ภาพเก่า…เล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน…ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา (5)

ผู้เขียนได้รับความกรุณาจากท่านผู้อ่านแบบ “ตื้นตันใจ” มีผู้สอบถาม พูดคุย แสดงความรู้สึก อย่างท่วมท้น…ขอยืนยันว่า เป็นเจตนาบริสุทธิ์ที่จะให้มีการศึกษา เรียนรู้ สรรพสิ่งเหตุการณ์ในบ้านเกิดเมืองนอนของเราเท่านั้นนะครับ….มิได้มุ่งฟื้นฝอยหาตะเข็บ

วันที่ 29-30 มิถุนายน 2494 ในพระนครและธนบุรี กลายเป็นสมรภูมิเดือด เกิดสงครามกลางเมือง ทหารบก ทหารอากาศและตำรวจ สนธิกำลังกัน ทำสงครามกับ ทหารเรือ ที่เรียกกันว่า กบฏแมนฮัตตัน

…การรบในเมือง ใช้ยานเกราะของทหารบกและ ตชด. ที่ขนมาโจมตีป้อมค่ายของทหารเรือ การสู้รบเป็นไปด้วยความดุเดือด มีรถเกราะ รถถังก็มีการใช้อาวุธต่อสู้รถเกราะ อาวุธต่อสู้รถถัง

โรงพักต่างๆ ในเขตทหารเรือ เป็นที่รู้กันว่าตำรวจผละออกจากโรงพักไปหมด เพราะทหารเรือเข้าควบคุมเนื่องด้วยตำรวจทั้งปวงคือข้าศึกของทหารเรือ โดยเฉพาะโรงพักพระโขนง โรงพักลุมพินี

Advertisement

กองสัญญาณทหารเรือ ถนนพระราม 4 (เคยเป็นที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหาร) ทหารบกเอาปืนครกยิงถล่ม เพราะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง เป็นกระบอกเสียงให้ฝ่ายกบฏ ตำรวจโรงพักลุมพินี อยู่ใกล้ๆ ไม่อยากโดนระเบิด อยู่ไม่ไหวต้องหนีออกนอกโรงพัก

กำลังของทหารบกและตำรวจ ไม่กล้าเสี่ยงบุกข้ามเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรี เพราะเป็นเขต ป้อมค่ายอันเข้มแข็งของทหารเรือ จึงใช้การยิงระยะไกล ยิงโค้งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปตกที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ชาวบ้านฝั่งธนหนีตายอลหม่าน…

รถเกราะของตำรวจตระเวนชายแดนทำงานโดดเด่น กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนในสมัย พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ เข้มแข็งดุดัน ฝึกทำการรบมาดีเยี่ยมจากครูฝึกอเมริกัน ที่ส่งมาฝึก ตชด. ไว้ไปปราบคอมมิวนิสต์ชายแดน แต่ตอนนี้มารบกับทหารเรือก่อน…

Advertisement

ข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ ทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน เขียนโดย นิยม สุขรองแพ่ง อดีตจ่าทหารเรือในเหตุการณ์บรรยายว่า …

“…เหตุที่ชาวฝั่งธนฯผูกพันสนิทชิดเชื้อกับทหารเรือมากเป็นพิเศษน่าจะเป็นด้วยเหตุหลายประการ คือ กองทัพเรือตั้งอยู่ในจังหวัดธนบุรี ทหารเรือส่วนมากมีครอบครัวและตั้งรกรากอยู่ทางฝั่งธนฯ แม้ทหารเรือจะได้ชื่อว่าชอบกินเหล้าเมายา ประพฤติเสเพล ทะเลาะวิวาทในบางโอกาส แต่ก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนเสียหายให้ชาวบ้าน…

…ผู้ที่เกลียดทหารเรือมากเห็นจะได้แก่พวกอันธพาลเจ้าถิ่น และตำรวจของ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ …เมื่อทหารเรือทำการครั้งนี้ (ก่อการกบฏ จับตัวจอมพล ป. : ผู้เขียน) ขึ้น ประชาชนจึงเอาใจช่วยทหารเรือ …

บรรยากาศในช่วง 29-30 มิถุนายน พ.ศ.2494…ประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะทางฝั่งธนฯ เป็นกองเชียร์ให้ทหารเรือแบบเต็มพิกัด

