บอริส จอห์นสัน นายกฯอังกฤษ (ป้ายแดง) : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

บอริส จอห์นสัน

บอริส จอห์นสัน นายกฯอังกฤษ (ป้ายแดง) : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

เป็นไปตามความคาดหมาย “บอริส จอห์นสัน” (Boris Johnson) ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม และได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรโดยอัตโนมัติ

ตามกำหนดการ “เทเรซ่า เมย์” ทำการส่งมอบหน้าที่วันที่ 24 กรกฎาคม

(หมายเหตุ บทความเขียนเช้าวันที่ 24 ก.ค. เวลาประเทศไทยเร็วกว่า 6 ชั่วโมง)

Advertisement

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคมีขึ้นวันที่ 23 กรกฎาคม ผลการแข่งขันชิงตำแหน่งคือ

1 “บอริส จอห์นสัน” ได้ 92,153 คะแนน

1 “เจเรมี ฮันท์” ได้ 46,656 คะแนน

มิใช่มาจากคะแนนเสียงของประชาชน หากเป็นการเลือกโดยสมาชิกของพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค เพราะวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังเป็นของพรรคอนุรักษนิยม กล่าวคือเมื่อเลือกหัวหน้าพรรคได้แล้วก็จะได้นายกฯโดยอัตโนมัติ

เหตุที่มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ก็เพราะ “เทเรซ่า เมย์” แก้ปัญหา “เบร็กซิท” ล้มเหลว

จึงเป็นเหตุให้ลาออกจากนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ต้องสิ้นสุดลงด้วย

“เทเรซ่า เมย์” ลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน

แต่เป็น “นายกฯรักษาการ” มาตลอด จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม

“บอริส จอห์นสัน” เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

“เจเรมี ฮันท์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

“บอริส จอห์นสัน” นายกฯป้ายแดง เคยเป็นนายกเทศมนตรีลอนดอน เมื่อปี 2008 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมื่อปี 2016

ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018

ปี 2016 เขาเป็นหัวหอกในการผลักดันประเด็นการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ลัทธิประชานิยมของเขาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะตรรกะไม่มีเหตุผล

“บอริส จอห์นสัน” ถือเป็นนายกรัฐมนตรี “อุบัติเหตุ” อันเกิด “เมย์” ลาออกก่อนครบวาระ

เขาถูกมองว่าเป็นฝ่าย “hard brexit” เมื่อเดือนพฤษภาคม เขาเคยกล่าวว่า เขาจะมีความสุขที่สุดหากการแยกตัวที่ไม่มีสัญญาสำเร็จลุล่วงก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2019

ก็เพราะการไม่ยอมละจุดยืน “hard brexit” ของ “บอริส จอห์นสัน” นั้น จึงได้สร้างความหวั่นไหวให้แก่คนอังกฤษและสร้างความกังวลของบรรดานักลงทุน

ความแตกแยกของสังคมจึงมากขึ้นและหนักขึ้น

ในที่สุด ปัญหา “เบร็กซิท” จะหาทางออกอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 24 กรกฎาคม “บอริส จอห์นสัน” ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์

“เทเรซ่า เมย์” ก็พ้นหน้าที่รักษาการโดยอัตโนมัติ

“เทเรซ่า เมย์” อยู่ในตำแหน่ง 3 ปี พยายามผลักดันประเด็น “soft brexit” หากมิได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายประสงค์แยก และก็มิได้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายประสงค์รวม

จึงถูกสภา “ตีตก” ถึง 3 ครั้ง ความเสื่อมก็มาเยือน

และเป็นเหตุให้ “เทเรซ่า เมย์” ลาออก

“เทเรซ่า เมย์” ได้กล่าวสุนทรพจน์เพื่ออำลาจากตำแหน่งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม มีถ้อยคำที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า “วันนี้สหราชอาณาจักรและทั่วโลกได้ดำรงอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการทางการเมืองอันปฏิเสธการประนีประนอม (uncompromising absolutism) ซึ่งน่ากังวล”

เธอระบายในเชิงปริศนาว่า อันลัทธิประชานิยมนั้น ใครที่คิดต่างก็คือศัตรู และวิพากษ์ นักการเมืองส่วนหนึ่งดำเนินไปตามโลกทัศน์โดยศรัทธาในทฤษฎี Zero-sum game เพียงเพื่อพูดในสิ่งที่คนอยากฟัง ทั้งนี้ ปราศจากการประนีประนอมและเดินหน้าต่อไป ครั้นเมื่อพูดถึงปัญหาอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน เธอกล่าวว่า ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ แต่การประนีประนอมยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด อีกทั้งเน้นย้ำการธำรงไว้ซึ่งสัญญาอาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องสำคัญ

“เทเรซ่า เมย์” ได้บริภาษระบบเผด็จการทางการเมืองอันปฏิเสธการประนีประนอม ตลอดจนการพาดพิงถึงประเด็นสังคม การเมืองและเทคโนโลยี เป็นต้น

แม้มิได้เอ่ยนามว่าเป็นผู้ใด แต่โลกภายนอกก็เข้าใจว่าเป็นการพูดเหน็บ “บอริส จอห์นสัน” และ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งเป็นการพูดจาเสียดสีประชดประชันตามแบบฉบับของผู้ดีอังกฤษ

“เทเรซ่า เมย์” เน้นย้ำว่า “Uncompromising absolutism เป็นการทำลายโอกาสการเจรจา อันระบบเผด็จการทางการเมืองดังกล่าวถือเป็นบ่อนเซาะความสามัคคีในสังคม ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแบ่งค่ายแยกขั้ว ควรต้องกลับไปเดินสายกลาง พร้อมกับได้ชื่นชมการเดินสายกลางของอดีตประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์”

“ไอเซนฮาวร์” เป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 34 เป็นนักรบระบือนามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นนักการเมืองที่เดินสายกลางในพรรครีพับลิกัน สนับสนุนมาตรการแห่งความเสมอภาค สมัยที่ดำรงตำแหน่งได้ผลักดันการออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ในสายตาของอเมริกันมองว่าเขาเป็นประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันที่สุดยอดคนหนึ่ง นักการเมืองที่เดินสายกลางอย่าง “ไอเซนฮาวร์” ปัจจุบันเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร

“ไอเซนฮาวร์” คัดค้านลัทธิแม็กคาร์ธี ซึ่งเป็นทัศนคติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกล่าวหาผู้อื่นในประการไม่ซื่อสัตย์ การโค่นล้มอำนาจ หรือพฤติกรรมขายชาติ อันปราศจากหลักฐานนำสืบ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลที่ถูกกล่าวหาโดยสิ้นเชิง

บัดนี้ คำปรารภของ “เทเรซ่า เมย์” ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่ได้แจ้งเกิดแล้ว

อายุเพียง 55 ของ “บอริส จอห์นสัน” ถือว่าอยู่ในวัยทำงาน

ภาวะ “หน้าสิ่วหน้าขวาน” ของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะปัญหา “เบร็กซิท”

หวังว่า “นายกฯป้ายแดง” คงจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้

และไม่ย่ำรอยแห่งประวัติศาสตร์ของ “เทเรซ่า เมย์”

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image