หนึ่งทศวรรษของการต่อสู้ เพื่อหยุดการสูญพันธุ์ของละมั่ง สัตว์ป่าสงวนของไทย : โดย รศ.นสพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ และ สพ.ญ.ดร.อัมพิกา ทองภักดี

รูปละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

หนึ่งทศวรรษของการต่อสู้ เพื่อหยุดการสูญพันธุ์ของละมั่ง สัตว์ป่าสงวนของไทย

ละมั่ง (Rucervus eldii or Eld’s deer) เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ปัจจุบันประเทศไทยมีละมั่งสองสายพันธุ์คือ ละมั่งสายพันธุ์ไทย (Siamese Eld’s deer; Rucervus eldii siamensis) และละมั่งสายพันธุ์พม่า (Thamin Eld’s deer; Rucervus eldii thamin) ซึ่งละมั่งทั้งสองสายพันธุ์ได้เคยสูญพันธุ์ไปแล้วจากป่าธรรมชาติของประเทศไทย แต่ยังมีเหลือบางส่วนที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ที่อยู่ในความดูแลขององค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

โดยในช่วงเริ่มต้นโครงการเพาะขยายพันธุ์ละมั่งเพื่อการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเมื่อราว 12 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2550) มีละมั่งพันธุ์ไทยในกรงเลี้ยงทั้งประเทศรวมกันเพียงแค่ประมาณ 50 ตัว และพันธุ์พม่า ประมาณ 800 ตัว แต่ภายหลังที่มีการร่วมมือกันอย่างจริงจังในการเพาะขยายพันธุ์เพื่อเตรียมพร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์และคณะวนศาสตร์) องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สามารถเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนละมั่งพันธุ์พม่าได้เป็นอย่างดี มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นมากกว่า 1,000 ตัว จนสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในหลายพื้นที่ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จ.พะเยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี จ.ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งทุกพื้นที่ที่ได้ดำเนินการปล่อยละมั่งคืนสู่ธรรมชาติไปนั้น ละมั่งมีการปรับตัวให้เข้ากับป่าธรรมชาติได้และสามารถตั้งประชากรได้

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของละมั่งพันธุ์ไทยในกรงเลี้ยงที่มีอยู่กลับพบว่าสามารถเพิ่มจำนวนได้ไม่มากนัก เนื่องจากความหลากหลายทางพันธุกรรมที่น้อยกว่าทำให้มีความแข็งแรงน้อยกว่า ประกอบกับที่ละมั่งพันธุ์ไทยส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมากจึงขยายพันธุ์ได้ไม่ดีนัก ทางคณะผู้วิจัยที่รวมตัวกันจากสามหน่วยงานจึงได้พยายามนำเทคโนโลยีช่วยระบบสืบพันธุ์มาช่วยขยายพันธุ์เพื่อมุ่งหวังให้เกิดละมั่งคุณภาพดี สุขภาพแข็งแรง และมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง แต่ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนของละมั่งพันธุ์ไทยนั้นมีน้อยมาก

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการสูญเสียมากหากดำเนินการในละมั่งพันธุ์ไทยโดยที่ยังไม่ได้ทดลองในสัตว์ตระกูลกวางอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

Advertisement

ทางคณะผู้วิจัยจึงเริ่มศึกษาระบบสืบพันธุ์กวางรูซ่า (Rucervus timorensis) ซึ่งเป็นกวางสายพันธุ์ที่นำเข้าจากหมู่เกาะนิวคาลีโดเนีย โดยนำมาเลี้ยงเพื่อการค้าเนื้อและเขาอ่อน

กวางรูซ่าเป็นกวางเมืองร้อนและมีขนาดใกล้เคียงกันกับละมั่งจึงมีความเหมาะสมในการใช้ศึกษา และเมื่อได้ทำการศึกษาจนได้ข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นแล้ว คณะผู้วิจัยจึงวางแผนการศึกษาขั้นต่อไปคือการศึกษาระบบสืบพันธุ์ในละมั่งพันธุ์พม่าก่อน เนื่องจากมีจำนวนมากกว่า ในปี 2552 จึงเริ่มโครงการผสมเทียมละมั่งพันธุ์พม่าด้วยน้ำเชื้อแช่แข็ง โดยการฉีดน้ำเชื้อที่ผ่านการแช่แข็งของพ่อพันธุ์พันธุกรรมดีเข้าสู่ปีกมดลูกของเพศเมีย

สำหรับน้ำเชื้อนั้นได้รับการอนุเคราะห์ให้รีดเก็บจากละมั่งพันธุ์พม่าเพศผู้ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนละมั่งพันธุ์พม่าที่เป็นแม่พันธุ์นั้นมาจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี และโครงการก็ประสบความสำเร็จในปีเดียวกันนั้นเลยโดยมีแม่ละมั่งหนึ่งตัวตั้งท้องและคลอดลูกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของปีถัดมาคือปี 2553 ทีมวิจัยได้ตั้งชื่อลูกละมั่งที่เกิดจากการผสมเทียมตัวนั้นว่า “อั่งเปา” ซึ่งความสำเร็จของการผสมเทียมละมั่งอั่งเปาถือเป็นความสำเร็จครั้งที่ 2 ของโลก (ความสำเร็จครั้งแรกเกิดขึ้นที่สถาบันสมิทโซเนียน สหรัฐอเมริกา) และถือว่าเป็นความสำเร็จในการผสมเทียมละมั่งครั้งแรกของประเทศไทย

นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกอันน่าภาคภูมิใจของกระบวนการวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางระบบสืบพันธุ์เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าหายากของไทย

และปัจจุบันอั่งเปายังเป็นละมั่งที่เกิดจากการผสมเทียมตัวแรกของโลกที่ปล่อยออกไปดำรงชีวิตในป่าธรรมชาติประสบความสำเร็จ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ (พระนามในสมัยนั้น) ได้เสด็จเป็นประธานในการปล่อยอั่งเปาและแม่ผู้ให้กำเนิดคืนสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพระบบสืบพันธุ์ในการก่อกำเนิดลูกสัตว์พันธุ์ดีที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่สูงแล้วมีความแข็งแรงจนสามารถนําปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติได้

ณ ปัจจุบันอั่งเปายังชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในป่าสลักพระและให้กำเนิดลูกละมั่งในป่าธรรมชาติแล้วไม่ต่ำกว่าหกตัว

รูปละมั่งอั่งเปา (ตัวซ้ายมือ) และแม่ก่อนนำปล่อยสู่ธรรมชาติ

สําหรับความพยายามต่อไปของคณะผู้วิจัยคือการนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการขยายพันธุ์ละมั่งพันธุ์ไทยต่อไป แต่เนื่องด้วยเหตุผลที่จำนวนของละมั่งพันธุ์ไทยนั้นมีน้อยมาก ประกอบกับการที่ละมั่งพันธุ์ไทยส่วนใหญ่มีอายุมาก ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้การผสมเทียมประสบความสำเร็จได้ยาก ทางคณะผู้วิจัยจึงได้คิดต่อยอดด้วยการศึกษาการทำละมั่งหลอดแก้วเพื่อช่วยให้โอกาสในการขยายพันธุ์มีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทางคณะผู้วิจัยก็เริ่มศึกษาการทำงานของรังไข่ การเจาะเก็บไข่จากกวางรูซ่า การทดลองปฏิสนธิในหลอดแก้วของกวางรูซ่าก่อน จนได้ข้อมูลมากพอจึงเริ่มทำการศึกษาในละมั่งพันธุ์พม่าก่อน โครงการประสบความสำเร็จในการผลิตลูกละมั่งพันธุ์พม่าหลอดแก้ว ในปี 2556 ซึ่งถือเป็นลูกละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของโลก ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามให้ลูกละมั่งพันธุ์พม่าที่เกิดจากการปฏิสนธิในหลอดแก้วตัวแรกของโลกว่า “โรหิสรัตน์”

ความพยายามต่อไปของคณะผู้วิจัยจากสามหน่วยงานก็คือผนึกกำลังกันเพิ่มจำนวนละมั่งพันธุ์ไทยของเราให้มากขึ้น ให้มีความหลากหลายของพันธุกรรมมากขึ้น มีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถยืนหยัดรักษาสายพันธุ์ของตนเองไว้ให้ได้นานที่สุด ทั้งนี้บนความหวังที่ว่าละมั่งพันธุ์ไทย หรือพันธุ์สยาม ที่เป็นชื่อประเทศของเราจะไม่สูญพันธุ์ไปจากบ้านเราเร็วเกินไปดังเช่นที่เคยเกิดกับเนื้อสมันมาแล้ว

สำหรับละมั่งจะผสมพันธุ์ตอนอายุได้ 3-4 ปี ใช้เวลาตั้งท้อง 8-9 เดือน พอลูกออกมามักจะซ่อนลูก แต่จะสังเกตได้ว่าแม่ละมั่งจะไปให้นมลูกบ่อยๆ ในจุดที่นำลูกไปซ่อนไว้ หากแม่ซ่อนลูกไม่ดีลูกละมั่งอาจถูกสัตว์ผู้ล่าจับกินได้หรือในกรณีที่แม่ละมั่งโดนล่าเสียชีวิตไปไม่สามารถกลับมาให้นมลูกได้ ลูกละมั่งนั้นก็จะตาย พอลูกอายุ 20 วันลูกถึงจะวิ่งตามแม่ออกมา ละมั่งจะกินนมแม่ถึง 1 ปี แต่บางตัวกินนมแม่เป็นเวลา 1-2 ปี และจะติดตามแม่อีก 2-3 ปีหลังหย่านม

ปัจจุบันในประเทศไทยมีประชากรละมั่งสายพันธุ์ไทย จำนวน 106 ตัว ละมั่งสายพันธุ์พม่า จำนวน 1,019 ตัว และได้มีโครงการนำละมั่งสายพันธุ์พม่าปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีจำนวน 125 ตัว

รศ.นสพ.ดร.นิกร ทองทิพย์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สพ.ญ.ดร.อัมพิกา ทองภักดี
องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image