ที่เห็นและเป็นไป : มโนธรรม‘นักนิติศาสตร์’

“ขอถามเพื่อนหน่อย ตอนนี้อ่านมติชนรายวัน รายสัปดาห์ตลอด ไม่ค่อยเห็นนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยด้านนิติศาสตร์ออกมาคอมเมนต์ข้อกฎหมายที่ตีความแบบศรีธนญชัยเลย เห็นแต่ความเห็นของอาจารย์รัฐศาสตร์”

เป็นข้อความจากเพื่อนสมัยเรียนมัธยม คนที่หลังจากเปลี่ยนชุดนักเรียนจากนุ่งกางเกงขาสั้น มาเป็นนักศึกษานุ่งกางเกงขายาว ก็แทบไม่เจอกันอีกเลย

จนวัยล่วงถึงวันนี้ผ่านเลยมากว่า 40 ปี เจอกันโดยบังเอิญครั้งสองครั้ง โดยไม่ได้คุยแลกเปลี่ยนอะไรกัน

โลกออกไลน์ ด้วยเครื่องมือของโซเชียลเน็ตเวิร์กเชื่อมต่อให้เพื่อนสื่อถึงกันได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องพบเจอตัวเป็นๆ แต่เหมือนความที่ห่างหน้าหายตากันยาวนาน ทำให้แม้จะเชื่อมถึงกันได้ ก็ดูจะไม่มีเรื่องที่ต้องสื่อถึงกัน

Advertisement

เส้นทางเชื่อมต่อเพื่อนในโลกออนไลน์สายนี้ ว่างเปล่าเกือบทั้งหมดมาเป็นปีๆ หรือหลายปี

ทว่าแม้ไม่ได้สื่อสารกับความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนที่ดี ในความหมายว่าเข้าใจถึงความคิดของเพื่อนได้ ยังคงมีอยู่

เมื่อย้อนไปในวันเก่าสมัยเรียนมัธยม ถ้าจะบอกว่าเพื่อนคนนี้หัวก้าวหน้าที่สุดเท่าที่รู้จัก หรือจะบอกว่าที่สุดในโรงเรียน ก็เป็นข้อสรุปที่คิดแล้วไม่รู้สึกว่าน่าจะผิดพลาดตรงไหน

Advertisement

เป็นเพื่อนที่ชวนคุยถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าทำอย่างไรจะสอบผ่านในแต่ละชั้นเรียน ชี้ชวนให้มองไปที่ความเป็นไปของสังคมในภาพรวม ปัญหาของประเทศ การทำงานของรัฐบาลที่เป็นอยู่ในขณะนั้น กลไกต่างๆ ที่ขับเคลื่อนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

ชวนให้ค้นหาหนทางที่น่าจะดีกว่า และแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของจิตใจที่จะร่วมต่อสู้เพื่อให้เกิดสิ่ง หรือสภาวะที่ถูกที่ควร ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่า

มีชีวิตที่มองเห็นชัดเจนถึงจิตใจที่อ่อนไหวกับเรื่องราวที่สัมผัสแล้วรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ทนไม่ได้กับความเห็นแก่ตัว และแสวงหาประโยชน์โดยใช้อำนาจ หรือความเหนือกว่าเอารัดเอาเปรียบคนอื่น

พร้อมจะเชิดหน้าท้าทาย เผชิญกับการข่มขู่อย่างองอาจ และพิสูจน์ให้รับรู้ถึงจิตใจที่ไม่สยบยอมต่อการข่มเหงรังแก พร้อมตอบโต้ด้วยสันติวิธีอย่างจริงจัง เข้มข้น และหวังผลอย่างท้าทาย

นั่นเป็นความรู้สึกอันเป็นภาพจำที่มีต่อเพื่อนที่ห่างหายจากการพบปะไปเนิ่นนานคนนี้

มีข่าวคราวในวันวัยที่ผ่านล่วงถึงชีวิตวัยหนุ่มใหญ่ และย่างเข้าวัยปลายว่า เพื่อนไปทำธุรกิจในเรื่องที่ส่งเสริมปัญญา หวังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่พอเลี้ยงตัวให้เชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมได้โดยไม่ต้องลดศักดิ์ศรี