เมื่อเห็นเครื่องบินของกองทัพอากาศระดมยิง ทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงศรีอยุธยา ไฟลุกไหม้และกำลังจะจมลงนั้น…กองเชียร์ชาวฝั่งธนฯ ต่างผิดหวังที่ทหารเรือแตกพ่าย ล้มเหลวที่จะขจัดรัฐบาลที่มีอำนาจครอบจักรวาล ที่ไม่มีใครขัดขวางได้นอกจาก นอกจากทหารเรือ…”

ในกบฏแมนฮัตตัน ชาวบ้านฝั่งธนฯ พร้อมใจกันส่งข้าวปลาอาหารให้หน่วยทหารเรือที่เป็นฮีโร่ของบ้านเมือง …สาเหตุและปัจจัยที่เกิดการกบฏแมนฮัตตัน ลองกลับไปอ่านตอนที่ 1 ถึง 4 นะครับ

การสู้รบบนบกของทหารไทยยังคงดำเนินต่อไป

ทหารเรือที่เข้ายึดสถานที่สำคัญโดนฝ่ายทหารบก และตำรวจ ระดมยิง บาดเจ็บล้มตาย ประชาชนโดนลูกหลงตายไปจำนวนหนึ่ง

วันที่ 30 มิถุนายน 2494 ช่วงบ่าย ลูกประดู่ผู้ภักดีต่ออุดมการณ์ รักพวกพ้อง เมื่อโดน “จัดหนักเต็มพิกัด” ก็กระเจิดกระเจิง ถอดเครื่องแบบ หลบหนีเป็นรายบุคคล ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นฝ่ายปราบกบฏ ประกาศทางวิทยุให้ทหารเรือวางอาวุธ แล้วให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งก็ไม่มีตำรวจที่ไหนอยู่โรงพัก…

กลับมาส่องดู นาวาตรี มนัส ที่ในขณะนั้นมีคำสั่งปลดออกจากราชการและถอดยศไปแล้ว …

นาวาตรี มนัส จารุภา นายทหารเรือหนุ่มผู้จี้จับจอมพล ป. แล้วหนีเข้าไปฝั่งพม่าเกือบ 1 ปี บวชเป็นเณรปะปนมากับพระชาวมอญ บัดนี้เขาลักลอบเข้ามากบดานที่วัดในฝั่งธนฯ

พระธรรมเตชะ ชาวมอญ ถือจดหมายไปหาน้องชาย นาวาตรี มนัส เพื่อให้มาพบกับพี่ชาย ที่เป็นกบฏหมายเลข 1 ของแผ่นดิน

น้องชายของนาวาตรี มนัส มาที่วัดเพื่อพบกับพี่ชาย วางแผนหาที่หลบซ่อนแบบต้องเอาชีวิตเข้าแลก พาพี่ชายตระเวนเร่ร่อนไปซ่อนตัวจากตำรวจ ทหารที่ไล่ล่าฝ่ายกบฏ

บุคคลสำคัญที่น่าจะเป็นที่พึ่งได้ คือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่าหนีไปอยู่ในป่าลึก อำพรางตัวเป็นคนจีนทำไร่ในอำเภอปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์

ติดต่อไปยังทีมงานร่วมก่อการกบฏคนใดก็ได้รับการปฏิเสธ และเริ่ม “เสียลับ” หมายถึง คนที่ติดต่อด้วยในทางลับ เริ่มคิดจะทรยศหักหลังและทางการเริ่มได้กลิ่นนาวาตรี มนัส ที่ปลายจมูก

เมื่อเห็นว่ากรุงเทพฯ และฝั่งธนฯ ร้อนรุ่ม ไม่ปลอดภัยจากการติดตามของสันติบาลและจากฝ่ายเดียวกันที่จะเอาตัวรอด ลูกประดู่ใจเด็ด ชื่อ มนัส วางแผนหลบหนีข้ามไปฝั่งลาว

ท่านผู้อ่าน ทวงถามมาว่า… การทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของกองทัพอากาศถล่มเรือหลวงศรีอยุธยาในแม่น้ำเจ้าพระยา มีรายละเอียดให้ทราบบ้างมั้ย ?

