ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : เยาวชนไทย 3.0 วัยวุ่น หรือ วัยว่าง? โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มูลนิธิศึกษานโยบายสาธารณะ

เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทุกคนก็จะให้ความสนใจกับผู้สูงวัยมากขึ้น จนอาจจะละเลยปัญหาที่เกิดในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน เช่น กลุ่มเยาวชน ซึ่งพบว่ามีอัตราเกิดที่ลดลง ทำให้จำนวนและสัดส่วนของคนกลุ่มนี้ในประชากรลดลงไปด้วย จากการสำรวจแรงงาน พบว่า แรงงานเยาวชนระหว่างช่วงปี 2551-2560 พบว่า กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีจำนวนแรงงานเยาวชนลดลงถึง 1.16 ล้านคน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 22.61 ข้อมูลเบื้องต้นนี้ไม่ใช่ข้อมูลที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างไร เพราะเราอาจคาดคิดหรือหวังว่าเยาวชนเข้าสู่แรงงานลดลง เพราะโอกาสทางการศึกษาที่เปิดกว้างขึ้น แต่ความจริงที่จะเห็นต่อไปนี้มีมิติที่น่ากังวลเกิดขึ้นในหลายประเด็น

เราอาจแบ่งเยาวชนทุกวันนี้ตามกิจกรรมที่ทำเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่มที่อยู่ในกำลังแรงงาน และ 2.กลุ่มที่อยู่นอกกำลังแรงงาน ในกลุ่มที่อยู่ในกำลังแรงงาน คือ ผู้ที่มีงานทำและผู้ที่แสวงหางานอยู่ แต่ยังไม่มีงานทำ คือ ผู้ที่ตกงาน และกลุ่มที่อยู่นอกกำลังแรงงาน ซึ่งอาจจะทำการศึกษาอยู่หรืออาจจะทำกิจกรรมอื่นๆ อยู่

การศึกษาสถานภาพแรงงานของ ผศ.ดร.สุพรรณิกา ลือชารัศมี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้กับแผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบข้อมูลที่น่ากังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรและแรงงานเยาวชนของไทย กล่าวคือ ในปี 2560 เยาวชนไทยเป็นผู้มีงานทำร้อยละ 39 ยังอยู่ในระบบการศึกษาร้อยละ 45 ที่เหลือคือ ร้อยละ 16 ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทั้งการเรียนหนังสือหรือทำงาน ได้แก่ ทำงานบ้าน (ร้อยละ 7) พักผ่อน (ร้อยละ 2.5) ว่างงาน (ร้อยละ 2) มีปัญหาสุขภาพ (ร้อยละ 2) และอื่นๆ (ร้อยละ 2.5)

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ คุณภาพของชายไทยในอนาคต ในช่วงอายุ 15-19 ปี เยาวชนชายอายุ 15-19 ปี คงอยู่ในระบบการศึกษาร้อยละ 66.8 แต่เยาวชนหญิงอยู่ในระบบการศึกษาร้อยละ 76.9 เยาวชนผู้ชายเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วกว่าและมากกว่าเยาวชนผู้หญิง จากข้อมูลพบว่าผู้ชายที่มีอายุอยู่ในช่วง 15-19 ปี เข้าสู่ตลาดแรงงานคิดเป็นร้อยละ 24.0 (558,866 คน) ของผู้ชายทั้งหมดในช่วงอายุดังกล่าว ในขณะผู้หญิงมีพียงร้อยละ 12.6 (285,128 คน) เท่านั้นที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน นอกจากนี้กว่าร้อยละ 39.4 (219,920 คน) ของผู้ชายที่อยู่ในกำลังแรงงาน จบการศึกษาสูงสุดในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า เมื่อเทียบกับแรงงานหญิงร้อยละ 29.5 (84,145 คน) หมายความว่า เยาวชนผู้ชายหลุดออกจากระบบการศึกษาเร็วกว่าและมากกว่า ในทุกมหาวิทยาลัยมองไปทางไหนก็เห็นนักศึกษาหญิงมากกว่าชาย แม้แต่ในสาขาที่เคยครอบครองโดยเพศชายมาก่อน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วนศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น สถิติจำนวนเยาวชนอายุ 15-24 ปี แสดงว่ามีผู้หญิงที่ศึกษาในระดับปริญญามากกว่าผู้ชายถึง 2.3 เท่าตัว โดยมีผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจำนวน 260,520 คน ส่วนผู้ชายจำนวน 114,582 คน

Advertisement

ในด้านการว่างงงาน พบว่า แรงงานเยาวชนที่ว่างงาน มักเป็นเยาวชนที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ ไม่มีประสบการณ์ เยาวชนอายุระหว่าง 15-20 ปี มีอัตราการว่างงานสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศมาก คือ สูงกว่า 5 เท่า กล่าวคือ ในปี 2560 อัตราการว่างงานของแรงงานชายและหญิงในภาพรวมทุกช่วงอายุไม่ต่างกันมากนัก คือ อยู่ในระดับร้อยละ 1 แต่เมื่อพิจารณาเยาวชนอายุ 15-19 ปี พบว่าแรงงานชายว่างงานถึงร้อยละ 6.0 และแรงงานหญิงว่างงานถึงร้อยละ 7.6 เยาวชนอายุ 20-24 ปี พบว่าแรงงานชายว่างงานร้อยละ 4.7 และแรงงานหญิงว่างงานร้อยละ 6.2 และหากรวมกลุ่มอายุ 15-24 ปี เข้าด้วยกัน เยาวชนไทยว่างงานร้อยละ 5.6 คิดเป็นจำนวนถึง 221,906 คน

