ขยะวิทยาและสังคมวิทยาว่าด้วยขยะ : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ความสนใจของสังคมของเราในเรื่องของการรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกและหลอดกาแฟพลาสติกนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการรณรงค์ไม่แจกถุงพลาสติกของห้าง ตลาดนัด รวมไปถึงถุงใส่ยากลับบ้านของโรงพยาบาล การเก็บเงินค่าถุง และการหันมาใช้หลอดกาแฟพลาสติกแบบที่นำมาใช้ใหม่ได้ หลอดอะลูมิเนียม หรือการรณรงค์ใช้แก้วกาแฟที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งกล่องต่างๆ ที่ย่อยสลายโดยธรรมชาติ และกล่อง/ภาชนะใส่อาหารที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ และถุงผ้า

ประเด็นท้าทายของการรณรงค์และการบริหารจัดการในเรื่องของการรณรงค์ทั้งเรื่องถุงพลาสติก หลอดกาแฟ และกล่องใส่อาหาร ในบ้านเรานั้นมีประเด็นที่ท้าทายอยู่มาก เพราะการรณรงค์นั้นถูกทำให้กลายเป็นประเด็นในเรื่องของการปลุกจิตสำนึก เป็นเรื่องของความดีงามทางศีลธรรม เช่น รณรงค์ไม่ใช้หลอดพาสติกเพราะสงสารเต่าที่ถูกหลอดทิ่มจนตาย หรือมีถุงพลาสติกอยู่ในท้องของสัตว์ทะเล เป็นต้น

เรียกว่าใครมาร่วมรณรงค์ลดการใช้วัสดุเหล่านี้ ก็เท่ากับลดปริมาณขยะ เมื่อลดปริมาณขยะแล้วจะรู้สึกดี เป็นความดีงามทางศีลธรรมที่ไม่ควรต้องโต้เถียง ตั้งคำถาม ถ้าช่วยกันคนละนิดสังคมจะดีขึ้นเอง

ดังนั้นประเด็นที่มีคนนำเสนอข้อมูลประเภทที่ว่า ถุงผ้าที่ถูกนำมารณรงค์ให้ใช้แทนถุงพลาสติกนั้น ถ้าไม่ใช้มากครั้งจริงๆ ก็จะเป็นการทำลายทรัพยากรที่มากกว่าการใช้ถุงพลาสติกจำนวนมากมาย

Advertisement

หรือประเด็นที่ถามกันว่า ผู้ประกอบการที่ไม่แจกถุงพลาสติกในนามของการรณรงค์ลดปริมาณขยะนั้น ทำไมไม่ลดราคาสินค้าด้วย เพราะนี่เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคหรือไม่

นี่คือเรื่องเล็กๆ ที่ใครพูดใครถามขึ้นมานั้นก็มีลักษณะ “ไม่ถูกต้องทางการเมือง” ที่เรียกว่า political incorrectness ขึ้นมาโดยทันที

สิ่งที่ผมอยากจะนำเรียนในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการออกมารื้อทำลายวิธีคิดวิธีรณรงค์เรื่องการลดปริมาณขยะโดยเฉพาะเรื่องของถุงพลาสติกเป็นหลักอย่างที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการมานั่งเถียงกันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ฉลาดหรือไม่ฉลาด

Advertisement

แต่อยากจะนำเสนอมุมมองทาง “ขยะวิทยา” (garbology) และ “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยาว่าด้วยขยะ” (sociology and anthropology of garbage) เพื่อทำให้เรามีมุมเพิ่มเติมมากขึ้นในเรื่องของการรณรงค์และบริหารจัดการขยะ

การศึกษาเรื่องขยะวิทยา ในความหมายเฉพาะเจาะจง นั้นหมายถึงเรื่องของการศึกษาธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของขยะและของเสียโดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้เราเข้าใจโครงสร้างขยะ และที่มาที่ไปของมัน (มาจากไหน และเสร็จแล้วไปลงเอยที่ไหนแล้ว) ในแง่ที่จะยังประโยชน์ว่าเราจะบริหารจัดการขยะอย่างไร จัดการอย่างถูกจุดไหม

