ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมือง กับมิติของผู้นำบนความท้าทายและคาดหวังของประชาชน : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารจัดการประเทศนอกจากจะได้รับความสนใจจากประชาชนเจ้าของประเทศแล้วชาวต่างชาติก็จับตาและให้ความสนใจไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะหน้าตาคณะรัฐมนตรี ตลอดจนยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการประเทศ

อย่างไรก็ตามก่อนที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงตัวก็ลุ้นกันใจหายใจคว่ำต่อกรณีความต้องการและการเรียกร้องของกลุ่มสมาชิกต่างๆ ในฐานะผู้อาสาเข้ามารับใช้ประชาชนตำแหน่งหรือเก้าอี้ที่แย่งชิงมีจำกัด แต่คำว่าเสนาบดีซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งหอมหวล

วันนี้เมื่อนายกรัฐมนตรีและเครือข่ายสามารถบริหารจัดการจัดคนเพื่อจะขับเคลื่อนเรือแป๊ะที่เปลี่ยนโฉมมาสู่เรือเหล็กได้ลงตัวภายใต้ความสมหวังและพลาดหวังในตำแหน่งแล้วจากนี้ไปเป็นบทบาทหน้าที่ของจอมยุทธ์ทั้งหลายสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ดังที่ประชาชนคาดหวัง

นโยบายที่นายกรัฐมนตรีจะต้องแถลงต่อรัฐสภาถือได้ว่านั่นคือสัญญาประชาคมที่รัฐบาลจะนำไปแปรเป็นยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติสำหรับการบริหารจัดการประเทศซึ่งนโยบายดังกล่าวคงจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ภายใต้บริบทของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่สืบเนื่องมาจากแนวทางการปฏิรูปในยุค คสช.

Advertisement

การขับเคลื่อนการบริหารจัดการยุทธศาสตร์เพื่อนำประเทศไปสู่เป้าหมายดังที่สังคมคาดหวังจึงมีคำถามย้อนกลับมาว่าจากสภาวะของการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 รัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้บรรลุตามเป้าประสงค์ได้มากน้อยแค่ไหน และจากความคาดหวังของประชาชนที่จะเห็นผลงานในเชิงประจักษ์คงจะอยู่ที่ปัจจัยหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์และทีมงาน หรืออเวนเจอร์มืออาชีพที่เข้มแข็งของรัฐมนตรีทั้งมวลภายใต้การรองรับและสนับสนุนของข้าราชการประจำ

เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตัวแปรที่สำคัญนอกจากการผนึกพลังของคณะรัฐมนตรีตลอดจนข้าราชการที่คอยเป็นสะพานเชื่อมสำหรับการก้าวไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังคงจะหนีไม่พ้นภาวะผู้นำของจอมทัพหรือขุนศึกในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปในยุค คสช.รัฐบาลภายใต้การการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิสูจน์ศักยภาพและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความสำเร็จในการเดินหน้าประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจในหลากหลายมิติ

แต่วันนี้การบริหารจัดการภายใต้มิติของระบบการเมืองที่มีนักการเมืองซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรเข้ามาร่วมเป็นทีมงานภายใต้เสนาบดีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเต็มในกระทรวงต่างๆ โอกาสแห่งความราบรื่นดังในอดีตอาจจะไม่เป็นดังที่หวัง ทั้งนี้เพราะคมเขี้ยวหรือลีลาของนักการเมือง (บางคน) โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน คนกลุ่มนี้ต่างก็มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องซ่อนอยู่ การเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชนอาจจะเป็นเป้าหมายรอง ความราบรื่นที่ผู้นำประเทศตลอดจนประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยคาดหวังอาจจะไม่ราบรื่นดังใจปรารถนา

Advertisement

แนวคิดสำหรับการบริหารกิจการบ้านเมืองของผู้นำประเทศแต่ละคนย่อมจะมีความแตกต่างกันไปทั้งในแง่ของจุดยืนและอุดมการณ์แต่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันผู้นำที่ชาญฉลาดจะต้องเปิดใจกว้างยอมรับและฟังความรอบด้านเพื่อนำไปเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการโดยเฉพาะหลักคิดของนักปราชญ์ตลอดจนผู้นำทั้งในอดีตและปัจจุบันที่สร้างผลงานจนได้รับการยอมรับในเชิงประจักษ์

