จับชีพจรหมูไทย พร้อมรับมือ ASF แค่ไหน? : โดย ปฐพี สวัสดิ์สุคนธ์

ตั้งแต่ปี 2561 ไล่มาจนถึงปัจจุบัน โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) มีการระบาดในวงกว้าง ถึง 18 ประเทศ ได้แก่ทวีปยุโรป 10 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และในเอเชีย 4 ประเทศ ไล่มาตั้งแต่จีน มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา ล่าสุดประเทศ สปป.ลาว ก็เป็นประเทศในเอเชียลำดับที่ 5 ซึ่งพบการติดเชื้อเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 นับว่าขยับเข้าใกล้ไทยมากที่สุด หรือห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี เพียง 170 กิโลเมตร

การลุกลามเข้าใกล้ชายแดนไทยมากขึ้นแบบนี้ ทำเอาคนเลี้ยงหมูไทยหัวใจเต้นรัวไม่เป็นจังหวะ เพราะกัมพูชาและลาวถือเป็นกำแพงป้องกันโรค (Buffer Zone) ให้เราได้อย่างดี แต่วันนี้มันทะลุรั้วสนามหน้าบ้านและเริ่มคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวบ้านมากขึ้นทุกขณะ

ที่ผ่านมา ไทยเรามีมาตรการป้องกันโรค ASF ในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเข้มงวด เข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และโชคดีที่สุดที่รัฐบาลไทยได้ยกระดับการป้องกันโรค ASF ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” แล้ว โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 3 ปี (พ.ศ.2562-2564) เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1,820 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอาจไม่เกี่ยวข้องนัก เนื่องจากโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน

โดยกรมปศุสัตว์ได้วางแผนใช้งบกับมาตรการต่างๆ ไว้ถึง 3 ส่วนได้แก่ 1.การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค 2.การทำลายและค่าชดใช้ในการทำลายสุกรและซากสุกร และ 3.สำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน

Advertisement

มาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการ อาทิ การตั้งด่านตรวจเข้มตามเขตชายแดน การตรวจจับนักท่องเที่ยวที่นำอาหารแปรรูปเข้ามาในเขตประเทศไทย หรือการร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้าง Track Station ถึง 5 จุด เพื่อฆ่าเชื้อรถขนสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกคันที่ข้ามเขตแดน ได้แก่ ด่านหนองคาย ด่านเชียงแสน ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม และด่านสระแก้ว ตลอดจน เพิ่มระบบคอมพาร์ตเมนต์เข้ามาใช้ เพื่อให้การป้องกันโรครัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งทุกมาตรการสามารถป้องกันเชื้อดังกล่าวได้จนถึงทุกวันนี้

จากข้อมูลในประเทศที่มีการระบาดของ ASF พบว่าเกิดการระบาดในกลุ่มหมูที่เลี้ยงกันหลังบ้าน หรือในฟาร์มระบบเปิดที่มีการป้องกันโรคที่ไม่ดีนัก และมักไม่พบการระบาดในฟาร์มระบบปิดขนาดใหญ่ ขณะที่จำนวนผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทยที่มีอยู่ 210,978 ราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 208,192 ราย เป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่ 2,758 ราย กลุ่มผู้เลี้ยงรายใหญ่ไม่น่ากังวล ส่วนกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยส่วนใหญ่ของไทยก็เป็นฟาร์มมาตรฐาน ที่มีระบบป้องกันโรคที่ดี แตกต่างจากจีนและเวียดนามที่ส่วนใหญ่เป็นหมูเลี้ยงหลังบ้าน

ขอเพียงทุกคนทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวยังคงร่วมมือป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอ มีวินัยในการปฏิบัติ และซื่อสัตย์จริงใจเมื่อพบโรคต้องรีบแจ้งรัฐเพื่อจำกัดวง หาก ASF เข้ามา ไทยจะสามารถจำกัดความสูญเสียในพื้นที่เฉพาะได้อย่างรวดเร็วและไม่มีความเสียหายมากมายเฉกเช่นที่จีนและเวียดนามต้องประสบ

Advertisement

ถึงจุดนี้ ต้องย้ำว่า นอกเหนือจากประสิทธิภาพการป้องกันโรคและความพร้อมในการจัดเตรียมงบประมาณรองรับแล้ว ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำให้ประเทศไทยรอดพ้นความเสี่ยงจาก ASF และจะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตหมูที่ทุกประเทศต้องการซื้อมากที่สุด

อย่ากลัวที่จะต้องเผชิญกับมัน แต่จงเดินหน้าป้องกันอย่างเต็มกำลังภายใต้มาตรการทุกขั้นตอนที่ประเทศไทยวางไว้แล้วอย่างรัดกุม….

เมื่อนั้นชีพจรหมูไทยก็คงเต้นเป็นจังหวะที่สนุกสนาน ไทยเราจะขายหมูได้อย่างเพลิดเพลินและยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image