การศึกษาขยะวิทยาในมุมมองและมุมมองกว้าง ยังรวมไปถึงเรื่องของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของขยะกับความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคของผู้คนกับสิ่งที่เขาผลิตขึ้นมา

ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับขยะในเรื่องของการให้ความหมายว่าอะไรคือขยะ หรือของเสีย และอะไรคือของดีที่ยังใช้ได้ และยังไม่ควรทิ้ง หรืออะไรควรนำกลับมาใช้ใหม่ได้

เรื่องที่เล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องแค่การเปิดเผยปริมาณขยะมาผูกกับเรื่องการรณรงค์สงสารสัตว์ทะเลที่ต้องตายจากการกินพลาสติก หรือการรณรงค์จากหน่วยงานราชการในการลดปริมาณขยะเพื่อให้เกิดผลงานและตัวชี้วัดขององค์กรว่าฉันได้ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงเพื่อลดขยะและลดโลกร้อน ทั้งที่อาจจะไม่ได้สนใจถึงความสลับซับซ้อนของการใช้ถุงพลาสติก อาทิ ถ้าคุณภาพของถุงพลาสติกหรือ ถุงอื่นๆ ที่ให้คนไข้นำมาใส่ยากลับบ้านนั้นไม่ได้มาตรฐาน ยาที่ได้ไปอาจจะตกหล่นระหว่างทาง หรือหากปริมาณยามีขนาดมาก เขาก็อาจจะขนไปไม่หมด เพราะถุงขนาดใหญ่ที่เรามีอาจจะไม่มีแบบที่มัดปากถุงได้ และผู้ที่มารับบริการนั้นอาจจะไม่ได้เดินทางกลับบ้านสะดวกนัก ยาอาจร่วงหล่นได้

หรือไม่ได้คิดว่า การค้นพบปริมาณขยะโดยเฉพาะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ในพื้นที่ชายฝั่งและในสัตว์ทะเลนั้น อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรณรงค์ในสถานศึกษาที่อยู่ไกลจากทะเลเป็นร้อยๆ กิโลเมตร ทั้งที่เรื่องใกล้กว่านั้นก็คือเรื่องของประสิทธิภาพในการบริหารแหล่งท่องเที่ยวและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศในการบริหารขยะ เพราะพื้นที่ท่องเที่ยงส่วนมากไม่ได้อยู่ในเมืองโดยตรง หรือหากอยู่ในพื้นที่เทศบาลก็จะเป็นเทศบาลขนาดเล็กที่ไม่สามารถจัดเก็บขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในแง่ของข้อจำกัดด้านทรัพยากรและอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในสารคดีที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งของฮ่องกงทำออกมารณรงค์เรื่องของการลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว กับเรื่องของขยะริม/ในทะเลนั้น เขาไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าเต่านั้นน่าสงสารที่ตายเพราะกินขยะ แต่เขานำเสนอภาพหลอดยาสีฟันที่ปลาตัวเล็กๆ กัดกินพลาสติกเหล่านี้เข้าไป แล้วชี้ให้เห็นเรื่องของห่วงโซ่อาหารที่ปลาเล็กเหล่านี้จะถูกปลาใหญ่ แล้วจากนั้นพลาสติกเหล่านั้นก็จะเข้ามาในตัวเรา เมื่อเรากินอาหารทะเล

การรณรงค์เช่นนี้ไม่ได้ไปเน้นเรื่องศีลธรรมอะไรมากกว่าเรื่องของขยะจะล้นโลกแล้วจะเป็นอันตรายกลับมาตัวเรา โดยไม่ต้องคิดอะไรยาวไกลประเภทเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว หรือหลอดกาแฟจากบ้านเราจะเดินทางยาวไกลไปถึงทะเลได้อย่างไร โดยที่เรายังไม่เคยสนใจว่า หลอดกาแฟในพื้นที่ของเรานั้นเมื่อทิ้งลงไปในถังขยะแล้ว จะไปจบชีวิตของมันที่ไหน จะถูกเผา หรือ ถูกฝังท่ี่บ่อขยะไหน และในบ่อขยะนั้นมีโครงสร้างขยะอะไรมากที่สุด และสะท้อนภาพของสังคมที่ผลิตขยะนั้นอย่างไร

