ภาพเก่าเล่าตำนาน : กบฏแมนฮัตตัน…ระเบิดลั่นสนั่นเจ้าพระยา (8) โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ต่อจากตอนที่ 7 นะครับ..ไม่โยกโย้…ไม่อ้อมค้อม..เข้าเรื่องกันเลยครับ

นาวาตรี มนัส จารุภา หัวหน้ากบฏแมนฮัตตัน กำลังอยู่ท่ามกลางมฤตยู ถูกนายตำรวจระดับอัศวิน 3 คน สอบสวนอย่างเคร่งเครียดในห้องมิดชิด ณ สโมสรตำรวจ คำถามจากตำรวจ คาดคั้น กดดัน เพื่อจะ “ขอคำตอบ” กรณี นาวาตรี มนัส ตั้งใจจะหลบหนีไปเมืองจีนเพื่อนำกำลังทหารจีนแดงมาบุกสยามประเทศ…?

นาวาตรี มนัสฯ ปฏิเสธเรื่องทั้งหมด อรรถาธิบายต่อตำรวจว่าไม่มีอำนาจวาสนาคิดจะทำเรื่องดังกล่าว …กองทัพจีนคงไม่ให้ราคาแก่ตน… ทหารเรือลูกหลานเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ไม่เคยคิดย่ำยีบีฑาแผ่นดินเกิดขนาดนั้น…

Advertisement

คำตอบที่ไม่ตรงใจ ทำให้พันตำรวจตรี อรรณพ อารมณ์เสีย ตบโต๊ะเปรี้ยง ประกาศตัดขาดความเป็นเพื่อน และตะคอกจะขอนำตัวนาวาตรี มนัส ไปตอนเวลา 5 โมงเย็น

เลือดในกายของลูกประดู่หนุ่มในเพชร ฉีดแรง พร้อมคำรามตอบ

“ผมยังถือว่าคุณเป็นเพื่อนกับผมอยู่เสมอ แต่ถ้าคุณต้องการเอาผมไปทำอย่างที่ทำกับคุณพจน์ ก็ไม่ต้องรอถึง 5 โมงเย็นให้เสียเวลา เอาไปเสียเดี๋ยวนี้เลย ผมเองก็รอดตายมาหลายหนแล้ว…”

Advertisement

พันตำรวจตรี พันธ์ศักดิ์ ผู้อาวุโสที่สุดในทีมสอบสวน ลุกขึ้นมากันตัว พันตำรวจตรี อรรณพ ที่กำลังเดือดจัดออกไปจากตัวผู้ต้องหา พันตำรวจตรี วิชิต นักเรียนเทพศิรินทร์สถาบันเดียวกับ นาวาตรี มนัส ที่คอยนอกห้อง ถลันเปิดประตูเข้ามาในห้องสอบสวนเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์….

“คุณพจน์” ที่ นาวาตรี มนัส เอ่ยถึงคือ นาวาโท พจน์ จิตรทอง นายทหารเรือที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงตายหน้าสโมสรตำรวจ ใกล้ๆ วัดเบญจมบพิตร เป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนนายเรือ 2 รุ่น ซึ่งนาวาโท พจน์ มิได้ร่วมรู้เห็นการปฏิบัติงานของ “คณะกู้ชาติ” เลย แม้แต่น้อย

พันตำรวจตรี พันธุ์ศักดิ์ พาตัว พันตำรวจตรี อรรณพ ออกไปนอกห้องและตัดสินใจเปลี่ยนพนักงานสอบสวนใหม่ โดยจะขอให้ พันตำรวจเอก ประจวบ กีรติบุตร มาเป็นผู้สอบสวนแทน

พันตำรวจตรี วิชิต บอกกับหัวหน้ากบฏว่า พันตำรวจตรี อรรณพ ฆ่าคนมาเยอะ อารมณ์ร้อน ตาขวางแบบนี้เสมอ แล้วพาลูกประดู่หนุ่มไปทานอาหารเย็น แล้วพากลับเข้าห้องขัง ไม่ให้ใครมารบกวน

เป็นอันว่า…5 โมงเย็นวันเลือดเดือด พันตำรวจตรี อรรณพ พุกประยูร ไม่มีโอกาสได้อุ้ม นาวาตรี มนัส ไปไหน..ถือว่า “รอดตาย”

การสอบสวนผู้ต้องหาระดับหัวหน้ากบฏของแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะต้องลากไส้ออกมาให้หมดว่าใครเกี่ยวข้อง ร่วมมือบ้าง

เทคนิคที่ได้ผลเสมอ คือ การสอบในยามวิกาล…ราว 20.00 น. ตำรวจมานำตัว นาวาตรี มนัสฯ ไปที่ห้องสอบอีกครั้ง โดย พันตำรวจเอก ประจวบ กีรติบุตร เป็นผู้สอบปากคำด้วยตัวเอง