เกิดความรู้สึกยินดีกับเพื่อนลึกๆ ที่ประสบความสำเร็จในการที่หนทางของชีวิตที่ไม่ต้องเสียดทานกับความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา และจิตสำนึกของตัวเอง

อย่างน้อย แม้จะต้องเสียดทานบ้างก็ไม่มากเกินไป จนเกิดความรู้สึกผิดต่อมโนธรรมในใจเพื่อน

บางชีวิตที่ต้องทำมาหากิน ด้วยความรับผิดชอบต่อการสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว ก็หลีกเลี่ยงแรงเสียดทานที่เกิดกับมโนธรรมไม่ได้

เพียงแต่ใครจะโชคดีที่สามารถเลือกการทำมาหากินและสร้างฐานะโดยไม่ฝืนต่อมโนธรรมได้มากกว่ากัน

คนเลือกได้ย่อมมีความสุขในชีวิตมากกว่า คนที่ต้องทำงานโดยกดข่มมโนธรรมของตัวเองชีวิตย่อมเคลื่อนไปในทางเจ็บปวดที่เกิดจากความรู้สึกผิดซึ่งกดฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก

เพื่อนโชคดีที่เลือกทางเดินได้โดยไม่จำเป็นต้องกดข่มมโนธรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เห็นคำถามของเพื่อนข้างต้น ที่ตามมาหลังความรู้สึกแรกที่ดีใจว่าเพื่อนยังคิดถึงกันอยู่คือ สัมผัสได้ถึงแรงกดดันบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเพื่อน

น่าจะเป็นแรงกดดันที่ไปกระตุ้นความอ่อนไหวยากจะทนต่อการเห็นความไม่เป็นธรรมอยู่ตำตา กระทั่งต้องตอบโต้เพื่อหาทางเยียวยาจิตใจรักจะสู้เพื่อความเป็นธรรมของตัวเองให้สงบลง

“การตั้งคำถามต่อคนที่คิดว่าควรจะยื่นมือเข้ามาเยียวยารักษาความเป็นธรรมในประเทศชาติ” จึงเกิดขึ้น

เป็นการสะท้อนความทนไม่ไหวของคนวัยย่างเข้าตอนปลายชีวิตที่ตระหนักถึงพลังตัวเองว่าทำอะไรไม่ได้มาก

สัมผัสสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนเหล่านี้แล้ว ได้แต่ถอนใจด้วยเกิดความเห็นใจว่า

“แม้เพื่อนจะเลือกทางเดินที่ดีสุดที่ไม่ฝืนต่อมโนธรรมแล้ว แต่เมื่อต้องอยู่ร่วมในสังคม จึงหนีไม่พ้นเรื่องราวในสังคมที่ตำตา และเลยไปทิ่มแทงใจให้เกินกว่าจะฝืนทนนิ่ง”

คำถามนี้น่าจะเกิดขึ้นกับสภาวะที่เกินทนในจิตใจเพื่อน

ผมตอบคำถามนี้ไปในทางที่ให้เพื่อนเข้าใจถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้นจากความเห็นเชิงนิติศาสตร์ในยุคสมัยที่การวิจารณ์ “หลักการ” ถูกตีความว่าเป็นการโต้แย้ง “ตัวบุคคล” อันทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และต้องเผชิญต่อแรงกดดันอื่นๆ

อยากให้เพื่อนเข้าใจว่า ใครต่อสู้ให้ใคร หรือกระทั่งต่อสู้เพื่อสังคมโดยรวมที่จะต้องส่งผ่านสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

เป็นเรื่องยากลำบากยิ่งในยุคสมัยเช่นนี้

ในฐานะเพื่อน ช่วยเพื่อนได้แค่ส่งผ่านคำถามของเพื่อนไปถึง “นักนิติศาสตร์” ไปตามบทบาทที่มีอยู่และพอทำได้

แต่ทั้งนี้ด้วยความเข้าใจในแรงเสียดทาน กดดัน ที่มีต่อ “นักนิติศาสตร์” ด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image