เด็กพิเศษ… : โดย เฉลิมพล พลมุข

ชีวิตมนุษย์หรือคนที่ลืมตาเกิดมาในโลกนี้ย่อมมีความแตกต่างกันทั้งชาติกำเนิด เชื้อชาติ สัญชาติ สถานภาพของชีวิต ความแข็งแรงของร่างกาย จิตใจ ความเฉลียวฉลาดของสติปัญญา ความรู้ความสามารถ โอกาสของชีวิตทั้งความสำเร็จในโลกธรรม มิอาจจะมีชีวิตที่เลือกเกิดได้ก็คือ ในโลกของเรานี้มีเด็กประเภทต่างๆ ที่เกิดมาพร้อมทั้งความไม่สมบูรณ์ของชีวิตทางการศึกษาทั้งในเมืองไทยเราและนานาชาติให้นามเขาว่าเด็กพิเศษ

เด็กพิเศษเป็นกลุ่มประชากรหนึ่งในโลกเรามีมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลแม้กระทั่งแวดวงทางวิทยาศาสตร์จะค้นพบทั้งเหตุผลและองค์ความรู้ในการเกิดมามีลักษณะพิเศษที่แตกต่างเด็กๆ ทั่วไป นิยามหนึ่งของเด็กพิเศษก็คือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษในการดูแล ส่งเสริมในทักษะชีวิตด้านต่างๆ เป็นพิเศษมากกว่าเด็กทั่วๆ ไป รวมถึงการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับชีวิตของเขา โดยแบ่งเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษหรือเด็กอัจฉริยะสูงกว่าเด็กทั่วๆ ไป ทั้งไอคิวที่มากกว่าหนึ่งร้อยสามสิบ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือเด็กปัญญาเลิศ ที่มีสติปัญญาความฉลาดในระดับสูง มีความสามารถด้านกีฬา ดนตรี การเรียนรู้ในเทคโนโลยีและผลิตนวัตกรรมใหม่ที่ต้องการความท้าทายและการเรียนรู้ใหม่จากองค์ความรู้เดิมที่สังคมมีมาตั้งแต่ครั้งอดีต…

บุคคลในระดับโลกที่มีชื่อเสียงทั้งระดับการศึกษาและการสร้างผลงานให้ปรากฏแก่โลกเรามาถึงวันนี้ในอดีตที่ศาสตราจารย์ไมเคิล ฟิตซ์เจอรัลด์ (Michael Fitzgerald) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยทรินิตี กรุงดับลิน ไอร์แลนด์ เชื่อว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ศาสตราจารย์ที่ได้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพพิเศษ ในชีวิตเขาครั้งสมัยเป็นเด็ก ก็เป็นเด็กที่มีลักษณะของปัญหาการเรียนรู้มาก่อน และไอแซค นิวตัน มีความบกพร่องทางการพัฒนาสังคม ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “ออทิสติก” และเคย์ลี โรเจอร์ส เด็กพิเศษอายุวัย 10 ขวบ เขามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ทั้งอ่านเขียนและการคำนวณ และเขาได้ใช้ความสามารถในงานคอนเสิร์ตคริสต์มาสในโรงเรียนในบทเพลง “ฮาเลลูยาห์” ที่ทำให้คนดูได้มีความซาบซึ้งน้ำตาไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัว คลิปวิดีโอสื่อโซเชียลในเฟซบุ๊กมีผู้เข้าชมมากกว่า 100,000 คน

ประเทศไทยเราได้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 เพื่อต้องการปฏิรูประบบการศึกษาและบริหารระบบการศึกษาในยุค 4.0 โดยมีวิสัยทัศน์เป้าหมายตัวชี้วัดเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดให้ “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21” บริบทหนึ่งของการศึกษาที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงใหม่ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องใส่ใจเป็นกรณีพิเศษที่ถูกวางตัวเป็นกรณีพิเศษ เขาเหล่านั้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่…

Advertisement

พระราชบัญญัติ การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 มาตรา 8 ให้สถานศึกษาทุกสังกัดได้จัดทำแผนการศึกษาสำหรับคนพิการ จัดสภาพแวดล้อม จัดการศึกษาเฉพาะความพิการ ฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิต พัฒนาทักษะพื้นฐาน อาชีพหรือการบริการอื่นใด รวมถึงให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษามีหน้าที่รับคนพิการเข้าศึกษา

หากสถานศึกษาใดปฏิเสธหรือไม่รับคนพิการเข้าศึกษาให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย

กระทรวงศึกษาธิการในประเทศไทยเราได้มีการจัดประเภทของคนพิการไว้เป็นเก้าประเภทก็คือ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา ทางร่างกายการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ ทางการเรียนรู้ ทางการพูดหรือภาษา ทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ ออทิสติกและความพิการซ้อน ตัวเลขของคนพิการในสังคมไทยเราที่มากกว่า 3.7 ล้านคน ในปี พ.ศ.2560 ในจำนวนนี้มี 55% ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและ 40.31% ไม่มีอาชีพการงานทำในจำนวน 1,820,155 คน ที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี…(thaihealth.or.th)

Advertisement

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่องค์ความรู้ในศาสตร์สาขาดังกล่าวได้มีการพัฒนาการมาตามลำดับ รวมถึงผลสำเร็จของการให้การดูแลเด็กพิเศษในลักษณะขององค์รวมทั้งการฝึกทักษะการเรียนรู้ของชีวิตเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนต่างๆ ได้อย่างปกติสุข รวมถึงระบบการให้การศึกษาที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม พ่อแม่ผู้ปกครอง หน่วยงานทางการศึกษาของประเทศได้ไปศึกษาดูงานในประเทศดังกล่าวบ่อยครั้งก็เพื่อนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้กับครอบครัว สถานศึกษาและประเทศของตนโดยคาดหวังว่าองค์ความรู้จากประเทศญี่ปุ่นจะเป็นแนวทางหรือวิถีทางแห่งการปฏิบัติที่มีผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นได้จริง

ศาสตราจารย์ Hiroshi Ogawa แห่งมหาวิทยาลัย Otsuma Women’s ของประเทศญี่ปุ่นได้นำเสนอถึงผลสำเร็จของงานการดูแลให้การศึกษาแก่เด็กพิเศษรวมถึงการติดตามการมีชีวิต กิจกรรมทางสังคมและการทำงานของเด็กพิเศษโดยยกถึงความสำเร็จของระบบการดูแลเด็กพิเศษของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบงานดังกล่าวมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไปเนื่องด้วยต้องใช้ทั้งศาสตร์สาขาทั้งวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา ทักษะการควบคุมอวัยวะร่างกายแต่ละส่วนในชีวิตให้มีการสอดคล้องหรือควบคุมไปในพฤติกรรมที่พึงประสงค์…

สังคมไทยเราได้มีตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขได้เก็บสถิติตัวเลขของเด็กไทยที่ป่วยสมาธิสั้น (Atttention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 พบว่ามีเด็กดังกล่าวมากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนั้นพบการมีปัญหาสุขภาพจิต หรือเมืองไทยเราพบเด็กมีภาวะของสมาธิสั้นในจำนวน 12% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 10% สำหรับพฤติกรรมในภาวะดังกล่าวก็มีการขาดสมาธิ ขี้ลืม ไม่ชอบอยู่นิ่ง พูดมาก กลั่นแกล้งผู้อื่น ใจร้อนวู่วาม ตื่นเต้นง่าย เล่นของเล่นเสียงดัง รอคอยไม่เป็น ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ชอบพูดแทรกและระบบการทำงานจะเชื่องช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป

ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานวิจัยที่ได้ติดตามถึงการดูแลรักษา การให้การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษดังกล่าวพบว่า 40% มีอาการหรือพัฒนาการที่ดีขึ้นจนกระทั่งใช้ชีวิตประจำวันได้หากได้รับการดูแลที่ดี 30% พบถึงภาวะที่คงที่หรือเสมือนเดิมและ 30% มิได้มีพัฒนาการที่สูงขึ้นไป ข้อเท็จจริงหนึ่งพบว่าพฤติกรรมดังกล่าวเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียนและสังคมชุมชนและภาวะดังกล่าวจะพัฒนาการไปในทางที่ดีชีวิตของเขาต้องได้รับการรักษาพยาบาลด้วยระบบการแพทย์สมัยใหม่หรือการดูแลที่ใกล้ชิดกับแพทย์พยาบาลรวมถึงการปรับพฤติกรรมโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูในโรงเรียน รวมถึงสังคมต้องเรียนรู้และเข้าใจในชีวิตของเขาเหล่านั้น…

ความพยายามหนึ่งในแวดวงของการศึกษาเด็กพิเศษเก้าประเภทก็คือ ความต้องการให้เขาเหล่านั้นพึ่งพาตนเองได้นอกจากช่วยเหลือในกิจกรรมในชีวิตประจำวันแล้ว การฝึกทักษะวิชาชีพก็ดูเสมือนจะเป็นเป้าหมายไปสู่การพัฒนาชีวิตในระดับสูงโดยให้เขามีงานทำ โดยการฝึกทักษะแห่งการเรียนรู้งานแต่ละประเภท ความรู้จักสังเกต ความรับผิดชอบของงานแต่ละประเภท