นาวาตรี มนัส ตัดสินใจครั้งสำคัญที่เปิดเผยข้อมูล เรื่องการคอร์รัปชั่นอื้อฉาวกรณีซื้อรถเกราะเหลือใช้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 จากรัฐบาลอินเดียเพื่อนำมาใช้ในกองทัพบก โดยพาดพิงไปถึงผู้ใหญ่ในกองทัพ จนเกิดฉายา “นายพลรูปี” ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกรายงานไปถึงอธิบดีตำรวจ เผ่า ศรียานนท์ การสอบสวนได้ข้อมูลเป็นที่พอใจ ซึ่งลูกประดู่ทหารอาชีพ ชื่อ นาวาตรี มนัส มิได้ซัดทอด หรือป้ายสีใครทั้งสิ้น

อันที่จริง นาวาตรี มนัส เป็นลูกทะเลโดยกำเนิด มีสายเลือดของทหารเรือ สนใจการปกครอง ใส่ใจเรื่องบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาล เพราะบิดา คือ พระยาปรีชาชลยุทธ์ หรือ พลเรือตรี วัน จารุภา อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ในช่วง 6 ก.ค. 2475 ถึง 4 ส.ค. 2476 ในช่วงเวลานั้น ทหารเรืออึดอัด

ตำรวจพอใจกับ “ความตรงไปตรงมา” ของ นาวาตรี มนัส ซึ่งพันตำรวจเอก เยื้อน ประภาวัตร อนุญาตให้ย้ายที่พักจากอาคารสันติบาลไปอยู่เรือนจำชั่วคราวที่สะอาดสะอ้านกว่า และ ณ ที่คุมขังแห่งใหม่ นาวาตรี มนัส จึงได้พบกับนักโทษการเมือง “ระดับตัวเป้งๆ” มหาศาลที่ถูกกวาดล้างจับกุมตัวมาส่วนใหญ่ข้อหา ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นภัยต่อความมั่นคง

มีนักโทษการเมืองพร้อมหน้าพร้อมตาในคุก บุคคลสำคัญตั้งแต่รัฐมนตรี นายธนาคาร นักศึกษา นายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส.สกลนคร แม้กระทั่ง ผบ.เรือนจำเกาะตะรุเตาเองก็เอาตัวไม่รอด ถูกส่งมาขังรวมกัน

มีนักโทษเข้ามาเพิ่มในคุกไม่ขาดระยะ เพราะรัฐบาลในเวลานั้นกวาดล้างคู่แข่งทางการเมืองแบบเหี้ยนเต้ มีความหวาดระแวงทุกกลุ่มทุกความเห็นต่าง และในที่สุด นักโทษคนสำคัญ คือ พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของนาวาตรี มนัส และบรรดานายทหารเรือระดับสูงอีกจำนวนมาก ที่ถือว่าต้องรับผิดชอบการกบฏของ “กลุ่มทหารเรือ” ก็เข้ามาอยู่ในห้องขังใต้ชายคาเดียวกัน

ในคุกพอมีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน ทำให้ทราบข่าวสารบ้านเมือง มีคนเข้า มีคนออกจากคุกแล้วไปตายข้างนอก การเมืองในสภา นอกสภา คึกคักเข้มข้น แย่งชิงอำนาจกันสารพัดรูปแบบ ต้องเดินทางไปที่ศาลด้วยขบวนรถมีการคุ้มกันแน่นหนา มีกระบวนการชี้ตัวผู้ต้องหาที่ต้องมาชี้ตัว โดยเฉพาะทหารเรือที่ล้วนแล้วแต่คุ้นหน้ากันทั้งนั้น

วันหนึ่ง …นายตำรวจที่ติดตามจอมพล ป. ชื่อ พันตำรวจตรี สิงโต สังกาศ ที่โดนนาวาตรี มนัส จารุภา จี้จับตัวบนเรือแมนฮัตตัน เมื่อ 29 มิถุนายน 2494 ก็ต้องมาชี้ตัวนาวาตรี มนัสด้วย นายตำรวจหนุ่มยื่นมือมาจับมือกันแบบแมนๆ กล่าวให้อภัย อโหสิให้แก่กัน…..

