ภาพเก่าเล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน…ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา(7) โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ผ่านมาแล้ว 6 ตอน…ท่านผู้อ่านสอบถามกันมาล้นหลาม เรื่อง “รัฐตำรวจ” ในบังคับบัญชาของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่มีกำลังรบอันเกรียงไกรไม่น้อยกว่าทหาร ถึงขนาดมีรถเกราะ มีตำรวจม้า มีตำรวจน้ำ มีตำรวจพลร่ม….เป็นความจริงครับ

พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ยังเป็นผู้วางรากฐานตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อ พ.ศ.2497 และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อย่างเป็นทางการ

อธิบดี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ยังเสริมสร้างเกียรติภูมิของ “สถาบันตำรวจ” ..โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับพระราชทาน “ธงชัย” ประจำหน่วยตำรวจจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมกับหน่วยอื่นของตำรวจอีก 5 หน่วย เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2495

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินในการ “พระราชพิธีตรึงหมุดธงชัย” ดังกล่าวด้วยพระองค์เอง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2495 ผืนธงชัยมีลักษณะเช่นเดียวกับธงชาติ ภายในยอดธงบรรจุ “เส้นพระเกศา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กเรียกว่า “พระยอดธง” เอาไว้ “ธงชัย” จึงถือเป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

Advertisement

ธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจนี้ได้มาเช่นเดียวกันกับ “ธงชัยเฉลิมพล” ซึ่งได้ทรงพระราชทานแก่หน่วยทหารทุกประการ

ประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจ อำนาจกำลังรบของตำรวจไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิสัยทัศน์ เป็นความกล้าหาญของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยทหารบกของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

และในที่สุด บั้นปลายชีวิตของทั้ง 2 ท่านที่กุมชะตาบ้านเมือง ถูกจารึกว่า “เสือ 2 ตัว อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้”

Advertisement

กลับมาที่ชะตาชีวิตของ นาวาตรี มนัส จารุภา หัวหน้ากบฏแมนฮัตตัน… นาทีนี้…ชะตาชีวิตเปราะบาง จะอยู่-ตาย ?

นาวาตรี มนัส ผู้จี้จับตัวจอมพล ป. หนีไปกบดานในพม่าเกือบ 1 ปี หนีกลับเข้ามาเมืองไทย เช้ามืด 15 พฤศจิกายน 2495 โดนอัศวินแหวนเพชร พันตำรวจตรี วิชิต รัตนภานุ รวบตัวโดยละม่อมที่บ้านพัก ซอยทองหล่อ ย่านบางกะปิ

ในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ที่นาวาตรี มนัส เขียนแบบเปลือยใจหมด ระบุว่า ตำรวจระดับอัศวินแหวนเพชร คือ พันตำรวจโท เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน พันตำรวจตรี พันธ์ศักดิ์ วิเศษภักดี พันตำรวจตรี พุฒ บูรณะสมภพ เป็นทีมที่นำกำลังเข้าจับกุม

นาวาตรี มนัส ชื่นชมในสปิริตของนายตำรวจเหล่านี้ ที่สุภาพให้เกียรติกันและกัน ไม่มีการข่มขู่ คุกคามแต่อย่างใด

ในฐานะที่เป็น “ลูกแม่รำเพย” ศิษย์เก่า โรงเรียนเทพศิรินทร์ เคยเห็นหน้ากันมาก่อนเก่า เมื่อถูกควบคุมตัว นาวาตรี มนัส ฝากเงิน และของมีค่าไปให้ภรรยา ซึ่งพันตำรวจตรี วิชิต ลูกผู้ชายตัวจริง นำไปมอบให้ภรรยาของนาวาตรี
มนัส ครบถ้วน….

มนัส ถูกนำตัวไปสโมสรกรมตำรวจ ทานอาหารเช้าอย่างเอร็ดอร่อยท่ามกลางสายตานายตำรวจ ในนาทีนั้น ตำรวจมีปืนในมือ จะปฏิบัติอะไรต่อนาวาตรี มนัส ก็ได้

เสียงท็อปบู๊ตกระทบพื้น ดังก้องมาแต่ไกล นายตำรวจทุกคนรวมทั้งนาวาตรี มนัส ลุกขึ้นแสดงความเคารพ พลตำรวจโท พระพินิจชนคดี รองอธิบดีกรมตำรวจ … ตามด้วยคำถามว่า คุณเป็นลูกใคร ?

