การค้นตัวบุคคลตามหลักสากล เปรียบเทียบกฎหมายคอมมอนลอว์ : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

การค้นตัวบุคคลตามหลักสากล เปรียบเทียบกฎหมายคอมมอนลอว์ : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

การค้นตัวบุคคลตามหลักสากล เปรียบเทียบกฎหมายคอมมอนลอว์ : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

การค้นตัวเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่ประชาชนควรรู้ถึงความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงของแนวคิด แนวปฏิบัติ วิธีคิด หรือกฎหมายใหม่ๆ หรือในทำนองเปรียบเทียบลักษณะดีลักษณะด้อยของกฎหมายแต่ละประเทศ ผู้เขียนพยายามไม่กล่าวพาดพิงผู้ใด การอ้างสิ่งต่างๆ ในทางวิชาการได้กลั่นกรองความจริงแล้ว อาจจะตัดการอ้างอิงออกไปเพราะผู้สนใจอาจสืบหาพบเองได้โดยง่าย ทั้งนี้เพื่อมิให้มีการเปรียบเทียบวิธีการปฏิบัติงานของหน่วยงานใด เพียงนำเสนอข้อมูลความรู้ทางวิชาการสำหรับการค้นตัวบุคคลตามหลักสากลเท่านั้น

ในปี ค.ศ.1987 ศาลสหรัฐอเมริกาได้วางหลักในการค้นตัวบุคคลไว้ในคดีหนึ่ง (หาข้อมูลรายละเอียดได้ง่าย ตามสื่อใหญ่ๆ ทั่วไป) ถึงความจำเป็นหรือมาตรฐานของความสงสัยในตัวบุคคลซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการค้นตัวบุคคลคือ ประการแรก ไม่มีวิธีอื่นที่เจ้าพนักงานจะได้ข้อมูลจากบุคคลนั้น หรือได้มายากเกินควร ประการที่สอง หากมีการเรียกให้หยุดแล้วค้นตัวบุคคลจะมีแนวโน้มหรือมีโอกาสที่จะสืบสวนคดีอาญาต่อไป ประการที่สาม ลักษณะของผู้จะถูกค้นและความร้ายแรงของการกระทำความผิดที่ได้รับการรายงานจากแหล่งข่าวหรือเจ้าหน้าที่มาก่อนหน้าที่จะค้น ซึ่งหลักเกณฑ์เหล่านี้เป็นข้อจำกัดการเข้าค้นตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รัดกุมพอสมควร ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีการวางหลักอย่างนี้ในประเทศไทย

ยิ่งกว่านั้นศาลสหรัฐอเมริกาได้วางหลักไว้ในอีกคดีหนึ่งคดี ใน ค.ศ.1985 (สามารถหาข้อมูลรายละเอียดเองได้ง่าย หาดูเถิด ที่หาได้ง่ายเพราะคอมมอนลอว์นั้น คำพิพากษาจะเดินตามๆ กันมา ถ้าหาคำพิพากษาได้ในประเด็นอย่างหนึ่ง ก็สามารถสืบหาประเด็นเดียวกันได้แทบครบถ้วนตลอดสาย) ว่าการที่เจ้าพนักงานใช้เวลาในการค้นตัวบุคคล กล่าวคือค้นต่อหนึ่งคน ประมาณ 20-25 นาที นั้นเหมาะสมและจำเป็นเพื่อตรวจค้นหาวัตถุต้องสงสัยเกี่ยวกับยาเสพติด (ในการหาสิ่งเสพติดที่ซุกซ่อนนั้นมีความยากถึงยากมาก ดังนั้นถ้าเป็นการค้นเพราะสงสัยในประเด็นอื่นอาจจะต้องใช้เวลาน้อยกว่านี้ นั่นหมายความว่า หรืออาจจะทำให้ตีความได้ถึงขนาดว่า หากเจ้าหน้าที่ใช้เวลามากกว่านี้แล้วผลการค้นไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายหรือการกระทำผิดใดๆ เจ้าหน้าที่อาจจะต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาเพราะถือว่าเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายต่อผู้บริสุทธิ์ ถ้าบางกรณีไม่ชัดเจนถึงเจตนาอย่างอื่นนอกเหนือจากการทำหน้าที่ ก็อาจไม่ถึงขนาดผิดอาญา อาจเป็นเพียงแค่ผิดทางแพ่งในฐานละเมิดทั่วไป-ทรรศนะนี้เป็นของผู้เขียน)

