การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (1) : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ภาพจิตรกรรมวิปัสสนาญาณในโบสถ์วัดโพธิ์บางโอ นนทบุรี

ในสยามสมัยหลังกรุงเก่า การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมเป็นส่วนสำคัญของการสืบทอดพระพุทธศาสนามิให้เสื่อมสูญไปตามภาวะสงครามและสภาพบ้านเมืองที่มีปัญหาขื่อแปเป็นเวลานาน

จากนั้น การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมก็ยังคงได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติธรรมที่รุ่งเรืองและเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในปัจจุบันจึงมิได้ดำเนินมาตามยถากรรม หากแต่ได้ผ่านการดูแลรักษาไว้แต่อดีต

สมัยกรุงธนบุรีเป็นสมัยที่การปฏิบัติธรรมได้รับการสืบทอดมิให้เสื่อมหายหรือขาดตอน

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การปฏิบัติธรรมได้รับการส่งเสริมให้เติบโตควบคู่ไปกับการศึกษาของพระสงฆ์

Advertisement

ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลางและตอนปลาย การปฏิบัติธรรมได้รับการชำระให้มีแนวทางที่ถูกต้องและตรงสู่เป้าหมายที่แท้จริงของชาวพุทธ

ร้อยปีแห่งการชำระแนวทางการปฏิบัติธรรมนี้เป็นเหตุอันมีส่วนสร้างความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน

การสิ้นสุดรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี สำนักกรรมฐานของสมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สายปฏิบัติที่มีประวัติพอติดตามได้นั้นได้มีการสานต่อที่วัดประดู่ในอยุธยาที่เคยร้างไปตั้งแต่ครั้งเสียกรุง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมตามแนวทางสมถวิปัสสนายังคงมีการสานต่ออย่างเข้มแข็ง

เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเชิญพระภิกษุอาวุโสจากกรุงเก่ามาเป็นหลักในงานวิปัสสนาธุระ เกิดสำนักกรรมฐานหลักขึ้นที่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) และวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ทั้งสองวัดเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีอัันเป็นวัดนอกเมืองที่มุ่งไปทางการปฏิบัติธรรม

สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ซึ่งครองวัดพลับและพระปัญญาพิศาลเถร (ศรี) ซึ่งครองวัดสมอรายต่างสืบสายปฏิบัติมาจากคณะวัดป่าแก้วและต่างเป็นพระอาจารย์สำคัญในพระบรมวงศานุวงศ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ทรงเคยปฏิบัติธรรมในสำนักพระอาจารย์ทองอยู่ที่วัดระฆัง สมัยรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี และเมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงปฏิบัติในสำนักพระปัญญาพิศาลเถร (ศรี) เมื่อครั้งที่พระองค์อุปสมบทในปี พ.ศ.2331 ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และ 4 ก็ทรงปฏิบัติในสำนักของสมเด็จพระญาณสังวร (สุก)

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น การปฏิบัติธรรมได้รับการส่งเสริมอย่างมากและถือเป็นส่วนสำคัญของการสืบสานพระศาสนา มีการแต่งตั้งอาจารย์บอกกรรมฐานของวัดจำนวนมาก กุลบุตรกุลธิดาก็มีการศึกษาในวัดเป็นปกติ การปฏิบัติธรรมจึงมีบทบาทมากในหมู่ฆราวาสอย่างกว้างขวาง มิใช่เฉพาะพระภิกษุและผู้อาวุโสชราเท่านั้น

การศึกษากรรมฐานและธุดงควัตรแบบอรัญวาสีเป็นกิจที่พระสงฆ์สนใจปฏิบัติเพิ่มเติมจากการศึกษาพระบาลี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงส่งเสริมวิปัสสนาธุระมาก วัดที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนาธุระมีหลายแห่ง เช่น วัดเงินบางพรหม (วัดรัชฎาธิษฐาน) วัดสมอแครง
(วัดเทวราชกุญชร) วัดสระเกศ วัดอรุณ วัดอินทร์ และวัดสังเวชวิชยาราม ส่วนวัดทั่วไปก็มักส่งเสริมทั้งทางด้านปริยัติและวิปัสสนาควบคู่กัน

ส่วนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการสร้างวัดเพื่อการปฏิบัติธรรมโดยตรงถึง 2 แห่ง พระวชิรญาณเถระ รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างวัดบรมนิวาสและกรมหลวงรักษ์รณเรศทรงสร้างวัดเพลงวิปัสสนา