เพลโตเป็นหนึ่งในนักปราชญ์หรือเจ้าของแนวคิดสำหรับการบริหารจัดการทางการเมืองที่คนรุ่นหลังมักกล่าวถึง เพลโตเป็นศิษย์ของโสเครติส
และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักอาคาเดมี่ซึ่งเป็นสำนักแห่งแรกของโลกเพลโตได้เขียนวรรณกรรมที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก โดยเขาได้สร้างตัวละครมาถ่ายทอดความคิดเห็นที่เกี่ยวกับรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐในอุดมคติที่จะต้องมีความสมบูรณ์เพียบพร้อมทุกประการ

พร้อมกันนั้นเพลโตยังได้ถ่ายทอดหลักคิดที่น่าสนใจซึ่งคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักการเมืองหรือผู้นำต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการบริหารจัดการได้ ซึ่งความตอนหนึ่งเพลโตกล่าวว่า

“ผู้ปกครองรัฐต้องเป็นผู้มีปัญญามีความรู้ความเข้าใจแยกแยะระหว่างสิ่งดีและสิ่งชั่วออกจากกัน มีความสามารถในการชักชวนให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของความดีเพื่อเป้าหมายของการมีชีวิตที่ดี ดังนั้นผู้ปกครองรัฐจึงต้องเป็นผู้มีคุณธรรมศีลธรรมจรรยาที่เรียกว่า “ราชานักปราชญ์”

ต่อกรณีนี้เมื่อย้อนไปส่องถึงหลักคิดหรือแนวทางการบริหารจัดการทางการเมืองของนักปราชญ์ในอดีต ก็ต้องกลับมามองถึงโลกแห่งปัจจุบัน ซึ่งจากปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงพบว่ามีผู้นำที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่น่าสนใจยิ่ง

“สีจิ้นผิง” เป็นหนึ่งในผู้นำหรือจอมยุทธ์ที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.2012 เนื่องในการเปิดการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 สีจิ้นผิงได้กล่าวถึงความมุ่งหวังของประชาชนที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉพาะเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อประเทศชาติความตอนหนึ่งว่า “ภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงนี้คือภาระหน้าที่ต่อชาติ ซึ่งชาติของเราเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลากว่า 5,000 ปีกว่าแห่งการพัฒนาของอารยธรรมประชาชาติจีนได้สร้างคุณูปการที่ไม่มีวันลบเลือนต่อความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ได้ …”

ในมิติสำหรับการมุ่งหวังเพื่อความผาสุกของประชาชน สีจิ้นผิงยังได้สะท้อนมุมมองว่า “ความสุขทั้งปวงในชีวิตมนุษย์ล้วนต้องสร้างขึ้นมาด้วยความพากเพียรทั้งสิ้น ฉะนั้นภาระหน้าที่ของพวกเราคือต้องสามัคคีกัน นำพรรคและประชาชนทั้งประเทศทุกชนชาติสืบสานแนวปฏิบัติเรื่องการปลดแอกทางความคิด ยืนหยัดในนโยบายปฏิรูปเปิดประเทศ ปลดปล่อยและพัฒนากำลังการผลิตของสังคมอย่างต่อเนื่อง พยายามแก้ปัญหาของประชาชนทั้งในด้านการผลิตและความเป็นอยู่มุ่งสู่ความมั่งคั่งร่วมกันอย่างแน่วแน่…”
(สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ สำนักพิมพ์มติชน หน้า 3-4)

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงถึงแม้ว่าบริบทและรูปแบบในการปกครองระหว่างบ้านเขากับบ้านเราจะมีความต่างกันแต่สิ่งที่พบเห็นในเชิงประจักษ์และเป็นปรากฏการณ์ที่พิสูจน์ให้คนทั้งโลกได้พบเห็น คือความมุ่งมั่นเพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

เมื่อมองเขาหากย้อนมามองหรือส่องที่บ้านเราหนึ่งในปรากฏการณ์สำหรับการพัฒนาที่ประชาชนคาดหวังคงจะหนีไม่พ้นการบริหารจัดการของรับบาลที่จะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ภายใต้ความซื่อสัตย์สุจริตของคณะรัฐมนตรีทั้งมวล

วันนี้เมื่อประชาชนมอบอำนาจให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเต็มในการบริหารกิจการบ้านเมืองย่อมเป็นที่จับตาและคาดหวังมากกว่าอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะทิศทางอนาคตของประเทศประกอบกับวาทะที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวผ่านคลิปในเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อ
วันที่ 15 มีนาคม 2562 วันนั้นวลีที่คาดว่าน่าจะเพิ่มคะแนนนิยมให้กับพรรคและตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำคงจะมาจากถ้อยคำที่ร้อยเรียงผ่านประชาชนดังความตอนหนึ่งที่ว่า

