กยศ. : ต้นทุนทางจริยธรรม : โดย เฉลิมพล พลมุข

มนุษย์หรือคนเมื่อมีชีวิตได้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมโดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน องค์กรหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน รวมไปถึงความเป็นประเทศชาติ พฤติกรรมหนึ่งที่เรียกว่าจริยธรรม คุณธรรม ประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อกฎหมายของบ้านเมืองที่บุคคลพึงจักต้องปฏิบัติและให้ความร่วมมือก็เพื่อความสุขสงบในภาพรวมของสังคมและประเทศชาติ

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 ได้ประกาศใช้สำหรับนักเรียนนักศึกษาและครอบครัวที่มีความเดือดร้อนทางด้านการเงิน หน่วยงานดังกล่าวมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอยู่ในกำกับการดูแลของกระทรวงการคลัง

เจตนารมณ์ทั้งของรัฐบาลในขณะนั้นและกระบวนการวิธีทางกฎหมายก็เพื่อให้ผู้ที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้กู้ยืมเป็นค่าเล่าเรียน การเรียนสาขาที่เป็นความต้องการหลักและการพัฒนาของประเทศชาติ หรือมีผลการเรียนที่อยู่ในระดับดี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของครอบครัว และถือว่าเป็นต้นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในชาติบ้านเมือง โดยรัฐบาลให้เป็นเงินค่าครองชีพค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งในระดับการเรียนของนักเรียนมัธยมปลาย อาชีวศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย

ข้อมูลหรือข่าวที่เกี่ยวเนื่องกับนักเรียนนักศึกษาหลังจากจบการศึกษาได้มีพฤติกรรม หลบหนีหนี้มิยอมใช้เงินที่กู้ยืมไปคืนให้แก่รัฐจนกระทั่งหน่วยงานของ กยศ. ได้ทำการฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อให้ชำระที่ได้กู้ไป ผู้ปกครองและผู้ค้ำประกันหลายคนได้รับความเดือดร้อนทั้งต้องไปขึ้นศาล ถูกยึดทรัพย์บ้านที่ดินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่สืบได้ว่าผู้ที่ค้ำประกันมีทรัพย์สินดังกล่าวปรากฏอยู่ อาทิ ครูอาจารย์ บิดามารดา ญาติที่ค้ำประกันให้ศิษย์ที่เห็นว่าทางบ้านยากจน พฤติกรรมและนิสัยใจคอขณะที่เรียนอยู่นั้นเป็นที่ไว้วางใจได้ระดับหนึ่ง จึงตัดสินใจค้ำประกันให้ด้วยความปรารถนาดีที่จะเห็นอนาคตของศิษย์ในวันข้างหน้ามีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต

Advertisement

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้ข้อมูลที่ว่า ทุกๆ วันที่ 5 ของเดือนกรกฎาคม ของทุกปีถือว่าเป็นวันครบกำหนดการชำระเงินกู้ยืมคืนให้แก่กองทุน โดยในปีนี้มีผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ประมาณ 3.6 ล้านคน หากผู้กู้ชำระเงินล่าช้าจะต้องเสียเบี้ยค่าปรับในกรณีที่ผิดนัดในอัตราร้อยละ 12-18 ต่อปี สำหรับปีที่ผ่านทางทางกองทุนได้มีการหักเงินเดือนของผู้กู้ผ่านหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ไปบ้างแล้ว และปัจจุบันมีตัวเลขจำนวนของนักเรียนนักศึกษาที่กู้เงินดังกล่าวไปแล้วกว่า 5.6 ล้านราย โดยคิดเป็นเงินกู้ยืมกว่า 6 แสนล้านบาท (มติชนรายวัน 26 มิถุนายน 2562 หน้า 21)

สองทศวรรษที่ผ่านมาสภาพของปัญหาในเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ที่ไม่ยอมชำระ บางคนมีพฤติกรรมหลบหนีคดีทั้งการเปลี่ยนชื่อสกุลที่อยู่ที่ทำงาน บางคนไปทำศัลยกรรมและหลบหนีไปอยู่ในต่างประเทศ คดีความที่หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องติดตามหนี้ทั้งการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม การฟ้องต่อศาลเพื่อที่จะนำทรัพย์สินเงินทองกลับเข้าสู่กองทุน เนื่องด้วยระบบการบริหารจัดการที่จักต้องให้นักเรียนนักศึกษารุ่นน้องๆ ได้มีโอกาสได้ใช้เงินดังกล่าว รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนในเรื่องการศึกษาของชาติ

มาตรการในการติดตามของผู้กู้ให้มีการชำระหนี้ โดยในวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 หรือเมื่อสามปีที่แล้วมามีผู้ชำระหนี้ 16,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างนายจ้างของหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน สถานผู้ประกอบการในการหักเงินเดือนของผู้กู้เพื่อการชำระหนี้ การลดเบี้ยปรับสำหรับผู้ที่สามารถปิดบัญชี สำหรับกรณีที่ผู้ค้ำประกันจะถูกยึดทรัพย์สินนั้นจะพบในกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระหนี้กว่า 20 ปี

