ไทยพบพม่า : กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (7) โดย ลลิตา หาญวงษ์

ปฏิเสธได้ยากว่าจุดเปลี่ยนทางการเมืองพม่าแทบทุกมิติเกิดขึ้นพร้อมๆ กับรัฐประหารของนายพลเน วิน ในต้นปี 1962 พม่าเข้าสู่อรุณรุ่งแห่งระบอบเผด็จการ รัฐบาลประกาศสงครามกับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยและพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างเต็มตัว ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับพม่าหักสะบั้นลงชั่วคราว และทำให้จีนหันมาสนับสนุนกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ผ่านการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอื่นๆ ให้ในช่วงแรก รัฐบาลพม่าของเน วินพยายามหาทางเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งในเวลานั้นแตกออกเป็นหลายสาย ตลอดจนผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยง มอญ ฉาน และกะฉิ่น เพื่อหยุดยิง รัฐบาลพม่าให้คำมั่นว่าไม่ว่าจะมีข้อตกลงหยุดยิงขึ้นหรือไม่ กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์และชนกลุ่มน้อยทั้งหมดจะสามารถกลับไปยังฐานที่มั่นเดิมของตนได้อย่างปลอดภัย

ในการเจรจาสันติภาพปี 1963 ตะขิ่น โซ (Thakin Soe) เป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เข้าร่วมเจรจา ในที่เจรจานั้น ตะขิ่น โซนำภาพของสตาลินขึ้นมาตั้งบนโต๊ะ และเริ่มบรรยายความตกต่ำของระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้ระบอบครุชชอฟในโซเวียต และยังประณามท่าที่ของจีน ที่เขามองว่าเป็น “พวกฉวยโอกาส” ด้วย ในบรรดาผู้เข้าร่วมเจรจาสันติภาพ ยังมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ นักเขียนและปัญญาชนที่ลี้ภัยอยู่ที่จีนและรัสเซียร่วมด้วย ได้แก่ อ่อง จี, (Aung Gyi) ตะขิ่น โบ (Thakin Bo) โบ เซยะ (Bo Zeya) และตะขิ่น บา เตง ติน (Thakin Ba Thein Tin)
เป้าหมายของรัฐบาลพม่าไม่ได้ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์วางอาวุธถาวร แต่ขอให้จำกัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและกองกำลังไว้ที่ฐานที่มั่นแถบเทือกเขาพะโค โยมา ทางตอนกลางของพม่า และขอให้หยุดกิจกรรมเพื่อปลุกระดมมวลชนขึ้นต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับหยุดการระดมเงินด้วย แน่นอนว่าข้อเสนอนี้สร้างความไม่พอใจให้แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ การเจรจาสันติภาพสิ้นสุดลงพร้อมๆ โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นชิ้นเป็นอันใดๆ

ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ระดับหัวกะทิส่วนใหญ่ตั้งหลักที่ปักกิ่งและมอสโก แกนนำทั้งหมดนี้มีเครือข่ายและสายสัมพันธ์กับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ที่พะโค โยมา และเป็นตัวกลางรับอาวุธจากจีนส่งเข้าไปในพม่า หนึ่งในภารกิจหลักของแกนนำพรรคในปักกิ่งและมอสโกคือการหาเส้นทางแทรกซึมเข้าไปในพม่าอย่างลับๆ และมองว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าที่ติดชายแดนมณฑลยูนนานจะเป็นเส้นทางสำคัญในยุทธศาสตร์ของพรรค อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องกล่าวว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พม่าส่วนใหญ่ไม่ใช่นายทหาร ไม่มีประสบการณ์ด้านการรบ และส่วนใหญ่เป็นนักเขียน-ปัญญาชนที่ดื่มด่ำกับการเสพปรัชญามาร์กซิสม์มากกว่าการต่อสู้ในสมรภูมิจริงๆ ดังนั้นพรรคคอมมิวนิสต์พม่าจึงต้องการตัวช่วยด้านการทหารจากแหล่งอื่น ในช่วงเวลาเดียวกัน คอมมิวนิสต์จีนที่อาศัยในพม่าก็เริ่มเคลื่อนไหวและสานสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พม่าคือคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นผู้คลั่งไคล้ปรัชญาแบบเหมา และได้รับอิทธิพลการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ในอีกฟากหนึ่ง ผู้นำพรรคบางส่วนกลับนิยมแนวทางสายกลาง และการกำจัดแนวคิดแบบสตาลิน (De-Stalinization) ที่เกิดขึ้นในรัสเซีย คนกลุ่มหลังถูกปราบปรามอย่างหนักโดยผู้ศรัทธาระบอบคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง “กองทัพแดง” (Red Guards) เกิดขึ้นมาและเป็นที่รู้จักในนาม “ตะหนี่ ลูเหง่” หรือแปลตรงตัวว่ายุวชนแดง เยาวชนกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูและฝึกอบรมโดยสมาชิกพรรคคนหนึ่งนามว่า ตะขิ่น เท (Thakin Htay) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “เติ้งเสี่ยวผิงแห่งพม่า” แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามันสมองในระดับผู้นำเหล่านี้จำนวนหนึ่ง ซึ่งตั้งคำถามกับแนวคิดแบบเหมากลับถูกลอบสังหารโดยคนในพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้นำพรรคออกมายอมรับว่ามีสมาชิกพรรคทั้งระดับสูงและระดับกลางที่ถูกสังหารไป 57 คน แม้จะมีผู้ประเมินว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านี้มาก