เรื่องที่อภิปรายมานี้สำคัญมาก ในทางแนวคิดทฤษฎีด้วยว่าขยะนั้นไม่ใช่เรื่องทางกายภาพอย่างเดียว แต่ไปผูกพันทั้งความคิด ความเชื่อ ความหมาย และพฤติกรรมของผู้คนที่มีต่อการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ด้วยว่า เมื่อไหร่ที่เขาแยกตัวเองออกจากสิ่งที่เรียกว่าขยะหรือของเสีย ของที่ถูกทิ้ง โดยไม่ได้รู้สึกเกี่ยวพันกันกับพฤติกรรมก่อนหน้าที่สิ่งที่เขาผลิตและบริโภคนั้นจะกลายเป็นขยะ

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นในสมัยหนึ่ง เราอาจจะนำอุจจาระไปทำเป็นปุ๋ย หรือเชื่อว่าเราสามารถนำเศษอาหารนั้นไปเลี้ยงสัตว์ แยกขยะไว้ขายซาเล้ง ขณะที่ในปัจจุบัน เราอาจจะมีทั้งความก้าวหน้าแบบถังส้วมย่อยสลายเอง หรือตามเขตมาดูดแล้วจ่ายเงินเขา หรือทิ้งเศษอาหารและของต่างๆ ลงถังขยะเฉยๆ โดยไม่ได้รู้สึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับสิ่งที่เราผลิตที่เรียกว่าขยะ

อธิบายง่ายๆ ในมุมนี้ว่า เราผลิตขยะ ขยะมาจากเรา และเราสัมพันธ์กับขยะ ไม่ใช่มองแค่ว่า เราต้องหนีไปจากขยะ เพราะขยะนั้นคือสิ่งที่สิ้นสุดและแยกขาดจากเราไปแล้ว เพราะในระยะยาว ถ้าเราไม่บริหารจัดการให้ดี ขยะมันจะกลับมาหาเราในรูปแบบอื่นไม่ใช้ไปจบที่ทิ่มจมูกเต่าตายแล้วเราสงสาร

แต่อาจจะไปถึงระบบนิเวศ มาถึงร่างกายของเรา มาถึงอากาศที่เราหายใจ เป็นต้น

การศึกษาเรื่องขยะวิทยานั้นเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ.1987 ที่ต้องการศึกษาว่าในพื้นที่ฝังกลบขยะนั้น มีอะไรในนั้นบ้าง และจริงไหมขยะที่ย่อยสลายได้นั้นมันจะย่อยสลายจริงตามระยะที่เราคาดเอาไว้ หลายอย่างที่พบในหลุมขยะนั้นทำให้เรามองเห็นเรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนใจและเราคิดไม่ถึง อาทิ คนอเมริกันเชื่อว่า สิ่งที่อยู่ในหลุมขยะนั้นส่วนใหญ่คงเป็นพวกวัสดุใส่อาหารเช่นกล่องหรือกระป๋อง ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ขณะที่โบราณคดีว่าด้วยขยะสมัยใหม่หรือขยะวิทยานั้นทำให้เราพบว่าสิ่งเหล่านี้มีแค่ร้อยละสาม ขณะที่พลาสติกมีอยู่แค่ร้อยละยี่สิบนิดๆ ขณะที่กระดาษนั้นมีอยู่ถึงร้อยละสี่สิบ รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ขยะที่ย่อยสลายได้นั้นการย่อยสลายนั้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

การศึกษาขยะวิทยาขยายวงไปถึงการขุดค้นผลกระทบที่ขยะมีต่อชีวิตในทะเลในหลายรูปแบบรวมไปถึงระบบห่วงโซ่อาหาร และยังไปถึงเรื่องของการขุดค้นปริมาณของอีเมล์ขยะที่องค์กรต่างๆ ส่งกัน หรือที่มากับโฆษณารายวัน

เรื่องขยะวิทยามีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจอาทิเรื่องของ การทำสารคดีที่ตามติดไปแอบดูชีวิตคนดังว่าเขาทิ้งอะไรบ้าง หรือ ตามติดไปดูว่าครอบครัวสุดแสนธรรมดาครอบครัวหนึ่งนั้นผลิตขยะจากอะไรบ้างและปริมาณขยะนั้นสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคอะไร

