เดินหน้าชน : ผวาตึกสูง‘กทม.’ โดย สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เครนไซต์งานก่อสร้างต่อเติมโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กทม. เกิดหักและหล่นใส่สนามบาสเกตบอล โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ที่อยู่ติดกัน ทำให้นักเรียนบาดเจ็บ 10 คน สาหัส 1 คน โชคดีที่ไม่มีเด็กเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนมกราคม ก็เกิดเหตุเครนก่อสร้างตึก 35 ชั้น โครงการลุมพินีเพลส พระราม 3 ริเวอร์ไรน์ ถล่ม ทำให้คนงานเสียชีวิต 5 ศพ และบาดเจ็บ 5 คน

จากสถิติรายงานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ พบว่าช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุจากเครนก่อสร้างกว่า 20 ครั้ง เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมาย

ในอนาคตยังไม่มีใครรับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ขณะที่โครงการก่อสร้างผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด

Advertisement

ทำให้ประชาชนที่เดินเฉียดโครงการก่อสร้างอาคารสูงต่างขวัญผวา แต่ก็พอจะเลี่ยงไม่เข้าไปเสี่ยงบริเวณใกล้เคียงได้

ขณะที่ประชาชนที่มีบ้านพัก หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการก่อสร้าง หวาดผวายิ่งกว่า เพราะหนีไปไหนไม่ได้

นอกจากจะได้รับผลกระทบจากสภาพสิ่งแวดล้อมทั้งฝุ่นผง เศษวัสดุตกใส่ เสียงดังรำคาญ การจราจรติดขัดจากรถบรรทุกทั้งหลาย ทำให้เสียสุขภาพจิตมากพอแล้ว

Advertisement

ก็ยิ่งจิตตกมากขึ้นไปอีก เพราะไม่รู้ว่าจะกลายเป็นเหยื่อเครนหักใส่บ้านรายต่อไปหรือไม่

เหตุร้ายที่เกิดขึ้นมักจะโยนว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่ละเลยต้นตอที่ทำให้เกิดเหตุ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่กำกับดูแลให้ดี กลับปล่อยปละละเลยให้มีการเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ

อย่างกรณีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านสาทร ใกล้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ปรากฏว่าบริษัทที่รับจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการ ถูกสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่าทำ “อีไอเอ” เป็นเท็จ

ว่ากันว่า บริษัทดังกล่าวใช้แบบสอบถามเพียงชุดเดียวไปให้กับครูโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเพียงคนเดียวทำแบบสอบถาม แล้วก็โมเมเอาว่า “อีไอเอ” ผ่าน ทาง สผ.จึงมีมติเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทดังกล่าว

แต่ปรากกฏว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กทม. หรือ “คชก.กทม.” ยังไม่มีมติเพิกถอน “อีไอเอ” ดังกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพ
คริสเตียนเข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เพื่อร้องเรียนและชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าว

“พล.ต.อ.อัศิวน” ถึงกับอึ้ง เพราะไม่รู้มาก่อนว่า “อีไอเอ” โครงการดังกล่าวเป็นเท็จ จึงสั่งให้ตรวจสอบ และให้ระงับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวชั่วคราว

ไม่รู้ว่าการทำ “อีไอเอ” โครงการก่อสร้างอาคารสูงต่างๆ ทั่ว กทม.เป็นเท็จอีกมากน้อยแค่ไหน

ก่อนหน้านี้ “ชมรมอนุรักษ์พญาไท” เคยร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากลถึงการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ถึง 28 โครงการที่ส่อว่าการทำ “อีไอเอ” อาจไม่ถูกต้อง

ด้วยเพราะสภาพพื้นที่ ทั้งถนนซอยคับแคบ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่เพียงพอรองกับ และอื่นๆ อีกมากมายที่ “อีไอเอ” ไม่น่าจะผ่านได้ แต่กลับฉลุยทุกโครงการ

หากการทำ “อีไอเอ” เป็นเท็จ เท่ากับว่ากฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน ไร้ผลในทางปฏิบัติ

นี่เป็นปัญหาบางส่วนที่หลายชุมชนใน กทม.ออกมาคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4

โดยเฉพาะการเพิ่ม 2 มาตรการใหม่นั่นคือการโอนสิทธิการพัฒนา (Tranafer of Development Right :TRD) และมาตรการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Planned Unit Development : PUD)

เพราะเห็นว่ามาตรการที่เอื้อนักลงทุนมากกว่าคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image