อาสาฬหบูชา พระธรรมเทศนาที่คลี่คลายปัญหาความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ : โดย รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

สังคมทุกสังคมล้วนมีความไม่ลงรอยกันในเรื่องต่างๆ เพราะในทุกสังคมนั้นเกิดจากการรวมตัวของปัจเจกบุคคลที่หลากหลายสถานภาพ เมื่อแต่ละคนแต่ละกลุ่มมีสถานภาพที่แตกต่างกัน แนวคิดและทฤษฎีหรือมุมมอง ประสบการณ์ เหตุผล และจุดยืนย่อมไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ในแต่ละสังคมจึงมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน เพราะมีแนวคิดและทฤษฎีไม่เหมือนกัน

สังคมหรือชุมชนใดที่คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่อง สังคมหรือชุมชนนั้นจะเกิดความอ่อนแอและล้าหลัง ความเห็นแตกต่างกัน หรือความเห็นขัดแย้งกันจะนำไปสู่การพัฒนาและเจริญก้าวหน้า ประชาธิปไตยที่ดีกว่าเผด็จการก็ตรงที่คนในสังคมประชาธิปไตยสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้นั่นเอง ซึ่งความแตกต่างกันนั้น จะไม่ส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ตราบใดที่ความแตกต่างกันไม่ละเมิดหรือก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพระหว่างกัน

สังคมประชาธิปไตยจะไม่เป็นพิษเป็นภัย หากคนในสังคมมีความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ แต่จะเป็นพิษเป็นภัยต่อเมื่อคนในสังคมมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ เพราะอำนาจทำให้คนขาดสติ ส่วนผลประโยชน์ทำให้คนขาดความอดทนหรือขันติ คนที่ขาดทั้งสติและความอดทนจะนำไปสู่บรรยากาศที่สับสนและวุ่นวายในสังคมประชาธิปไตยจึงมักสร้างเงื่อนไขหรือปูทางให้กับคณะรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

1.พระธรรมเทศนาวันอาสาฬหบูชา : วันอาสาฬหบูชาเกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้สองเดือน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 และความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา ก็ตรงที่เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกหรือปฐมเทศนา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสงบสงัดและร่มรื่น ตั้งอยู่ที่ชานเมืองพาราณสีซึ่งเวลานี้เรียกว่าสารนาถ (Sarnath) ห่างจากตัวเมืองพาราณสี (ประเทศอินเดีย) ประมาณ 10 กิโลเมตร

Advertisement

การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงแสดงธรรมที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น เพราะพวกปัญจวัคคีย์ คือกลุ่มคนทั้ง 5 คน อันประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ซึ่งเคยร่วมสุขร่วมทุกข์กับพระองค์มาก่อน ได้แตกคอหรือแปรพักตร์มาปฏิบัติธรรมหรือบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นั่นเอง ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คน มีแนวคิดและทฤษฎีที่ขัดแย้งกับพระพุทธองค์ในเรื่องประพฤติวัตรปฏิบัติตนช่วงก่อนการตรัสรู้หรือบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยหัวหน้าคณะ คือโกณฑัญญะนั้น สมัยเป็นพราหมณ์ปุโรหิต เคยยกมือฟันธงว่าสิทธัตถกุมาร ต้องเสด็จออกผนวช (บวช) และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 พราหมณ์ปุโรหิตที่พระเจ้าสุทโธทนะคัดเลือกจากจำนวนพราหมณ์ทั้งหมด 108 คน ให้เป็นผู้ทำนายพระปุริสลักษณะของสิทธัตถกุมาร เมื่อประสูติได้เพียง 5 วัน โดยพราหมณ์อีก 4 คน ต่างทำนายเป็น 2 คติ คือ ถ้าอยู่ครองราชย์จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และถ้าออกบวชจะเป็นศาสดาเอกของโลก