ข้าพเจ้า….ลูก พลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ ครับ

“พระยาปรีชา ก็เป็นเพื่อนชอบพอกันมา แต่ทำไมนิสัยเราไม่เหมือนพ่อล่ะ ไม่รู้ว่าอะไรทำให้เด็กสมัยนี้ มีความคิดกันอย่างนี้ …”

พระพินิจฯ กล่าวเสียงดังแล้ว เบือนหน้าหนี หัวหน้ากบฏทหารเรือหัวรุนแรง ที่ถือว่าเป็นลูกของเพื่อน…

นาวาตรี มนัส ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาเป็นบุตรของ พลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) มีเลือดทหารเรือเต็มตัว จบมัธยมจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นนักเรียนเรียนดี สอบเข้าโรงเรียนนายเรือความคิดจิตใจเป็นทหารอาชีพ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดเวลา

นาวาตรี มนัส เป็นผู้มีบทบาทเป็นอย่างมากใน “คณะกู้ชาติ” ที่รวมตัวกันทางความคิดระหว่างนายทหาร-ตำรวจหนุ่ม 4 เหล่าทัพ สนใจเรื่องการเมืองการปกครอง ทำให้เห็นพฤติกรรมของรัฐบาลที่ฉ้อฉลมาโดยตลอด มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงให้จงได้

มนัส เคยคิดจะทำรัฐประหารมาตั้งแต่ รัฐบาลทหารเรือของ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนอดอยาก รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ และไม่สนใจการแก้ปัญหาให้ประชาชน สนใจผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าปัญหาของบ้านเมือง แต่ความคิดนั้นก็ต้องล้มเลิกเนื่องจากผู้บังคับบัญชาได้ป้องปรามนาวาตรี มนัส เอาไว้ และในที่สุดรัฐบาลก็ถูกทำรัฐประหารโดยคณะของ พลโท ผิน ชุณหะวัณ เสียก่อน

เป้าหมายของ “คณะกู้ชาติ” ก็คือจะใช้กำลังทหารเข้าควบคุมตัวจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี มาเป็นตัวประกันให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ โดยความสำเร็จที่ได้มาจะต้องไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการได้คิดลงมือปฏิบัติการอยู่หลายครั้งแล้ว…

กลับมาที่สโมสรกรมตำรวจ..นาวาตรี มนัส ซึ่งถูกรวบตัวมาได้…และแล้ว…ช่วงเวลานาทีระทึกใจมาถึง

บุคคลที่มีอำนาจล้นฟ้าเมืองไทยเวลานั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน อธิบดีตำรวจที่ชื่อ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ติดตามด้วยบรรดาทีมอัศวินแหวนเพชร ตำรวจมือปราบระดับพระกาฬของแผ่นดินไทย เดินเข้ามาในห้องที่ นาวาตรี มนัส นั่งอยู่….

“คุณ มนัส…ที่คุณถูกจับมาครั้งนี้ โทษตามกฎหมายนั้นรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต แต่ถ้าคุณสารภาพก็จะได้ลดหย่อนผ่อนเบาลงไปมาก..ผมขอชมเชยน้ำใจของคุณ …คุณเล่นการเมืองได้ดีมาก…”

อธิบดีตำรวจร่างสูงใหญ่ใจนักเลง ผู้คนยำเกรงทั้งบ้านทั้งเมือง กล่าวพร้อมกับกวาดสายตาไปยังบรรดานายตำรวจชั้นอัศวินทั้งหลายในห้อง…

นาวาตรี มนัส กล่าวขอบคุณ ยกมือไหว้ พร้อมกับความรู้สึกตื้นตันที่แน่นจุกอก… “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” เดินออกไปจากห้องพร้อมทีมงาน …ทิ้งไว้ซึ่งคำกล่าวปริศนา

ในหนังสือ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ที่นาวาตรี มนัส เรียบเรียงขึ้นภายหลังบรรยาย “เสี้ยวนาทีแห่งมฤตยู” ที่ฟังเสียงจากอธิบดีเผ่า นักโทษหมายเลข 1 ของแผ่นดิน ยังไม่แน่ใจว่า จะได้หายใจต่อนานแค่ไหน เพราะตนเอง คือแกนนำคนสำคัญของ “คณะกู้ชาติ” ที่จับจอมพล ป. เพื่อจะโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และอธิบดีเผ่า ก็เป็น 1 ในคณะรัฐประหารที่ นาวาตรี มนัส จะต้องโค่น