Advertisement

ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่เรียนระดับมัธยมปลายสามปีและมหาวิทยาลัยอีกสี่ปี จะมีระยะในการปลอดหนี้อีกสองปีก่อนที่จะถูกฟ้องซึ่งผ่านมาสิบปี

ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ในมาตรา 42 ได้ระบุถึงหน้าที่ของผู้กู้ยืม อาทิ ต้องให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเพื่อให้หักเงินเดือนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ การแจ้งสถานการณ์เป็นผู้กู้ยืมเงินต่อนายจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงานและยอมให้หักเงินเดือนเพื่อชำระคืนกองทุนและยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งยินยอมให้กองทุนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุน

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจึงมีความจำเป็นจักต้องติดตามหนี้การกู้เงินพร้อมทั้งความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันที่ไม่ยอมจ่ายโดยมีหน่วยงานองค์กรที่ให้ความร่วมมือ อาทิ สถานศึกษา ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ปกครอง ผู้รับจ้างที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบเงินเพื่อให้ชำระคืน กรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า สำนักงานประกันสังคม กบข. กรมบัญชีกลาง กสทช. กรมสรรพากร ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ผู้สอบบัญชี สตง./บุคคลภายนอก และสำนักงบประมาณ การประสานงานติดตามระบบเงินกู้ก็ผ่านระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Website, Online, Call Center, และ Web Chat…

รัฐได้มีมาตรการบังคับด้วยกระบวนการกระตุ้นเตือนทางกฎหมายของบ้านเมืองในแต่ละระดับขั้นตอนและชั้น สิ่งสำคัญยิ่งที่สังคมไทยเราได้มีคำถามไปยังผู้กู้ในอดีตที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เขาเหล่านั้นในวันเวลาที่มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินไปเพื่อการศึกษาซึ่งก็ต้องรับรู้ถึงการทำสัญญากู้ยืมเงิน มีผู้ค้ำ มีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปเขาเหล่านั้นจบการศึกษา บางรายออกไปมีอาชีพการงานที่มั่นคง มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับดี ด้วยเหตุใดที่เขากลับไม่ยินยอมใช้เงินที่ได้กู้ยืมจากรัฐไปในวันเวลาที่ผ่านมา

ระบบการเรียนการสอน การปลูกฝังถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม กฎหมายที่อยู่ในการเรียนการสอนแต่ในช่วงระดับ ครูอาจารย์ ครูที่ปรึกษาต่างก็ได้ทำหน้าที่ถึงสำนึกรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตนเองในระดับเบื้องต้นทั้งต่อตนเองและรัฐ หากมิได้ใช้คืนเงินงบประมาณภาษีของประชาชนในระดับแสนล้านก็จะเป็นความสูญเสียในมูลค่าทั้งระบบเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมายและสิ่งสำคัญก็คือสามัญสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำ

สังคมไทยเราปัจจุบันในภาพรวมของชีวิตผู้คนที่ต้องทำงานรายวันเพื่อให้มีรายได้หรือเงินเดือนมาเป็นค่าใช้จ่ายให้เพียงพอสำหรับครอบครัวดูเสมือนว่าจะเป็นถนนที่สวนทางกันระหว่างรายได้ของครอบครัวกับรายจ่ายจำเป็นในระดับพื้นฐาน อาทิ อาหาร ค่าน้ำ ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายของบุตรหลานค่าเล่าเรียนในสถานศึกษาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อให้ชีวิตครอบครัวมีชีวิตรอด การกู้หนี้ยืมสิน การกู้เงินนอกระบบ การนำสิ่งของเครื่องใช้ไปจำนำในโรงจำนำเมื่อลูกหลานเปิดเทอม การที่พ่อแม่ต้องหารายได้อื่นเสริมจากงานประจำ

บางครอบครัวเกิดภาวะตึงเครียดจากระบบเศรษฐกิจก็ไปหาหนทางที่ผิดกฎหมายของบ้านเมือง อาทิ การค้ายาเสพติด เล่นการพนัน การฉ้อโกงเงินทอง ทรัพย์สินสมบัติ

รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้มีรายจ่ายในระบบการตลาดมากขึ้น นอกจากงบประมาณที่ถูกทุ่มไปยังโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศรวมถึงมาตรการช่วยเหลือคนที่รายได้น้อยให้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือที่เรียกว่า “บัตรคนจน” ที่มีตัวเลขมากกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศโดยมีการปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไข อาทิ

ผู้ที่ลงทะเบียนต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี มีเงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาท มีบ้านขนาดไม่เกิน 25 ตร.ม.และคอนโดมิเนียมไม่เกิน 35 ตร.ม. มีที่ดินอยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ และมีที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่…