การศึกษาที่สูงขึ้นไม่ได้ช่วยให้เยาวชนได้งานมากขึ้นหรือเร็วขึ้น ข้อมูลเยาวชนที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20-24 ปี ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มที่มีการศึกษาดีกว่ากลับมีสัดส่วนของผู้ว่างงานในช่วงอายุเดียวกันมากกว่า เช่น กลุ่มที่มีการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรีมีผู้ว่างงานถึงร้อยละ 17.8 (66,555 คน) ในขณะผู้ที่จบการศึกษาสูงสุดระดับ ปวส. เป็นผู้ว่างงานร้อยละ 10.4 และกลุ่ม ปวช. หรือต่ำกว่ามีผู้ว่างงานเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.1 เมื่อดูรายละเอียดถึงสาขาที่ว่างงาน พบว่า สาขายอดนิยมกลับมีเยาวชนว่างงานมาก เช่น เยาวชนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ปริญญาตรี มีผู้ว่างงาน 6,618 คน คิดเป็นร้อยละ 20.4 จากเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 32,430 คน ส่วนในสาขาธุรกิจ การบริหารและพาณิชย
ศาสตร์ มีผู้ว่างงาน 18,365 คน คิดเป็นร้อยละ 12.6 จากผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 146,201 คน ซึ่งอาจหมายความว่า ระบบการศึกษาขยายกิจการไปเรื่อยๆ โดยผลิตนักศึกษาออกมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ในกลุ่มเยาวชนที่อยู่นอกกำลังแรงงาน คือ กลุ่มที่ไม่แสวงหางาน มักจะมีกิจกรรมหลัก คือ การศึกษา ที่น่าแปลกใจมากก็คือ มีเยาวชนกลุ่มนี้มีตอบว่ามีกิจกรรมหลัก คือ พักผ่อน ถึง 234,470 คน

Advertisement

ในภาพรวม ประชากรไทยในวัยทำงานเลือกที่จะพักผ่อนเป็นกิจกรรมหลักมากขึ้นในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรชายในวัยทำงานกว่า 500,000 คน ระบุว่ากิจกรรมหลักของตน คือ การพักผ่อน ประชากรวัยทำงานเพศชายมีแนวโน้มจะเลือกการพักผ่อนเป็นกิจกรรมหลักมากกว่าผู้หญิงเนื่องจากประชากรหญิงที่ไม่ได้อยู่ในตลาดแรงงานหรือศึกษาต่อ มักจะระบุว่าทำงานบ้านมากกว่าพักผ่อน

การที่ประชากรของประเทศหนึ่งมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นเป็นเรื่องดี เพราะอาจหมายถึงสวัสดิการของประเทศที่สูงขึ้น แต่ในกรณีของประเทศไทย พบว่า ในขณะที่ประชากรเยาวชนเลือกที่จะพักผ่อนมากขึ้น ปรากฏว่าผู้สูงอายุกลับเข้าสูตลาดแรงงานมากขึ้น นับเป็นทิศทางที่สวนกระแสความรู้สึกของคนทั่วไป คำถามก็คือว่า กลุ่มเยาวชนที่ว่างงานและที่อยู่นอกกำลังแรงงานที่กำลังพักผ่อนนั้นกำลังทำอะไรอยู่ พวกเขาอาจจะท่องเที่ยวทั่วไทย ทำงานจิตอาสาอยู่ หรือจะอยู่ในร้านเกม แข่งมอเตอร์ไซค์ หรืออยู่ในระบบเศรษฐกิจชั่วคราว (Gig economy) ที่เป็นสีเทาใช่หรือไม่

อย่างไรก็ดี การเสาะหาคนเหล่านี้เพื่อค้นหาสาเหตุของการพักผ่อนเพื่อจะศึกษาวิจัยหานโยบายที่เหมาะสมเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะเขาเหล่านั้นไม่ทำงาน อาจจะต้องไปหาที่ร้านเกมส์หรือแก๊งมอเตอร์ไซค์ ถ้าปล่อยเยาวชนที่ควรมีชีวิตแบบวัยวุ่นมาอยู่ในสภาพวัยว่าง อาจจะสร้างปัญหาให้สังคมมากขึ้นก็ได้ ดังนั้น สังคมต้องช่วยกันดูแลคนกลุ่มนี้และดึงเยาวชนมาสู่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับตัวเอง ครอบครัว และชุมชน

ถ้าหากใครมีการศึกษาวิจัยประสบการณ์และมีความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของเยาวชนกลุ่มนี้ กรุณาให้ข้อมูลมาที่ Facebook คนไทย 4.0 (https://www.facebook.com/Khonthai4.0) เพราะเด็กไทยทุกคนก็คือ ลูกหลานของเราและพลังของประเทศไทย 4.0 ค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image