NODE…ช่างเชื่อมนวัตกรรมทางสังคม : โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน และ นวพร สุนันท์ลิกานนท์

การทำงานตามระเบียบแบบแผนของรัฐไทยรวมศูนย์ผูกขาดตั้งอยู่บนฐานคิดแบบอำนาจสั่งการจากบนลงล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารงานราชการ ระเบียบ แบบแผน ติดกรอบ และเน้นรายงานผลตามกรอบงบประมาณประจำปี ในขณะที่การดำเนินงานพัฒนาระดับพื้นที่ที่สร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาทางสังคม ปัญหาปากท้อง และส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในแนวราบ (horizontal cooperation) เพื่อพัฒนาท้องถิ่นเองนั้นไม่สามารถส่งต่อแนวคิดการพัฒนาของพื้นที่ให้ถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับนโยบายได้ การขับเคลื่อนงานพัฒนาจึงต้องอาศัย “ข้อต่อ” เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมประสานการขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกันทั้งองค์กรหน่วยราบและองค์กรหน่วยเหนือ “ข้อต่อ” ที่แข็งแรงเท่านั้น จึงสามารถเชื่อมประสานระหว่างองค์กรที่มีนโยบายและงบประมาณพร้อมสั่งการเข้ากับองค์กรที่สร้างนวัตกรรมในระดับพื้นที่ได้

คนทำงานเชิงพื้นที่ ไม่ว่าในงานพัฒนาด้านใดด้านหนึ่ง มักใช้คำเรียก “node” หรือที่ออกเสียงภาษาไทยว่า “โนด” แทนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างคนกลุ่มหนึ่งกับคนกลุ่มอื่นๆ เฉกเช่นกับการวิวัฒน์อื่นๆ ที่มาของการเลือกใช้คำนี้ในวงการงานพัฒนาของประเทศไทยอาจสืบเนื่องจากการรับศาสตร์และวิธีการจากประเทศโลกตะวันตก อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าแท้ที่จริงความหมายของ node ที่ใช้กันในวงการพัฒนาของประเทศเรา ได้รับอิทธิพลจากงานพัฒนาของต่างชาติหรือเกิดขึ้นจากการปรับใช้ของคนไทยเราเอง เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย

node ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษของ oxford ฉบับชีวิตประจำวัน มีความหมายทางเทคนิคว่า จุดใดจุดหนึ่งของโครงข่ายที่มีเส้น สาย หรือแขนงสาขามาบรรจบกัน ซึ่งเมื่อคลี่ความหมายและปรับใช้กับบริบทงานพัฒนาตามคู่มือจิตวิทยาทางสังคมและวัฒนธรรมของ Cambridge แล้ว node จะหมายถึงหน่วยหรือศูนย์กลางที่ทำหน้าที่สื่อสาร เชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานหนึ่งๆ เข้าด้วยกัน เป็นจุดเชื่อมต่อและสานความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่ใหญ่ขึ้น โดย node อาจเกิดจากการรวมกลุ่มทำงานกลุ่มเล็กไว้ด้วยกันก็ได้

Advertisement

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เริ่มใช้คำศัพท์นี้ครั้งแรกในการทำงานร่วมกับพื้นที่ที่พัฒนางานด้านเด็กและเยาวชน นับแต่ปี พ.ศ.2557 โดยใช้คำวิชาการว่า “ผู้ประสานงานเครือข่ายภูมิภาค” ซึ่งจากการวิจัยครั้งนั้นได้ข้อสรุปถึงรูปแบบและบทบาทของ node ฐานะกลไกสำคัญในการติดตามและให้คำปรึกษา พี่เลี้ยง ตลอดจนกลุ่มแกนนำเด็กและเยาวชนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จากผลการศึกษาโครงการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน พบว่ารูปแบบของ node ที่ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน มี 3 รูปแบบ คือ node จากสถาบันอุดมศึกษา node ใน อปท. และ node ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาก่อน ด้วยต้นทุนที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าประสงค์ในการทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนเหมือนกัน ทำให้เกิดบทเรียนในการทำงานแบบ “ช่างเชื่อม” กล่าวคือ เชื่อมประสานการทำงานระหว่างกลุ่มคนและทักทอเครือข่ายคนทำงาน เชื่อมโยงความรู้สู่การพัฒนาแนวทางปฏิบัติ และเชื่อมการส่งต่อสองทาง (two-way delivery) ระหว่างข้อค้นพบในพื้นที่ปฏิบัติการกับนโยบาย
องค์ประกอบสำคัญของ node ซึ่งเปรียบเป็นปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานหนึ่งๆ ประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ซึ่งสามารถอธิบายได้ ดังนี้

1) องค์ประกอบด้านความรู้ที่พึงมี อาจเป็นความรู้เชิงประเด็นเกี่ยวกับงานที่ทำ หรือความรู้เกี่ยวกับงาน ความรู้เชิงโครงข่ายเพื่อเชื่อมโยงการทำงานขององค์กรที่ขับเคลื่อนงานในประเด็นเดียวกัน หรือความรู้เกี่ยวกับคน และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งทุนสนับสนุน เมื่อรู้องค์กร/หน่วยงาน/กลุ่มคนทำงานที่มีเป้าหมาย ก็สามารถระดมความคิดเรื่องแหล่งทุนสนับสนุนหรือร่วมบูรณาการงบประมาณสนับสนุน หรือความรู้เกี่ยวกับงบนั่นเอง