ในแง่ของสถิติที่อ้างอิงจากจดหมายเหตุ วัดที่มีอาจารย์สอนกรรมฐานในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มี 70 แห่งโดยอยู่ในกรุงเทพฯ 29 แห่ง ส่วนในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ในกรุงเทพฯ เฉพาะวัดหลวงที่มีอาจารย์สอนกรรมฐานมีมากถึง 53 แห่ง อีกทั้งยังทรงสร้างคณะกุฏิในวัดที่ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เพื่อใช้สำหรับการภาวนา วัดที่ขุนนางใกล้ชิดพระองค์ทำนุบำรุงก็มีความพิถีพิถันอย่างยิ่งและมีงานจิตรกรรมชั้นสูงมากมาย

ที่โบสถ์วัดโพธิ์บางโอมีจิตรกรรมที่พิเศษ วัดนี้สร้างโดยพระสัมพันธวงศ์ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ซึ่งมีหลวงเสนีย์บริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ) เป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงดูแลงาน ซึ่งงานจิตรกรรมฝาผนังที่พิเศษนี้เป็นภาพที่แสดงวิปัสสนาญาณและธุดงควัตร โดยมีคำว่า “ได้มุญจิตุกัมยตาญาณแล้วบวช” หลายแห่ง

มุญจิตุกัมยตาญาณเป็นวิปัสสนาญาณขั้นสูงและสูงกว่านิพพิทาญาณ ญาณขั้นนี้ผ่านขั้นเบื่อหน่ายในโลกียวิสัยของนิพพิทาญาณแล้ว โดยเป็นขั้นที่ต้องการพ้นไปเสียจากสังขารการปรุงแต่งทั้งหลายแล้ว

นี่เป็นการสะท้อนว่าในสมัยนั้นมีการส่งเสริมให้มีการเจริญภาวนาจนถึงขั้นที่ผ่านวิปัสสนาญาณขั้นสูงทีเดียวในหมู่ฆราวาสและได้แนะนำให้เจริญภาวนาจนถึงขั้นนี้ก่อนแล้วจึงเดินมรรคต่อในเพศบรรพชิตจนถึงพระนิพพาน

นับเป็นการบ่งชี้ถึงความเจริญของสำนักวัดพลับอย่างดียิ่งเพราะนอกจากแสดงความศรัทธาในวิปัสสนากรรมฐานอย่างมากแล้วยังมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งเป็นการเฉพาะด้วย

การส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังทำให้พระภิกษุจำนวนมากต้องเข้ารับการฝึกอบรมที่สำนักกรรมฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดพลับ วัดต่างๆ ทั่วประเทศมีพระภิกษุที่สนใจการปฏิบัติอยู่ทั่วราชอาณาจักร หลายสำนักเป็นที่ศรัทธาจนถึงยุคหลัง

สำนักกรรมฐานที่รู้จักกันดีในปัจจุบันเช่นสำนักของวัดท่าซุงของหลวงพ่อฤาษีลิงดำและวัดปากน้ำของหลวงพ่อสดล้วนสืบสายการปฏิบัติมาจากสำนักวัดพลับ เกจิอาจารย์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน

วัดพลับนับเป็นศูนย์กลางของการอบรมกรรมฐานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีรากฐานมาจากสายคณะป่าแก้วอันเป็นฝ่ายคามวาสีในสมัยกรุงเก่า การศึกษาจึงอาจเน้นความครอบคลุมวิธีปฏิบัติให้ครบ วิธีปฏิบัติที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคมีรวบรวมไว้ถึง 40 บท หลายบทว่าด้วยกสิณซึ่งนิยมสำหรับการเจริญฌานให้ได้ฤทธิ์หรืออภิญญา

เนื่องจากแนวทางสมถวิปัสสนานี้เป็นการเดินมรรคสมาธิหรือฌานก่อน ความสุขในสมาธิหรือฌานจึงอาจทำให้ผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่เข้าอบรมต้องการเพียงนั้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงมีหันไปนับถือพระศรีอาริยเมตไตรยไม่น้อย ที่หันไปทำมาหากินทางคาถาอาคมก็มีมาก