Advertisement

แม้ศาลในระบบคอมมอนลอว์ เช่น ศาลในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และอีกหลายประเทศที่ยึดถือระบบนี้โดยตรงและแบบกลายๆ จะมีแนวคำวินิจฉัยเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ตามลักษณะของระบบกฎหมายประเภทนี้ แต่หลักเกณฑ์ในการค้นตัวบุคคลที่เป็นการรองรับสิทธิเสรีภาพของตัวบุคคลมักจะไม่ค่อยเปลี่ยน ตรงกันข้ามคำพิพากษาใหม่ๆ ยิ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลมากขึ้นอีก ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ไม่พบในประเทศไทย บางท่านอาจคิดว่าอะไรๆ ก็ยังไม่พบในประเทศไทย ก็ขอให้คิดในแง่หนึ่งว่าในแต่ละประเทศต้องการเวลาที่องค์ความรู้จะตกผลึกแตกต่างกัน อย่างอังกฤษมีสภาวิทเทนเนจมง (Witenagemot) มาแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ในขณะที่ไทยเพิ่งมีในราวร้อยกว่าปี

ดังนั้นความแตกต่างในแง่กฎหมายและวิธีปฏิบัติย่อมมีมากและแตกต่างกันมากเป็นธรรมดา

สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยเป็นอย่างไร

Advertisement

ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไปและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลว่า บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในร่างกาย การค้นตัวบุคคลหรือกระทำการใดอันเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าหน้าที่กระทำได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานสอบสวนสามารถตรวจตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องขอความยินยอม ในมาตรา 131/1 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนมีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหาและสั่งให้นำเลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งไปตรวจเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีอาญา จึงเกิดข้อพิจารณาว่า มาตรการเหล่านี้ควรดำเนินการอย่างไรที่จะไม่เป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลมากเกินไป

การค้นตัวบุคคลไม่ต้องขอหมายศาลในการค้น แต่ต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถค้นตัวบุคคลได้ คือ ต้องมีเหตุอันควรสงสัยว่าน่าจะมีวัตถุที่จะนำไปใช้กระทำความผิด หรือน่าจะมีวัตถุที่ได้มาจากการกระทำความผิดมาแล้ว หรือน่าจะมีสิ่งผิดกฎหมายซุกซ่อนในร่างกายหรือเสื้อผ้าที่สวมใส่ เหตุอันควรสงสัยนี้ ไม่ต้องถึงขนาดเป็นเหตุอันควรสงสัยในการพิสูจน์ความผิดในศาล เป็นเพียงเหตุอันควรสงสัยตามมาตรฐานวิญญูชนคนทั่วไปเท่านั้น โดยจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนพบเห็นจากสำนวนคดีอาญานั้น เคยปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตัวผู้ต้องหาได้นั้น พิจารณาจากสิ่งหรือพฤติการณ์เหล่านี้

1.ลักษณะอาการของผู้ที่จะถูกค้นตัว มีอาการควรจะต้องค้นหรือไม่

2.บริเวณหรือพื้นที่ที่ได้พบผู้ที่จะถูกค้นตัวซึ่งเมื่อได้เทียบกับเวลาที่ปรากฏเหตุการณ์ที่สงสัยจะเป็นความผิดทางอาญานั้นแล้วพบว่ามีความใกล้เคียงกัน

3.บุคคลในบริเวณที่เกิดเหตุมีมากน้อย หนาแน่นเพียงใด

4.เส้นทางที่พบตัวบุคคลน่าจะเป็นช่องทางที่หลบหนีหรือไม่

5.อากัปกิริยาของบุคคลในขณะที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้หยุดเพื่อรอการประเมินด้วยสายตานั้นมีความน่าสงสัยจนต้องลงมือตรวจค้นหรือไม่ แสดงว่าอย่างไรก็ต้องมีการประเมินด้วยสายตาก่อนลงมือค้น ถ้าประเมินด้วยสายตาแล้วไม่น่าต้องค้นก็ไม่ควรค้น

6.ลักษณะของบุคคลประกอบกับยานพาหนะที่ใช้สัมภาระอื่นๆ หรือสิ่งของที่ติดตัวมาซึ่งมองด้วยตาเปล่าสอดคล้องกับรูปแบบ ลักษณะความเป็นไปได้ ความน่าจะเป็นของผู้หลบหนีที่เคยปรากฏหรือไม่ ซึ่งอันนี้ต้องใช้ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่และดุลพินิจ

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติก็พบว่ามีผู้บริสุทธิ์ถูกค้นตัว ถูกกักตัวเพื่อรอค้น โดยจำเป็นหรือโดยไม่จำเป็น ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจจะถือว่าเป็นบุคคลที่ถูกกระทบสิทธิอย่างหนึ่งที่เรียกว่า สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ที่ได้รับการรองรับตามรัฐธรรมนูญ สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย เสรีภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่รองรับโดยรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะตามกฎหมายไทยในปัจจุบันไม่ได้บังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องทำบันทึกการตรวจค้นและสำเนามอบให้แก่ผู้ถูกค้นตัวไว้เป็นหลักฐาน คือไม่มีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ต้องทำ