ปรากฏการณ์ “สืบจากขยะ” เช่นนี้ทำให้เราเข้าใจ “พฤติกรรมการบริโภค” ในอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจที่ไม่ยึดติดกับแนวทางการศึกษาแบบเดิมที่เน้นการสัมภาษณ์และสังเกตผู้บริโภคเท่านั้น แต่ดูว่าเขาเหลือทิ้งอะไรบ้าง

ยังมีอีกโครงการที่น่าสนใจก็คือเรื่องของการรณรงค์ของนักศึกษาอีกกลุ่มในอเมริกาที่ไปทำการศึกษาวิจัยการบริโภคอาหารของผู้คนในเมือง เพื่อให้เข้าใจรูปแบบ พฤติกรรม และ ทัศนคติของผู้บริโภค และงานวิจัยของพวกเขาได้เปิดโปงให้เห็นว่าเรื่องบางเรื่องนั้นไม่ได้เป็นไปแบบที่เราเข้าใจ อาทิ เราเข้าใจว่าในยามที่เศรษฐกิจไม่ดีนั้นคนจะบริโภคอาหารน้อยลง หรือจะไม่มีของทิ้ง

แต่จากการคุ้ยขยะดูแล้ว พวกเขาพบว่าเรื่องที่พบกลับกลายเป็นว่า ยิ่งในช่วงที่ปริมาณเนื้อสัตว์ขาดแคลน เศรษฐกิจไม่ดี กลับพบอาหารเหลือทิ้งจำนวนมากในบางพื้นที่ เพราะคนจะมีอาการตื่นตระหนกและกักตุนอาหารเกินความจำเป็น และสุดท้ายพวกเขากลับต้องทิ้งอาหารที่หมดอายุมากขึ้น เพราะซื้อไปตุนและเก็บจนบริโภคไม่ทัน

หรือในการศึกษาที่เชื่อมโยงประเด็นสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาขยะกับมิติทางการเมือง งานวิจัยพบสิ่งที่เราอาจจะรู้มาบ้างแล้วว่า ในชนบทสมัยก่อนนั้น ขยะไม่ใช่ปัญหาหลักเพราะพื้นที่กว้าง แต่ละบ้านก็จัดการขยะและนำกลับมาแปรรูปเป็นปุ๋ย ขณะที่ในเมืองนั้นประเด็นเรื่องของการบริหารจัดการขยะนั้นเริ่มเป็นเรื่องใหญ่ และรัฐบาลจำต้องเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งการกำหนดวิธีการจัดเก็บและกำจัด รวมกระทั่งการกำหนดพื้นที่ในการจัดเก็บและทำลาย

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องขยะนั้นก็มีผลทางการเมืองกับนักการเมืองและผู้บริหารเมือง ซึ่งกลายเป็นทั้งเรื่องของผลงาน ความรับผิดชอบ และผลกระทบต่อเมืองและตำแหน่งของพวกเขา

เมื่อสืบย้อนไปในอดีตนั้น การบริหารจัดการเมืองกับเรื่องของขยะนั้นในโลกตะวันตกเริ่มพบมากจากความกังวลในเรื่องสุขอนามัยของพื้นที่ที่หนาแน่นด้วยประชากรและที่อยู่อาศัยนับแต่โบราณกาล อย่างน้อยก็มีหลักฐานมาแต่ยุคกรีก หรือการเกิดระบบการระบายน้ำเสียครั้งแรกในอาณาจักรโรมันในกรุงโรม

ตามหลักฐานในอดีตนั้นการล่มสลายของโรม และการเติบโตของเมืองย่อยหลังจากนั้นไม่มีระบบการจัดการขยะและของเสียที่ดีพอ จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 ที่กาฬโรคระบาดหนักในอิตาลีและฝรั่งเศสจนทำให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างจริงจัง โดยการจัดตั้งเทศบาลมาดูแลเรื่องนี้ ต่อมาในศตวรรษที่ 17 ในฝรั่งเศสการค้นพบเชื้อโรคระดับ/ด้วยมุมมองจุลทรรศน์ทำให้เกิดความคิดในการนำเอาขยะออกจากเมือง และทำให้เกิดมุมมองในแบบของการแยกขยะจากผู้คนไปทิ้งนอกเมือง และซ่อนขยะจากชีวิตเมืองโดยการฝังกลบ และการระบายน้ำเสียออกจากเมือง

