แถลงนโยบายยุคปฏิรูป : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ทีมงานพรรคร่วมรัฐบาลกำลังเร่งเครื่องหลอมรวมนโยบาย เพื่อให้ทันแถลงต่อรัฐสภาภายหลังคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ 15 วัน
ความน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ นอกจากเป็นการแถลงนโยบายครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านตั้งท่าคอยร่วมอภิปราย และทดสอบพลังความอดทนของนายกรัฐมนตรีจำนวนมากแล้ว

ตัวนโยบายเที่ยวนี้เป็นการเอานโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรคมายำรวมกันอย่างน่าพิศวง ว่า จะทำได้อย่างไรถึงจะใส่นโยบายเด่นๆ ของแต่ละพรรคเข้าไปให้ครบถ้วน

เพราะมีทั้งที่สอดคล้องและขัดแย้ง เป็นต้นว่า ลดงบประมาณจัดซื้ออาวุธของกองทัพ เปลี่ยนรถถังเป็นรถไถ

การนำเสนอนโยบายครั้งนี้ มิได้มีเพียงตัวนโยบายหลากหลายทั้งเก่าและใหม่เท่านั้น แต่ยังมี ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธ์ศาสตร์เฉพาะด้าน แผนปฏิรูป 13 ด้าน ซึ่งเป็นผลงานภาคบังคับของรัฐบาลแม่น้ำห้าสายที่วางกรอบไว้ต้องดำเนินการต่อไป ต้องหลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียวกัน

Advertisement

เพื่อให้เข้ากับยุคปฏิรูป การแถลงนโยบายควรสะท้อนให้เห็นว่ามีการปฏิรูป เช่นเดียวกัน

สาระนโยบาย นอกจากต้องปรากฏสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลป่าวประกาศให้สัญญาประชาคมในเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง เช่น ท้องปั๊บรับเดือนละ 3,000 บาททันทีแล้ว ควรปรับเนื้อหาจากความเคยชินเดิมที่ปฏิบัติกันมา เพราะความคิดที่ว่า
นโยบายควรเขียนกว้างๆ เฉพาะหลักการ ไม่ต้องลงรายละเอียด

เปลี่ยนความคิดใหม่ แต่ละนโยบายต้องระบุมาตรการรองรับที่นำมาใช้ให้ชัดด้วย คือ อะไร ทำอย่างไร เอาเงินมาจากไหน ผลลัพธ์ที่จะได้กับใคร

Advertisement

เพราะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด การนโยบายเขียนไว้แต่เพียงกว้างๆ ไม่ผูกมัดชัดเจนว่าจะใช้วิธีการอย่างไร อ้างว่าไว้ว่ากันทีหลังหรือทำเป็นแผนปฏิบัติการอะไรทำนองนั้น โดยผ่านการตัดสินใจในระดับคณะรัฐมนตรี ไม่มีผู้แทนราษฎรคอยซักถาม ท้วงติง จึงเป็นที่มาของการฉ้อฉล ทุจริต หละหลวม เกิดปัญหากระทบต่อเสถียรภาพการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ในภาคผนวกของนโยบายแต่ละด้าน ถ้ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข หรือยกร่างกฎหมายใหม่มารองรับ จะต้องระบุรายการกฎหมายดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน เพื่อผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องและสังคมได้ร่วมรับรู้ ติดตาม กำกับ ค้นคว้าเทียบเคียง ควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่แถลง ป้องกันผล
กระทบในทางเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

การระบุรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ลงไปในเนื้อหานโยบาย อาจมีข้อเป็นห่วงว่าทำให้ยืดยาว เยิ่นเย้อจนเกินไป ประเด็นนี้สามารถเขียนให้กระชับรัดกุมได้

การกล่าวถึงวิธีการหรือมาตรการรองรับแต่ละนโยบาย กลับจะเป็นเครื่องมือช่วยให้การอภิปรายอยู่ในกรอบ ประเด็น ซึ่งทำให้สั้นกระชับ เน้นเนื้อหามากกว่า คารม คมคาย โวหาร น้ำท่วมทุ่ง พูดนอกเรื่อง มุ่งเน้นกล่าวหาโจมตีเพื่อบั่นทอนความน่าเชื่อถือเป็นหลัก ซึ่งประชาชนคนฟังย่อมตัดสินได้เอง ว่า ฝ่ายใดปฏิบัติๆ ได้เหมาะสมกว่ากัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ท้าทาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการต่อรองร่วมรัฐบาล คือ นโยบายด้านการเมือง

สมาชิกพรรคฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์มากว่า การปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว สิ่งที่แผนปฏิรูปการเมืองเขียนไว้กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นล้วนตรงกันข้าม ไม่ว่าการเลือกตั้ง การ
กระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม การสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง และการปรองดอง จึงเป็นที่มาของข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

นโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้จะตอบรับหรือไม่ ด้วยวิธีการอย่างไร เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการไว้ให้ทำด้วยความยากลำบาก

การแถลงนโยบายของรัฐบาลจึงต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้ความเป็นจริงเป็นไปตามแผนปฏิรูปการเมืองที่เขียนไว้ แต่ไม่กล่าวถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา ว่าสอดคล้อง หรือสวนทาง จนเป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูป จะต้องแก้ไขหรือไม่ อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปการแถลงนโยบาย ที่เคยแถลงแบบกว้างๆ มีแต่หลักการ ไม่มีมาตรการและกระบวนการ จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงรายละเอียด ซึ่งเป็นจุดชี้เป็นชี้ตาย เสถียรภาพรัฐบาลและเสถียรภาพการเมืองระบบรัฐสภา อย่างตรงไปตรงมา
นโยบายและการแถลงนโยบายจะมีความศักดิ์สิทธิ์ ได้รับความสนใจ และให้ความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image