Advertisement

ในปี 1968 สงครามครั้งใหญ่ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และกองกำลังรัฐบาลพม่าปะทุขึ้น พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากกองกำลังของกะฉิ่นภายใต้นายพลนอ เส่ง (Naw Seng) ผู้นำกองกำลังกะฉิ่นราว 300 นายของตนที่ประจำอยู่แถบชายแดนจีน-พม่ามาช่วยพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อรวมกองกำลังคอมมิวนิสต์จีนที่ส่งมาช่วยพรรคคอมมิวนิสต์พม่ารบ จึงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในพม่ามาตั้งแต่ปี 1948 ที่กองทัพพม่าพ่ายแพ้ไม่เป็นท่าและต้องถอยลงมาตั้งหลัก

พรรคคอมมิวนิสต์แบ่งฐานที่มั่นของตนเป็น 4 ส่วนในรัฐฉาน ยุทธวิธีคือการติดต่อกับขุนศึก (warlord) ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลาย พรรคจึงได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคนในพื้นที่ ในช่วงนี้เองที่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าเริ่มย้ายฐานที่มั่นของตนจากเทือกเขาพะโค
โยมา มายังรัฐฉาน บริเวณชายแดนจีน-พม่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอย่างดี และแทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์พม่าหันมาใส่เครื่องแต่งกายแบบเดียวกับทหารจีน ประดับดาวแดงบนหมวก และมีอาวุธทันสมัยที่จีนจัดหาให้ รวมทั้งปืนกลต่อต้านอากาศยาน 12.7 มม. ฯลฯ ยานเกราะ และเสบียงอาหารมากมาย รายการวิทยุเสียงประชาชนพม่า (People’s Voice of Burma) เกิดขึ้นในปี 1971 ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลจีนเช่นกัน

ในขณะที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่ฐานที่มั่นใหม่ในรัฐฉาน แต่ก็ยังมีกองกำลังบางส่วนที่ประจำอยู่ที่เทือกเขาพะโค โยมา
รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับกองกำลังชุดนี้มากกว่า เพราะอยู่ใกล้กับย่างกุ้ง และหากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากจีน จะกลายเป็นกองกำลังที่อันตรายต่อความมั่นคงพม่ามากกว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อยอื่นใด กองกำลังรัฐบาลจึงพยายามสกัดกั้นไม่ให้พรรคคอมมิวนิสต์ลำเลียงเสบียงจากจีนมาป้อนพะโค โยมาได้ อย่างไรก็ดี การกำจัดแกนนำคอมมิวนิสต์บางส่วนที่พะโค
โยมาทำให้ฐานที่มั่นแห่งนี้อ่อนแอลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1971-1975 รัฐบาลพม่าพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำลายฐานที่มั่นที่พะโค โยมา และประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

Advertisement

การย้ายฐานที่มั่นไปอยู่ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยทำให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าต้องมีนโยบายมองออกไปข้างนอก และสร้างสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยใหญ่ ทั้งกองกำลังฉาน (SSA) ปะโอ ปะด่อง และกะยาห์ ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ก็ได้ประโยชน์จากอาวุธของจีนที่หลั่งไหลเข้ามา ความสัมพันธ์นี้มีความน่าสนใจยิ่ง และกระทบต่อความมั่นคงทั้งภายในพม่าและภายนอกประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image