บทนำ : กรณี‘จ่านิว’

เหตุการณ์รุมทำร้าย “จ่านิว” หรือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อายุ 27 ปี นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ปากซอยพระยาสุเรนทร์ 2 เขตคลองสามวา กทม. ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีอาการกระทบกระเทือนทางสมอง เนื่องจากคนร้าย 4 คนลงมือด้วยความรุนแรง และไม่ยอมยุติง่ายๆ ไล่ตามใช้กระบองแบบยืดได้ตามกระหน่ำตี จนล้มลงก็ยังรุมตีซ้ำ ท่ามกลางสายตาประชาชนที่ผ่านไปมา นับเป็นเหตุการณ์ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐไทยครั้งสำคัญ

ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุการณ์ทำร้ายนักกิจกรรมที่แสดงออกในเชิงคัดค้านการปกครองของรัฐบาลทหารถึง 11 ครั้ง เฉพาะตัว “จ่านิว” เองครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง แต่จากทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา การทำร้ายจ่านิวเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ถือว่าเป็นการลงมือหนักที่สุด และหวังผลเป็นพิเศษมากกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา การรุมกระหน่ำตีอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กำลังคน 4 คนชี้ว่าต้องการให้เกิดอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่สุด โดยผู้ถูกกระทำไม่มีทางต่อสู้ได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการมุ่งหมายให้ถึงกับชีวิต

บริเวณเกิดเหตุ มีโทรทัศน์วงจรปิดมากกว่า 10 ตัว ปัญหาคือ กล้องเหล่านี้จะบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในคดีสำคัญ จะเป็นที่ทราบกันว่า ทีวีวงจรปิดจะต้องมีอันขัดข้อง เพื่อไม่ให้มีพยานหลักฐานไปเล่นงานผู้กระทำผิดได้ ซึ่งสุดท้าย คดีนั้นจะเงียบหายไป ทิ้งนัยยะให้ไปเข้าใจกันเอง จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า คดีนี้จะลงเอยแบบเดียวกับ 11 คดีก่อนหน้านั้นหรือไม่ และครั้งนี้สังคมจะยอมรับได้หรือไม่ กับการละเมิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการเอาคนผิดมาดำเนินคดีได้

หลังรัฐประหาร 2557 รัฐบาล คสช.บริหารประเทศมา 5 ปี ก่อนจะจัดเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา และกำลังจะเกิดรัฐบาลด้วยผลของการเลือกตั้งกลางเดือน ก.ค.นี้ เป็นการกลับคืนสู่สภาพปกติ ที่ประชาชนจะต้องใช้สิทธิเสรีภาพได้ตามสมควร และต้องใช้สิทธิเสรีภาพได้ด้วยความปลอดภัย โดยรัฐมีหน้าที่ดูแลให้เกิดความปลอดภัย หากมีผู้มาละเมิด รัฐต้องใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด มิเช่นนั้น อาชญากรรมที่เกิดขึ้น จะถูกเชื่อมโยงกับรัฐ และหากจับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้อีก ก็จะยิ่งปฏิเสธได้ยาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image