การผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศต้อง Demand Side

แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2549 ซึ่งเป็นแผนแม่บทระยะยาว 20 ปี ที่สถานศึกษาต่างๆ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษา ตามยุทธศาสตร์ที่ 2 : การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเป้าหมาย 2.1 กำหนดไว้ว่า กำลังคนมีทักษะที่สำคัญจำเป็นและมีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 4 : การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาเป้าหมาย 4.2 เพิ่มโอกาสทางการศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะบรรลุเป้าหมายที่กำหนด สถานศึกษาที่ผลิตกำลังแรงงานให้กับประเทศ คือสถาบันอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ละเลยความสำคัญของการอาชีวศึกษาทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครูในสถานศึกษาต่างๆ ส่งผลให้ผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาลดลงและโยงไปถึงคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาด้านอาชีวศึกษาที่มาจากความไม่สอดคล้องระหว่างอุปสงค์และอุปทานด้านทักษะและประสบการณ์ของหน่วยผลิต (แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล, 2555) นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ เรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ โดยปกป้อง จันวิทย์ และศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ (2014) สรุปปัญหาของระบบอาชีวศึกษาไว้ดังนี้

1.การขาดแคลนในระบบอาชีวศึกษา

2.เงินอุดหนุนรายบุคคลไม่เพียงพอ

3.การขาดแคลนครูในระบบอาชีวศึกษา

Advertisement

ในการวิจัยของณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ ในเรื่องการปฏิรูปอาชีวศึกษาของประเทศไทย (TDRI) ได้ระบุปัญหาคุณภาพของอาชีวศึกษา (ภาคปกติ) มาจากสาเหตุใหญ่ๆ 3 ประการคือ

1.เนื้อหาไม่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นต้องใช้ประกอบอาชีพ

2.สถานศึกษาอาชีวศึกษาขาดแคลนทรัพยากร

Advertisement

3.มีข้อบกพร่องในระบบประกันคุณภาพวิทยาลัยอาชีวศึกษา

สำหรับอาชีวศึกษา (ภาคทวิภาคี) มีอุปสรรคในการขยายระบบอาชีวศึกษาดังนี้

1.ขาดมาตรการส่งเสริมสามารถหวังผลได้จริง

2.ขาดระบบประกันคุณภาพ

3.ขาดองค์กรกลางที่ช่วยบริหาร

ข้อสรุปบางประการที่สะท้อนให้เห็นการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาทั้งระบบของประเทศซึ่งเป็นข้อมูลสารสนเทศที่ได้จากการวิจัยของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเมื่อนำไปเทียบกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ประเทศไทยจะต้องเร่งรัดปรับรื้อมาตรการต่างๆ ให้ชัดเจนและมุ่งผลให้เกิดขึ้นจริง และเมื่อพิจารณากำลังแรงงานที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง-EEC) ที่ระบุข้อมูลความต้องแรงงานอาชีวศึกษาในช่วง 2560-2564 ในอุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve และ New S curve ไว้อย่างชัดเจรร ได้แก่ 1) ยานยนต์สมัยใหม่ 2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) การท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) อุตสาหกรรมดิจิทัล 9) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

นอกจากนี้ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (อปท.นิวส์, 16-31 พ.ค.62 น.14) ระบุว่าภายใต้ส่งเสริมตามกรอบ EEC มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานอาชีวศึกษาถึง 173,705 คน ซึ่งยังขาดแคลนอีก 55,462 คน หรือ 32% และยังได้กล่าวถึงงานวิจัยของตนเอง และ ดร.วรรณวิศา สืบนุสรณ์ เรื่อง Vocational Education in Thailand : Its Evolution, Strengths Limitations, and Blueprint for future ของตนและ ดร.วรรณวิศา สืบนุสรณ์ พบว่าคุณภาพของผู้กำลังเรียนเกือบ 1 ล้านคน ในวิทยาลัยของรัฐและเอกชนมีปัญหาเชิงคุณภาพ 4 ประการคือ
1) คุณภาพของผู้สมัครเรียนคะแนนไม่สูงนัก 2) คุณภาพของผู้สอนยังไม่ดีขาดประสบการณ์ 3) หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ทันสมัย ส่วนใหญ่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ 4) อุปกรณ์ล้าสมัย ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสถาบันอาชีวศึกษามีเป็นจำนวนมากเปิดสอนในสาขาที่สถานประกอบการไม่ต้องการ โดยมีการเปิดสอนสาขาใดก็ได้ โดยไม่ต้องพิจารณาความต้องการของสถานประกอบการ (ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์, TDRI) ซึ่งแสดงว่ายังจัดการศึกษาอาชีวศึกษาในแนว Supply Side

หากประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และรองรับตลาดแรงงานในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะต้องปรับรื้อ (reengineering) ทิศทางการจัดการอาชีวศึกษาโดย Demand Side Approach ให้จริงจังโดยเน้นการสู่ปฏิบัติมากกว่าการจัดทำแผนบนก้อนเมฆ ซึ่งจะต้องอาศัยผู้บริหารการอาชีวศึกษามีอาชีพผู้ทรงคุณวุฒิที่แท้จริงในด้านอาชีวศึกษา และหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการเตรียมกำลังคนระดับอาชีวศึกษา เพื่อให้ตอบสนองต่อตลาดงาน EEC และโดยรวมของประเทศไทย

ข้อเสนอที่ควรพิจารณาในการจัดการอาชีวศึกษา มีดังนี้

1ควรพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษาโดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางปฏิรูปการอาชีวศึกษา คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1) การสร้างพลเมืองคุณภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน 2) ครูและบุคลากรทางการศึกษา 3) การจัดการเรียนรู้ 4) การมีส่วนร่วมการเพิ่ม การกระจายโอกาส และคุณภาพ การลดความเหลื่อมล้ำ และ
5) หลักสูตรการเรียนรู้ ซึ่งมีข้อเสนอรวมทั้งสิ้น 26 ข้อ เพื่อนำสู่การปฏิบัติภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน

2.ควรเพิ่มงบประมาณให้กับการจัดอาชีวศึกษา เนื่องจากต้องเพิ่มการลงทุนครุภัณฑ์ทางการศึกษา เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว

3.ควรร่วมมือกับสถานประกอบการทางธุรกิจอุตสาหรรมเพื่อจัดการศึกษาร่วมกันในระบบทวิภาคีที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ

4.ในส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะของ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ต่อการเตรียมกำลังคนอาชีวศึกษาสู่ตลาดงาน EEG มีข้อเสนอที่ควรนำสู่การปฏิบัติดังนี้

4.1 ครูช่างที่กำลังจะเกษียณอายุหลายพันคนในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้นต้องยกระดับคุณภาพครูใหม่ในช่วง 2 ปีนี้ โดยการส่งครูไปศึกษาเพิ่มเติมภายใต้ความช่วยเหลือของวิทยาลัยโพลีเทคนิคของจีนหลายแห่งในโครงการ Belt and Roads Initiatives

4.2 คณะกรรมการอาชีวศึกษาของไทยจะต้องเร่งสร้างห้องทดลองกลางให้มี Model สำหรับฝึกทักษะอย่างครบวงจร

4.3 การรับครูรุ่นใหม่อาจรับจากผู้จบการศึกษาทางเทคโนโลยีบัณฑิตที่เรียนเก่ง และฝึกอบรมเพิ่มเติม

4.4 ปรับหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และหรือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

5.ข้อเสนอการวิจัยการปฏิรูปอาชีวศึกษาของประเทศไทย โดยณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ (TDRI) ได้แก่

5.1 ขยายผลการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีด้วยการจัดตั้งกองทุนอาชีวะทวิภาคี

5.2 พัฒนาทักษะความรู้พื้นฐานด้วยการปรับหลักสูตรระดับ ปวช.

5.3 แก้ไขปัญหาทรัพยากรด้วยการเพิ่มงบประมาณเป็น 44,500 ล้านบาทต่อปี

5.4 ปฏิรูประบบการพัฒนาอาจารย์อาชีวศึกษาและระบบการจัดทำหลักสูตรด้วยการจัดตั้งสถาบันวิชาชีพอาจารย์อาชีวศึกษา

5.5 ปรับปรุงระบบประกันคุณภาพภายนอกเพื่อพัฒนาคุณภาพ

6.รัฐบาลควรมีมาตรการที่เข้มข้นและจริงจังในการปรับรื้อแนวทางการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาไปเป็น Demand Side ทั้งรัฐและเอกชนทั้งหมด

7.ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ทั้งระดับ ปวช.และ ปวส.ทุกคนจะต้องเข้าสอบเพื่อขอรับรองมาตรฐานอาชีพจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแต่ละสาขาวิชาชีพ หรือมาตรฐานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

การนำประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของไทยจำเป็นจะต้องมีความมุ่งมั่นสูงโดยเฉพาะแรงงานการผลิตในตลาดแรงงานจะต้องมีสมรรถนะตรงตามความต้องของตลาดงานทั้งด้านสาขาวิชาชีพ สมรรถนะในการทำงาน

ดังนั้นผู้ทรงเกียรติทั้งหลายที่กำลังอาสาเข้ามารับใช้ประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ควรคัดสรรเป็นพิเศษเพื่อสร้างระบบการศึกษาของประเทศให้ทันสมัยและมีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image