สภาผู้แทนราษฎรคืนชีพ : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

หลังจากมีการอภิปรายต่อจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารที่ดำเนินการมาตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 ซึ่งครองอำนาจมากกว่า 5 ปี แม้ว่าจะมีเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในวาระเริ่มแรก 5 ปีให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีอำนาจร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คนเลือกนายกรัฐมนตรี เท่ากับนายกรัฐมนตรีคนเดิมต้องการเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรเพียง 126 คนก็ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ก็สามารถเลือกตัวนายกรัฐมนตรีได้ แต่ฝ่ายตรงข้ามจะไม่มีโอกาสได้เป็นรัฐบาลเลย เมื่อได้ตัวนายกรัฐมนตรีแล้วก็ได้พรรคภูมิใจไทยซึ่งผู้คนไม่เคยคาดหวังอะไร กับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีประวัติร่วมมือกับเผด็จการทหาร

พรรคการเมืองที่สืบทอดกันมาตั้งแต่หัวหน้าผู้ก่อตั้งพรรคมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในการเปิดเผยต่อสาธารณะจะประกาศจุดยืนต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ หัวหน้าพรรคคนหนึ่งเคยประกาศว่าตนเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา การยอมรับการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร รับเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง พร้อมๆ กับหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรครับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอื่น จึงเป็นการทวนคำพูดตัวเอง

เมื่อได้ตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ตามวิสัยพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีความคิดความอ่านริเริ่มทำอะไร กลายเป็นซุปเปอร์ปลัดกระทรวง เมื่อมีคนมาถามว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว คำตอบก็คือ “ยังไม่ได้รับรายงาน” ไม่เคยตอบได้เอง

เมื่อรัฐบาลใหม่โดยนายกรัฐมนตรีคนเก่า ได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตรงกับวันอาสาฬหบูชา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก็เป็นวันสิ้นสุดอำนาจเผด็จการตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 แม้ว่าจะยังมีวุฒิสภาที่พร้อมจะเลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับเข้ามาอีก หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง หากนายกรัฐมนตรีต้องลาออกหรือมีการยุบสภาเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เพราะยังอยู่ในช่วงที่มีการใช้บทเฉพาะกาล การที่บทเฉพาะกาลยังคงใช้อยู่ บรรยากาศทางการเมืองแม้ว่าจะร้อนแรงขึ้น แต่ก็คงจะไม่ถึงกับจะทำให้รัฐบาลสั่นคลอน

Advertisement

เพียงแต่เปลี่ยนสีหน้าของนายกรัฐมนตรีจากการตีหน้าเคร่งขรึมแบบนายทหาร มาเป็นการตีหน้าเหมือนตัวตลกในคณะจำอวด เล่นเอาน้าโย่ง น้าพวงกับน้านงค์ ต้องอาย

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยถูกดูถูกเหยียดหยาม ก็ฟื้นคืนชีพกลายเป็น “คนดี” เมื่อยอมรับการถูกดูดเข้ามาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ทำนองเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกดูดโดยพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ซและต่อมาปฏิวัติตัวเอง อ้างว่าทน ส.ส.ในพรรคตนเองไม่ได้จนเกิดกรณี 14 ตุลาฯ 2516 จากหน้าตาที่เคยเคร่งขรึม ที่เคยเกรี้ยวกราด ก็เปลี่ยนเป็นหน้าตาตัวตลก อย่างที่กล่าวมาแล้ว

ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งประธานรัฐสภากำหนดไว้แล้วว่าเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งก็น่าจะเพียงพอในการอภิปราย ถ้ายืดเยื้อกว่านี้ผู้คนก็คงจะเบื่อความซ้ำซากและประท้วงกันเองไม่หยุดหย่อน ซึ่งคงจะไม่เน้นไปในเรื่องนโยบาย เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของรัฐบาลเท่าใดนัก เพราะเป็นนโยบายที่ข้าราชการจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ร่างให้ แต่คงจะมุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญของนายกรัฐมนตรี

Advertisement

เรื่องการซื้อขายที่ดินที่ไปจ่ายเงินทองกันที่เกาะเวอร์จิ้น เรื่องการนำเงินราชการลับไปเข้าบัญชีส่วนตัว เรื่องการตั้งบริษัทนายหน้าในกรมทหาร รวมทั้งเรื่องนาฬิกาที่ยืมเพื่อนมาใส่ การเป็น “รัฐบาลพี่รัฐบาลน้อง” แทน “สภาผัวสภาเมีย” ของรัฐบาลก่อน ทั้งการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยอมให้ผู้ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงต่ำกว่า 72,000 เสียงได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้รัฐบาลได้เสียงข้างมาก หลังจากรัฐสภาซึ่งมีสมาชิกวุฒิสภาที่ถูกแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีร่วมอยู่ด้วย ไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่จะทำการบ้านกันมาได้ดีมากน้อยแค่ไหน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทยส่วนมากเป็น ส.ส.จากภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งพูดไม่เก่ง ส่วนมากจะเชยๆ ไปด้วยซ้ำ สู้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่มาจากปักษ์ใต้ไม่ได้ เพราะฝึกพูดจนลิงหลับตกต้นไม้ จึงจะได้รับเลือกจากพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อพรรคพลังประชารัฐได้พรรคประชาธิปัตย์มาร่วมได้อย่างนี้ นายกก็คงเบาใจว่ามาแถลงเสร็จแล้วก็กลับได้ ทิ้งให้พรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายโต้กันเอง เพราะประธานที่ประชุมจากพรรคประชาธิปัตย์อยู่ฝ่ายสืบทอดอำนาจ