ข้อเท็จจริงที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการใช้เงินภาษีของประชาชนไปเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมประเทศชาติให้มากที่สุด การรั่วไหลหรือช่องโหว่ของกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติหรือวิธีการกลโกงของผู้ที่มีความคิดมิสุจริตทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีเงินกู้ กยศ.เป็นกรณีหนึ่งในสังคมไทยเท่านั้นที่ดูเสมือนจะเชื่อมโยงกับอีกหลายๆ กรณีที่เป็นความเสียหายของงบประมาณแผ่นดิน การมีนโยบายที่เรียกว่าประชานิยมในโครงการของรัฐบาลแต่ละโครงการ การก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานของแผ่นดินทั้งถนน รถไฟฟ้า ทางด่วน คลองแม่น้ำ การให้อำนาจอาจจะรวมถึงการตรวจสอบในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรียกว่ากระจายอำนาจ การรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่น กลโกง ยังคงมีในการฟ้องร้องดำเนินคดีของศาลทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐรวมไปถึงนักการเมืองบางคนในประเทศบ้านเมืองของเรา

หากเราท่านได้มองไปยังองค์กรหรือหน่วยงานที่คาดว่าจะเป็นต้นแบบหรือแม่แบบมาตรฐานทางจริยธรรมก็หากเป็นตัวบุคคลก็คือครู-พระ-หมอ หากเป็นองค์กรก็จะถูกมองไปยังองค์กรของศาสนาและสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะบทบาทของวัด พระภิกษุ พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี หรือครูอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างของสังคมไทยเราที่ผ่านมาในหลายศตวรรษ การมีชีวิตในสังคมไทยเรามีห้าหรือหกทศวรรษที่ผ่านมา ชีวิตคนไทยเรายังมีการพึ่งพาอาศัยกันด้วยความมีน้ำใจ อาทิ บ้านของใครทำกับข้าวหรือแกงขนมชนิดใดก็จะเผื่อแผ่ไปยังบ้านข้างเคียงหลังอื่นๆ ลูกหลานของใครที่จะมีพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงก็จะช่วยเป็นหูเป็นตาคอยตักเตือนพร่ำสอนเสมือนลูกหลานตนเอง การทำนา หรือต้องการใช้แรงงานจำนวนมากก็มีการตามแรงกันหรือแลกเปลี่ยนเป็นการช่วยด้วยแรงกายและกำลังใจ

มาวันนี้บ้านเมืองไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระบบการศึกษาครั้งอดีตกาลโดยเฉพาะระบบการจัดการศึกษาโดยวัด มีพระภิกษุพระสงฆ์เป็นผู้ให้การศึกษาค่าใช้จ่ายของลูกหลานที่เข้าไปเรียนในโรงเรียนวัดในสมัยก่อนมิได้มีค่าใช้จ่ายในจำนวนที่มากมายเสมือนปัจจุบัน นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีมาวันนี้ที่อยู่ในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตก็เคยเรียนจากโรงเรียนวัด เคยเป็นศิษย์วัดในการศึกษาเล่าเรียนระดับปริญญา ชีวิตที่สมถะเรียบง่ายพร้อมทั้งหลักการปฏิบัติในชีวิตประจำวันและหลักการของกฎหมายของบ้านเมืองจึงมีโอกาสได้ทำงานเพื่อประเทศชาติในระดับสูงอีกครั้งหนึ่ง

จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรมหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของสังคมทั้งความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ไม่เอารัดเอาเปรียบ ความอดทนรอคอย การนึกถึงใจเขาใจเราความเสียหายที่จะเกิดแก่ตนครอบครัว ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลตนทั้งปัจจุบันและอนาคต ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่หรือบุตรหลานยุคใหม่ที่ชีวิตเขาถูกเลี้ยงดูมาด้วยความสะดวกของชีวิตรอบด้าน บางคนมีชีวิตอยู่กับสื่อเทคโนโลยีโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือแทบทุกช่วงเวลา เขาเหล่านั้นได้พบเห็นถึงความทุกข์ยากของพ่อแม่ อดทนเพื่อให้ชีวิตลูกหลานได้มีความสุขสบาย วาทกรรมหนึ่งที่เราท่านมักจะได้ยินได้ฟังอย่างสม่ำเสมอก็คือ “พ่อแม่รังแกฉัน” ผู้กู้เงิน กยศ.หลายคนยังมีความคิดที่ว่า เป็นเงินของรัฐบาลที่ให้ฟรีๆ…

จิตสำนึกหรือสามัญสำนึกจากกรณีเงินกู้ยืม กยศ.ย่อมส่งผลไปยังพฤติกรรมและการกระทำอื่นๆ ต่อสังคมทั้งตนเอง ครอบครัว องค์กรหน่วยงานประเทศชาติ โดยเฉพาะคดีความทางกฎหมายบ้านเมือง มิอาจจักรวมถึงบุญ-บาป เวร-กรรมที่ได้ก่อกระทำไว้จักส่งผลในวันหน้าหรือชาติหน้าอย่างมิต้องสงสัย

หากคนนั้นสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สังคมและนรกสวรรค์พระเจ้าพร้อมจะให้อภัยต่อการกระทำนั้นก่อนวันหมดลมหายใจแล…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image