พันตำรวจตรี วิชิต นำตัวนักโทษไปยังตึกสันติบาล พันตำรวจตรี กิตติ เสรีบุตร ที่คุณพ่อเป็นนายทหารเรือรุ่นๆ เดียวกับคุณพ่อของ นาวาตรี มนัส เข้ามาพูดคุย จัดหาเครื่องใช้ แปรง ยาสีฟัน สบู่

นักโทษ มนัส ส่งเสียงเรียกห้องข้างๆ เพื่อนร่วมคุกใต้หลังคาเดียวกัน ทำให้ทราบว่า น้องชายที่ถูกตำรวจซิวตัวมาก่อนหน้านี้ก็มาอยู่ห้องขังในอาคารนี้ รวมทั้งเจ้าของบ้านย่านบางกะปิที่ให้ที่พัก ก็ถูกหิ้วมาเข้าตะรางแบบ “ยกแผง”

คุกคือคุก ห้องขังขนาด 2 x 4 เมตร ที่แสนจะสกปรก สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ กลิ่นสยองจากส้วมที่น่าขยะแขยง อาหาร ที่หลับนอน ซึ่งต่อมาผู้บังคับบัญชาของตำรวจทราบข่าวก็จัดการแก้ไข ปรับปรุง

วันต่อมา ภรรยา และลูกของลูกประดู่หนุ่ม มนัส ได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยมพร้อมกับข้าวของจิปาถะ….พันตำรวจตรี วิชิต จะมาเยี่ยมทุกวัน ช่วงบ่าย 3 โมงจะพาไปเดินเล่นบริเวณสนามหญ้า ยืดแข้งยืดขา พร้อมทั้งเลี้ยงอาหารเย็นก่อนกลับเข้าห้องขัง….

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2495 ตำรวจนำตัว นาวาตรี มนัส ไปขออนุญาตต่อศาลเพื่อฝากขังต่ออีก 12 วัน

เพื่อนร่วมเดินทางบนรถที่มีชะตาชีวิตหมิ่นเหม่เช่นเดียวกัน ขึ้นรถไปด้วย คือ ท่านผู้หญิง พูลศุข พนมยงค์ นายเฉลียว ปทุมรส นายชาย เฮงสกุล และร้อยตรี เนื่อง สุขพูน….

ตั้งแต่เข้าห้องขังมาราว 1 สัปดาห์ หัวหน้ากบฏแมนฮัตตัน ยังไม่เคยถูกเบิกตัวไปสอบสวน แต่ก็ทราบดีว่าจะต้อง “เจอของแข็ง” ในไม่ช้านี้แน่นอน

การสอบสวนเริ่มครั้งแรกโดย 3 อัศวินผู้โด่งดังทะลุฟ้าเมืองไทย คือ พันตำรวจตรี พันธุ์ศักดิ์ วิเศษภักดี พันตำรวจตรี พุฒ บูรณะสมภพ และ พันตำรวจตรี อรรณพ พุกประยูร

เริ่มจาก “การลำดับความ เหตุการณ์” บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ทีมสอบสวนเน้นให้บอกชื่อทีมงานกบฏ ซึ่งแต่ละคนก็หนีกันไปคนละทิศละทางหมดแล้ว และคำถามที่วกวน ผ่านไปค่อนวัน ทีมสอบสวนเริ่มอารมณ์ขุ่นมัว และเมื่อถูกพันตำรวจตรี อรรณพ ตั้งคำถามว่า

“คุณมีแผนจะหลบไปจีน เพื่อจะไปนำกำลังทหารจีนแดงเข้ามาใช่หรือไม่”

นาวาตรี มนัส ปฏิเสธ เรื่องดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ทำเอาพันตำรวจตรี อรรณพ ที่สะสมความโมโหมาพักใหญ่ตบโต๊ะดังเปรี้ยง…!

“คุณมนัส…เมื่อคุณไม่ยอมให้ความจริง…คุณกับผมขาดความเป็นเพื่อนกันตั้งแต่บัดนี้… ผมจะเอาตัวคุณไป ห้าโมงเย็นวันนี้…”

โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล โดยนาวาตรี มนัส จารุภา และทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน โดยนิยม สุขรองแพ่ง

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image