่องด้วยคนในวัยที่มีการศึกษา วัยทำงานบางคู่ครองแต่งงานแล้วหรือใช้ชีวิตคู่ด้วยกันก็มีความเชื่อหนึ่งก็คือการไม่มีลูก นั่นหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายความรับผิดชอบในความเป็นพ่อแม่ที่จะต้องตามมาโดยเฉพาะชีวิตคู่ที่หน้าที่การงานยังไม่ค่อยมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจการเงินยังมิค่อยอำนวยให้การเลี้ยงดูบุตร ให้การศึกษาให้ชีวิตเป็นไปได้อย่างมีคุณภาพ อัตราของการตายในวัยเด็กที่มิอาจจะอยู่รอดถึงวัยรุ่นจากความเจ็บป่วยจากโรคบางประเภท อุบัติเหตุจมน้ำ รถชน การฆ่ากันทั้งครอบครัวรวมมีเด็กอยู่ด้วย…

สังคมไทยเราในวิกฤตก็ยังมีโอกาสหนึ่งของเด็กเยาวชนที่เกิดมาแล้วต้องพบกับสภาพปัญหาต่างๆ อาทิ ครอบครัวแตกแยก พ่อเลี้ยงเดี่ยวแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กถูกทอดทิ้งที่อยู่ในการดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กของรัฐ วัดที่มีพระสงฆ์ให้การช่วยเหลือดูแลให้การศึกษา เด็กไทยเราและเด็กไร้สัญชาติที่เกิดในแผ่นดินไทยเราในวันเวลาที่ผ่านมา บางคนถึงแม้นว่าตนเองจะเลือกเกิดมิได้ แต่ความประพฤติการศึกษาเล่าเรียนอยู่ในระดับดีได้สร้างชื่อเสียงให้กับสังคมไทยเรามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ บางคนสอบเข้าเรียนแพทย์ วิศวะหรือคณะสาขาที่เป็นที่ต้องการของประเทศชาติและระบบการตลาด หลายคนโชควาสนาบุญกรรมดีได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และนำความรู้ความสามารถกลับมาช่วยพัฒนาชาติบ้านเมืองไทยเรา ยังอยู่ในความลังเลสงสัยของผู้ใหญ่บางคนต่อคนรุ่นใหม่บางประเภทที่ถูกมองว่าก้าวร้าว หัวรุ่นใหม่ที่ต้องการปรับเปลี่ยนประเทศ แก้ไขรัฐธรรมนูญ นำทหารกลับเข้าสู่กรมกอง เราท่านจักมีท่าทีดังกล่าวเช่นไร

แรงงานหลักทั้งประเทศส่วนหนึ่งมาจากผู้คนที่เข้ามาใช้แรงงานจากประเทศรอบๆ บ้านเราทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งชาติต่างๆ จำนวนแรงงานต่างชาติที่ทำงานหรือใช้ชีวิตในบริบทต่างๆ มากกว่า 3 ล้านคนทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย บางจังหวัดหรือสถานที่หากเราท่านได้มีโอกาสเข้าไปทั้งการท่องเที่ยวหรือไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะสังเกตได้ว่าแทบจะเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาไปทั้งอำเภอหรือจังหวัด ทั้งภาษาพูดสื่อสาร อาหารการกินเครื่องใช้ไม้สอย เขาเหล่านั้นประกอบอาชีพเกือบทุกประเภทที่คนไทยได้มีกฎหมายรับรองในอาชีพที่สงวนเอาไว้ ในรอบปีหนึ่งแรงงานข้ามชาติได้ส่งจำนวนเงินที่ได้กลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอนของเขาในมูลค่าที่มหาศาล

การลดลงของเด็กไทยที่เกิดในรอบปีกระทบทั้งสถานศึกษา การปิดกิจการของสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนในวันเวลาที่ผ่านมาอยู่ในข้อเท็จจริง แรงงานที่เข้าสู่ระบบงานในสาขาอาชีพต่างๆ ถูกทดแทนด้วยแรงงานข้ามชาติและหุ่นจักรกล เด็กเยาวชนไทยส่วนหนึ่งยังคงวนเวียนอยู่กับความสุขที่มิได้ยั่งยืนเฉพาะหน้าอาทิ ยาเสพติด เด็กแว้น
การพนัน ติดเกม การทะเลาะตีกันทั้งสถานที่ราชการ เด็กเยาวชนส่วนหนึ่งเป็นยุวอาชญากรที่ต้องถูกจองจำอยู่ในทัณฑสถานอยู่ทั่วเมืองไทย เด็กเยาวชนไทยที่สร้างชื่อเสียงผลิตชิ้นงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เยาวชนนักธุรกิจที่เกื้อกูลสังคมทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม ช่วยงานในครอบครัว หารายได้เสริมผู้ปกครองด้วยความสุจริต ช่วยดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเอดส์ มะเร็ง พิการ ยังมิมีภาพของเขาเหล่านั้นปรากฏต่อสังคมไทยและสังคมโลกมากนัก

คำถามหนึ่งที่อาจจะมิได้รับคำตอบทั้งจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานองค์กรที่ต้องทำงานรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนไทยทั้งชาติในเวลานี้ก็คือ เขาเหล่านั้นพร้อมจะเป็นพลังของประเทศชาติที่แท้จริงเพื่อจะช่วยผลักดันประเทศไทยให้ไปอยู่ในระดับต้นของอาเซียนอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และรู้รักสามัคคีกันเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ไปสู่ระดับโลกอย่างแท้จริงได้หรือไม่…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image