ในสังคมไทยเรายังมีคำถามที่หลากหลายเพื่อช่วยชีวิตเขาเหล่านั้นถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายบังคับให้หน่วยงานองค์กรบริษัทที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยมีสัดส่วนของการรับคนเข้าทำงานระหว่างคนปกติและคนพิการในประเภทต่างๆ

ข้อเท็จจริงหนึ่งเมื่อเด็กพิเศษที่ผ่านการประเมินทั้งจากครอบครัว โรงเรียนสถาบันการศึกษาเข้าสู่สถานประกอบการหรือหน่วยงานองค์กรบริษัทที่ต้องทำงานในระบบการแข่งขันทั้งชิ้นงาน เวลา ประสิทธิภาพในภาพรวมก็จะพบถึงปัญหาและอุปสรรคที่หลายหน่วยงานจะปฏิเสธของเด็กพิเศษในการรับเข้าทำงาน ชีวิตหลังจากถูกให้ออกจากงานหรือการไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกับคนปกติได้เป็นวาระสำคัญยิ่งของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเขาทั้งครอบครัว โรงเรียน นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์พยาบาลที่ต้องให้การดูแลรักษา สิ่งหนึ่งที่เราท่านจะพบเห็นได้ทั้งในสังคมไทยเราและสังคมต่างชาติก็คือ ชีวิตเขาส่วนหนึ่งมีชีวิตลมหายใจกับครอบครัวเพื่อรอวันเวลาแห่งการหมดของชีวิต…

กรณีร้านกาแฟแห่งหนึ่งของโรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูลที่ใกล้กับวัดร่องขุน ที่ศิลปินวาดภาพมีชื่อเสียงได้สร้างวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ไปเยี่ยมชมอย่างสม่ำเสมอ สื่อในเมืองไทยเราประเภทต่างๆ รวมทั้งการเผยแพร่ในเฟซบุ๊กได้นำเสนอถึงฝีมือในการทำกาแฟของเด็กนักเรียนที่เรียกว่า “เด็กพิเศษ” โรงเรียนดังกล่าวก็ต่างได้กระทำภารกิจหรือหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นทั้งทักษะการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคมและการฝึกทักษะอาชีพโดยเฉพาะการทำกาแฟที่เขาเหล่านั้นสามารถช่วยหารายได้เข้าสู่ครอบครัวได้จำนวนหนึ่งถึงแม้ว่าจะมีรายได้มิได้มากนักเมื่อเทียบเท่ากับผู้คนปกติ

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านมิได้พบที่ถูกนำเสนอต่อสื่อมากนักก็คือ ยังมีเด็กพิเศษประเภทอื่นๆ ที่มีความสามารถพิเศษในหลากหลายด้านต่อสังคมทั้งการจดจำเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีความสลับซับซ้อน การคิดคำนวณของตัวเลข การใช้เทคโนโลยีสื่อต่างๆ ความสามารถในการเพาะปลูกด้านการเกษตร และความสามารถด้านอื่นๆ อาจจะรวมถึงการที่เขาได้ไปทำงานในหน่วยงาน องค์กร บริษัท หรือหน่วยงานของราชการที่ชีวิตของเขาเหล่านั้นต่างได้กระทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงตรง ตรงต่อเวลา ระบบงานบางแห่งก็ดูเสมือนว่าจะละเลยถึงชีวิตของเขาเหล่านั้นทั้งวิถีการทำงานและกฎกติกาของสังคม เราท่านจักมีท่าทีกับเขาและผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร…

มาวันนี้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในวาระที่ 2 ที่ผ่านการควบคุมอำนาจของประเทศจากการปฏิวัติรัฐประหารในลักษณะพิเศษของวันเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การได้มาของรัฐธรรมนูญไทยที่เป็นแม่แบบการปกครองประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี จำนวน ส.ว.และรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ ก็มีที่มาด้วยลักษณะพิเศษที่นักการเมืองฝ่ายค้านต่างจับจ้องถึงวาระที่ซ่อนเร้น

รัฐบาลนี้จะขับรัฐนาวาฝ่าคลื่นลมฝนแดดพายุแห่งการเมืองประชาธิปไตยไทยไปอย่างตลอดรอดฝั่งได้อย่างไรก็ต้องดูกันตอนต่อไปแล…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image