ในช่วงต้นๆ ความสนใจที่เคร่งครัดในการปฏิบัติตรงสู่พระนิพพานคงมีมากพอสมควร แต่เมื่อมีการเผยแผ่ออกไปมากขึ้น ครูอาจารย์ที่บอกกรรมฐานได้ดีและมีประสบการณ์สูงยากที่จะมีเพียงพอ แนวทางสมถกรรมฐานเป็นการปฏิบัติทางจิตที่อาจหลงทางได้ง่ายเนื่องจากมิได้อบรมทางด้านปัญญาอย่างเพียงพอตั้งแต่ต้น การปฏิบัติมักต้องอาศัยการควบคุมชี้แนะจากอาจารย์บอกกรรมฐานเป็นการเฉพาะค่อนข้างมาก

ความจริงแล้ว ค่านิยมที่สนใจสมถกรรมฐานเพราะต้องการอภิญญาและความพิเศษทางด้านไสยศาสตร์และคาถาอาคมนับว่ามีมากมาแต่อดีต แต่สิ่งเหล่านี้มีส่วนบั่นทอนพระพุทธศาสนาและสร้างความงมงายในหมู่ประชาชน เมื่อพระภิกษุจำนวนมากหันเหออกจากแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา มีความย่อหย่อนในวินัยสงฆ์ มีการอวดอุตตริมนุสสธรรมและใช้ศาสนาในการแสวงหาผลประโยชน์หรือหลอกลวงประชาชนที่ขาดความรู้ พระสงฆ์ก็เริ่มมีการสะสมเงินทองและมีการแย่งชิงมรดก จนกลายเป็นปัญหาอลัชชีและการขาดศรัทธาขึ้นในหมู่พุทธบริษัท

ในรัชสมัยของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวชิรญาณเถร รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงปัญหาวินัยสงฆ์ พระองค์ทรงจัดตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นเพื่อให้มีคณะสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระวินัยอย่างจริงจัง ซึ่งในช่วงท้ายของรัชกาล ปัญหาอลัชชีก็ทำให้ฝ่ายปกครองสงฆ์ต้องสึกพระภิกษุเป็นจำนวนมากมาย (แต่ไม่ถึงขั้นมีการลงโทษที่รุนแรงหรือถึงแก่ชีวิตเหมือนที่เคยเกิดกับพม่าในอดีต)

พระวชิรญาณเถร รัชกาลที่ 4 ทรงมั่นใจในคณะกัลยาณีสีมาของมอญว่าเป็นลังกาวงศ์ที่บริสุทธิ์ที่สุดในรัชสมัยนั้น พระองค์ทรงพยายามให้มีการสืบสมณวงศ์อย่างถูกต้องซึ่งมีประวัติว่าพระสงฆ์ต้นวงศ์ธรรมยุตมักมีการอุปสมบทใหม่กันหลายครั้ง

คณะกัลยาณีสีมาเป็นการสืบทอดลังกาวงศ์ครั้งใหญ่ที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.ศ.2013-2035) พระองค์เป็นพระภิกษุมาก่อนนามว่า “พระมหาปิฎกธร” และได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ว่าทรงเป็นนักปกครองชาวพุทธที่ยอดเยี่ยม เมื่อครองราชย์ได้ทรงยุบนิกายต่างๆ และให้พระสงฆ์มอญบวชใหม่จากคณะมหาวิหารทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี การสืบทอดเข้าสู่มอญระลอกนี้เกิดก่อนการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาในลังกา

เมื่อคณะธรรมยุติกนิกายเกิดขึ้น คณะสงฆ์ส่วนที่เหลือซึ่งมีจำนวนมากมายก็เรียกว่ามหานิกาย โดยมีแนวทางการปฏิบัติธรรมแบบสมถวิปัสสนาดั่งเดิม สำนักวัดพลับยังคงเป็นสำนักกรรมฐานหลักและมีพระสงฆ์จากฝ่ายธรรมยุติกนิกายไปศึกษาสมาธิภาวนาที่นั่นด้วย

ในการจัดตั้งคณะธรรมยุติกนิกาย พระวชิรญาณเถรได้ทรงมีคณะสงฆ์ที่เคร่งครัดและตั้งใจใฝ่การปฏิบัติเข้าร่วมอย่างมาก มีทั้งส่วนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และส่วนที่มาจากต่างจังหวัด

ส่วนหลังนี้หลายท่านเป็นชาวอุบลราชธานีและบริเวณใกล้เคียง ต่อมาจึงเกิดเป็นกำลังสำคัญขึ้น ซึ่งบางทีเรียกว่าคณะธรรมยุตสีทันดร อันเป็นจุดกำเนิดของพระสงฆ์สายวัดป่าในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image