เรื่องราวแบบนี้ เป็น “คุณสมบัติของลูกผู้ชาย” ที่หาได้ไม่ง่ายนัก ไม่อาฆาตแค้นฝังหุ่น ไม่ค่อนแคะ จีบปากจีบคอ แขวะด่า…

ในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ของ นาวาตรี มนัส บันทึกว่า…

…“จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ต้องมาชี้ตัว นาวาตรี มนัส ด้วย วันนั้น นาวาตรี มนัส ถูกนำตัวไปที่ตึกกองตำรวจสันติบาล ปทุมวัน ตำรวจในเครื่องแบบ นอกเครื่องแบบคึกคักเต็มอัตราศึก…

…นาวาตรี มนัส ถูกนำตัวไปเข้าแถวหน้ากระดานปะปนรวมกับบุคคลอื่นๆ …จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีของไทยในชุดสูทสีขาวเข้ามาในห้องพร้อม พระพินิจชนคดี รองอธิบดีตำรวจ ท่านยืนห่างจากแถวราว 6 เมตร …ตำรวจกล่าวแนะนำให้ท่านชี้ตัว…เมื่อ “หัวหน้ากบฏ” คนที่จี้จับตัวสบตากับจอมพล ป. ก็เป็นอันว่า จบข่าว …นาวาตรี มนัส ยกมือไหว้

… จอมพล ป. กวักมือเรียกนักโทษ นาวาตรี มนัส เข้ามาหา ..ยืนห่างจากท่านประมาณ 1 เมตร สอบถามสารทุกข์สุกดิบ ด้วยอารมณ์แจ่มใส และกล่าวว่า กลับมาเมืองไทยก็ดีแล้ว อย่าไปอยู่ต่างประเทศเลย ลำบาก …เรื่องโทษทัณฑ์ ถ้าสารภาพก็คงจะลดหย่อนลงไป…

…นักโทษมนัส กล่าวขอบคุณ พร้อมยกมือไหว้…”

จอมพล ป. และคณะเดินออกจากห้อง จบกระบวนการชี้ตัวจำเลยของพยานโจทก์ปากสำคัญ

ในยุคหลังกบฏแมนฮัตตัน คดีความมั่นคง คับคั่งแน่นศาลไปหมด

12 มิถุนายน 2496 เป็นเหตุการณ์สำคัญ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก… จอมพล ป. ต้องมาให้การอีกครั้ง ในฐานะพยานและหัวหน้ารัฐบาล ท่านได้รับอนุญาตให้นั่งขณะให้การต่อศาล ท่านเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด …จอมพล ป. มิได้ให้การปรักปรำให้ร้าย มิได้กล่าวหา นาวาตรี มนัส แต่อย่างใด…นี่คือ เรื่องจริงของลูกผู้ชายตัวจริง

พยานคนต่อไปที่ขึ้นให้การ คือ พันตำรวจโท เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ซึ่งให้การต่อศาลว่า นาวาตรี มนัส คือ คนที่นำความลับของราชนาวีไทยไปขายแก่กระทรวงกลาโหมพม่า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอ้างว่า ได้มาจากนางวิบูลวรรณ มัณฑจิตร ภรรยาของ พันตรี วีรศักดิ์ มัณฑจิตร ที่หลบหนีเข้าไปในพม่าด้วยกันหลังเหตุการณ์

นาวาตรี มนัส นั่งฟังข้อกล่าวหาที่แหวกแนวและแสนสกปรก

นายประไพ โกศัยดิลก นายฟัก ณ สงขลา ทนายของนาวาตรี มนัส ซักค้าน ก็สามารถลบล้างข้อกล่าวหาได้

นาวาตรี มนัส ที่ติดตาราง ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลโทษถึงประหารชีวิต มิใช่ก่อ “กบฏแมนฮัตตัน” คดีเดียว แต่การสอบสวนยังไปเหมารวมคดี กบฏ 10 พฤศจิกายน 2595 ด้วยอีก 1 คดี ซึ่ง นาวาตรี มนัส มิได้มีส่วนรู้เห็นแต่ประการใดทั้งสิ้น

ขอตบท้ายเป็นข้อมูลว่า…วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงมือจับกุมประชาชนจำนวนมาก กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 จับกุมบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน โดยมากเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักกฎหมาย อาทิ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายมารุต บุนนาค ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ นายปาล พนมยงค์ พลตรี เนตร เขมะโยธิน ฯลฯ เหตุการณ์ครั้งนี้ เรียกกันว่า กบฏสันติภาพ

ข่าวดีพอมีบ้าง…นักโทษชาย มนัส จารุภา และนักโทษกบฏจำนวนหนึ่ง… ได้รับคำสั่งให้ย้ายคุกไปอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง นนทบุรี

เสียงเฮลั่นสนั่นคุก เพราะบางขวางสะอาด และโอ่อ่ากว่าเยอะ

ตอนต่อไปจะขอกล่าวถึง นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา คู่หูผู้ก่อกบฏแมนฮัตตัน ที่หลบหนีไปอยู่กับกองกำลังกู้ชาติมอญในดินแดนพม่า…ได้ภรรยาเป็นมอญ

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

ข้อมูลจาก “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” โดย นาวาตรี มนัส จารุภา และ “ทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน” โดย นิยม สุขรองแพ่ง

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image