Advertisement

2) องค์ประกอบด้านทักษะที่พึงมี node จำเป็นต้องมีทักษะในการสร้างเครือข่ายกลุ่มทำงานที่ขับเคลื่อนในประเด็นเดียวกัน มีความสามารถในการทำงานกับกลุ่มคนจากสหสาขาวิชา มีทักษะในการจัดการความรู้เมื่อต้องใช้กระบวนการระดมสมอง มีความสามารถในการสื่อสารระหว่างกลุ่มนวัตกรในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ระดับนโยบาย ตลอดจนมีความสามารถในการจัดการความขัดแย้งเนื่องจากต้องประสานการทำงานระหว่างกลุ่มคนทำงานจากสหสาขาวิชา

3) องค์ประกอบด้านคุณลักษณะที่พึงมี คุณลักษณะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่บ่งชี้ความสำเร็จในการเป็น node ที่เชื่อมประสานการทำงานระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลาย node ควรเป็นผู้ใฝ่รู้ รักการเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้มีมุมมองที่กว้างขวาง ต้องเป็นผู้ที่เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งจะทำให้สามารถรวบรวมข้อคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย วิเคราะห์และหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และต้องเป็นผู้มีแรงบันดาลใจและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์เพื่อให้สามารถดำเนินงานสู่จุดหมายปลายทางได้

เมื่อพิจารณาถึงรูปแบบของ node ตามที่กล่าวถึงข้างต้นกับองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านแล้ว สิ่งที่น่าคิดต่อคือ ความเป็นไปได้ที่ node ทุกรูปแบบ กล่าวคือ node จากสถาบันอุดมศึกษา node ใน อปท. และ node ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาก่อน จะมีองค์ประกอบสำคัญเบ็ดเสร็จเท่ากันนั้นถือเป็นเรื่องท้าทาย เพราะศักยภาพของมนุษย์แต่ละคน แม้ว่าจะมีประสบการณ์อยู่บนฐานงานเดียวกัน ก็มีความพร้อมในแต่ละองค์ประกอบแตกต่างกัน ดังนั้น node อาจเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มคนวิชาการจากสถาบันการศึกษา กลุ่มคนรู้งานเชิงประเด็นในพื้นที่หรือภาคประชาสังคม และกลุ่มเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เข้าใจระบบโครงสร้างและเข้าถึงแหล่งงบประมาณ สร้างเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีศักยภาพในการสานเครือข่ายกับทุกภาคส่วน สามารถพูดคุยต่อรองอย่างตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ และหาจุดตรงกลางของข้อสรุปร่วมกันได้ ซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญของการเชื่อมนวัตกรรมของพื้นที่สู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และอีกทางหนึ่งเป็นการส่งต่อนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแนบเนียน

ตัวอย่าง node ภาคประชาสังคม เช่น นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย จังหวัดเชียงใหม่ ที่สานเครือข่ายทำงานร่วมกับนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนุนเสริมพลังให้นักศึกษาวิเคราะห์สังคม ทำโครงการศึกษาประเด็นปัญหาในชุมชน ออกแบบและดำเนินโครงการเพื่อตอบโจทย์ของสังคม ชวนนักศึกษาคิดนอกกรอบ ค้นหานวัตกรรม และทดลองใช้ในพื้นที่เล็กๆ สรุปและถอดบทเรียนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรม ตลอดจนคิดต่อยอดการศึกษาต่อไป

นายศุภชัย ไตรไทยธีระ นักวิชาการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่ง node ที่มีความรู้และทักษะในการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้พัฒนาเครือข่ายจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกลุ่มแกนนำเยาวชนสื่อใสวัยทีน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่สนใจทำงานเพื่อสังคม ชวนขึ้นโครงการกิจกรรม พัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกม หุ่นนิทานมือเล่าเรื่องสะท้อนสภาพสังคม กอปรกับประสานเครือข่ายวิชาการกับอาจารย์ ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชน วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง จังหวัดศรีสะเกษ ที่พาเด็กและเยาวชนลงสืบค้นการละเล่นท้องถิ่นที่เลือนหายและใช้การละเล่นท้องถิ่นเป็นเครื่องมือฟื้นความสัมพันธ์ของคนในชุมชนกลับมา

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ node วิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แวอาซีซะห์ ดาหะยี และอาจารย์อมรเทพ มณีเนียม อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่บูรณาการออกแบบกิจกรรมให้นักศึกษาลงพื้นที่ชุมชนจัดทำสื่อวีดิทัศน์เรื่องราวของชุมชน 25 เรื่องที่สะท้อนวิถีชีวิต อาชีพ ศิลปวัฒนธรรม ต้นทุนทางธรรมชาติที่ตอบโต้ภาพลักษณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อกระแสหลักเรื่องความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดยะลาให้สาธารณชนได้รับรู้

จะเห็นได้ว่า node มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมประสานกลุ่มคนทำงาน กล่าวคือ คนที่เป็นนวัตกรในพื้นที่ ศึกษาและเข้าใจประเด็นปัญหาของชุมชน เกื้อหนุนให้เกิดโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการวิจัยหรือกิจกรรม พาคิดนอกกรอบไม่ติดหล่มความคิดการทำงานแบบระบบราชการ กระตุ้นให้เกิดการทดลองใช้นวัตกรรมในพื้นที่เล็กๆ โดยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน เพิ่มกำลังเสริมโดยการถักทอเครือข่าย สร้างการเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งผลักดันเชิงนโยบายบนฐานงานวิชาการ

“ฉะนั้น node จึงเป็นช่างเชื่อม หรือข้อต่อสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมที่สร้างความสมดุลระหว่างการทำงานแบบบนลงล่างและล่างสู่บน”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
นวพร สุนันท์ลิกานนท์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image