“หากผมได้มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปผมจะสานต่องานให้มีการพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน ผมจะยึดหลักธรรมา
ภิบาล กฎหมายต่างๆ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ขอให้พวกเราคิดว่าการกระทำวันนี้นั้นจะเป็นสิ่งบอกว่าวันหน้าเราจะเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นวันนี้เพื่อวันหน้าที่ดีกว่าไม่ใช่เพื่อตัวผมเอง แต่พวกเรากำลังทำเพื่ออนาคตของประเทศชาติ ของลูกหลานของเราทุกคนที่จะเติบโตมีอนาคตสดใสในวันหน้า อย่างลังเลขอให้ทุกคนก้าวไปกับผม” (ประชาไทออนไลน์ 15 มีนาคม 2562)

ต่อด้วยการขึ้นเวทีหาเสียงในนามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่สนามเทพหัสดินภายในสนามกีฬาแห่งชาติ วันนั้นแคนดิเดตหมายเลข 1 ของพรรคพลังประชารัฐได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและขอโอกาสต่อประชาชนสำหรับการที่จะกลับมาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีความตอนหนึ่งว่า “อยู่มา 5 ปีรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรคือปัญหาและอุปสรรคต้องแผ้วถางให้โล่งทำให้บ้านเมืองสงบสุขเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต้องทำให้ยั่งยืน ลดความขัดแย้ง นำหัวใจของความรักความสามัคคีคืนมา ความรักนั้นต้องรักตัวเอง รักพ่อแม่ รักครอบครัว รักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์ ใครเห็นด้วยลุกขึ้นยืนรวมพลัง ลุกขึ้น เราอย่านั่งรอ ต้องลุกขึ้นก้าวเดินไปพร้อมกับผม ประเทศไทยจะไม่ล้มลงอีกขอบคุณทุกกำลังใจ เชื่อว่ากำลังใจจะอยู่กับเขาอีกนานเท่านาน ส่วนประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีให้จำไว้เป็นบทเรียน” (ประชาไทออนไลน์ 22 มีนาคม 2562)

อย่างไรก็ตามการนำมาซึ่งความสำเร็จสำหรับการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลชุดนี้จะมีอนาคตและทิศทางอย่างไรเชื่อว่าผู้นำหรือนายกรัฐมนตรีคงจะมีแนวทางและจุดยืนที่ชัดเจน ที่สำคัญการคืนสู่ที่นั่งใหญ่ในตำแหน่งผู้นำประเทศนั้นเชื่อว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติตลอดจนมุมมองที่ได้รับในระหว่างการเดินทางไปยังนานาประเทศ การได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำระดับโลกคงจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นายกฯจะได้นำมาประยุกต์ใช้สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาแห่งอนาคต

แต่หนึ่งในมิติหรือปรากฏการณ์ที่ผู้นำไทยในระบบรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาควรที่จะตระหนักเมื่อไม่มีอาวุธลับอย่างมาตรา 44 หรืออำนาจเต็มอันเนื่องมาจากการรัฐประหาร ความราบรื่นความสะดวกที่จะก้าวได้ดังหวังเหมือนกับ 5 ปีที่ผ่านมาอาจจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่คาดคิดอีกต่อไปปัญหาและอุปสรรคที่กว้างกั้นย่อมมีตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเหนือสิ่งอื่นใดเมื่อผู้นำร้องขอโอกาสจากประชาชนได้ เมื่อนั้นประชาชนก็ย่อมที่จะร้องขอให้พวกเขาได้ดังที่ใจหมายเช่นกัน แต่ถ้าเมื่อมีโอกาสและมีอำนาจแล้วแต่ไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองได้อย่างที่ปรารถนา คาดว่าประชาชนคงจะมีคำตอบสำหรับการแสวงหาผู้นำแห่งอนาคตที่ดีกว่า

ประเทศไทยภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนานมีผู้นำที่เข้ามาบริหารจัดการเพื่อประชาชนและประเทศชาติถึง 29 คน จากนี้ไปเป็นอีกหนึ่งในวาระที่ผู้นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิสูจน์ความรู้ความสามารถบนความท้าทายและคาดหวังของประชาชน เวลาจะเป็นตัวกำหนด ดังวลีที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image