นโยบายการศึกษา ปัญหาคือความสมดุล : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำทีมคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เป็นการแถลงครั้งที่ 2 นับแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งแรกแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 12 กันยายน 2557 หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ครั้งนี้จึงต่างไปจากครั้งก่อน ตรงสมาชิกสภามีทั้งมาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง มีฝ่ายค้านเป็นเรื่องเป็นราว สาระ บรรยากาศน่าจะเข้มข้นกว่า จะทดสอบความอดทนต่อแรงยั่วยุ กดดันของฝ่ายผู้แถลงยิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง

ผมขอเจาะเฉพาะนโยบายการศึกษา รวม 7 ข้อ 1.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัย 2.พัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ 3.พัฒนาอาชีวะ พัฒนาคุณภาพวิชาชีพและพัฒนาแรงงานรองรับอุตสาหกรรม 4.0 4.ดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาร่วมทำงานกับคนไทยและส่งเสริมผู้มีความสามารถสูง 5.วิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 6.ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทุกช่วงวัย 7.จัดระบบปริญญาชุมชนและการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น บางข้อมีรายละเอียดแยกย่อยลงไป

Advertisement

ถามว่า นโยบายทั้งหมดตอบโจทย์ประเด็นปัญหาหลักของการศึกษาไทย ทั้งคุณภาพ โอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือไม่

อ่านลึกลงไปจะพบว่า สะท้อนวิธีคิดถึงทิศทางการศึกษาของชาติที่ควรจะเดินไปชัดพอสมควร พิจารณาจากการจัดลำดับให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นข้อแรก ขณะเดียวกันปรับระบบการศึกษา และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้อง ตอบสนองกับสภาพสังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น การจัดการศึกษาจึงต้องคำนึงถึงผู้เรียนที่เปลี่ยนไปมีทุกเพศทุกวัย เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกันมุ่งเน้น การศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ

กล่าวได้ว่าโดยหลักการ นโยบาย ตอบโจทย์ชัดว่าจะทำอะไร แต่ประเด็นที่ยังไม่ชัดคือจะทำอย่างไร ด้วยโมเดลหรือวิธีการใด ไม่ปรากฏคำตอบเท่าที่ควร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นหัวใจ

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา 5 ปีที่ผ่านมาในประเด็นโครงสร้าง การแยกการอุดมศึกษาออกเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นย่างก้าวที่ถูกต้อง เพื่อทำให้อุดมศึกษาซึ่งเปรียบเสมือนหัวรถจักร มีประสิทธิภาพ พัฒนาก้าวหน้าสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เป็นตัวนำ ลากจูงองค์กรการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นขบวนรถไฟ ให้วิ่งไปถูกทิศถูกทาง เร็วมากขึ้น

ความเป็นจริงจึงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ การขับเคลื่อนผลักดันนโยบาย ภายใต้ระบบราชการ และวัฒนธรรมอำนาจสั่งการที่ยังแข็งแกร่งอยู่ จะทำให้การประสานระหว่างหน่วยงานและการปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรมของคน เปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยแค่ไหน

ตัวละครสำคัญตั้งแต่ฝ่ายการเมือง ผู้กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย จนถึงฝ่ายประจำ ครู ผู้บริหาร ตลอดจนถึงฝ่ายสนับสนุน ส่วนใหญ่เปลี่ยนจริงหรือไม่

กรณีการแบ่งงานถูกวิจารณ์ว่ารัฐมนตรีกินรวบ ควบหน่วยงานหลัก 3 องค์ชายไว้คนเดียว แม้จะพยายามชี้แจงว่าทำความเข้าใจกันแล้วก็ตาม เป็นจุดเริ่มต้นรอยร้าวเล็กๆ ที่ยังมีโอกาสปะทุขึ้นมาได้อีก หากจัดการไม่เหมาะสม

บทเรียนในอดีตการแบ่งงานแบบพิสดาร ไม่มอบหมายให้เด็ดขาด ชัดเจน ทั้งงาน คน และเงิน แต่แบ่งให้รับผิดชอบดูแลตามภูมิภาคเคยเกิดปัญหามาแล้ว รัฐมนตรีช่วยฯเป็นแค่ผู้ตรวจราชการฝ่ายการเมือง ไม่มีบทบาทหน้าที่เท่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดมรสุมจนต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในที่สุด

การทำงานอย่างสอดประสาน กลมกลืน หนุนช่วยซึ่งกันและกัน ทั้งระหว่างฝ่ายการเมืองด้วยกันและฝ่ายข้าราชการประจำ จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจน ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีความเป็นเอกภาพ

การแปรนโยบายให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาแบบมีส่วนร่วม เน้นแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง จึงเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดการยอมรับ เกิดความร่วมมือในทุกระดับ

ประเด็นหลักที่ยังเป็นปัญหา ได้แก่ การพัฒาคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานโรงเรียนให้ใกล้เคียงกัน การกระจายอำนาจให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระ ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก การปฏิรูประบบผลิต พัฒนาและการใช้ครูที่มีประสิทธิภาพ

ภายใต้ความจริงที่ว่า คุณภาพการศึกษาอยู่ที่คุณภาพครู ถ้าไม่สามารถทำให้กระบวนการสอนของครูส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลง จากสอนให้ท่อง สอนให้จำ เป็นสอนให้คิด ให้ลงมือทำจริงได้ ก็ยากที่จะสำเร็จ

ในนโยบายปรากฏแนวทางการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไว้ตรงความที่ว่า ปรับระบบดึงดูด การคัดเลือก การผลิตและพัฒนาครูที่นำไปสู่การมีครูสมรรถนะสูง เป็นครูยุคใหม่ที่สามารถออกแบบและจัดระบบการสร้างความรู้ สร้างวินัย กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์มุมมองของเด็กและครูด้วยการสอนเชิงแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น ควบคู่กับหลักการทางวิชาการ

จัดการเรียนการสอนโดยพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล ให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสร้างสรรค์ที่เหมาะสมมาใช้ในการเรียนการสอน สร้างระบบวัดผลโรงเรียนและครูที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าการพัฒนาครูต่อไปนี้จะเป็นไปเพื่อนักเรียนเป็นหลัก ไม่ใช่พัฒนาครูเพื่อครู

อย่างไรก็ตามยังมีโจทย์ที่ต้องตอบให้เป็นรูปธรรม คือ การปลุกและดำรงรักษาจิตวิญญาณความเป็นครู การแก้ปัญหาขาดธรรมาภิบาล ทุจริตในวงการการศึกษา จะทำด้วยวิธีการใด

อีกทั้งโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ควบคู่กันไป กับทิศทาง การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ความเป็นอัจฉริยะ จุดเน้นของนโยบายแห่งยุคสมัย เพื่อตอบสนองทุนนิยม บริโภคนิยม การศึกษาเพื่อเป็นผู้เอา ผู้กอบโกย ก็คือ ประเด็นที่ว่าด้วย การศึกษากับเสรีภาพ การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคน เสมอภาค เท่าเทียม

สังคมจะก้าวหน้า สงบสุข มีสันติ และยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อทำให้สมดุลของทิศทางทั้งสองเป็นจริงเท่านั้น จึงเป็นทางออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image