การแปรพักตร์ของพวกปัญจวัคคีย์นั้น เกิดจากการที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถจากการบำเพ็ญทุกรกิริยา (Self-Mortification) สู่การเสวยพระกระยาหารเพื่อฟื้นฟูพระวรกายให้มีเลือดเนื้อตามปกติ หลังจากทรงทรมานพระองค์โดยวิธีการต่างๆ อย่างรุนแรง จนซูบผอมเหลือแต่ซี่โครงและกระดูก แต่พวกปัญจวัคคีย์เห็นว่า พฤติกรรมเช่นนี้ เป็นความสิ้นหวังที่จะได้บรรลุโมกขธรรมที่การหลุดพ้นจากทุกข์ จึงตีตัวออกห่างแยกวงไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แต่เป็นความขัดแย้งในแนวคิดและทฤษฎีเชิงอุดมการณ์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงประสบความสำเร็จจากการปฏิบัติพระองค์แบบผ่อนคลายไม่ตึงเครียด กระทั่งทรงบรรลุธรรมหรือตรัสรู้ จึงนึกถึงคุณูปการของปัญจวัคคีย์เป็นเบื้องต้น เพราะครู-อาจารย์ที่พระองค์เคยได้รับการศึกษาอบรมในสำนักต่างๆ ได้ถึงแก่กรรมไปหมดสิ้นแล้ว

แปลว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นยอดของคนที่มีความกตัญญูกตเวทิตาธรรม

Advertisement

2.สาระสำคัญของพระธรรมเทศนา : เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงสถานที่ที่พวกปัญจวัคคีย์พักอาศัยในบริเวณป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงไม่ได้รับการต้อนรับจากพวกปัญจวัคคีย์เท่าที่ควร เพราะพวกเขาเข้าใจว่า พระพุทธองค์มาเพื่อของ้องอนให้ปฏิบัติพระองค์ดุจเดิม แต่ครั้นพระพุทธองค์ทรงบอกว่า “เราได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว จงนั่งลงเถิด เราจะแสดงธรรมโปรด” พวกปัญจวัคคีย์จึงฝืนใจยอมนั่งเพื่อฟังธรรม ซึ่งพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงมีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” หมายถึงพระสูตรที่เปรียบประดุจการหมุนล้อแห่งธรรมให้เคลื่อนสู่ชาวโลก ซี่งเรียกชื่อย่อว่าธรรมจักร และสาระสำคัญของพระธรรมเทศนานี้ ประกอบด้วยสองส่วน คือ

2.1 ส่วนแรก ทรงแสดงแนวคิดและทฤษฎีที่ตีบตันหรือสุดโต่ง 2 ทฤษฎี ได้แก่ 1)กามสุขัลลิกานุโยค หมายถึงการหมกมุ่นและลุ่มหลงอยู่ในกามสุข คือความสุขที่เกิดจากกามารมณ์ รวมทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขแบบชาวบ้านเป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรเสพ เพราะเป็นหนทางที่ไม่นำไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ 2)อัตตกิลมถานุโยค หมายถึงการประพฤติวัตรปฏิบัติตนด้วยวิธีการทรมานในลักษณะต่างๆ เช่น อดอาหาร กลั้นลมหายใจ กินผักผลไม้เพียงอย่างเดียวไม่กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เป็นต้น เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรเสพเพราะไม่เป็นหนทางนำไปสู่การหลุดพ้นจากทุกข์

2.2 ส่วนที่สอง ทรงแนะนำแนวคิดและทฤษฎีที่เป็นทางสายกลางคือไม่หย่อนและไม่ตึงจนเกินไปได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์ 8 ประการ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น และสัมมาสมาธิเป็นที่สุด เป็นสิ่งที่บรรพชิตพึงเสพ เพราะเป็นหนทางแห่งการดับกิเลสตัณหา มานะ และอวิชชา

เมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลง หัวหน้าปัญจวัคคีย์ คือท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมหรือธรรมจักษุ หมายถึงการรู้เห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง บุคคลที่มีปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ ให้เห็นตามความเป็นจริงซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเช่นนี้ เรียกว่าเข้าสู่กระแสพระนิพพาน ได้แก่บรรลุโสดาบัน ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงปลื้มพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่สามารถสอนคนให้รู้ตามได้ ถึงกับทรงเปล่งพระอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” หลายครั้ง ซึ่งแปลว่า “โกณฑัญญะ เธอรู้และเข้าใจแล้วใช่ไหม?” เมื่อทรงแน่ชัดว่าท่านโกณฑัญญะได้จับกระแสพระธรรมเทศนาได้จริง จึงทรงเพิ่มคำว่า อัญญาข้างหน้า เป็นอัญญาโกณฑัญญะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ ทำให้มีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งแปลว่าพระพุทธศาสนาได้เริ่มต้นประดิษฐานในท่ามกลางเจ้าลัทธิต่างๆ เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม

3.แนวทางประยุกต์หลักพระธรรมเทศนาในการพัฒนาสังคม : วันอาสาฬหบูชา จะไม่เกิดประโยชน์อันใด หากสังคมไทยยึดถือเพียงแค่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะวันดังกล่าวนี้ ได้มีมาบรรจบครบวาระในทุกปี แต่สังคมไทยควรน้อมนำหลักการวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือวันอาสาฬหบูชาไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคมและชุมชนให้มีคุณภาพ เพื่อให้การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม สัตว์การเมือง และสัตว์เศรษฐกิจอย่างสันติหรือเป็นมิตรไมตรีที่ดีต่อกันด้วยแนวทางตามกระแสพระธรรมเทศนาดังนี้

3.1 กามสุขัลลิกานุโยค (Self-Indulgence) หมายถึงการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องยศ ตำแหน่ง ทรัพย์สิน เงินทอง และความเสพสุขจากการเที่ยว ดื่ม ร้องรำ จนเกินงาม ต้องรู้จักผ่อนคลายหรือปล่อยวางบ้าง เพราะเมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถจะแบกอะไรไปได้ รถที่ราคาแพง ตำแหน่งที่มีเกียรติ เอาไปด้วยไม่ได้ มามือเปล่าก็ต้องไปมือเปล่า เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักความพอดีและพอประมาณ ชีวิตจึงจะไม่สุดโต่ง ชีวิตที่สุดโต่งคือ ชีวิตที่ก้าวพลาดนั่นเอง

3.2 อัตตกิลมถานุโยค (Self-Mortification) หมายถึงการมุ่งมั่น จริงจัง และทุ่มเท มากจนเกินไปในเรื่องการงาน การปฏิบัติภารกิจ และการลงทุน จนเป็นหนี้เป็นสิน หมดเนื้อประดาตัวกลายเป็นบุคคลล้มละลายทางความเชื่อถือ เป็นการเบียดเบียนและบีบคั้นตนเองอย่างรุนแรง บางรายถึงกับเครียดและคลุ้มคลั่งหรือขาดสติสัมปชัญญะในการดำรงชีวิต

ชีวิตที่สุดโต่งด้านวัตถุ ทำให้จมปลักในเรื่องกิน กาม และเกียรติ จนต้องต่อสู้และดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาได้เป็น ส.ส.แล้วก็อยากได้ตำแหน่ง รมต. เรียกว่าเมายศเมาอำนาจ เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ในสังคมโลกปัจจุบัน

ส่วนชีวิตที่สุดโต่งด้านจิตใจหรืออุดมการณ์ ทำให้ตนเองและครอบครัว เป็นทุกข์และเดือดร้อน เพราะวันหนึ่งๆ จริงจังกับการค้าความ การเรียกร้อง การต่อสู้ การฟ้องร้อง การตรวจสอบบุคคลอื่น จนเครียดและฟุ้งซ่าน เป็นอัตตกิลมถานุโยค ในสังคมโลกปัจจุบัน

กามสุขัลลิกานุโยค สุดโต่งด้านวัตถุ ส่วนอัตตกิลมถานุโยคสุดโต่งด้านจิตใจ การปรับเปลี่ยนและผ่อนคลายชีวิตไม่ให้สุดโต่งทั้งสองด้าน ต้องรู้จักกับความพอดี พอสมควร และพอประมาณ ตามหลักการแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชา หากปฏิบัติได้ดังนี้ชื่อว่า ถึงกระแสแห่งคุณค่าของชีวิต การนับถือพระพุทธศาสนาก็จะบังเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เป็นอเนกประกา

4.หลักการพัฒนาตนเพื่อสร้างชีวิตที่สมบูรณ์ : คนบางคนได้ดีเพราะมีปาก คนบางคนทุกข์ยากเพราะปากไม่ดี คนทั้งสองประเภทล้วนต้องพัฒนาตนเองทั้งสิ้น กล่าวคือ คนที่ได้ดีเพราะมีปาก หมายถึงคนที่มีนิสัยเอาเปรียบบุคคลอื่น มีพฤติกรรมเอาดีใส่ตัว ผลักความชั่วให้กับคนอื่น ส่วนบุคคลที่ทุกข์ยาก เพราะปากเป็นพิษ เป็นคนที่ขาดการสำรวมระวัง ขาดสติ และขาดขันติธรรมในการดำรงชีวิต

พระพุทธศาสนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทยเพราะพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ล้วนแต่ทรงเป็นพุทธมามกะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2560 มาตรา 67 ได้ระบุให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนศาสนิกให้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทมาพัฒนาจิตใจและปัญญา เป็นต้นนั้น มีความสอดคล้องกับหลักการพัฒนาตนตามแนวพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกระบวนการพัฒนาตนประกอบด้วย

4.1 พัฒนากาย (กายภาวนา) หมายถึงพัฒนาพฤติกรรมของตนให้เหมาะสมกับสถานภาพและบทบาทหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน เพื่อสร้างภาวะผู้นำและผู้ตามที่ดี

4.2 พัฒนาศีล (สีลภาวนา) หมายถึงการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนมีระเบียบวินัยในการดำรงชีวิต ไม่จมปลักในเรื่องยาเสพติด และอบายมุข

4.3 พัฒนาจิตใจ (จิตตภาวนา) หมายถึงการจัดระเบียบความคิดให้มีหลักคิด คนที่ไม่มีหลักคิด คือ คนที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่น เพราะมีความคิดที่ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาจิตใจคือการทำจิตใจให้มีสมาธิ สงบและนิ่งในอารมณ์หรือเหตุผล และเป็นคนที่ไม่ตะแบง

4.4 พัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) หมายถึงการพัฒนาสติปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรอง วิเคราะห์และวิจารณ์อย่างมีวิจารณญาณ จนสามารถเลือกเฟ้นและคัดสรรสิ่งที่ดีงาม และลด ละ เลิก ในสิ่งที่ไม่ดีงามหรือบาปอกุศล คนที่ไม่พัฒนาปัญญาแม้จะมีการศึกษาสูง ก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันในการไม่ทำชั่วหรือทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เพราะมองเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั่นเอง

5.สรุป : วันอาฬหบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกภายหลังตรัสรู้ได้สองเดือน ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย เมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เพื่อโปรดพวกปัญจวัคคีย์ และผลลัพธ์จากการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งนี้ ทำให้ท่านโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะได้ดวงตาเห็นธรรม และมีพระภิกษุสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา

วันอาสาฬหบูชาต่อเนื่องด้วยวันปุริมพรรษา หรือวันเข้าพรรษาต้น ชาวพุทธควรถือโอกาสวันหยุดราชการเนื่องในวันสำคัญดังกล่าวนี้ เข้าวัดปฏิบัติธรรม และฟังพระธรรมเทศนาเพื่อชำระจิตใจให้ปราศจากความทุกข์ ความผิดหวังในตำแหน่งที่คาดหวัง ความชิงชัง อาฆาตพยาบาท กับคนที่เราไม่ต้องการ เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูจิตใจให้พร้อมที่จะดำรงชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อพุทธศาสนิกชนคนไทย น้อมนำ ศีล สมาธิ และปัญญาไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาจิตใจ และปัญญา นอกจากจะเป็นหลักประกันป้องกันโรคล้มละลายทางศีลธรรมแล้ว ยังสามารถ ป้องกันโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในทุกกลุ่มอาชีพในสังคมไทยได้อีกด้วย เนื่องเพราะโรคซึมเศร้ามีสาเหตุที่สำคัญมาจากภาวะจิตที่เครียด ผิดหวัง ชิงชัง และฟุ้งซ่าน จากสภาพกดดันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในยุคดิจิทัล จนแพทย์ด้านจิตเวชเอาไม่อยู่

การชักชวนกันเข้าวัดทำบุญ ถวายผ้าอาบน้ำฝน ต้นเทียนพรรษา สดับพระธรรมเทศนา จะช่วยผ่อนคลายความเครียด ความเหม่อลอย และความฟุ้งซ่านเป็นต้นได้เป็นอย่างดี วันอาสาฬหบูชาก็จะเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม
คณะสังคมศาสตร์ มจร.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image