ร.ร.ดังรับเด็กสอบ100% คำถามถึง‘ร.ร.สาธิต’…เพื่อใคร : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

กรณีถกเถียงระหว่างฝ่ายเห็นด้วยกับฝ่ายคัดค้าน การทบทวนแนวปฏิบัติในการรับสมัครนักเรียน ม.1 ม.4 โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงหรือเรียกชื่อใหม่ว่าโรงเรียนลักษณะพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังไม่มีบทสรุป จนกว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการ ก่อนปีการศึกษา 2563

สืบเนื่องมาจากแนวคิดเดิมที่ให้โรงเรียนกำหนดเขตพื้นที่บริการเป็นในเขต 60% นอกเขต 40% เปลี่ยนเป็นเขตบริการทั่วประเทศ อยู่ที่ไหนก็ได้มาสมัครเรียนโดยการสอบคัดเลือก 100% เลิกสิทธิพิเศษ อยู่ใกล้โรงเรียนเข้าได้เลยไม่ต้องสอบ ถ้าอยู่ไกลต้องสอบหรือจับสลาก

แนวทางการกำหนดเขตพื้นที่บริการ ทำให้มีประเด็นชวนคิด เชิงคำถามเลยไปถึงโรงเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ โรงเรียนสาธิต สังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับ

ในเมื่อเชื่อว่าแนวทางเด็กเรียนใกล้บ้านเพื่อให้เด็กไม่เก่งเรียนร่วมกับเด็กเก่ง ได้ประสบการณ์ใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย เป็นหลักการที่ดี

Advertisement

ทำไมโรงเรียนสาธิตไม่ใช้แนวทางปฏิบัติเดียวกันนี้ ด้วยเหตุผลทางการศึกษาเหมือนกัน คือ เปิดโอกาสให้เด็กยากจน เรียนไม่เก่ง ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้โรงเรียนดีมีคุณภาพ ได้สิทธิเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบแข่งขันเพราะเป็นเด็กในเขต แต่ยังใช้วิธีการสอบ 100%

คำตอบคือ โรงเรียนสาธิตเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และทดลองวิจัยของนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยต้นสังกัดของโรงเรียนสาธิตนั้นๆ อีกทั้งมีความเป็นอิสระไม่ได้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ต้องใช้แนวทางรับนักเรียนเช่นเดียวกับโรงเรียนสังกัด สพฐ.

ความเป็นจริงการรับนักเรียนโดยการสอบคัดเลือก โรงเรียนสาธิตเคยเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 1 เสียด้วยซ้ำ ต่อเมื่อเกิดการเรียกร้องว่าเด็กเล็กขนาดนี้ไม่ควรใช้วิธีสอบแข่งขัน ปรากฏว่ามีเสียงคัดค้านการยกเลิกการสอบเพราะเกรงว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาลดต่ำลง

Advertisement

แต่ขณะเดียวกันก็มีกรณียกเว้น โควต้าพิเศษสำหรับบุตรครู อาจารย์มหาวิทยาลัยต้นสังกัด พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียน

เมื่อใช้การสอบคัดเลือก 100% ถามว่า เด็กไม่เก่ง ขาดแคลน บ้านอยู่ใกล้โรงเรียนมีโอกาสเข้าโรงเรียนสาธิตสักกี่คน ในที่สุดโรงเรียนสาธิตก็เป็นโรงเรียนสำหรับลูกคนรวย มีช่องทาง มีอภิสิทธิ์พิเศษ ใช่หรือไม่

หลักการ เด็กเก่งกับไม่เก่ง ลูกคนรวย คนจน ได้เรียนและใช้ชีวิตร่วมกันเป็นโจทย์ยาก แต่เป็นโจทย์ที่ดีสำหรับการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาที่จะเป็นครูต่อไปในอนาคต ดีกว่าการฝึกแต่เฉพาะเด็กเก่งกลุ่มเดียวซึ่งโจทย์ง่ายเกินไป