ผู้เขียนตระเวนค้นหาข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และหนังสือเก่าตามร้านหนังสือเก่า จนสุดกำลัง พอจะมีบันทึกไว้ดังนี้ครับ…

ภายหลังเหตุการณ์ทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงศรีอยุธยา ที่กักขังตัวจอมพล ป. นาวาอากาศตรี พร่างเพชร บุญยพันธ์ นักบิน AT-6 ได้ออกมากล่าวว่า…

“…ผมเสียใจไม่หายเลยที่ทำลายเรือหลวงศรีอยุธยา ครั้งนั้น มันเป็นคราวเคราะห์ร้ายของเรือหลวงศรีอยุธยาแท้ๆ …ตามปกติแล้ว ลูกระเบิดขนาด 50 กก.ที่ใช้ จะไม่จมเรือรบขนาดสองพันกว่าตันลงได้แน่ๆ… แต่ระเบิดที่เอาไปใช้มันเสื่อม…

… ถ้าเป็นระเบิดใหม่กระทบดาดฟ้าก็ระเบิด ถึงไฟไหม้ก็ไหม้เพียงบนดาดฟ้าพอดับได้ไม่ถึงกับจม แต่นี่มันเป็นระเบิดเก่า ทะลวงดาดฟ้าลงไประเบิดข้างล่าง แถมเจอกองกระสุนในเรือเข้าอีก เลยระเบิดกันใหญ่ทำให้เรือทะลุจมลงอย่างน่าเศร้า…”

ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลที่หามาได้เกี่ยวกับการทิ้งระเบิดใส่เรือรบราชนาวีไทยในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อราวบ่าย 3 โมงของวันที่ 30 มิถุนายน 2494 ในขณะที่เกิดเหตุการณ์จับตัวจอมพล ป. ไว้ในเรือ

มีบันทึกของ นิยม สุขรองแพ่ง อดีตจ่าทหารเรือ ในหนังสือ…

“…เครื่องบินทหารอากาศไม่น่าทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงศรีอยุธยาเลย เพราะว่า

1.จอมพล ป. ยังอยู่ในเรือหลวงศรีอยุธยา ในฐานะตัวประกัน

2.แกนนำกบฏทั้ง 6 นายออกจากเรือหลวงศรีอยุธยาไปแล้ว

3.เรือหลวงศรีอยุธยาเป็นเรือรบใหญ่ที่สุด ที่มีอานุภาพมากที่สุดในกองทัพไทย…

เมื่อพิจารณาดูแล้ว มองไม่เห็นเลยว่า รัฐบาลเอาเหตุผลอะไรมาเป็นข้ออ้างในการทำลายเรือหลวงศรีอยุธยา…”

เหตุการณ์วันนั้น มิใช่ว่าเครื่องบินจะทิ้งระเบิดใส่อย่างเดียว ทหารบก และตำรวจบนฝั่งต่าง “รุมกินโต๊ะ” ระดมยิงไปที่เรือหลวงศรีอยุธยาที่ลอยเท้งเต้งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เสียงปืนและอาวุธทุกชนิดดังสนั่นปานฟ้าผ่า มีเป้านิ่งคือเรือหลวงศรีอยุธยาที่เครื่องยนต์ชำรุดไปไหนไม่ได้

จอมพล ป. เองก็ระแวงอยู่แล้วว่า นี่มันจะปฏิวัติซ้อนล่ะหรือ ?

เรือหลวงศรีอยุธยาไฟไหม้ควันสีดำลุกท่วมพุ่งสู่ท้องฟ้า กระสุนจากทหารบกยิงมาไม่ขาดสาย ประชาชนฝั่งธนฯ แถววัดกัลยาณ์ฯ วัดท้ายตลาด และวัดหงส์รัตนาราม หลบๆ ซ่อนๆ ก้มตัวลงต่ำ ส่งเสียงเชียร์ทหารเรือไทยให้พ้นภัย มีชัยเหนือข้าศึก ในใจก็ยอมรับว่าทหารเรือสู้ไม่ไหว

นาวาตรี มนัส ทำพิธีสึกจากเณรเป็นฆราวาสตามกฎของสงฆ์…เตรียมหนีตายข้ามโขงไปฝั่งลาว..ปลายทางคือ นครเวียงจันทน์ที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้า…

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ….

เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
————————————————
ข้อมูลจาก ทหารเรือ กบฏแมนฮัตตัน โดย นิยม สุขรองแพ่ง และ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล โดย นาวาตรี มนัส จารุภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image