ดังนั้น ผู้เสียหายเหล่านี้จึงขาดหลักฐานในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ในฐานละเมิดและในทางอาญา แตกต่างจากประเทศอังกฤษที่เจ้าหน้าที่ต้องทำบันทึกการตรวจค้นตัวเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา (แยกต่างหากจากบันทึกจับกุม) และมอบสำเนาบันทึกการตรวจค้นตัวให้แก่ผู้ถูกค้นตัวด้วย ไม่ว่าจะค้นแล้วพบหรือไม่พบสิ่งที่สงสัยหรือไม่ก็ตาม ต้องทำบันทึกทั้งสิ้น มิใช่ว่าค้นแล้วไม่พบอะไรก็ให้ประชาชนเดินตัวเปล่ากลับบ้านไป ประชาชนจะได้รับสำเนาบันทึกการค้นเสมอเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องทำ

ผลจากการศึกษาเปรียบเทียบ

จากการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศอังกฤษ ตาม The Police and Criminal Evidence Act 1984 พบว่าเมื่อนำมาเทียบกับกฎหมายของประเทศไทยแล้ว เห็นว่ากฎหมายสหราชอาณาจักรมีความรัดกุมกว่า และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ผู้ทำการค้นได้มากกว่าคือ การค้นตัวบุคคลทุกครั้งไม่ว่าจะพบหรือไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรือการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่จะต้องทำบันทึกการค้นตัว และมอบสำเนาบันทึกให้แก่ผู้ถูกค้นตัว ในขณะที่ตามกฎหมายของประเทศไทยไม่ได้บังคับให้มีการทำบันทึกการค้นตัวบุคคล ดังนั้น ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไทยที่เกี่ยวกับการจับกุม โดยกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือบางอย่างแค่ออกแนวปฏิบัติหรือออกระเบียบ ดังนี้

1.การค้นตัวต้องใช้ความระมัดระวังมิให้กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากเกินควร ซึ่งเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิเสรีภาพของบุคคลกับประโยชน์ในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อการดำเนินคดีอาญา การค้นต้องกระทำโดยความสุภาพ และต้องมีการประเมินด้วยสายตาอย่างละเอียดก่อนการค้น เพราะอาจมีกรณีที่ไม่จำเป็นต้องค้น

2.ก่อนการค้นเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้จะถูกค้นทราบเหตุแห่งการถูกค้น วัตถุประสงค์ในการค้นและวิธีการค้นว่าจะต้องทำอย่างไรอย่างชัดเจน

3.ควรมีการทำบันทึกการตรวจค้น ซึ่งในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจค้นตัวบุคคลยังไม่มีการทำบันทึกประเภทนี้ หรืออาจจะทำการบันทึกรายละเอียดการค้นไปพร้อมๆ กับบันทึกจับกุม แต่ในแนวทางการพัฒนาเพื่อป้องกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า ควรทำบันทึกการค้นตัวแยกต่างหากจากบันทึกการจับกุม เพราะในขณะค้นตัวผู้ต้องสงสัยอาจจะพบหรือไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรืออาจไม่พบการกระทำผิดก็ได้ หากเป็นกรณีไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรือการกระทำความผิดแล้วบุคคลผู้ถูกค้นคือผู้บริสุทธิ์ ควรมีการทำบันทึกการค้นไว้และสำเนาให้แก่ผู้ถูกค้นตัวด้วย (เพื่อเป็นหลักฐาน หากมีการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือมีการกระทำความผิดที่เป็นคดีอาญาของเจ้าหน้าที่) แต่สำหรับการค้นแล้วพบว่าเขาอาจจะกระทำความผิดจนมีการจับกุมต่อมาแล้วนั้นจะต้องมีการทำบันทึกทั้ง 2 ประเภท คือ บันทึกการค้นตัวและบันทึกการจับกุม

4.การค้นตัวบุคคลควรใช้เจ้าหน้าที่เพศเดียวกันกับผู้จะถูกค้น เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ไม่สามารถทำได้ซึ่งต้องมีการบันทึกไว้ในบันทึกการตรวจค้นอย่างชัดเจน

5.การค้นตัวบุคคลนั้นเจ้าหน้าที่ต้องค้นในขณะแต่งเครื่องแบบ หากไม่ได้แต่งเครื่องแบบจะต้องแสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ก่อนทำการตรวจค้นตัวบุคคล