ขณะที่อีกด้านหนึ่งมุมมองของคนชั้นกลางเมืองก็จะเริ่มเชื่อมโยงคนขายแรงงานชั้นล่างกับความสกปรกและมองว่าพวกนี้เป็นอัตรายต่อระเบียบทางสังคม และทำให้เห็นว่าการจัดการความสะอาดนั้นเป็นเรื่องทางศีลธรรมไปพร้อมๆ กัน และต้องทำการเผยแพร่ให้การศึกษากับคนที่ยากจนให้รู้จักทำความสะอาดเก็บกวาดบ้านเรือนและไม่ทำให้เกิดความสกปรกและโรคภัยไข้เจ็บในเมือง

ถ้าคิดต่อในเรื่องนี้เราอาจจะเห็นมิติของการไล่รื้อชุมชนแออัดและภาพที่มีต่อชุมชนแออัดจำนวนมาก รวมไปถึงเรื่องของการบริหารจัดการทางเท้าและหาบเร่แผงลอยในกรณีของบ้านเรา
ยังมีตัวอย่างจากโลกที่ไม่ใช่โลกตะวันตกที่ชี้ให้เห็นว่า ขยะนั้นอาจจะเป็นเรื่องของทรัพยากรทางอำนาจได้ อาทิ กรณีของสังคมแอฟริกาบางพื้นที่ที่มีการสะสมและจัดเก็บขยะไว้ในบริเวณพื้นที่พักอาศัย เพื่อชี้ให้เห็นขอบเขตของอาณาจักรและความมั่งคั่งของพื้นที่ และมองว่าขยะเหล่านั้นจะเป็นที่สะสมของอำนาจทางจิตวิญญาณและพลังงานอันตรายบางอย่างซึ่งรัฐบาลนั้นจะต้องแสดงความสามารถในการควบคุมอำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านี้ไว้ให้ได้ อาทิ การจัดพิธีกรรมบางอย่างในสถานที่เหล่านั้น ทั้งในแง่ของความสมบูรณ์ของการเกษตร การพิจารณาคดีสำคัญ หรือการทำพิธีพ่อมดหมอผี

หรือการที่บางสังคมเช่นอินเดียสมัยก่อนอาจจะไม่ได้มองถึงการฝังกลบในแง่ของการผลักขยะออกจากชุมชนแล้วซ่อนพ้นจากสายตาด้วยการฝังกลบ แต่กลับเชื่อมโยงการดำรงอยู่ของขยะกับความบริสุทธิ์ทางชนชั้นวรรณะ แล้วกำหนดให้คนบางชนชั้นอยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นแล้วทำหน้าที่กับของเสียและขยะเหล่านั้นเป็นหน้าที่เฉพาะ

ขณะที่ในสังคมตะวันตกและสังคมอื่นๆ วันนี้กลับพัฒนามุมมองใหม่เพิ่มเข้ามาจากเรื่องของมิติสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และมุมมองทางสังคมมาสู่เรื่องของการมองว่าขยะก็เป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีค่า การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำเอาขยะมาทำศิลปะ หรือ สินค้าขายเช่นผ้าใบรถบรรทุก หรือ ยางในรถ มาทำกระเป๋า หรือมีการริเริ่มการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ในเรื่องการจัดการขยะ หรือลดการเพิ่มขยะ หรือเริ่มสนใจความเหลื่อมล้ำของการจัดการขยะเช่นการที่ขยะพิษถูกส่งจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่ที่อำนาจต่ำกว่า เช่นโลกที่สาม รวมไปถึงเรื่องของการยอมรับของชุมชนที่มีต่อการบริหารจัดการขยะนอกชุมชนที่มาอยู่ในพื้นที่เป็นต้น

จะเห็นว่าโลกของขยะวิทยา และสังคมวิทยาของขยะนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากและทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ของขยะกับสังคมและการเมืองก่อนที่เราจะออกแบบการณรงค์และการบริหารจัดการขยะมากขึ้นครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image