บทนำ ประจำวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2562 : บทบาทของสภา

การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 25-26 ก.ค.นี้ ถือเป็นห้วงเวลาสำคัญของการเมืองไทย ผู้สนใจการเมืองสามารถติดตามได้ ผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุรัฐสภา ซึ่งจะมีสื่อต่างๆ ดึงสัญญาณมาถ่ายทอดต่อในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น สำหรับประเทศไทย เว้นว่างประชาธิปไตยอันมีสภาผู้แทนฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนถึง 5 ปี ทำให้การเมือง การบริหารประเทศ เว้นว่างการตรวจสอบไปด้วย บัดนี้มีสภาผู้แทนฯแล้ว สภาจะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างไร ประชาชนต้องเฝ้าติดตาม เพื่อเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้แทนฯหรือ ส.ส.อีกชั้นหนึ่ง

บทบาทสำคัญในการแถลงนโยบาย ทางด้านรัฐบาล อยู่ที่นายกรัฐมนตรีและ ครม. 35 คน รวมถึงพรรครัฐบาลที่มาจาก 19 พรรค กับอีกฝั่งคือพรรคฝ่ายค้าน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อันเป็น 1 ใน 7 พรรคฝ่ายค้าน ได้เผยว่า ฝ่ายค้านได้แบ่งและกระจายประเด็นต่างๆ โดยประเด็นใหญ่ๆ จะอภิปรายหลายคน เน้นใน 12 นโยบายหลักของรัฐบาล และนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ รวมถึงการบริหารงาน 5 ปีที่ผ่านที่มีอำนาจเต็มและมาตรา 44 อยู่ในมือแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ จนถึงขณะนี้การปฏิบัติงานก็ยังไม่มีผลสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรม และคุณสมบัติ ส.ส. รวมไปถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี

สำหรับพรรครัฐบาลได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี โดยจัดประชุมเสวนาที่ จ.นครราชสีมา และเตรียม ส.ส. ฝีปากดีไว้ช่วยอภิปรายในสภา ขณะที่ ส.ว.เอง ได้ลงชื่อจองเวลาอภิปรายไว้เช่นกัน โดยจะกล่าวถึงผลสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา แน่นอนว่า การประชุมคงจะมีทั้งการหักล้างกันด้วยเนื้อหาสาระ การกล่าวหาและการตอบโต้ อาจดูเหมือนขัดแย้งรุนแรง แต่ความจริงเป็นเรื่องของการต่อสู้กันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง เพื่อให้การบริหารบ้านเมือง เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงต้องใช้โอกาสนี้ ทำให้ประชาชนได้รับทราบเรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นเรื่องที่ประชาชนมีสิทธิรับรู้ และสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานของสภา โดยอยู่ในกรอบของกฎกติกาและเหตุผล ซึ่งจะเป็นเกราะคุ้มกันสภา ไม่ให้ถูกบิดเบือนล้มล้าง เหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image