6.การค้นตัวบุคคลต้องทำในที่เปิดเผยและควรมีพยานผู้รู้เห็นหรือบุคคลที่เป็นกลางอยู่ด้วย เว้นแต่ไม่สามารถทำได้ให้บันทึกเหตุที่ทำไม่ได้ไว้ในบันทึกการตรวจค้น

ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาการค้นเคหสถานต้องมีหมายค้น แต่การค้นตัวบุคคลไม่ต้องมีหมายค้น (ไม่ต้องขอศาล) ในความเห็นของผู้เขียนซึ่งพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นการคุ้มครองบุคคล ควรออกแบบวิธีการใหม่ คือ ค้นตัวบุคคลใดๆ แล้วในวัเดียวกันนั้น เจ้าพนักงานต้องทำรายงานแจ้งต่อศาลหรืออัยการว่าค้นตัวใครไปบ้างและพบอะไรหรือไม่พบอะไร ก็ต้องแจ้งพฤติการณ์ว่าได้จัดการอย่างไรไปบ้าง การที่ต้องแจ้งรายงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำการค้นนั้น เคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลผู้ถูกค้นตัว และป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ค้นตัวบุคคลพร่ำเพรื่อ เพราะในการค้นตัวบุคคลแต่ละครั้งย่อมกระทบสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและในเนื้อตัวร่างกายและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ รวมทั้งเสรีภาพในการเคลื่อนไหว (เพราะถูกหน่วงตัวไว้) ไม่มากก็น้อย

(สำหรับผู้มีอำนาจตรวจสอบคือใคร เป็นสิ่งที่พิจารณาได้ไม่ยาก ในระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีหลายหน่วยงานที่ทำงานร่วมกัน และบางครั้งมีการพิจารณาและทบทวนที่ไขว้กันอยู่ ใครที่เคยชมภาพยนตร์เกาหลี หรือของเยอรมนีคงจะคุ้นกับการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ว่า ตำรวจ อัยการ ศาลทำงานร่วมกัน ในเกาหลีพนักงานอัยการ กับตำรวจทำงานแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ตำรวจทำอะไรมาพนักงานอัยการจะรับรู้จากการรายงาน สิ่งที่ได้ทำไป ส่วนในเยอรมนีนั้นพนักงานอัยการก็ทำงานโดยปรึกษาหารือกับศาลเป็นปกติ ภาพยนตร์เกาหลีมีหลายเรื่องที่มีเนื้อหาแสดงให้เห็นการทำงานของอัยการได้ดีมาก สมจริงทั้งในแง่ศิลปะและหลักกฎหมายจริงๆ ที่พบและที่ใช้จริงในการปฏิบัติงาน ทำให้เห็นกระบวนงานที่แตกต่างจากประเทศเราอย่างมาก โดยเฉพาะการประสานงานของตำรวจและอัยการในประเทศเกาหลีมีการปรึกษาหารือกันค่อนข้างมากอย่างใกล้ชิด ทำให้แนวทางการดำเนินคดีไม่ค่อยผิดพลาดหรือขัดแย้งกันเพราะทำงานเป็นเนื้อเดียวกันมาตั้งแต่ต้น)

การมีระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ชัดเจนนี้เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติที่ละเมิดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากเกินไป ประเทศที่มีระเบียบสำหรับเจ้าหน้าที่ในการค้นตัวบุคคลนั้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ การมีบันทึกการค้นตัวนี้ ไม่เป็นการเพิ่มกระบวนงานที่มากเกินไปเมื่อเทียบกับประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชนแล้วถือว่าคุ้มค่า

การค้นตัวนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ ที่ทำให้เกิดอำนาจอื่นๆ แก่เจ้าพนักงานตามมาอีก เช่น อำนาจจับกุม การแจ้งข้อหา การตั้งข้อหา (ซึ่งอาจหมายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือเขตอำนาจในการพิจารณาคดี) การควบคุมตัว อำนาจสอบสวนคดีอาญา อำนาจในการออกหมายอื่นๆ ที่ตามมา และตามข้อเสนอนี้ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจค้นตัวบุคคลจะนำไปใช้ เช่น จัดให้มีบันทึกการค้นตัวที่มีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กล่าวแล้วก็จะเป็นการวางมาตรฐานที่สูงกว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่ เมื่อมาตรฐานสูงกว่าและไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายเดิมก็ย่อมทำได้แม้ยังไม่ได้แก้กฎหมายก็น่าจะทำได้ เพราะถือว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้อยู่แล้ว

ยกเว้นแต่เรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจสารต่างๆ ต้องมีระเบียบออกมารองรับก่อนเสมอถึงจะทำได้

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image