ก็เป็นที่เบาใจได้ว่ารัฐบาลอันปกครองด้วยพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย นำโดย พล.อ.หัวหน้าคณะรัฐประหารคนเดิม ก็คงจะแล่นออกสู่ปากอ่าวได้ แต่จะไป “ล่มที่ปากอ่าว”
แบบพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ในเดือนตุลาคม 2516 หรือไม่ก็คงต้องคอยติดตามกันไป

เมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ประกาศว่าทางพรรคจะร่วมมือกับพรรคอนาคตใหม่ ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี อันเป็นมาตรการการตรวจสอบนายกรัฐมนตรีที่รุนแรงและสำคัญที่สุดของการปกครองระบอบรัฐสภา ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีความเชื่อมั่น แต่กรณีรัฐสภาไทยในระยะหลังไม่เคยประสบความสำเร็จในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลสักครั้งเดียว เสียดายที่จะไม่ได้เห็นประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ลุกขึ้นลงมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ผู้เคยทำลายระบอบประชาธิปไตยมาแล้วเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน แล้วตั้งพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจของตนเอง ซึ่งจะเป็นอีกฉากหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศย้ำแล้วย้ำอีกว่าจะต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบและเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา

การมีคะแนนปริ่มน้ำ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลผสม 19 พรรคจะไม่มีเสถียรภาพจากคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนราษฎรทุกคนไม่ว่าจะสังกัดพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ย่อมไม่ต้องการการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะการเลือกตั้งนั้นต้องใช้สรรพกำลังอย่างมาก แม้กระนั้นคนไทยก็ค่อนข้างโหดร้ายกับผู้แทนของตน เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 1 ใน 3 จะ “สอบตก” ไม่สามารถกลับเข้าสู่สภาได้

การที่นายกรัฐมนตรีขู่ว่าถ้ากฎหมายสำคัญไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีในการประกาศยุบสภา ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านญัตติไม่ไว้วางใจ หรือ พ.ร.บ.สำคัญ ๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น

อํานาจการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องอธิบายว่าสภาผู้แทนราษฎรทำผิดอะไร นายกรัฐมนตรีอาจจะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้เมื่อเห็นว่าเสียงของรัฐบาลกำลังดี รัฐบาลได้รับความนิยมชมชอบ หากรอต่อไปเสียงอาจจะสอบตก โดยสภาผู้แทนราษฎรมิได้ทำผิดอะไรก็ได้ ในระบอบรัฐสภาของอังกฤษ รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เพราะรัฐสภาจะออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ พ.ร.บ.นั้นเป็นรัฐธรรมนูญในตัวของมันเอง ต่างกับประเทศที่มีการใช้รัฐธรรมนูญ อำนาจของรัฐสภาถูกจำกัดโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นองค์กรสูงสุดเช่นเดียวกับศาลสูงของสหรัฐอเมริกา ศาลอื่นๆ ต้องวินิจฉัยไปในแนวเดียวกันแต่ไม่ผูกพัน เพราะศาลทุกศาลมีความเป็นอิสระในการพิพากษาอรรถคดีต่างๆ เคยมีความพยายามของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันศาลอื่นๆ ผิดหลักความเป็นอิสระของศาล

เพราะไปเอาตัวอย่างมาจากยุโรปบ้าง อเมริกาบ้าง ไม่ใช่ของเดิมของไทย ที่วางรากฐานไว้โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

หลายคนจึงเห็นว่าควรจะกลับไปสู่การมีระบบศาลเดียวคือ “ระบบศาลสถิตยุติธรรม” น่าจะดีกว่าถ้าสามารถพิพากษาได้โดยเร็วเพราะการพิจารณาล่าช้าเป็นโทษกับทุกฝ่าย

ศาลทุกศาลมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด การเมืองไม่น่าจะแทรกแซงได้ ไม่ควรรับแต่งตั้งเป็นกรรมการในองค์กรอิสระรวมทั้งสมาชิกวุฒิสภา เพราะองค์กรอิสระและวุฒิสภาเป็นองค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง ความผูกพันกับผู้แต่งตั้งตามประเพณีและวัฒนธรรมแบบไทยจึงยังคงมีอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย

ยุคนี้สมัยนี้เป็นยุคแรกที่ศาลถูกดึงเข้ามาทำงานซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ในขณะที่ยังคงดำรงตำแหน่งตุลาการ งานบริหารและงานนิติบัญญัติย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คำวิพากษ์วิจารณ์ย่อมต้องมีเป็นของธรรมดา

กว่าจะกลับเข้าที่เดิมได้ คงต้องรอรุ่นใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image