ไข่ไก่และหมูไทย…เริ่มสมดุล : โดย พีรชา พัฒนวิชาญ

ความสุขของเกษตรกรไม่ว่าชาติใดในโลก ก็หนีไม่พ้นการที่ผลผลิตของตนสามารถขายได้ในราคาที่ดี เพราะกว่าจะฝ่าด่านการเพาะปลูก-เลี้ยงสัตว์ให้ได้ผลงานออกมานั้นไม่ง่าย มีปัจจัยกระทบมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งดินฟ้าอากาศ และปัจจัยการผลิตทั้งพันธุ์พืช หรือ อาหารสัตว์ ที่ล้วนต้องเลือกต้องใช้ในสิ่งที่จะเอื้อให้พืชผลหรือสัตว์ที่เลี้ยงนั้น มีการเติบโตอย่างเหมาะสม ตลอดจนปัจจัยสุดท้ายคืออุปสงค์-อุปทานที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเกษตรกรจะได้กำไรหรือขาดทุน

ประเทศไทยของเราก็เช่นกัน ความหวังของเกษตรกรทุกคนคือรายได้ที่มากพอจะเลี้ยงครอบครัวได้ แต่ที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้กลับได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มอาชีพที่มีรายได้ต่ำ ที่สำคัญคือผลผลิตของเขาเป็นสินค้าชุมชนที่อุปสงค์-อุปทานมีผลต่อราคาค่อนข้างมาก

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ล่าสุด อธิบดีกรมการค้าภายในออกมาระบุว่าราคาไข่ไก่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 3 บาท เป็นสถานการณ์ที่ตลาดไข่ไก่เข้าสู่ภาวะสมดุลขึ้น หลังเกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนมายาวนานราว 2 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ที่ราคาไข่ตกต่ำเหลือเพียงฟองละ 2.20-2.30 บาท ซึ่งนอกจากเกษตรกรจะขายไข่ในราคาต่ำกว่าทุนแล้ว ยังต้องแบกต้นทุนค่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยที่มีราคาแพงที่สุดในโลกไว้ด้วย เพราะข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารไก่ เรียกว่าบอบช้ำทั้งขึ้นทั้งล่อง บางรายถึงกับต้องพักการเลี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจมาก

ภาวะขาดทุนที่ผ่านมาทำให้ได้เห็นความร่วมมือและเสียสละของทุกฝ่ายในห่วงโซ่การผลิต ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอ้กบอร์ด ผู้ประกอบการ ภาคเอกชนและเกษตรกร ที่ช่วยกันวางมาตรการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดการนำเข้าปู่-ย่าพันธุ์, พ่อ-แม่พันธุ์ ลดจำนวนแม่ไก่ไข่ยืนกรง การส่งออกไข่ไก่หรือการรณรงค์บริโภคไข่ ฯลฯ เพื่อปรับระดับอุปทานให้สมดุลกับอุปสงค์

Advertisement

เมื่อสามารถลดปริมาณผลผลิตจาก 48 ล้านฟอง ลงมาให้ใกล้เคียงความต้องการบริโภคไข่ที่วันละ 40 ล้านฟองได้ จึงเป็นที่มาของผลลัพธ์อันน่าพอใจในวันนี้

ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ก็กำลังเผชิญความกังวลจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศต่างเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ไม่ให้โรคดังกล่าวย่างกรายเข้ามาติดหมูในประเทศไทย เพราะแม้โรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน แต่มันสามารถทำลายหมูได้ทั้งประเทศ เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนในการรักษาหมู ทำให้เกษตรกรกลัวกันมาก

ประเทศไทยผ่านประสบการณ์โรคระบาดสัตว์อย่างไข้หวัดนกที่รุนแรงกว่า ASF มาแล้วและสามารถใช้บทเรียนนั้นสร้างระบบป้องกันหวัดนกมาได้กว่า 10 ปี ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ขณะที่มาตรการรัฐของกรมปศุสัตว์ที่วางไว้ป้องกัน ASF นั้นครบถ้วนรอบด้าน มีการเตรียมความพร้อมโดยยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ผนวกความร่วมมือร่วมใจของผู้ประกอบการ ภาคเอกชนและเกษตรกรทั่วประเทศ แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวที่งดนำเข้าอาหารจากเนื้อสุกร ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ความร่วมมือที่ดีมากครั้งหนึ่งของทุกภาคส่วน สร้างความมั่นใจให้ผู้คนในแวดวงการเลี้ยงสุกรได้มากพอควร

Advertisement

ความเข้มแข็งของมาตรการป้องกัน ASF ของไทยนี้ถือว่าอยู่ในระดับสูงสุด วางแผนแม้กระทั่งหากพบโรคจริงจะจำกัดวงไม่ให้ระบาดออกนอกพื้นที่ได้อย่างไร ผู้บริโภคไทยแทบไม่ต้องกังวลเลยว่าปริมาณหมูบ้านเราจะขาดแคลน ซึ่งแน่นอนว่าระดับราคาหมูจะไม่แพงจนผู้ซื้อเดือดร้อน

ในทางกลับกัน วันก่อนนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติออกมาระบุว่ามีข่าวลือโรคดังกล่าวเข้าไทยแล้ว ส่งผลในเชิงจิตวิทยาให้เกษตรกรหลายรายเร่งขายหมูก่อนเวลาอันควร กลายเป็นผลต่อเนื่องให้ราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำลงเป็นลำดับติดต่อกันหลายสัปดาห์ ราคาขายต่ำลงจนใกล้ระดับขาดทุน ทั้งๆ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยควรจะได้รับราคาที่ดีตามราคาหมูทั่วโลกที่ขยับสูงขึ้นจากภาวะ ASF ระบาดในหลายประเทศ

นอกจากนี้ระดับราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงตามเขียงต่างๆ ก็ยังคงเป็นปกติที่ กก.ละ 140 บาท ไม่ใช่ 200 บาท อย่างที่มีคนพยายามสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งน่าจะเป็นการกระทำที่มุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ

อาจกล่าวได้ว่า “เกษตรกร” เป็นอาชีพที่อ่อนไหว ระดับราคาขายผลผลิตของพวกเขาที่กำลังจะเริ่มมีเสถียรภาพ มักจะถูกข่าวลือกระทบเข้ามาให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ เป็นอุปสรรคของการลืมตาอ้าปากมาโดยตลอด … คงได้แต่ขอฝากท่านรัฐมนตรีใหม่ อย่าให้เกษตรกรต้องเป็นเหยื่อของความเข้าใจคลาดเคลื่อน และโปรดช่วยสานต่อมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะไข่ไก่และหมู ซึ่งเป็นสินค้าขายกันในประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะสมดุล ให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรอยู่ได้และผู้บริโภคไม่เดือดร้อนเช่นนี้ต่อไป

เพื่อให้เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคงเฉกเช่นอาชีพอื่นและยืนหยัดผลิตอาหารเพื่อผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืนต่อไป

พีรชา พัฒนวิชาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image