การรับนักเรียนโดยสอบแข่งขัน 100% สะท้อนว่า ร.ร.สาธิต ทั้งหลายเป็นสัญลักษณ์ของการกีดกันเด็กไม่เก่ง ยากจน ใช่หรือไม่

ภายใต้หลักการทางการศึกษาที่ควรจะเป็น คือจัดการศึกษาท่ามกลางความหลากหลาย เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขาดโอกาสของเด็กซึ่งมีจำนวนมากกว่า โรงเรียนสาธิตทั้งหลายนั่นแหละ น่าเป็นโรงเรียนกลุ่มแรกเลยที่ต้องใช้แนวปฏิบัติรับนักเรียนแบบเด็กในเขต นอกเขตอย่างแข็งขัน เพื่อพิสูจน์ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพจริง ไม่ว่าเด็กมาจากแหล่งไหนก็ตาม คละเคล้ากันไป

หลักการอีกข้อหนึ่งที่ควรปรับ หากโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่มีลักษณะพิเศษเปลี่ยนมาใช้การสอบคัดเลือก 100% คือ ต้องไม่ตัดสิทธิเด็กที่ไปสอบเข้าโรงเรียนดังแล้วสอบไม่ได้ โดยให้กลับมาใช้สิทธิเข้าเรียนในโรงเรียนที่ตัวเองเป็นเด็กในเขตได้

วิธีคิดที่โรงเรียนตัดสิทธิเด็กนอกเขตซึ่งสอบเข้าไม่ได้เพราะมองว่าเด็กที่ไปสอบเอาเปรียบเด็กที่ไม่ไปสอบ หากยังคงสิทธิไว้จะเป็นการกีดกันเด็กในเขตคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ไปสอบ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด

แทนที่จะมองว่าเป็นการให้โอกาสเด็กในการแสวงหาความก้าวหน้า มีความมานะพยายาม ควรสนับสนุน กลับถูกลงโทษ ตัดสิทธิของความเด็กในเขตไป

ในความเป็นจริงหากโรงเรียนใกล้บ้านเป็นโรงเรียนดี มีคุณภาพเป็นส่วนใหญ่ เด็กในเขตคงไม่อยากไปสอบเข้าโรงเรียนอื่นในโควต้าเด็กนอกเขต เนื่องจากมีความเสี่ยง
การถูกตัดสิทธิเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน ทำให้เด็กไม่กล้าที่จะไปสอบแข่งขัน เพราะกลัวว่าถ้าสอบเข้าไม่ได้ กลับมาแล้วไม่มีที่เรียน
แนวทางการตัดสิทธิจึงเป็นการปิดกั้นช่องทางความก้าวหน้าของเด็ก ขณะเดียวกันโรงเรียนบางแห่งต้องการดึงเด็กไว้

ฉะนั้น แทนที่จะตัดสิทธิ ตรงกันข้ามกลับควรส่งเสริมให้เด็กมีความกระตือรือร้น พัฒนาตัวเองยิ่งขึ้น การไม่เสียสิทธิทำให้เด็กมีความมั่นใจ มุ่งมั่น สอบแข่งขันด้วยความสบายใจ ไม่วิตกหวั่นไหว ถ้าตั้งใจเต็มที่แล้วสอบสู้คนอื่นไม่ได้ก็ยังมีหลักประกัน มีที่เรียนแน่นอน แม้เป็นโรงเรียนคุณภาพด้อยกว่าก็ตาม ต้องยอมรับขีดความสามารถของตัวเอง กลับมาเรียนในโรงเรียนที่ตัวเองมีสิทธิแล้วพยายามต่อไป

แนวปฏิบัติการรับนักเรียนปี 2563 จะได้ข้อยุติเมื่อไหร่ ทุกฝ่ายกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของ สพฐ.และรัฐมนตรีศึกษาฯคนใหม่ จะตัดสินใจเชิงนโยบายออกมาอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image